AI เขย่าโลกการศึกษา เมื่อการพัฒนามาพร้อมความท้าทาย - Forbes Thailand

AI เขย่าโลกการศึกษา เมื่อการพัฒนามาพร้อมความท้าทาย

FORBES THAILAND / ADMIN
01 May 2025 | 09:30 AM
READ 115

“AI จะไม่มาแทนที่มนุษย์ แต่มนุษย์ที่ใช้ AI จะมาแทนที่มนุษย์ที่ไม่ใช้ AI” ประโยคนี้จะเป็นจริงไหม? และในโลกการศึกษา AI เข้ามามีบทบาทอย่างไร


AI มีบทบาทอย่างไรกับการศึกษาในปัจจุบัน

    ผมลองถามคำถามนี้กับ AI ของ 2 ค่ายคือ Copilot ของ Microsoft และ Gemini ของ Google แล้วนำคำตอบที่ผมได้จาก AI มาถกเถียงว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยประการใด มาลองดูครับว่าผมกับ AI คุยอะไรกัน

    “คุณ AI ครับ คุณจะเข้ามามีบทบาทในโลกการศึกษาอย่างไร?” คำตอบที่ได้คือ “1. การเรียนรู้ส่วนบุคคล (personalized learning) AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและพฤติกรรมการเรียนรู้ของแต่ละคน ปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับความสามารถและความสนใจของแต่ละบุคคล สร้างแบบฝึกหัดและกิจกรรมให้ตรงกับจุดแข็งและจุดอ่อนของผู้เรียนแต่ละคน”

    ส่วนตัวผมเห็นด้วยในประเด็นนี้ แต่บทบาทนี้เหมาะสำหรับการศึกษาด้วยตัวเองแต่ในการเรียนการสอนในห้องเรียนที่ผู้สอนมีนักศึกษาจำนวนมากที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างยากที่จะปรับเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจของแต่ละคน แต่ข้อมูลเหล่านี้หากมหาวิทยาลัยมีการเก็บข้อมูลนักศึกษาแต่ละคนว่านักศึกษาถนัดในด้านใด สนใจแนวทางการเรียนแบบใด ชอบเน้นบรรยาย เน้นกรณีศึกษา หรือชอบแบบศึกษาวิเคราะห์ด้วยตัวเอง แล้วนำคำตอบมาอภิปรายกับอาจารย์และเพื่อนก็จะช่วยให้สามารถออกแบบการเรียนการสอนได้ตรงกับจริตของนักศึกษามากขึ้น

    และ “2. การเพิ่มประสิทธิภาพของผู้สอน AI สามารถช่วยผู้สอนในการทำงานต่างๆ เช่น การตรวจให้คะแนน การให้คำแนะนำแก่นักเรียน หรือการสร้างสื่อการเรียนการสอน ครูผู้สอนจึงมีเวลามากขึ้นในการดูแลนักเรียนแต่ละคนอย่างใกล้ชิด และสามารถปรับวิธีการสอนให้เหมาะสมกับความต้องการของนักเรียนแต่ละคนได้”

    อันนี้ผมก็เห็นด้วยกับ AI ยิ่งมีโอกาสเห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ของ AI ในการช่วยดึงเนื้อหามาสร้างสไลด์ ทำกราฟิก แปล และสรุป น่าจะช่วยทำให้อาจารย์ที่ใช้ AI เป็นสามารถทำสื่อการสอนที่น่าสนใจและตรงกับความต้องการของนักศึกษามากขึ้น รวมถึงการให้ AI ช่วยเลือกตัวอย่างที่ตรงกับความสนใจของผู้เรียนแต่ละกลุ่ม

    ยอมรับครับว่าเวลาสอนคนในเจนที่ต่างกันการหาตัวอย่างที่ทำให้แต่ละเจนเข้าใจและมีประสบการณ์ร่วมทำได้ยากมาก บางแบรนด์ บางเหตุการณ์ ที่เป็นที่รู้จักคนเจน Z แล้วนักศึกษายกมาเป็นตัวอย่างคนเจนอื่นๆ โดยเฉพาะผู้สอนก็ไม่รู้จัก ตัวอย่างที่ผู้สอนยกนักศึกษาเจน Z ก็ไม่รู้จัก

    “3. การเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม AI สามารถช่วยลดช่องว่างทางการศึกษาและทำให้การเข้าถึงการศึกษาง่ายขึ้นสำหรับผู้เรียนทุกคน ไม่ว่าจะมีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย สังคม หรือเศรษฐกิจ AI สามารถช่วยแปลเนื้อหาการสอนเป็นภาษาต่างๆ ช่วยผู้พิการทางการมองเห็นเข้าถึงเนื้อหา หรือช่วยให้ผู้เรียนในพื้นที่ห่างไกลสามารถเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ได้”

    สำหรับข้อนี้ผมไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้มีต้นทุน นักศึกษาที่เรียนกับผมตอนนี้ใช้ iPad, iPhone บางคนใช้คอมพิวเตอร์ด้วย เฉพาะอุปกรณ์พวกนี้รวมๆ กันก็หลักแสน ยังไม่นับแอปพลิเคชันที่ช่วยให้การเรียนและการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นล้วนเสียเงินทั้งนั้น ช่องว่างระหว่างรายได้และความเหลื่อมล้ำจากการเข้าถึงเทคโนโลยีไม่ว่าสถานะทางการเงินหรือจะทักษะในการเข้าถึงเทคโนโลยี คนในเมืองใหญ่และคนชั้นกลางขึ้นไปได้เปรียบ ยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้าไปเท่าไร ค่าใช้จ่ายทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในการนำมาใช้งานก็ยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำเข้าไปใหญ่

    “4. การประเมินผลอัตโนมัติ (automated assessment) AI สามารถช่วยในการประเมินผลการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยเฉพาะในการตรวจข้อสอบปรนัยและการวิเคราะห์งานเขียน ระบบ AI สามารถตรวจสอบความถูกต้องของคำตอบ และประเมินคุณภาพของเนื้อหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดภาระงานของผู้สอนและทำให้ผู้เรียนได้รับผลการประเมินอย่างรวดเร็ว”

    เห็นด้วยครับ ที่ผมและอาจารย์หลายท่านใช้อยู่เป็นการเอา AI มาใช้ตรวจการลอกผลงานกับใช้สำหรับตรวจแบบทดสอบแบบปรนัย และเริ่มใช้ในการช่วยออกข้อสอบปรนัยอยู่บ้าง ทำให้การตรวจและให้คะแนนทำได้รวดเร็ว แต่ความสามารถในการอ่านและวิเคราะห์ของ AI เก่งขึ้นเรื่อยๆ ครับ

    จะว่าไปแล้วการตรวจข้อสอบข้อเขียนเป็นงานที่อาจารย์ส่วนใหญ่ไม่ชอบ จากความสามารถของ AI ในการอ่านและวิเคราะห์ในอนาคตผู้สอนอาจกำหนดคำสำคัญของคำตอบ หรืออาจทำการตรวจข้อสอบ 10 ชุด ให้คะแนนพร้อมวิเคราะห์แล้วสอน AI ว่าตอบแบบไหนได้คะแนนสูง ตอบแบบไหนไม่ได้คะแนน แล้วให้ AI ช่วยทำการตรวจให้ น่าจะช่วยทุ่นแรงไปได้เยอะครับ

    ยิ่งถ้าสอนแบบ E-Learning ให้ผู้เรียนศึกษาด้วยตัวเองก่อนเข้ามาตอบแล้วให้ AI ช่วยวิเคราะห์คำตอบและให้คะแนน พร้อมให้แนวทางคำตอบที่ถูกหรือระบุแหล่งอ้างอิง ตำรา หรือทฤษฎีที่ถูกต้องให้ด้วยก็จะยิ่งช่วยให้การเรียนรู้ด้วยตัวเองมีประสิทธิภาพมากขึ้น


พฤติกรรมของนักศึกษาในการใช้ AI

    ผมเห็นพฤติกรรมการใช้ AI ของนักศึกษาพอแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

    1. นักศึกษากลุ่มที่นำ AI มาใช้แบบมืออาชีพ กลุ่มนี้ยังมีไม่มาก ที่พบเห็นได้ก็ในระดับปริญญาโทหลักสูตร MBA อย่างหลักสูตรที่ผมสอนนักศึกษาทำงานแล้วและมาเรียนในช่วงวันหยุดเลยมีนักศึกษาที่ใช้ AI ทำงานในชีวิตจริงอยู่แล้ว ในการทำแผนการตลาดหรือสไลด์ที่ใช้ AI ช่วยออกมาดูสวยและเนี้ยบแบบมืออาชีพ รวมถึงการออกแบบแบรนด์ของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ก็ทำออกมาเหมือนบริษัทเอเจนซี่โฆษณาหรือบริษัทออกแบบ เรียกว่าผลงานโดดเด่นกว่าเพื่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด

    ส่วนนักศึกษาระดับปริญญาตรี วิชาที่ผมสอนเป็นวิชาระดับปี 1 ปี 2 เลยยังไม่ค่อยเห็นงานระดับมืออาชีพ แต่อาจารย์ที่สอนวิชาระดับปี 3-4 บางท่านมาชมให้ผมฟังว่า นักศึกษาบางกลุ่มใช้ AI ในการสร้างภาพสำหรับสื่อโฆษณาออกมาได้ดีมาก โปรแกรมที่ใช้ในการสร้างภาพยอดนิยมก็ Midjourney AI

    2. นักศึกษาที่ทดลองนำ AI มาใช้สม่ำเสมอแต่ยังใช้ระดับพื้นฐานในการทำงานวิจัย สืบค้นข้อมูล ช่วยเขียนสคริปต์สำหรับการนำเสนองาน หรือทำคลิปวิดีโอ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่สุดเท่าที่เห็น โปรแกรมยอดนิยม เช่น ChatGPT, Canva Pro, Copilot, Gemini, CapCut, Midjourney มีทั้งแบบเสียเงินและแบบใช้ฟรี โดยบางโปรแกรมมหาวิทยาลัยลงทุนซื้อให้นักศึกษาทดลองใช้ด้วย ส่วนบางโปรแกรมภาควิชาซื้อมา 5-20 บัญชี แล้วมอบหมายให้อาจารย์ที่สอนในวิชาที่เกี่ยวข้องนำรหัสไปให้นักศึกษาใช้ร่วมกันเป็นกลุ่มเพื่อทดลองนำAI มาใช้ในการทำงาน นักศึกษากลุ่มนี้ผมถือว่าเริ่มต้นใช้ AI ได้อย่างมีระบบ ได้ลองผิดลองถูก ในอนาคตน่าจะสามารถยกระดับขึ้นไปเป็นกลุ่มที่ใช้ AI อย่างมืออาชีพในการทำงานได้มากขึ้น

    3. นักศึกษาที่ใช้ AI แบบจำกัด กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นการทดลองใช้ฟรีเพราะเห็นเพื่อนใช้กัน และมักใช้ในงานพื้นฐาน เช่น ช่วยในการทำสไลด์ สืบค้นข้อมูลพื้นฐานคือ ชุดคำสั่งง่ายๆ ช่วยแปลเอกสาร หรือช่วยทำประวัติเพื่อใช้ประกอบในการสมัครงาน หรือบางคนเวลาทำการบ้านไม่ทันก็ให้ AI ช่วยทำให้ โดยบางส่วน AI ใส่อะไรมาให้ก็ส่งมาทั้งอย่างนั้น ไม่ได้ทำการตรวจสอบหรือกลั่นกรองเลย เรียกว่าใช้งานอย่างหยาบก็ว่าได้ เวลาส่งงานมาอาจารย์ที่ใช้ AI เป็นตรวจสอบได้ค่อนข้างง่าย บางครั้งข้อมูลที่สืบค้นมาก็ไม่ถูกต้อง พอสอบถามเข้าก็ยืนยันว่าถูกต้องเพราะ AI ค้นมาให้ กลุ่มนี้ยังต้องพัฒนาอีกเยอะครับ

    จากที่เขียนมาผมสรุปว่า AI เขย่าโลกการศึกษาจริงๆ แต่เป็นการเขย่าโลกการศึกษาในแง่บวก ตรงที่ AI เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ ลดภาระงาน และสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับนักศึกษา แต่อย่างไรก็ตามการใช้ AI ก็มีความท้าทายในบริบทของผู้ใช้ที่จะทำให้เกิดการพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไป รวมทั้งปัญหาด้านจริยธรรมในการใช้ AI

    ดังนั้น การใช้ AI ในการเรียนรู้ต้องสร้างสมดุลระหว่างการใช้ AI ให้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่ใช่การพึ่งพาแต่เทคโนโลยีจนไม่สามารถที่จะเพิ่มพูนความสามารถทางปัญญาในการเรียนรู้ ผู้ใช้ต้องมีการวางแผนและการบริหารจัดการอย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างที่ผมเขียนไว้ตอนต้นว่า “AI จะไม่มาแทนที่มนุษย์ แต่มนุษย์ที่ใช้ AI จะมาแทนที่มนุษย์ที่ไม่ใช้ AI”


บทความโดย ศ.วิทวัส รุ่งเรืองผล อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


หมายเหตุ: บทความนี้ผู้เขียนใช้ AI ช่วยเขียน ความคิดเห็นบางส่วนเป็นของผู้เขียน บางส่วนเป็นความคิดเห็นของ AI


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ทำความรู้จัก 3D Printing นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม

อ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2568 ในรูปแบบ e-magazine