สมการสามเส้าฝ่าวิกฤตพลังงานโลก - Forbes Thailand

สมการสามเส้าฝ่าวิกฤตพลังงานโลก

FORBES THAILAND / ADMIN
08 Jul 2025 | 10:06 AM
READ 226

นโยบายพลังงานที่ไทยควรยึดหลัก 3 ประการ ได้แก่ ฉลาด (smart) ใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีช่วยตัดสินใจเชิงระบบ ยืดหยุ่น (flexible) โดยปรับกลยุทธ์ได้ตามสถานการณ์โลกที่ผันผวน และสุดท้ายสามารถทำได้จริง (pragmatic) ซึ่งเริ่มจากสิ่งที่มีและขยายผลในวงกว้าง เพราะ 'พลังงาน' ในวันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของไฟสว่างหรือราคาในใบแจ้งหนี้ แต่ยังเป็นตัวสะท้อนถึงความมั่นคง ความสามารถในการแข่งขันของประเทศและความรับผิดชอบต่อโลกในระยะยาว


    พลังงานในวันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของไฟสว่างหรือราคาในใบแจ้งหนี้ แต่สะท้อนถึงความมั่นคง ความสามารถในการแข่งขันของประเทศและความรับผิดชอบต่อโลกในระยะยาว ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายเชิงระบบที่ต้องทรงตัวระหว่าง 3 แกนสำคัญ ได้แก่ ต้นทุนที่ประชาชนรับไหว ความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของระบบไฟฟ้า

    หากเร่งไปทางใดมากเกินไป เช่น เน้นพลังงานสะอาดโดยไม่มีระบบรองรับก็อาจทำให้ไฟฟ้าขาดเสถียรภาพ หรือหากเน้นพลังงานราคาถูกจากฟอสซิลก็อาจทำให้เราหลุดเป้าหมายลดคาร์บอนในระยะยาว นี่คือสมการสามเส้าที่ไม่มีคำตอบตายตัว แต่ต้องอาศัยความเข้าใจลึกซึ้งและการเลือกที่ชาญฉลาด


บทเรียนจากโลกจริง

    จากโควิด-19 ถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน และล่าสุดคือ สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เหตุการณ์เหล่านี้ได้เผยให้เห็นจุดเปราะบางของระบบพลังงานโลก ตั้งแต่การพึ่งพาพลังงานจากแหล่งเดียวไปจนถึงการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และความไม่แน่นอนของนโยบายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะด้านพลังงานสะอาด ผลที่ตามมาคือ ความเชื่อมั่นต่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานเริ่มถูกท้าทาย 

    ดังนั้น หลายประเทศเริ่มหันมาใช้แนวทาง "Pragmatic Energy Transition" ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่เน้นทางเลือกที่เหมาะกับบริบทของตัวเอง โดยไม่เร่ง ไม่ฝัน แต่เดินหน้าด้วยความจริงภายใต้แนวคิด Efficiency to Maximize Today’s Value, While Preparing for Scalable Innovations of Tomorrow


ก๊าซธรรมชาติ: สะพานเชื่อมวันนี้กับอนาคต

    แม้พลังงานหมุนเวียนจะเป็นเป้าหมายในระยะยาว แต่ก๊าซธรรมชาติยังคงเป็น "พระรอง" ที่จำเป็นในระยะเปลี่ยนผ่าน เพราะสามารถผลิตพลังงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง มีการปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าถ่านหินถึง 50% และใช้โครงสร้างพื้นฐานที่ไทยมีอยู่แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ 

    สำหรับในบริบทของประเทศไทยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมแบบ combined cycle ระบบท่อส่ง และสถานีรับ LNG ล้วนเป็นทรัพย์สินที่สามารถใช้สร้างความมั่นคงระหว่างทางไปสู่เป้าหมาย net zero ได้อย่างยั่งยืน

    ขณะที่เทคโนโลยีอนาคตอย่างไฮโดรเจน CCS หรือพลังงานหมุนเวียนแบบ grid-scale แม้จะมีศักยภาพสูงแต่ในปัจจุบันยังเผชิญข้อจำกัดด้านต้นทุนที่สูง โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่พร้อม และความสามารถในการขยายผล (scalability) ในระดับอุตสาหกรรมต้นทุนของไฮโดรเจนอยู่ที่ 3-6  เหรียญสหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม  (อ้างอิงรายงาน Hydrogen Insights 2023 จาก Hydrogen Council และ McKinsey & Company) เทียบกับก๊าซธรรมชาติที่มีต้นทุนราว 1-2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม ซึ่งหมายถึงต้นทุนที่สูงกว่าถึง 2-3 เท่า ยังไม่นับต้นทุนด้านระบบจัดเก็บและขนส่ง ส่วน CCS ต้องใช้การลงทุนในระบบขนส่งและแหล่งกักเก็บที่มีต้นทุนสูงและยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา

    ในทางกลับกันการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (energy efficiency) เป็นทางเลือกที่สามารถทำได้ทันที เห็นผลไว และมีความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม การมุ่งเน้นที่ efficiency จึงกลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศไทยในระหว่างที่รอเทคโนโลยีใหม่สุกงอม

    ตัวอย่างจาก IEA (International Energy Agency) จากรายงาน Energy Efficiency 2022 ระบุว่า ทุก 1 บาทที่ลงทุนใน efficiency จะสร้างผลตอบแทนสูงถึง 2.5 บาท และสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 7.5 กิกะตันภายในปี 2030 หากดำเนินการทั่วโลก 

    ขณะที่แผนพลังงานชาติของไทย หรือ Thailand’s National Energy Plan (NEP 2023) ซึ่งเป็นแผนแม่บทที่กำกับทิศทางการพัฒนาโยบายพลังงานของประเทศ โดยมีผู้รับผิดชอบคือ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ประกอบด้วยแผน PDP แผน AEDP แผน EEP แผน Gas Plan แผน Oil Plan ตั้งเป้าลดความเข้มพลังงานลง 30% ภายในปี 2580 คิดเป็นมูลค่าการประหยัดกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี และลดการปล่อยก๊าซเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 500 ล้านต้น



    ตัวอย่างจากภาคเอกชน

    Chevron Thailand เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าประสิทธิภาพและความยั่งยืนสามารถไปด้วยกันได้ ผ่านการ reuse แท่นผลิตที่การผลิตหมดลงแล้ว  นำกลับมาใช้ในแหล่งผลิตใหม่ ถือเป็นครั้งแรกของโลกในอุตสาหกรรม upstream ที่ช่วยลดทั้งต้นทุนและการปล่อยคาร์บอนได้พร้อมกัน

    อีกหนึ่งความสำเร็จคือ การบุกเบิกใช้ศูนย์ควบคุมการปฏิบัติงานของแท่นผลิต (Integrated Operations Center หรือ IOC) เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการสร้าง control room นอกชายฝั่ง โดยศูนย์ควบคุมตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ห่างจากแท่นผลิตกว่า 400 กิโลเมตร ซึ่งสามารถควบคุมแท่นนอกชายฝั่งแบบเรียลไทม์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความจำเป็นในการส่งคนหน้างาน เสริมความปลอดภัย และเพิ่มความแม่นยำในการตัดสินใจ

    นอกจากนั้น AI และ machine learning ยังได้รับการนำมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลการผลิต เพื่อคาดการณ์ปัญหาล่วงหน้า จัดตารางซ่อมบำรุง ลด pressure drop ลดการสูญเสียพลังงาน เพิ่มความเชื่อถือของระบบ และสามารถเพิ่มการผลิตโดยไม่ต้องใช้พลังงานเพิ่ม

    ผลลัพธ์คือ Chevron Thailand สามารถลด carbon intensity ได้ถึง 16.5% ภายใน 2 ปี และยังช่วยประหยัดต้นทุนในการผลิตได้อีกด้วย สะท้อนให้เห็นว่า digital transformation และ energy efficiency ไม่ใช่เพียงแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม แต่คือกลยุทธ์ธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนจริงและวัดผลได้


ทางสายกลาง: เส้นทางที่เหมาะกับไทย

    ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเร็วที่สุด หรือทันสมัยที่สุด แต่ควรเป็นประเทศที่ "ฉลาดที่สุด" ในการเลือกวิธีที่เหมาะสมกับทรัพยากร ข้อจำกัด และเป้าหมายของตนเอง 

    สำหรับนโยบายพลังงานไทยควรยึดหลัก 3 ประการ ได้แก่ ฉลาด (smart) ด้วยการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีช่วยตัดสินใจเชิงระบบ ความยืดหยุ่น (flexible) โดยปรับกลยุทธ์ได้ตามสถานการณ์โลกที่ผันผวน และสุดท้ายสามารถทำได้จริง (pragmatic) ซึ่งเริ่มจากสิ่งที่มีและขยายผลในวงกว้าง 

    ในยุคที่ disruption กลายเป็นเรื่องปกติ การตั้งหลักให้มั่นสำคัญยิ่งกว่าการรีบวิ่ง การลงทุนในสิ่งที่พร้อมและเห็นผลจริง จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถเปลี่ยนผ่านพลังงานได้อย่างมั่นคง คุ้มค่า และยั่งยืนในระยะยาว


บทความโดย : ปัณวรรธน์ นิลกิจศรานนท์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายวิศวกรรมโครงสร้าง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด




เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : “Weng Sam Lam” นำ ROCTEC เจาะเทรนด์โซลูชัน ICT ครบวงจร

อ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2568 ในรูปแบบ e-magazine