ยามฉุกเฉินในเวลาที่ประเทศไทยเผชิญภาวะวิกฤตจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมากระทั่งปัจจุบัน มหาเศรษฐีไทย ภาคธุรกิจเอกชน และ ผู้นำกิจการรายใหญ่ๆ ของไทยต่างก็ให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มกำลัง
ความช่วยเหลือแผ่กระจายไปทั่วประเทศ ทั้งศูนย์กลางความเจริญอย่างกรุงเทพฯ หัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดและพื้นที่แต่ละภูมิภาค ล้วนได้อานิสงส์จากความใจบุญของเหล่าเศรษฐีที่ต่างเต็มใจบริจาคเงินและสิ่งของจำเป็นมากมายอย่างต่อเนื่องมาตลอด 2 ปีที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ไม่ต่างจากนานาชาติ “เครือซีพี” ทุ่ม 1.2 พันล้าน เริ่มด้วยมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไทยจากการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2564 โดยนิตยสาร Forbes “เครือเจริญโภคภัณฑ์” ของเจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” นับเป็นองค์กรใหญ่ที่ทำบุญมาอย่างต่อเนื่องและในสถานการณ์นี้เครือซีพีมียอดบริจาคนับตั้งแต่ปี 2563-2564 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.2 พันล้านบาท ประกอบด้วย สินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่ม ของบริโภคต่างๆ รวมถึงการสื่อสาร อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามกว่า 2,000 แห่ง แจกหน้ากากอนามัยให้บุคลากรทางการแพทย์ต่อเนื่องมากว่า 16 ล้านชิ้น และยังช่วยจัดระดมทุนเพื่อจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจ อุปกรณ์สำหรับทำห้องติดเชื้อแก่โรงพยาบาลสนามและโรงพยาบาลชุมชน ในเดือนกันยายน ปี 2564 เครือเจริญโภคภัณฑ์ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ และ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ได้มอบเงินให้ รพ. ราชพิพัฒน์ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เพื่อจัดซื้อถังก๊าซออกซิเจนเหลวพร้อมติดตั้ง ขนาดความจุ 10,000 ลิตร สำหรับใช้ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 1,551,928 บาท “TCP” เน้นบริจาคช่วย รพ. ด้านครอบครัว “อยู่วิทยา” มหาเศรษฐีอันดับ 2 กับอาณาจักร “กระทิงแดง” หรือกลุ่มธุรกิจ TCP เป็นอีกตระกูลที่ให้ความร่วมมือมาอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2563 สมาชิกในครอบครัวได้ร่วมกันลงขันเป็นเงิน 300 ล้านจัดทำโครงการ “พึ่งตน เพื่อชาติ” เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยร่วมมือกับพันธมิตรภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษา อาทิ สถาบันอาศรมศิลป์ และเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติในการสนับสนุนและเป็นพี่เลี้ยงให้กับคนที่มีเป้าหมายชีวิตเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง ให้ได้รับการฝึกปฏิบัติวิธีการสร้างแหล่งอาหารเพื่อดูแลครอบครัว รวมทั้งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์และบริจาคเงินให้แก่สถานพยาบาลที่จำเป็นเร่งด่วน อาทิ รพ. จุฬาลงกรณ์, รพ. ศิริราช, รพ. รามาธิบดี และโรงพยาบาลอื่นๆ ทั่วประเทศ รวมกว่า 70 ล้านบาท โดยในปี 2563 กลุ่มธุรกิจ TCP ได้อนุมัติงบประมาณกว่า 115 ล้านบาทเพื่อจัดหาและบริจาคอุปกรณ์ที่จำเป็นให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังตั้งทีมงานเฉพาะกิจซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการจากหลายหน่วยงานเพื่อทำงานอย่างใกล้ชิดกับทีมแพทย์จาก รพ. จุฬาลงกรณ์ และสภากาชาดไทย รับฟังปัญหาภาพรวมของ รพ. จุฬาลงกรณ์ และจากทั่วภูมิภาคที่ส่งผ่านมาทางหน่วยงานดังกล่าว และช่วยจัดหา/จัดส่ง รวมทั้งบริจาคอุปกรณ์และเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการทำงานโดยอาศัยศักยภาพของกลุ่มธุรกิจ TCP ซึ่งมีธุรกิจขนส่ง-โลจิสติกส์ทั่วประเทศ “สิริวัฒนภักดี” ช่วยหลายกิจกรรม ฝั่งด้านเจ้าสัว “เจริญ สิริวัฒนภักดี” มหาเศรษฐีอันดับ 3 ของไทย ซึ่งมีธุรกิจหลายประเภท และแต่ละกิจการก็บริจาคช่วยเหลือสังคมไม่น้อยเช่นกัน แยกย้ายกันบริจาคในหลากหลายกิจกรรมตามความเหมาะสม บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ในนามมูลนิธิสิริวัฒนภักดี บริจาคเงินและอุปกรณ์ทางการแพทย์แก่ รพ. จุฬาลงกรณ์ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 35,826,845.20 บาท แบ่งเป็นเงินบริจาค 20 ล้านบาท และอุปกรณ์การแพทย์มูลค่า 15,826,845.20 บาท ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ หรือ “ไทยเบฟ” ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิเศษในสถานการณ์โควิด (ThaiBev Covid-19 Situation Room: TSR) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการติดตามข่าวสารและดำรงความต่อเนื่องทางธุรกิจของกลุ่มให้สามารถผลิตและจัดส่งสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งมีหน่วยงานอาสาทำประโยชน์ให้กับสังคม อาทิ ส่งมอบผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจากแอลกอฮอล์มากกว่า 1.4 ล้านลิตร หน้ากาก surgical mask มากกว่า 9.3 ล้านชิ้นและหน้ากาก N95 มากกว่า 240,000 ชิ้น พร้อมทั้งมอบกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มคุ้มครองการติดเชื้อให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศจำนวน 274,000 คน มอบตู้แช่จัดเก็บวัคซีนโควิด-19 ให้กับสถานพยาบาล 10 จังหวัดหลักทั่วประเทศ เป็นต้น “MTC” ดันโครงการเมืองไทยไม่ทิ้งกัน สำหรับมหาเศรษฐีอันดับ 10 ของไทย “ชูชาติ เพ็ชรอำไพ และ ดาวนภา เพชรอำไพ” สองผู้บริหารจาก บมจ. เมืองไทย แคปปิตอล หรือ MTC ผู้นำตลาดสินเชื่อรายย่อย (microfinance) ให้การสนับสนุนภาคสาธารณสุขเป็นมูลค่ากว่า 360 ล้านบาท ผ่านโครงการ “เมืองไทยไม่ทิ้งกัน” หลังได้รับจดหมายเปิดผนึกของนายกรัฐมนตรีในปี 2563 ได้ส่งมอบถุงยังชีพจำนวน 200,000 ชุด ชุดละ 300 บาท มูลค่ารวม 60 ล้านบาท ให้กับประชาชนทั่วประเทศที่ได้รับความเดือดร้อน และบริจาคเงิน 60 ล้านบาทให้กับโรงพยาบาล 7 แห่ง ประกอบด้วย รพ. จุฬาลงกรณ์, รพ. ศิริราชฯ, รพ. ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, รพ. รามาธิบดี, สถาบันบำราศนราดูร, รพ. ราชวิถี และ รพ. เจริญกรุงประชารักษ์ เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 นอกจากนั้น ยังได้บริจาคเงินให้กับสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัยซึ่งเป็นภูมิลำเนาบ้านเกิดจำนวน 100 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินช่วยเหลือโรงพยาบาลในจังหวัดสุโขทัย 50 ล้านบาทผ่านสาธารณสุขจังหวัด สำหรับใช้ในการจัดซื้อเครื่องมือครุภัณฑ์ทางการแพทย์ส่วนอีก 50 ล้านบาทสำหรับสร้างอาคารผู้ป่วยนอก “จิตเมตตา ชูชาติ ดาวนภา” รพ. คีรีมาศ ปี 2564 ส่งมอบชุดของใช้จำเป็นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 300 ชุด ชุดละ 400 บาท มูลค่ารวม 120,000 บาทให้แก่โรงพยาบาลในจังหวัดสุโขทัย และสร้างอาคาร “จิตเมตตา ชูชาติ ดาวนภา” แห่งที่ 3 ให้แก่ รพ. บ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งจะเป็นอาคารศูนย์ทันตกรรมที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัด มูลค่าการก่อสร้างทั้งสิ้น 30 ล้านบาท และเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ปี 2564 ล่าสุด 4 สิงหาคม ปี 2564 บริจาคเงินให้โรงพยาบาลของรัฐ 9 แห่ง มูลค่ารวมกว่า 110 ล้านบาท “บี.กริม” สร้างบ้านให้ อสม. “บี.กริม” โดย ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าที่บริหาร บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ผ่านโครงการ “บี.กริม ปันน้ำใจ สู้ภัยโควิด-19” โดยปี 2564 ส่งมอบข้าวสารเกษตรอินทรีย์จำนวน 10 ตัน มูลค่า 600,000 บาท ซึ่งเป็นผลผลิตของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ดอกคำ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำไปช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิค-19 ทั้งยังเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรดอกคำให้สามารถดำเนินกิจการได้ เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาด้านการระบายผลผลิตออกสู่ตลาด ร่วมสนับสนุนโครงการ “บ้านอยู่ดีมีสุข” โดยการนำร่องสร้างบ้านให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 10 หลังแรกในจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อตอบแทนความทุ่มเทเสียสละของเจ้าหน้าที่ โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง บี.กริม สถาบันประชาชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน และมูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา โครงการนี้มีเป้าหมายสร้างบ้านให้ อสม. ทั่วประเทศ และเพิ่งทำพิธียกเสาเอกบ้านหลังแรกให้กับ อสม. ตำบลหนองไม้แก่น อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ปี 2564 ที่ผ่านมา มูลค่าก่อสร้างหลังละ 500,000 บาท ใช้แรงงานในท้องถิ่นระดับหมู่บ้าน โดยให้ อสม. ผ่อนชำระเดือนละ 2,500 บาท เป็นเวลา 20 ปี โดยโครงการจะสนับสนุนให้ อสม. สร้างอาชีพด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจต่างๆ อาทิ ไผ่, ฟ้าทะลายโจร, สมุนไพร ฯลฯ เพื่อนำรายได้จากการจำหน่ายพืชเหล่านี้มาใช้จ่ายและเป็นค่าผ่อนบ้าน นอกจากนี้ ยังร่วมกับ “เครือสหพัฒน์” และ “ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป” มอบถุงยังชีพ 5,000 ชุด ประกอบด้วยสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น อาทิ ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง สบู่ก้อน ยาสีฟัน และแปรงสีฟันมูลค่ากว่า 2 ล้านบาท เพื่อให้กรุงเทพฯ นำไปช่วยเหลือประชาชนในชุมชนเขตคลองเตย เรื่อง: กองบรรณาธิการ Forbes Thailandคลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine