CFA ใบเบิกทางมาตรฐานการเงินการลงทุน - Forbes Thailand

CFA ใบเบิกทางมาตรฐานการเงินการลงทุน

FORBES THAILAND / ADMIN
14 Aug 2023 | 11:00 AM
READ 2986

ปัจจัยความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมการเงินการลงทุนที่มีการเชื่อมต่อกันทั่วโลกทำให้การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้สอดคล้องกับแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการสร้างมาตรฐานการประกอบวิชาชีพด้านการเงินและการลงทุนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล


    ขณะที่ในปัจจุบันอาชีพที่เกี่ยวกับการจัดการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นนักวิเคราะห์หรือผู้จัดการการลงทุนด้านตราสารหนี้ด้านต่างประเทศหรือด้านสินทรัพย์ทางเลือกยังเป็นอาชีพที่เป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดการลงทุน ดังนั้น สมาคม ซีเอฟเอ ไทยแลนด์ จึงเล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่รู้จักอาชีพนี้มากขึ้น เพื่อพิจารณาเป็นเส้นทางอาชีพในอนาคต รวมถึงการดำเนินงานยกระดับมาตรฐานด้านจรรยาบรรณ ความรู้ และความเป็นเลิศของวิชาชีพให้บุคลากรสายการเงินและการลงทุนตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา

    สำหรับสมาชิกที่ได้รับคุณวุฒิด้านการเงิน CFA (Chartered Financial Analyst) ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงิน ผู้จัดการกองทุน นักวิเคราะห์การลงทุน และผู้ประกอบวิชาชีพด้านการเงินอื่นๆ ของสมาคมในปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 600 คน ต้องสอบผ่านการวัดระดับของสถาบัน CFA Institute ทั้ง 3 ระดับ และมีคุณสมบัติครบถ้วนในการเป็น CFA Charterholder ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติด้านความรู้และจรรยาบรรณวิชาชีพสำหรับธุรกิจตลาดทุน

    นอกจากนี้ การสอบผ่าน CFA ในประเทศไทยยังได้รับการยอมรับจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้เป็นคุณสมบัติสำคัญในการขึ้นทะเบียนเป็นผู้แนะนำการลงทุน นักวิเคราะห์การลงทุน และผู้จัดการกองทุนอีกด้วย ซึ่งการมีคุณวุฒิ CFA ย่อมหมายถึงใบเบิกทางที่ช่วยให้สามารถเติบโตในหน้าที่การงานและก้าวสู่การเป็นผู้บริหารได้ตั้งแต่อายุยังน้อย รวมทั้งสามารถทำงานในวงการการเงินการลงทุนทั่วโลก

    ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐและภาคการศึกษาของไทยต่างเล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้เกี่ยวกับอาชีพด้านการเงินและการลงทุนที่มีความน่าสนใจ ท้าทาย และเปิดโอกาสให้เรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับสมาคมที่สนับสนุนผู้สนใจตั้งแต่ก่อนเข้าสู่สายอาชีพการเงินการลงทุน การเตรียมตัวสอบ CFA การขอใบอนุญาต จนเมื่อเข้าสู่สายอาชีพนี้และสอบผ่านจนได้เป็น CFA Charterholder สมาคมยังสนับสนุนต่อในเรื่องของการจัดกิจกรรมจัดอบรมให้ความรู้ และสร้างเครือข่ายของคนในอุตสาหกรรมเดียวกัน

    ขณะเดียวกันยังร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคการศึกษาจัดกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนในการจัดโครงการมอบทุนการศึกษาเพื่อส่งเสริมการสอบวัดระดับ CFA สำหรับบุคลากรในบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนและบุคคลทั่วไปกว่า 260 ทุน เพื่อเพิ่มบุคลากรที่มีคุณวุฒิ CFA รวมทั้งร่วมกับสมาชิกปัจจุบันในการจัดกิจกรรมติวหนังสือให้กับบุคคลทั่วไปที่สนใจสอบวัดระดับ CFA เพื่อเพิ่มโอกาสในการสอบผ่านและถ่ายทอดประสบการณ์เส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพการเงินและการลงทุนให้กับคนรุ่นใหม่

    นอกจากนั้น สมาคมได้จัดโครงการ CFA Institute Research Challenge การแข่งขันระดับประเทศที่ทดสอบความสามารถในการวิเคราะห์และการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ของนักศึกษาในระดับปริญญา โดยเปิดรับสมัครตัวแทนจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าร่วมแข่งขันเพื่อหาตัวแทนประเทศไทยไปแข่งระดับโลก

    

ชูแนวคิดส่งเสริม ESG

    

    การสร้างมาตรฐาน CFA ยังให้ความสำคัญกับแนวคิด ESG (Environmental, Social และ Governance) ซึ่งคำนึงถึงความรับผิดชอบที่บริษัทและผู้ประกอบวิชาชีพมีต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารความสัมพันธ์ในเชิงการกำกับดูแลเพื่อการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ภายใต้การจับมือกันของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสมาคม ซีเอฟเอ ไทยแลนด์, CFA Institute และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกันจัดทำมาตรฐานสากลในการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ของผลิตภัณฑ์การลงทุน (Global ESG Disclosure Standards for Investment Products) ฉบับภาษาไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจให้ผู้ประกอบวิชาชีพสามารถนำไปใช้ในสายวิชาชีพได้อย่างเหมาะสม และร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในการจัดโครงการให้ทุนอบรมหลักสูตรด้าน ESG ระดับสากล

    นอกจากนั้น กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนยังร่วมกับสมาคมจัดทำมาตรฐานสากลในการวัดผลการดำเนินงานของการลงทุน (Global Investment Performance Standards: GIPS®) ฉบับแปลภาษาไทยสำหรับบริษัท เจ้าของทรัพย์สิน และผู้ตรวจสอบ ซึ่งมาตรฐานนี้มีประโยชน์ต่อทั้งผู้จัดการการลงทุนที่ต้องการนำเสนอผลประกอบการตามมาตรฐานนานาชาติ และยังเป็นประโยชน์แก่นักลงทุนที่อ่านรายงานผลประกอบการนั้นด้วย รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้ผู้กำกับดูแลได้มีโอกาสใช้มาตรฐานเหล่านี้ในการออกเกณฑ์หรือข้อแนะนำแก่ผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุน

    สำหรับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกิดขึ้นถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาตลาดทุนและเพิ่มบุคลากรด้านการเงินการลงทุนที่มีคุณภาพในประเทศไทย เช่น ความร่วมมือของสมาคมกับกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนในโครงการสอบชิงทุนเพื่อให้ทุนสนับสนุนการสอบ CFA กับผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวนกว่า 100 คนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ และกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนให้ทุนอบรมและสอบหลักสูตรสากลด้าน ESG

    ขณะเดียวกันยังมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ มาอบรม แชร์ประสบการณ์แลกเปลี่ยนความรู้กับสมาชิกและบุคคลทั่วไปที่สนใจในหัวข้อต่างๆ ตลอดทั้งปี รวมทั้งการพัฒนาความรู้ความสามารถของนักศึกษารุ่นใหม่ผ่านการแข่งขัน CFA Institute Research Challenge ที่เข้มข้นทุกปี เพื่อคัดทีมที่เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันระดับโลก ซึ่งเป็นการช่วยเตรียมความพร้อมและสร้างนักการเงินการลงทุนรุ่นใหม่ให้กับอุตสาหกรรมการเงินของไทยได้เป็นอย่างดี

    นอกจากนี้ ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐยังมีการสนับสนุนและโปรโมตมาตรฐานฯ ต่างๆ เป็นฉบับแปลภาษาไทยอย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่อง Global ESG Disclosure Standards for Investment Products มาตรฐานสากลด้าน ESG และ Global Investment Performance Standard: GIPS® ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายในตลาดทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น และสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม เพื่อช่วยทำให้อุตสาหกรรมการเงินการลงทุนของไทยก้าวหน้าต่อไปอย่างยั่งยืนในอนาคต


บทความโดย 
วิน พรหมแพทย์
CFA นายกสมาคม ซีเอฟเอ ไทยแลนด์

    

    อ่านเพิ่มเติม : ปรีดิกรี บูรณุปกรณ์ ลูกไม้ใต้ต้น “อรสิริน”

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine