เกมกลยุทธ์พลิกสถานการณ์ติดลบในธุรกิจอัญมณีของคลื่นลูกใหม่แห่งแพรนด้า จิวเวลรี่ เดินหน้าเปิดเกมรุกบาลานซ์พอร์ตรายได้ ด้วยยอดผลิตและส่งออกเสิร์ฟลูกค้าท็อป 20 พร้อมสร้างแบรนด์ Prima ขึ้นแท่นผู้นำอาเซียน
ผู้นำด้านการส่งออกเครื่องประดับอัญมณีไทยในระดับโลกจากผลกำไรที่ได้รับเป็นกอบเป็นกำในการเทรดสินค้าทองของทายาทคนโตแห่งตระกูลเตียสุวรรณ์ได้กลายเป็นเงินตั้งต้นกิจการและก้าวแรกของการรวมพลังครอบครัวก่อตั้งบริษัท แพรนด้า ดีไซน์ จำกัดในปี 2516 และ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2527 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 6 กรกฎาคม 2533 “บริษัทนี้ได้รับการก่อตั้งโดยพี่น้อง 6 คนและสะใภ้ 1 คน ซึ่งผมมองตัวเองเป็นรุ่น 1.5 มากกว่ารุ่น 2 เพราะเข้ามาช่วยคุณลุง คุณป้าคุณอาตั้งแต่เมื่อ 12 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน” ชนัตถ์ สรไกรกิติกูล คลื่นลูกใหม่ในธุรกิจเล่าถึงช่วงเริ่มต้นและบทบาทหน้าที่ในตำแหน่งประธานกรรมการการเงินและบริหารความเสี่ยง บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ PDJ แม้ ชนัตถ์ จะเป็นทายาทในอาณาจักรอัญมณี แต่เขาไม่เคยคาดคิดเรื่องการสืบทอดกิจการครอบครัว จากความสำเร็จบนเส้นทางการเงินและบัญชีที่ก่อร่างสร้างขึ้นด้วยตัวเอง หลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานในบริษัทตรวจสอบบัญชีระดับโลกราว 3 ปี หนุ่มนักเรียนนอกวัย 24 ปี จึงตัดสินใจหอบใบอนุญาตผู้สอบบัญชี Certified Public Accountant หรือ CPA กลับประเทศไทยได้ไม่ถึง 2 อาทิตย์ก็ได้รับมอบหมายจากมารดา ให้ช่วยดูแลการตั้งต้นบริษัทของเพื่อนมารดาที่เวียดนามในฐานะ Vice President บริษัท Forever Living Products “เพื่อนคุณแม่ทำธุรกิจ direct sales ที่เวียดนาม โดยเราไปช่วยเขาวางระบบและดูแลทุกอย่างเหมือนเป็นเอ็มดี จากเดิมตั้งใจเข้าไป 3 เดือนกลายเป็น 3 ปี เราทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตอย่างรวดเร็วจาก 2 ล้านเหรียญเป็น 25 ล้านเหรียญต่อปี” ชนัตถ์ในวัย 38 ปียังคงระลึกถึงการก้าวสู่ธุรกิจครอบครัวเมื่อ 12 ปีก่อน โดยเริ่มต้นรับโจทย์การสร้างแบรนด์และขยายตลาดส่งออก รวมถึงการจัดตั้งบริษัทที่ประเทศอินเดีย พร้อมทั้งจัดโครงสร้างองค์กรให้มีความชัดเจน “การทำงานแบ่งเป็น 3-4 ช่วง โดย 3 ปีแรกเรานั่งตำแหน่ง Business Development Manager ทำเรื่องตราสินค้าตัวเองและขยายตลาด Prima Gold ในหลายประเทศ จากนั้นปี 2552-2555 เราขยับเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และร่วมวางแผนธุรกิจในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และนั่งเก้าอี้กรรมการบริหาร รวมถึง CFO เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา โดยมีบทบาทกำหนดแนวทางอนาคตและร่วมเข้าไปเปลี่ยนแปลงบริษัทมากขึ้น” หนึ่งในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายนอกเหนือจากการจัดทัพธุรกิจให้มีความชัดเจน ชนัตถ์ เดินหน้าสานต่อความมุ่งมั่นในการสร้างแบรนด์ทั้งในประเทศและต่างประเทศพร้อมขยายอาณาจักรทางธุรกิจ เพื่อสร้างสมดุลรายได้ให้บริษัทพลิกฟื้นผลกำไรและเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาว “จากแนวคิดและวิสัยทัศน์ของท่านประธานหรือคุณปรีดา (อา) เราลงทุนในต่างประเทศตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว แต่ยังไม่มีกิจกรรมมากเพราะเราไม่ได้มองตัวเองเป็นแค่ผู้ผลิตหรือรับจ้างผลิต ซึ่งกำหนดชะตาตัวเองไม่ได้หรืออำนาจการต่อรองค่อนข้างต่ำ โดยผมเข้ามาวางโครงสร้างและจัดหมวดหมู่ธุรกิจให้ชัดเจนขึ้น”![](http://forbesthailand.com/uploads/library/ea1e247a6ed544d05ca53d83c801b38e.png)
![](http://forbesthailand.com/uploads/library/bd956fa03ff755c2ee9fab60389ebbfb.png)
คลิกอ่านฉบับเต็ม PDJ ฝ่าความท้าทายปรับแผนเจียระไนแบรนด์ดัง ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ เมษายน 2561 ในรูปแบบ e-Magazine
![](http://www.forbesthailand.com/uploads/library/97891240d6b165e726b23c91d5985a6d.png)