จับตาผลกระทบหลังสหรัฐฯ ยกระดับสกัดธุรกิจ Semiconductors จีน - Forbes Thailand

จับตาผลกระทบหลังสหรัฐฯ ยกระดับสกัดธุรกิจ Semiconductors จีน

FORBES THAILAND / ADMIN
16 Nov 2022 | 04:37 PM
READ 5472

ความสัมพันธ์ด้านการค้าสหรัฐฯ-จีน ยังมีความอ่อนไหวสูง ล่าสุดในวันที่ 7 ตุลาคม 2565 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกกฎหมายห้ามขายชิปประสิทธิภาพสูง รวมไปถึงอุปกรณ์ที่สามารถนำไปผลิตชิปประสิทธิภาพสูงให้กับบริษัทจีน


    โดยประกาศดังกล่าวได้เพิ่มบริษัทจีนอีก 31 บริษัท เข้าสู่กลุ่ม “Unverified List” ซึ่งต้องขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ก่อนที่จะขายสินค้ากับบริษัทเหล่านี้ ซึ่งได้รวมถึงบริษัทจดทะเบียน Yangtze Memory Technologies ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปจีนที่ถือว่าได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนจากรัฐบาลจีน


    นอกจากนี้ ในรายละเอียดของกฎหมายยังห้ามไปถึง พลเมืองสหรัฐฯ ต้องขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ก่อนในการให้การสนับสนุนทางตรงหรือทางอ้อมกับลูกค้าสัญชาติจีน โดยการประกาศในครั้งนี้สหรัฐฯ ได้อ้างถึงเพื่อเป็นการป้องกันจีนนำชิปไปพัฒนาต่อยอดด้านอาวุธสงครามและเพื่อความมั่นคงของสหรัฐฯ


    บริษัทผลิตเครื่องจักรผลิตชิปต่างให้ความร่วมมือรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นที่รู้กันอยู่ในวงการอุตสาหกรรม Semiconductors การผลิตชิปขึ้นมาได้ จำเป็นต้องพึ่งกลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตชิปซึ่งปัจจุบันมีเพียง 4 บริษัท** ที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูง ได้แก่ Lam Research, ASML, KLA Corporation และ Applied Material


    โดยหลังจากการประกาศของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ช่วงต้นเดือนตุลาคม หนังสือพิมพ์ Financial Times รายงานในวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา บริษัท 3 แห่ง Lam Research, Applied Materials และ KLA Corporation ล้วนให้ความร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในการที่หยุดการขายสินค้าให้กับจีน ในขณะที่ ASML ซึ่งเป็นบริษัท Netherlands ก็ได้ให้พนักงานที่เป็นชาวสหรัฐฯ หยุดให้บริการลูกค้าที่เป็นบริษัทจีนไปก่อน


    ขณะด้านการเคลื่อนไหวของบริษัท TSMC ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปชั้นนำ ซึ่งแม้จะไม่ใช่บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ แต่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า บริษัทจะใช้เวลา 1 ปี ในการลดกำลังการผลิตในโรงงานที่เมือง Nanjing ส่วนบริษัท SK Hynix ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ ระบุได้ขอเวลาอีก 1 ปีเช่นเดียวกันในการที่จะลดธุรกรรมการขายผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัทจีน ส่วน Samsung ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดแต่เราคาดว่าจะมีทิศทางไม่แตกต่างกัน


ความสัมพันธ์ห่วงโซ่อุปทานการผลิตในอุตสาหกรรม Semiconductors จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ


ที่มา: seekingalpha, S&P Capital IQ และ Lam’s FY2020 10-K

    

    แผนผังด้านบนแสดงถึงห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรม Semiconductor โดยเริ่มจากกลุ่มบริษัทที่ผลิตเครื่องจักรที่ใช้ในการพิมพ์ลายลงบนซิลิคอนเวเฟอร์หรือเครื่องที่ใช้ในการผลิตชิป และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอย่าง Lam Research, Applied Materials และ ASML ซึ่งลูกค้าหลักคือบริษัทผู้ผลิตประเภท Foundries หรือธุรกิจที่รับจ้างผลิตและขึ้นรูปชิปประมวลผล แต่ไม่ได้ออกแบบเองอย่าง TSMC, UMC และ Global Foundries


    โดยกลุ่มธุรกิจดังกล่าวจะส่งต่อให้บริษัทชิปประมวลผลในกลุ่ม Fabless คือ บริษัทผู้ออกแบบ พัฒนาและจำหน่ายชิปประมวลผลให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของผลิตภัณฑ์อย่าง AMD, Nvidia, Qualcomm, Broadcom ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะไม่เป็นผู้ผลิตชิปเอง แต่จะให้กลุ่ม Foundries ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นผู้ผลิตให้


    นอกจากธุรกิจ 2 กลุ่มดังกล่าวแล้ว ยังมีกลุ่มที่ทั้งออกแบบและผลิตอย่าง Samsung, Intel, Toshiba ซึ่งโดยมากแล้วจะใช้ในผลิตภัณฑ์ของตนเอง และลูกค้ากลุ่มท้ายสุดคือกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีที่จะนำชิปเหล่านี้ไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่าง AWS, Google Cloud, Microsoft Azure ในธุรกิจ Cloud, Apple ในผลิตภัณฑ์ Smartphone เป็นต้น


    ระยะสั้นคาด อาจกระทบจีนในหลายธุรกิจ เช่น กลุ่ม AI รถยนต์ไฟฟ้า และ Cloud Computing
ยุทธศาสตร์สำคัญของจีน คือแผนการเป็นผู้นำทางด้าน AI ให้ได้ภายในปี 2030 หรือต้องการเป็นผู้นำการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และการเป็นศูนย์กลางทางด้านประมวณผลข้อมูล (Big Data) ซึ่งล้วนต้องอาศัยประสิทธิภาพของชิปในการประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูง


    โดยที่ผ่านมา จีนยังคงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าชิปและอุปกรณ์การผลิตต่างๆ จากต่างประเทศ ดังนั้นหากถูกจำกัดการนำเข้าชิปจากสหรัฐฯ ย่อมสร้างปัญหาให้กับจีนได้ แม้แผนระยะยาวจีนต้องการที่จะพึ่งพาการผลิตในประเทศก็ตาม


    สำหรับบริษัทผู้ผลิตชิปสัญชาติจีนที่เป็นที่รู้จักคือ Semiconductor Manufacturing International Corp (SMIC) เริ่มมีกระแสข่าวสามารถผลิตชิปในรุ่นขนาด 7nm ได้ แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันจากบริษัท แต่ก็ยังถือว่าห่างเมื่อเทียบกับการนำเข้า ชิปประสิทธิภาพสูงที่ผลิตจากบริษัท TSMC หรือ Samsung ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิต ชิป ขนาด 3nm และ 5 nm ได้สำเร็จ (Samsung แถลงข่าวได้เริ่มผลิ ชิป 3nm เมื่อ มิ.ย. 2022


    ขณะที่ TSMC จะเริ่มผลิตในช่วงครึ่งหลังของปี 2022) นอกจากนี้ยังมีรายงานการผลิต ชิป ของ SMIC จำเป็นต้องนำเข้าอุปกรณ์จาก Lam Research และ Applied Material ซึ่งหากบริษัททั้ง 2 ไม่สามารถส่งเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตย่อมมีความเสี่ยงกับ SMIC


    อย่างไรก็ดี มีรายงานว่า Yangtze Memory Technologies ได้เตรียมตัวไว้ก่อนหน้านี้บ้างแล้ว ในการนำเข้าวัตถุดิบ อุปกรณ์ และเครื่องจักร เพื่อใช้ในการผลิตชิป แต่เชื่อว่าจะเพียงพอไปแค่เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น และอาจมีผลในการขยายกำลังการผลิต

    คาดยิ่งถูกบีบบังคับ จีนจะเร่งปรับตัวพึ่งพาการผลิตในประเทศเร็วขึ้น จริงๆ แล้วการประกาศของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ คล้ายกับในสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ได้ออกกฎหมาย ห้ามสนับสนุนผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบ (ทั้ง Software และ Hardware) ให้กับบริษัท Huawei แต่ในครั้งนี้ถือว่ากฎหมายที่ออกมาครอบคลุม ชิป ประสิทธิภาพที่ถูกใช้กับบริษัทจีนทั้งหมด ในระยะสั้นเป็นไปได้ว่าจะสร้างผลกระทบให้กับจีน


    แต่ในระยะกลาง-ยาวจะยิ่งเร่งให้จีนจำเป็นต้องพึ่งพาการผลิตในประเทศ และล่าสุดในการแถลงเปิดประชุม Party Congress ครั้งที่ 20 ปธน. Xi ให้คำมั่นว่า จะต้องชนะการต่อสู้ในสมรภูมิเทคโนโลยีอย่างเด็ดขาด ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณว่าอาจจะมีมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมชิปประมวลผลเพิ่มเติม ภายหลังการมาตรการห้ามส่งออปชิปของทางสหรัฐฯ


    นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจาก CaixinGlobal ระบุว่า ในปี 2022 บริษัทจีนที่มีรัฐบาลถือหุ้นได้ตั้งเป้าหมายที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ IT Systems ที่ผลิตในจีนกว่า 30% แล้ว

อ้างอิงข้อมูลจาก:
www.commerce.gov, www.bis.doc.gov, www.technode.com, www.ft.com, www.finspace.co, blinks.bloomberg.com, public-inspection.federalregister.gov, techcrunch.com


บทความโดย
กันติพัฒน์ วงศ์สุคนธ์
Head of Wealth Advisory
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้


​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine

TAGGED ON