ปิดฉาก COP 27 เปิดประตูสู่การลงทุนเมกะเทรนด์ "พลังงานสะอาด-EV" - Forbes Thailand

ปิดฉาก COP 27 เปิดประตูสู่การลงทุนเมกะเทรนด์ "พลังงานสะอาด-EV"

โค้งท้ายปีนี้ ใครที่ยังส่องหาการลงทุนในเมกะเทรนด์ในระยะยาว ผมมีเมกะเทรนด์หนึ่งที่ทั่วโลกต่างพร้อมใจกันรวมพลังกันสร้างโลกใบใหม่ที่สะอาด ปลดล็อกสภาวะวิกฤตโลกร้อน นั่นคือ ถนนสายพลังงานสะอาด บ้างก็เรียกพลังงานสีเขียว ซึ่งมีห่วงโซ่ที่เกี่ยวเนื่องทอดเป็นสายเพื่อสร้างความยั่งยืนคืนสู่ชาวโลกรุ่นหลัง


    ผมหยิบเรื่องนี้มาคุย เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ โลกได้มีการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญเกิดขึ้นในการประชุม COP27 หรือ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 27 ที่เพิ่งปิดฉากลงเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมาครับ

    COP27 ในปีนี้ จัดขึ้นที่เมือง Sharm El-Sheikh ประเทศอียิปต์ โดยมีตัวแทนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 200 ประเทศมารวมตัวกัน


เกาะกระแสประชุม COP 27 รวมพลังตั้งกองทุนแก้ปัญหาโลกร้อน


    กระแสการประชุม COP 27 รอบนี้ อาจจะดูเงียบเหงากว่าการประชุม COP 26 จัดขึ้นในปีที่ผ่านมา แต่ก็ถือว่ามีความคืบหน้าเพิ่มมากขึ้นในการเจรจาความร่วมมือในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะปูทางไปสู่ข้อตกลงใหญ่ๆ ในการประชุมครั้งต่อไป

    ข้อมูลจากร่างเอกสารอย่างไม่เป็นทางการขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN ได้เปิดเผยรายละเอียดเบื้องต้นที่อาจเป็นข้อตกลงจากการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศ COP27 ครั้งนี้ มีการระบุย้ำถึงเป้าหมายของข้อตกลงกลาสโกว์ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ทั้งการเร่งมาตรการในการลดการใช้พลังงานถ่านหิน และเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่มีประสิทธิภาพ

    หนึ่งไฮไลต์ในปีนี้คือ ข้อเรียกร้องหลักจากบรรดาประเทศเล็กที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาการสูญเสียและความเสียหายที่เกิดจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    เนื่องจากเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษน้อยกว่าประเทศที่ร่ำรวย แต่กลับต้องรับผลกรรมที่ไม่ได้ก่อขึ้น ยกตัวอย่างใกล้ตัวคือประเทศไทยไทยมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 0.8% เป็นอันดับที่ 22 ของโลก แต่กลับเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นอันดับที่ 9 ของโลก
    เป็นที่น่ายินดีสำหรับการประชุม COP27 ครั้งนี้ ที่ประเทศสมาชิก 200 กว่าประเทศสามารถตกลงร่วมกันที่จะก่อตั้งกองทุนชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ประเทศยากจน ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

    โดยฝั่งประเทศที่ร่ำรวยก็รับปากที่จะสนับสนุนเงินช่วยประเทศที่ยากจนอยู่แล้ว 100,000 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ตั้งแต่ปี 2009 เพื่อให้ประเทศเหล่านี้เลิกใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลและเลิกกิจกรรมต่างๆ ทำให้เกิดมลพิษ ทั้งยังต้องการให้ชาติเหล่านี้ใช้เงินนี้ในการปรับตัวและช่วยเหลือในการเตรียมรับผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    เช่นเดียวกับรายละเอียดว่าประเทศใดบ้างที่ต้องมีส่วนร่วมในการชดเชยค่าเสียหายให้แก่ประเทศยากจน โดยประเด็นเหล่านี้จะต้องนำไปหารือกันต่อไปในการประชุม COP28 ในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า

    ซึ่งคาดหวังกันว่า ประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยจะต้องรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยส่วนนี้ เพราะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลภาวะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด แต่ก็นับเป็นความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์และเป็นก้าวแรกที่สำคัญ ที่ไม่เคยมีการพูดถึงการเยียวยามาก่อนในการประชุมที่ผ่านๆ มา

    ในรายงานเอกสารของยูเอ็น ยังคงเน้นย้ำถึงความสำคัญของความพยายามในทุกระดับเพื่อบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีสในการรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบยุคอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสนับตั้งแต่ยุคหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม


"พลังงานสะอาด" บนเส้นทางการเติบโตในวัฏจักร S-Curve ปั๊มกำไรเบ่งบาน


    เป็นที่ทราบกันดีว่า 3 ประเทศที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดของโลก ได้แก่ จีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งในปี 2563 มีการปล่อย CO2 ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันประมาณ 18,000 ล้านตัน หรือคิดเป็น 51.7% ของทั้งโลก

    กุญแจสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากที่สุด คือการเปลี่ยนมาใช้ "พลังงานสะอาด" หรือ "พลังงานทดแทน" ที่ไม่สร้างมลภาวะให้กับโลกหรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลายประเทศตอบรับและพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดมาโดยตลอด

    เมื่อไม่สร้างมลพิษกับธรรมชาติ และยังสามารถใช้หมุนเวียนได้อย่างไม่มีวันหมด ผู้คนจึงเริ่มตระหนักและเห็นประโยชน์ของการใช้พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น และยิ่งปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัย ทำให้มีต้นทุนถูกลง ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เมกะเทรนด์ "พลังงานสะอาด" จึงได้ก่อตัวใหญ่ขึ้นมาแทนที่

    เส้นทางการเติบโตของ "พลังงานสะอาด" ในวัฏจักร S-Curve จึงพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว จากจุดเริ่มต้นเมื่อ 10 ปีก่อนที่มีการพัฒนาพลังงานสะอาด ซึ่งมีราคายังสูงอยู่ในเวลานั้น ประชาชนเข้าถึงยาก แต่ถึงวันนี้ด้วยตัวแปรรอบด้านที่ทำให้ปัญหาโลกร้อนรุนแรงมากขึ้นและส่งผลกระทบใกล้ตัวประชาชน การเติบโตของ "พลังงานสะอาด" จึงเข้าสู่ระยะขาขึ้น โดยเฉพาะการผลักดันของรัฐบาลแต่ละประเทศในการใช้พลังงานสะอาดแทนพลังงานจากฟอสซิล


มาดูแต่ละประเทศมหาอำนาจมีเป้าหมายอย่างไรกันบ้างครับ


    สหรัฐฯ มีเป้าหมายที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 ด้านสหภาพยุโรป มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงและจะใช้พลังงานสะอาดเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า 100% ในปี 2593

    พญามังกร ‘จีน’ ได้จัดสรรงบประมาณสูงถึง 360,000 ล้านเหรียญ ตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2563 สำหรับการพัฒนาและลงทุนในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับพลังงานสะอาดในระยะยาว ซึ่งสามารถบรรลุเป้าหมายได้ตามที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี พร้อมตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนฯ และวางแผนจะใช้พลังงานสะอาดในสัดส่วนร้อยละ 35 ของการใช้ไฟฟ้า ภายในปี 2573

    การเคลื่อนไหวของประเทศต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก ตอกย้ำถนนทุกสายมุ่งสู่โลกของการใช้พลังงานสะอาดอย่างมีเป้าหมายชัดเจน และเทรนด์การใช้พลังงานสะอาดกำลังขยายไปสู่ทุกอุตสาหกรรม ทุกธุรกิจและแฝงอยู่ในการบริโภคของชีวิตประจำวันของคนทั้งโลก

    จะเห็นได้ว่าปัจจุบันธุรกิจที่เกี่ยวกับ "พลังงานสะอาด" ในวัฏจักร S-Curve ได้เข้าก้าวเข้าสู่ระยะที่ 3 แล้ว นั่นคือ ธุรกิจมีกำไรเบ่งบาน หลังจากที่ผ่านจุดเริ่มต้นที่มีต้นทุนการผลิตที่สูง เนื่องจากผู้เล่นน้อย ทำให้ราคาช่วงแรกๆ สูง

    และในระยะที่สอง มีทั้งการวิจัยและพัฒนา ประกอบกับภาครัฐให้ความช่วยเหลือธุรกิจเหล่านี้ไม่ว่าจะในรูปเงินสนับสนุน กฎหมายที่เอื้อ มีผู้เล่นสนใจเข้ามาในตลาดมากขึ้นและพร้อมแข่งขันทางธุรกิจจะยิ่งทำให้ราคาถูกลง มีผู้ใช้จำนวนมากโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิต จึงทำให้เริ่มมีกำไรแล้ว

    ปัจจุบันต้องถือว่าธุรกิจเติบโตเต็มตัวเป็นการก้าวเข้าสู่ระยะที่ 3 ของ S-Curve ธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดต่างมีกำไรเติบโตพร้อมสร้างผลต่อผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

    ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีเงินลงทุนหลั่งไหลเข้าสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย โดยช่วงปี 2560-2561 มีเม็ดเงินลงทุนเพิ่มถึง 2 เท่า และอีก 2 ปีถัดมา (2562-2563) ก็เพิ่มอีกเป็นเงาตามตัว แม้แต่ BlackRock บริษัทจัดการสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็ยังชี้ว่า ปีนี้เม็ดเงินลงทุนไหลเข้าธุรกิจพลังงานสะอาดเติบโตมากกว่า 2 เท่าจากปีที่ผ่านมา

    หนึ่งใน "พลังงานสะอาด" ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว ต้องยกให้กับ "การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า" หรืออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลประเทศหลายประเทศได้ออกมาตรการสิทธิประโยชน์ต่างๆ มาสนับสนุนให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถ EV

    นำโดยสหรัฐฯ ที่ตั้งเป้าว่าภายในปี 2573 ยอดขายของยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าในประเทศต้องมีสัดส่วน 50% ของยอดขายทั้งหมดและภายในปี 2578 ยานพาหนะของภาครัฐทั้งหมดจะต้องใช้พลังงานไฟฟ้า (ยกเว้นยานยนต์ทางการทหาร และยานอวกาศ)

    กลุ่มสหภาพยุโรป ได้ห้ามจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่ใช้พลังงานฟอสซิล ภายในปี 2573 และกำหนดให้รถยนต์ใหม่ที่ขายใน EU ต้องเป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า หรือ รถ EV ทั้งหมด 100% ภายในปี 2578

    ฝั่งจีนมาแรงแซงโค้งมาก ปัจจุบันประเทศจีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอันดับ 1 ด้านอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยครองสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากที่สุดในโลก นับตั้งแต่ปี 2563 คิดเป็นสัดส่วน 49.22% จากกำลังผลิตรวม 173.3 กิกะวัตต์ทั่วโลก ด้วยข้อได้เปรียบเชิงโครงสร้างจำนวนประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน ประกอบกับศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด

    และทราบกันไหมครับว่า วันนี้จีนมีศักยภาพเพียงพอต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากกว่าสหรัฐฯ ที่เป็นมหาอำนาจจากเศรษฐกิจของโลกไปแล้ว

    นอกจากนี้ เราได้เห็นจีนกำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถ EV ของโลกแซงหน้าสหรัฐฯ เช่นกัน โดยสมาคมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของจีน (PCA) เปิดเผยยอดขายปลีกรถยนต์พลังงานสะอาด ซึ่งเหมารวมทั้งรถยนต์ไฟฟ้า 100% แบบ Batterty EV (BEV) และแบบ Plug-in Hybrid ในเดือนตุลาคม 2565 อยู่ที่ 556,000 คัน เติบโตกว่า 75% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดย BYD มียอดส่งมอบรถยนต์ทั้งหมด 217,518 คัน แซงหน้า Tesla ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงยอดขายตัวเลขรายเดือน ยังต้องดูกันต่อไปดีกว่าครับ

    แต่ที่แน่ๆ ตลาดความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกมีแต่สูงขึ้นๆ ขณะที่ค่ายรถยนต์มีแต่แข่งขันกันรุนแรงขึ้นทุกวัน ฝั่งรัฐบาลก็ออกมาตรการสนับสนุนให้คนหันมาเปลี่ยนใช้รถ EV กัน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะทำให้รัฐบาลสามารถลดมลพิษได้ตามเป้าหมาย ผมมองไปข้างหน้าก็เห็นแต่ตลาดรถ EV ที่มีแต่ขนาดใหญ่ขึ้น และกำลังเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้น

    จริงๆ แล้ว บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าก็ไม่ได้มีเพียงแค่ 2 รายใหญ่อย่าง BYD และ Tesla เท่านั้น บริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีผู้ผลิตรถ EV รายใหญ่อีกหลายราย อาทิเช่น Nio Li Auto Xpeng และ Hozon New Energy Automobile รวมถึงรถยนต์รุ่นพรีเมียมอย่าง Zeekr จากค่าย Geely Automobile เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่ของรถ EV อีก นำโดยการผลิตลิเธียมและแบตเตอรี


ถึงเวลาคว้าโอกาสลงทุนธีม ‘พลังงานสะอาด-ลิเธียม-แบตเตอรี’ พลังเปลี่ยนโลกอนาคต


เงินลงทุนหลั่งไหลเข้าสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยช่วงปี 2560-2561 มีเม็ดเงินลงทุนเพิ่มถึง 2 เท่า และอีก 2 ปีถัดมา (2562-2563) ก็เพิ่มอีกปีละหนึ่งเท่าตัว แม้แต่ BlackRock บริษัทจัดการสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็ยังชี้ว่า ปีนี้เม็ดเงินลงทุนไหลเข้าธุรกิจพลังงานสะอาดเติบโตมากกว่า 2 เท่าจากปีที่ผ่านมา

    และคงจำกันได้ข่าวใหญ่ที่ฮือฮาของโลก พ่อมดทางการเงิน ‘จอร์จ โซรอส’ วัยกว่า 91 ปี เจ้าของบริษัท Soros Fund Management ได้เข้าซื้อหุ้นรถ EV อย่าง Rivian Automotive ค่ายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มูลค่ากว่า 2,000 ล้านเหรียญฯ (ราว 6.5 หมื่นล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนการลงทุนสูงถึง 30% ของพอร์ตที่มีมูลค่ารวม 6,770 ล้านเหรียญฯ

    หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เขาได้เข้าลงทุนใน Tesla Motor ที่ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องจนเกือบจะล้มละลาย ราคาหุ้น Tesla ร่วงจนน่าใจหาย แต่จอร์จ โซรอสได้เข้าไปชุบชีวิต Tesla ขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งการปรับพอร์ตของจอร์จ โซรอสที่เพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นรถ EV ยิ่งตอกย้ำถึงเวลาของการลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวกับ "พลังงานสะอาด" หรือ Clean Energy แล้ว

    สำหรับปีนี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวร่วงถ้วนหน้า จึงเป็นโอกาสในการเลือกซื้อหุ้นคุณภาพดี ราคาถูกกว่าปีก่อนๆ ผมมีข้อมูลที่น่าสนใจของการลงทุนในหุ้นธีมพลังงานสะอาด ธีมลิเธียมและแบตเตอรีมาแชร์ครับ

    ข้อมูล ณ วันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผลตอบแทนของหุ้นธีมพลังงานสะอาดผ่านกองทุน iShares Global Clean Energy ETF (ICLN) พบว่า คนที่ลงทุนระยะยาว 3 ปี ได้กำไรถึง 91% และหากลงทุนนาน 5 ปี ได้กำไรถึง 143% ขณะที่ลงทุนในช่วงเวลา 1 ปี จะมีทั้งผลตอบแทนบวกและลบ เช่น 3 เดือนปรับตัวลงกว่า 9% หรือ 6 เดือน บวก 2%

    ส่วนการลงทุนในธีมลิเธียมและแบตเตอรี (รวมหุ้นรถ EV) ผ่านกองทุน Global X Lithium & Battery Tech ETF (LIT) พบว่า ผลตอบแทนระยะ 3 ปี พุ่งขึ้นกว่า 159% และระยะยาว 5 ปี อยู่ที่ 76% ขณะที่ในระยะ 1 ปี ผลตอบแทนลดลงราว 12-29%

    มาดูการลงทุนในพลังงานสะอาดจีน ผ่านกองทุน KraneShares MSCI China Clean Technology Index ETF ก็สามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาว 3 ปี เติบโตกว่า 55% ผลตอบแทนระยะ 5 ปี ราว 14% ส่วนในช่วงระยะเวลา 1 ปี พบว่าผลตอบแทนติดลบ 46%

    ผมอยากชี้ให้เห็นว่า การลงทุนระยะยาว คุณจะเห็นโอกาสได้กำไรที่เติบโตดีกว่าในช่วงระยะสั้น 1 ปีที่เผชิญกับความผันผวนหลากปัจจัยลบที่มากระทบระหว่างทาง หากคุณสนใจธีมการลงทุนในพลังงานสะอาดสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ jittawealth ได้เลยครับ

    อ่านมาถึงตรงนี้ คุณน่าจะเห็นภาพจิ๊กซอว์ของโลก "พลังงานสะอาด" ที่ผมฉายให้เห็นการเติบโตไปได้อีกหลายทศวรรษ และจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกของเราให้ดีขึ้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีอากาศดีๆ ไว้หายใจ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น วันนี้ก็ถึงเวลาที่จะให้โอกาสกับตัวเองกระจายเงินเข้าลงทุนธีมพลังงานสะอาดเพื่อสร้างพอร์ตให้เติบโตก้าวกระโดดกันครับ


บทความโดย
ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์
ซีอีโอ Jitta Wealth


​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine