ปัณณธร เนตรรัตน์ CEO เจน Z ARTRA ตกแต่งครบวงจร - Forbes Thailand

ปัณณธร เนตรรัตน์ CEO เจน Z ARTRA ตกแต่งครบวงจร

FORBES THAILAND / ADMIN
18 Jul 2023 | 11:00 AM
READ 2243

    จบวิศวกรรมเหมืองแร่ แต่รับงานออกแบบตกแต่งภายใน ทำมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาอายุเพียง 18 ปี เพราะชอบงานตกแต่งจึงอาสาตกแต่งห้องชุดที่ครอบครัวซื้อไว้เพื่อลงทุนออกมาได้อย่างสวยงาม จากงานอดิเรกกลายเป็นธุรกิจขึ้นมาแบบไม่ทันตั้งตัว ทำให้ตัดสินใจก่อตั้งบริษัทในขณะที่เรียนอยู่ปี 3


    เริ่มต้นจากความชอบส่วนตัวกลายมาเป็นธุรกิจอย่างไม่คาดฝันสำหรับ ปัณณธร เนตรรัตน์ หรือปัณ ซีอีโอวัย 25 ปี แห่ง ARTRA Interior บริษัท อาร์ทรา อินทีเรียร์ จำกัด เขาเป็นคนหนุ่มไฟแรงที่เริ่มต้นธุรกิจจากความชอบส่วนตัวและโอกาสที่เด็กหนุ่มคนหนึ่งไม่คาดคิดว่าจะกลายมาเป็นธุรกิจในเวลาต่อมา

    ปัณณธรเริ่มต้นบอกเล่าเส้นทางการเป็นเจ้าของกิจการในวัยเพียง 20 ปี ให้ทีมงาน Forbes Thailand ได้รับฟังก้าวย่างแห่งความสำเร็จที่เจ้าตัวก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อน เมื่อครั้งที่เขาอาสาเข้าไปช่วยครอบครัวตกแต่งห้องชุดในโครงการคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งที่ทางบ้านลงทุนไว้เพื่อหาโอกาสทำกำไร เขาเริ่มด้วยการจ้างดีไซเนอร์มาออกแบบ จากนั้นก็จ้างผู้รับเหมามาตกแต่งภายในจนสำเร็จออกมาสวยงามอย่างที่ต้องการ

    จากการตกแต่งห้องชุดของครอบครัวขยายมาเป็นห้องชุดของลูกค้าคนอื่นๆ ในโครงการ ปัณณธรขณะนั้นเป็นเพียงนักศึกษาวิศวกรรมเหมืองแร่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาไม่ใช่อินทีเรียร์ดีไซเนอร์ ไม่ใช่นักออกแบบ แต่สามารถบริหารการออกแบบและก่อสร้างให้ได้ตามเป้าหมาย เมื่อผลงานออกมาสวยงามเขาได้รับการว่าจ้างให้ออกแบบตกแต่งห้องชุดอื่นๆ ในโครงการของผู้ประกอบการอาคารชุดรายหนึ่งมากกว่า 100 ห้อง โดยลูกค้าเป็นผู้ว่าจ้างโดยตรงไม่ผ่านโครงการ

    

ความชอบนำสู่ธุรกิจ

    

    เหตุการณ์ครั้งนั้นจะว่าเป็นจุดเริ่มต้นก็ไม่ผิด แต่ขณะเดียวกันก็เป็นบทเรียนสำคัญให้ปัณณธรต้องกลับมาตั้งหลักทบทวนความพร้อมตัวเองอีกครั้ง ทุนเริ่มต้น 300,000 บาท ที่เขายืมมาจากครอบครัวไม่พอสำหรับการหมุนเวียนออกแบบตกแต่งห้องชุด 100 ห้อง ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ตามมาหลายอย่าง ควบคุมเวลาการส่งมอบงานไม่ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ แต่เขาไม่หยุดเพียงแค่นั้น ปัณณธรตัดสินใจเดินเข้าไปเจรจากับลูกค้าหลักท่านหนึ่งเพื่อขอระดมทุน เชิญเขามาร่วมหุ้นในบริษัทออกแบบตกแต่งภายในครบวงจรที่ตั้งขึ้น อาจด้วยความมุ่งมั่น ด้วยวัยที่ยังเรียกว่าเป็นผู้เยาว์ ลูกค้าท่านนั้นเมตตาให้ทุนมาร่วมหุ้นกับเขาจำนวน 10 ล้านบาท ซึ่งทุนนั้นมาพร้อมเงื่อนไขมากมายที่เป็นเสมือนการสอนให้ปัณณธรต้องรู้จักวางแผนธุรกิจให้รัดกุมขึ้น ทุนก้อนนั้นทำให้ ARTRA ก้าวเดินมาได้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเขายอมรับว่าตัวเองยังเป็นเด็กแต่มีความตั้งใจ มีความตั้งมั่น และเรียนรู้ตลอดเวลา เรียนรู้กับงานที่ทำ เรียนรู้กับการบริหารกิจการจากหุ้นส่วนและอีกหลายบทเรียนที่ตลอดเวลา 5 ปีในการทำบริษัทให้เติบโตเป็นก้าวย่างที่เต็มไปด้วยปัญหา บทเรียน และการพัฒนาที่ไม่สิ้นสุด เรียนรู้เกี่ยวกับคนและงานที่มีปัญหาให้ต้องจัดการอยู่เสมอ

    “ตอนนั้นมีเพื่อนมาช่วยทำงาน 5-6 คน ดีไซเนอร์ก็ทำงานให้เรา พอทำไปเรื่อยๆ มีงานเพิ่มเข้ามาก็เริ่มมีดีไซเนอร์ in-house เป็นรูปบริษัท ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก” ปัณณธรย้อนอดีตในช่วงเริ่มต้นรอยต่อที่ก่อตั้งบริษัท โดยเขาบอกว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีกรอบเวลาการก่อสร้างคอนโดฯ ลูกค้าเป็นตัวเร่ง “ตอนนั้นตึกใกล้จะเสร็จ จังหวะโอน เราไม่มีเวลาเลยต้องรีบทำ ช่วงนั้นผมขึ้นปี 4 มีงานด้วยและมีงานเข้ามาตลอด” ปัณณธรเล่าถึงจังหวะชีวิตที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ทันตั้งตัว


    เขาเล่าว่า ช่วงนั้นที่ได้งานเข้ามามากเพราะเขาได้ไปตั้งบูธที่โครงการคอนโดฯ แห่งนั้น รับเหมาออกแบบตกแต่งคิดราคาไม่สูง เช่น 2 ห้องนอนคิดราคา 500,000 บาท ทำให้ได้งานเข้ามาจำนวนมาก และเป็นที่มาของการขยายทุนเพิ่มหุ้นส่วนและทำงานในรูปบริษัทต่อมาจนถึงปัจจุบัน ตอนนั้นเริ่มมีดีไซเนอร์อินเฮ้าส์ มีทีมขาย แต่ยังคง QC งานด้วยตัวเองอยู่ ต่อมาจึงขยายจนครบทุกแผนก

    “ปีนี้ปีที่ 5 แล้วครับ เริ่มจากปี 2561 ช่วงแรกก็เป็นช่วงของการต้องการเงินแหละเห็นโอกาสพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ตั้งชื่อ ARTRA มาตั้งแต่แรก ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก” ซีอีโอวัย 25 เล่าที่มาของบริษัท เขาดูมีความเกร็งๆ เล็กน้อย อาจด้วยวัยที่ยังไม่มากแต่ความคิดและจินตนาการเขาสูงกว่าอายุไม่น้อย เพราะนับตั้งแต่ชื่อบริษัทที่เขาตั้งคำว่า ARTRA เป็นคำที่มีความหมายชัดเจน อ่านจากซ้ายไปขวาก็คือ Art หรืออ่านจากด้านกลับกันก็ยังคงคำว่า Art เช่นเดียวกัน สื่อความเป็นศิลปะได้อย่างมีที่มาที่ไป “มันคือศิลปะมองจากมุมไหนก็ต้องเป็นศิลปะ คือพูดให้มี story นั่นแหละ” เขาอธิบายพร้อมรอยยิ้มเล็กๆ มีแววเขินอายนิดหน่อย แต่มันก็เป็นเรื่องราวที่ใช้ได้ดีทีเดียว

    เขาเล่าว่า พอตั้งบริษัทด้วยเงินทุนที่ได้มาจากครอบครัว 300,000 บาท ทำได้ 3 เดือนมีเงินหมุนเวียนจากลูกค้า 15 ล้านบาทนำมาหมุนเวียนจ่ายผู้รับเหมาและดีไซเนอร์เป็นวงจร เงินที่ไหลเข้าออกไม่ได้ใช้ไฟแนนซ์ ไม่ได้ขอสินเชื่อใดๆ พยายามเก็บงวดจากลูกค้าให้ได้มากที่สุด งวด 1 งวด 2 งวด 3 หมุนเงิน แต่ก็เริ่มมีปัญหางานไม่ทันกำหนดด้วยอุปสรรคต่างๆ ช่วงนั้นปัญหาเยอะมาก เรียกว่าต้องแก้ปัญหาเป็นรายวันเลยทีเดียว แต่โชคดีที่โครงการก็ยังไม่พร้อมส่งมอบทำให้มีเวลาได้เก็บงานให้จบ


    ช่วงนั้นเองที่เขาต้องไปเชิญลูกค้าเก่าท่านหนึ่งมาร่วมหุ้นและได้เงินทุนมา 10 ล้านบาทด้วยเหตุผลว่ามองเห็นโอกาสความสำเร็จของบริษัท เขาบอกว่า ตัดสินใจมาลงกับเราเพราะชอบ มันดูน่าจะ success เป็นโมเดลที่ดูมีเหตุผล และลูกค้าน่าจะโอเค” เขาหมายถึงการรับงานของ ARTRA เรียกเก็บเงินลูกค้าก่อน 20% ทำให้บริษัทมีทุนที่จะไปหมุนจ้างออกแบบและผู้รับเหมา และเรียกเก็บเงินตามงานที่ส่งมอบดูมีหลักการที่ดี แต่หุ้นส่วนอยากให้มีสำนักงานที่ชัดเจนจึงได้มาตั้งออฟฟิศเป็นหลักแหล่งและรับพนักงานประจำเข้ามาทั้งดีไซเนอร์ การตลาด และ QC

    “พนักงานจ้างมา 4-5 คนทำออฟฟิศและตลาด อีก 3-4 คนดูแลผู้รับเหมา รวมแล้ว 10 คน ผมเป็น 1 ใน 10 ทำทุกอย่าง อย่าเรียกว่าผู้บริหารเลยครับ เรียกว่าทำทุกอย่าง ขัดห้องน้ำก็ยังมี” เขาเล่าอย่างอารมณ์ดีกลั้วเสียงหัวเราะเล็กน้อย ก่อนจะบอกว่า ทำบริษัทเป็นประสบการณ์ที่ดี สนุก มีปัญหาให้แก้เยอะ ส่งงานไม่ทันบ้าง ผู้รับเหมาก็ต้องมาคุยกัน ปรับงานกัน เพราะบางคนรับปากแต่ทำไม่ได้ งานไม่จบยังมีเดินทางไปดูแสงเหนืออีกต่างหาก เขาเล่าประสบการณ์แปลกใหม่ที่ยากจะจัดการ

    เส้นทางซีอีโอของปัณณธรไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ปัญหามากมายถาโถมเข้ามาในช่วงเริ่มต้นมาได้สักระยะหนึ่ง “ตอนนั้นทิ้งตัวนอนบนโซฟาหมดสภาพเลย แล้วก็ค่อยๆ คิด เริ่มจากทำใจก่อนแล้วค่อยแก้ปัญหา คือรู้ตัวว่าไม่ใช่เป็นคนเพอร์เฟ็กต์ แต่ขอให้งานได้สัก 80-90% ก็มาลองดู” เขาเล่าหลักคิดให้ฟังว่า ในวันที่ปัญหาเยอะเขาใช้การอดทนรอและคิดว่าจะต้องส่งงานลูกค้าให้ได้ ถ้าปล่อยไปแบบนี้จะพังไปหมด ตอนนั้นเขาคิดอย่างเดียวคือ อึด อดทนกับปัญหา 6 เดือนแรกหนักที่สุด งาน 100 กว่าห้องไม่ธรรมดา มีบางห้องตามทุกวันก็มี ตามผู้รับเหมาเอาช่างมาทิ้งไว้ตามยาก คุมช่างเองมีปัญหาเต็มไปหมด

    

เฟส 2 เจาะงานบ้าน

    

    “อันนี้แค่เริ่มต้นว่าหนักแล้ว แต่เดี๋ยวมีมากกว่านี้” ปัณณธรเล่าอย่างออกรส การจะผ่านจุดเริ่มต้นมาได้ไม่ใช่เรื่องง่าย กระทั่งเขาคิดว่าต้องหาทุนเพิ่ม เขาเริ่มมองหาโซลูชันต่างๆ กระทั่งได้เจอลูกค้าเก่าท่านหนึ่งดูแล้วน่าจะเป็นเจ้าของกิจการ เขาดูใจดีและมีความรู้ “พี่คนนี้อายุ 57 เท่ากับคุณพ่อผมเลย คุยกันรู้เรื่อง แต่พี่เขาเป็นเจ้าของกิจการ เป็นมืออาชีพ มีความละเอียดมาก” ปัณณธรแสดงความตั้งใจและมุ่งมั่นจนกระทั่งได้ลูกค้ารายนี้มาเป็นหุ้นส่วน ได้เป็นผู้ร่วมทุน เข้ามาถือหุ้นด้วย มีเงื่อนไขหลายข้อ มีการกำหนดว่าจะแปลงหุ้นเป็นทุน มีข้อสัญญาที่เป็น commitment ไว้ชัดเจน ทำให้บริษัทเดินมาในรูปแบบที่มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น เริ่มจ้างพนักงานเพิ่ม และเริ่มขยายงานใหม่ๆ ตามมา จากงานเดิมคือ ออกแบบตกแต่งห้องชุด ซึ่งจะเรียกว่างานแมสก็ไม่ผิด เพราะห้องชุดส่วนใหญ่แบบผังมาเหมือนกัน การออกแบบก็สามารถจัดกรุ๊ปได้ แต่พอมาทำบริษัทจริงจังก็เริ่มมองหางานที่ต่างออกไป จากแบบห้อง 10 กว่าแบบ แบบซ้ำกันประมาณ 100-200 ห้อง ก็หันมารับงานลูกค้าบ้านเป็นสเกลงานที่ใหญ่ขึ้น บ้านทั้งหลังงานมีขนาดใหญ่ขึ้นมูลค่างานก็เพิ่มขึ้น

    “ต้องเรียกว่าเป็นเฟสที่ 2 เริ่มทำออฟฟิศให้ดูดี เริ่มจ้างคนเข้ามาทำงาน พอมาเจาะลูกค้ากลุ่มบ้านเราทำตลาดทุกแบบเลย มีครบ ช่วงแรกก็ยากพอเดินไปได้ ลูกค้าค่อยๆ รู้จักบริษัท” นั่นคือจุดเริ่มต้นเฟสที่ 2 จากงานบ้านที่สเกลไม่ได้ใหญ่มากมูลค่าราว 5-7 ล้านบาท ปัจจุบันเพิ่มมาเป็น 20-50 ล้านบาท รับงานตกแต่งบ้านราคา 100 ล้านบาทขึ้นไปทำให้งานใหญ่ขึ้น จำนวนชิ้นลดลงแต่มูลค่าต่องานเพิ่มขึ้น


    เมื่อสเกลงานใหญ่ขึ้นอย่างชัดเจน จำนวนชิ้นงานลดลงลูกค้าไม่ได้เยอะมาก งานที่รับเป็นหลักล้านขึ้นไป ที่จริงงานตกแต่งก็เป็นหลักล้านมาตั้งแต่ทำคอนโดฯ แต่งานดูยังไม่แพงเท่างานบ้าน พอรับงานบ้านงานเริ่มแพงขึ้นเรื่อยๆ ก็มาขยายบริษัทด้วยการรับสมัครทีมงาน ตอนแรกก็เป็นเรื่องยากเพราะคนทำงานไม่รู้จักบริษัท และคนเก่งๆ ที่ได้มาก็จะอยู่กับเราไม่นาน เพราะทุกคนอยากไปอยู่กับบริษัทใหญ่ “ช่วงแรกที่เรารับคนมาเยอะมาก แต่ก็โดน Headhunter เอาไปพอสมควร ยื่นใบสมัครไปที่ไหนมีชื่อเราเขาก็รับแล้วก็มีทั้งข้อดี ข้อเสีย” นั่นคือ วิถีของบริษัทออกแบบที่ต้องพบเมื่อองค์กรยังมีขนาดเล็ก

    หลังจากนั้นปัณณธรก็ต้องมาพบกับโจทย์ยากอีกครั้งเมื่อเข้าสู่สถานการณ์โควิด-19 แม้จะยังพอมีงานแต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างทำให้ส่งงานไม่ได้ตามกำหนด สถานการณ์ตึงเครียด “ก่อนโควิดเรามีพนักงาน 20 กว่าคน วันนี้คนเป็นพนักงานออฟฟิศอย่างเดียว ดีไซเนอร์ประมาณ 10 คนก็ไม่น้อย” เขาผ่านช่วงโควิดมาได้โดยยังมีทีมงานเพิ่มขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าโควิดกระทบเหมือนกัน ช่วงแรกลูกค้าใหม่เป็นศูนย์ มีแต่งานจากลูกค้าเก่า ทางบริษัทหันมาปรับเรื่องการเก็บเงินให้ครอบคลุมมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยง

    “เคยมีลูกค้าไปไม่จบ คือทำแล้วไม่ไปต่อก็มี ได้แค่ 10% ของมูลค่าโครงการ คือค่าออกแบบก็มีเหมือนกัน แต่เป็นส่วนน้อย

    ส่วนใหญ่ลูกค้ากว่า 70% ยังคงไปต่อ” ปัณณธรบอกว่า ไม่ใช่ทุกเคส เพราะลูกค้าบางคนก็อยากได้แค่แบบ เขาจึงปรับงานตามความเหมาะสม สำหรับพนักงานตอนนี้มีประมาณ 40 คนที่เป็นพนักงานประจำ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ซับงานด้านดีไซเนอร์ข้างนอกด้วย ส่วนดีไซเนอร์ในบริษัทมีประมาณ 10 คน ที่เหลือก็จ้างข้างนอก “ผมทำได้หลายอย่างโครงการใหญ่ก็ไม่มีปัญหา เพราะมีดีไซเนอร์ออกแบบให้ดูแพงตามที่ลูกค้าต้องการ” เขายกตัวอย่างลูกค้ามีทั้งเศรษฐีที่เป็นคนรุ่นใหม่ร่ำรวยมาจากการขายเพชร ขายครีม สินค้าใหม่ๆ ก็มีไม่น้อย ลูกค้าบางคนก็อยากจ้างดีไซเนอร์เก่งๆ แล้วหาผู้รับเหมาแต่เราทำครบวงจรออกแบบด้วย จัดหาผู้รับเหมา ดูแลจนจบงานด้วย ไม่มีปัญหา ซึ่งตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีกว่า



    “ก็มีบางรายเช่น ลูกค้ามีงบมา 15 ล้านบาทให้ออกแบบแล้วก็ต้องเอาแบบไปให้ผู้รับเหมา 2-3 เจ้ามาประมูล ใช้เวลาเป็นเดือน ตีราคามา 15, 25, 30 ล้านก็แล้วแต่ลูกค้าเลือกไม่มีใครผิด” เขาอธิบายการจ้างงานเป็นไปค่อนข้างยืดหยุ่นตามความต้องการของลูกค้า แต่อย่าลืมว่าลูกค้าไม่มีทางรู้ว่างานจริงๆ เป็นอย่างไร ผู้รับเหมาทำครบไม่ครบอันนี้เราต้องดูแลให้ทั้งหมด เรียกว่าเราแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้งานตามต้องการตามสเปกภายในงบประมาณที่ตกลงกันไว้ชัดเจน นี่คือข้อได้เปรียบของเรา ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของลูกค้าโดยตรง

    

บริการจบครบวงจร

    

    ประสบการณ์ 5 ปีสอนว่า การทำงานออกแบบรับเหมาตกแต่งไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปหากสามารถจัดการสมดุลของทุกๆ อย่างได้ เป็นงานที่ต้องบริหารหลายอย่างมาก ทั้งไฟแนนซ์ บริหารเงินให้ลูกค้าทุกอย่าง “เราเป็นทั้ง design และ construction อยู่ในบริษัทเดียวกัน มันเหมือนสมองซีกซ้ายและซีกขวาทำงานสอดประสานกัน ดูแลแทนลูกค้า แต่ก็ต้องบริหารจัดการทีมงานด้วย” เขาสรุปคร่าวๆ ถึงหน้าที่ในฐานะบริษัทออกแบบรับเหมาตกแต่งภายในที่ทำอยู่

    ปัญหาในการทำงานมีมากมายเกินคาด บางครั้งปัญหาไม่ได้อยู่ที่การออกแบบหรือผู้รับเหมา แต่อยู่ที่กรอบเวลา ไม่สามารถเข้าทำงานได้ เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่ต้องนำมาประมวลแก้ไขเพื่อส่งมอบงานให้ลูกค้าได้ตามกรอบเวลาที่สัญญากันไว้ มันมีรายละเอียดต่างๆ มากมายเกินกว่าจะบรรยายได้หมด และปัญหาก็มีหลากหลายรูปแบบไม่ซ้ำกัน


    แต่ไม่ว่าปัญหาจะเป็นอย่างไรเมื่อลูกค้าจ้างให้ ARTRA ออกแบบบริษัทจะพยายามแก้ปัญหาให้ทุกอย่าง จบงานให้ได้ตามที่ลูกค้าต้องการ “ลูกค้าที่เดินมาเราพร้อมบริหารจัดการได้หมด แต่บางคนก็ไม่ได้อยากรู้อะไรมาก ขอแค่จบงานให้ได้ตามต้องการก็พอ แต่ก็มีบ้างที่ลูกค้าจะมี emotional บางอย่าง เราต้องพยายามอธิบายสร้างความเข้าใจ” เป็นสิ่งที่ปัณณธรเจอมาตลอด 5 ปีของการทำธุรกิจซึ่งเขาบอกว่า ไม่ได้จบมาด้านอินทีเรียร์ แต่จบด้านวิศวะก็มีข้อดีคือ ทำให้คิดทุกอย่างเป็นระบบ ทำให้แก้ไขปัญหาและวางแผนในภาพรวมได้

    ซีอีโอวัย 25 บอกว่า ทุกวันนี้เขาสนุกกับงานและทำทุกอย่างที่ทำได้ โดยไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นผู้บริหาร แต่คิดเสมอว่าเป็นคนทำงาน ทุกคนคือเพื่อนร่วมงาน อยู่ในบ้านเดียวกันต้องร่วมกันสร้างความแข็งแรง มั่นคง เติบโตไปภายใต้การยอมรับของลูกค้า เพราะเมื่อใดก็ตามที่ตอบสนองลูกค้าไม่ได้ นั่นหมายถึงธุรกิจเดินมาถึงจุดเริ่มต้นปัญหาอีกแล้ว ต้องไม่ปล่อยให้เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นมา แต่ขณะเดียวกันเขายอมรับและเข้าใจกับสภาพเศรษฐกิจ 2 ปีที่ผ่านมาหลายคนมีปัญหาเศรษฐกิจชะงักเพราะโควิด ARTRA ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เป้ารายได้บริษัท 100 กว่าล้านบาทในปีก่อนตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 300 ไปไม่ถึงเป้าหมายทั้งที่เตรียมทุกอย่างไว้ แต่เชื่อว่าในปีนี้สถานการณ์ต่างๆ จะดีขึ้น เป้าหมายที่ตั้งไว้คงไม่ไกลเกินเป็นจริง


    

    อ่านเพิ่มเติม : คมสันต์ ลี “Flash Express” บุกอาเซียน

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine