แม้ว่าในปี 2021 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจซึ่งพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักของเกาหลีใต้จะเติบโตกว่าร้อยละ 4 ทว่าภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์กลับมีผลการดำเนินงานไม่ดีเท่าที่ควรนัก ด้วยดัชนี Kospi ที่ปรับตัวลงร้อยละ 13 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2021
ส่งผลให้มหาเศรษฐีเกาหลีใต้ทั้ง 50 รายมีทรัพย์สินรวมกันลดลงมาอยู่ที่ 1.3 แสนล้านเหรียญฯ จากเดิมซึ่งอยู่ที่ 1.56 แสนล้านเหรียญในปีก่อน และนับเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษที่ไม่มีมหาเศรษฐีคนใดที่มีทรัพย์สินเป็นเลข 2 หลักเลย
สำหรับในปีนี้ มหาเศรษฐีซึ่งสร้างฐานะด้วยตัวเอง Kim Beom-su ผู้ก่อตั้ง Kakao ก้าวขึ้นครองอันดับ 1 ของทำเนียบ ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 9.6 พันล้านเหรียญ ท่ามกลางข้อโต้แย้งมากมายที่ทำให้หุ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตปรับตัวลง
ตามมาด้วย Jay Y. Lee แห่ง Samsung เช่นเคย ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 9.2 พันล้านเหรียญ ขณะที่อันดับ 3 ตกเป็นของ Michael Kim มหาเศรษฐีจากธุรกิจไพรเวทอิควิตี้ ซึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นสูงสุดในปีนี้แตะ 7.7 พันล้านเหรียญ หลัง Dyal Capital Partners จากนิวยอร์กเข้าถือหุ้นใน MBK Partners ของเขาที่มูลค่าเกือบ 9 พันล้านเหรียญ
ด้านอันดับ 1 ของปีที่แล้วอย่าง Seo Jung-jin ตกลงมาอยู่ที่อันดับ 4 ด้วยทรัพย์สินสุทธิ 6.9 พันล้านเหรียญ ซึ่งลดลงกว่า 5.6 พันล้านเหรียญหรือร้อยละ 45 จากปีก่อน โดยได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของหุ้นบริษัทผู้ผลิตยา Celltrion ที่ร่วงลงท่ามกลางความผิดหวัง หลังผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาเพื่อใช้รักษาโควิด-19 ไม่ผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ
เช่นเดียวกับ Bom Kim ผู้ก่อตั้ง Coupang ซึ่งครอบอันดับที่ 17 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินลดลงมากที่สุดแห่งปีที่ 3.2 พันล้านเหรียญ อันเป็นผลมาจากการปรับตัวลงของหุ้นบริษัทอี-คอมเมิร์ซที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก
ด้าน 7 มหาเศรษฐีหน้าใหม่แห่งปี ประกอบด้วย 3 ผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพ ได้แก่ Lee Seung-gun (อันดับที่ 36) จากฟินเทคยูนิคอร์น Viva Republica, Song Chi-hyung (อันดับที่ 9) ผู้ร่วมก่อตั้ง Dunamu และ Kim Hyoung-nyon (อันดับที่ 22) ผู้บริหาร Upbit แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้
ขณะที่ Yoo Jung-hyun ก้าวเข้าสู่ทำเนียบมหาเศรษฐีครั้งแรก หลังการเสียชีวิตอย่างกะทันหันของสามี Kim Jung-ju ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ด้วยวัยเพียง 54 ปี ส่งผลให้ปัจจุบันเธอมีสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่ร้อยละ 14 ในบริษัทเกมออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่าง Nexon ซึ่งเธอช่วย Kim ก่อตั้งขึ้นในปี 1994
คู่พี่น้อง Cho Hyun-sang (อันดับที่ 44) และ Cho Hyun-joon (อันดับที่ 47) แห่งกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรม Hyosung Group คือ ผู้ที่กลับเข้าสู่ทำเนียบอีกครั้งในปีนี้ หลังหุ้นของบริษัทในเครือ Hyosung Advanced Materials ผู้ผลิตคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งใช้ในรถยนต์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยได้รับอานิสงส์จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนในอนาคตรถยนต์พลังงานสะอาด
ท้ายที่สุด หนึ่งใน 9 มหาเศรษฐีที่หลุดทำเนียบในปีนี้ ได้แก่ Koo Bon-joon จากตระกูล LG ซึ่งบริจาคหุ้น LG ของเขาให้กับมูลนิธิการกุศล 3 แห่ง และแบ่งส่วนหนึ่งของสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทเครื่องแต่งกาย LX Holdings ให้กับลูกๆ
พบกับ 10 มหาเศรษฐีเกาหลีใต้ ประจำปี 2022 ซึ่งได้รับการประเมินมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันที่ 1 เมษายน 2022
อันดับ 1
Kim Beom-su
มูลค่าทรัพย์สิน: 9.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
แหล่งที่มาทรัพย์สิน: Kakao
อันดับ 2
Jay Y. Lee
มูลค่าทรัพย์สิน: 9.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
แหล่งที่มาทรัพย์สิน: Samsung Electronics
อันดับ 3
Michael Kim
มูลค่าทรัพย์สิน: 7.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
แหล่งที่มาทรัพย์สิน: MBK Partners
อันดับ 4
Seo Jung-jin
มูลค่าทรัพย์สิน: 6.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
แหล่งที่มาทรัพย์สิน: Celltrion
อันดับ 5
Kwon Hyuk-bin
มูลค่าทรัพย์สิน: 6.85 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
แหล่งที่มาทรัพย์สิน: Smilegate
อันดับ 6
Hong Ra-hee
มูลค่าทรัพย์สิน: 6.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
แหล่งที่มาทรัพย์สิน: Samsung Group
อันดับ 7
Chung Mong-Koo
มูลค่าทรัพย์สิน: 4.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
แหล่งที่มาทรัพย์สิน: Hyundai Motor
อันดับ 8
Lee Boo-jin
มูลค่าทรัพย์สิน: 3.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
แหล่งที่มาทรัพย์สิน: Hotel Shilla
อันดับ 9
Song Chi-hyung
มูลค่าทรัพย์สิน: 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
แหล่งที่มาทรัพย์สิน: Dunamu
อันดับ 10
Cho Jung-ho
มูลค่าทรัพย์สิน: 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
แหล่งที่มาทรัพย์สิน: Meritz Financial Group
แปลและเรียบเรียงจากบทความ Korea’s 50 Richest 2022: Collective Wealth Falls Despite Economic Uptick, Only Eight See Fortunes Rise โดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค เผยแพร่บน Forbes.com
อ่านเพิ่มเติม: 12 มหาเศรษฐีอายุน้อย ประจำปี 2022
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine