พิรดา อิงค์ธเนศ ปั้น "SaaS Business Model" - Forbes Thailand

พิรดา อิงค์ธเนศ ปั้น "SaaS Business Model"

2 ปีก่อน SVOA Group ได้ก่อตั้ง บริษัท ดิจิเทค วัน จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการโซลูชันสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ มีกลุ่มลูกค้าประกอบด้วยสถาบันการเงิน หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา รีเทล เฮลท์แคร์ และธุรกิจประกัน มี พิรดา อิงค์ธเนศ เป็นกรรมการผู้จัดการ โดยเพิ่งรับตำแหน่งเมื่อปีที่ผ่านมา

พิรดา อิงค์ธเนศ เป็นทายาทคนที่ 3 ของ แจ็ค มินทร์ รับผิดชอบงานในกลุ่ม SVOA 2 บริษัทคือ บริษัท ดาต้าวัน เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ดิจิเทค วัน จำกัด โดย 5 ปีก่อนเริ่มงานที่ดาต้าวันในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ เนื่องจากไปอยู่ต่างประเทศนาน และมีความคล่องตัวในการติดต่อกับพาร์ตเนอร์ รวมทั้งชอบแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาตอบสนองเทรนด์ จึงรับหน้าที่ดูแลพันธมิตรทางธุรกิจ (partner alliance)และการทำนวัตกรรมในองค์กรด้วย  
  • ให้บริการไอทีโซลูชัน
บจ. ดาต้าวัน เอเชีย (ประเทศไทย) ก่อตั้งในปี 2549 ทำธุรกิจให้บริการด้านไอซีทีครบวงจรแก่กลุ่มธุรกิจต่างๆ อาทิ ธนาคาร ประกันภัย โรงพยาบาล โทรคมนาคม หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน โดยแบ่งเป็นการให้บริการวางระบบแบบครบวงจรสำหรับกลุ่มธุรกิจธนาคาร ประกันภัย และโรงพยาบาล ทั้งให้คำปรึกษาด้านไอทีออกแบบโซลูชัน และปรับแต่งการใช้งานซอฟต์แวร์ให้ตรงตามความต้องการใช้งานหรือมาตรฐานข้อกำหนดของอุตสาหกรรมรวมถึงการบำรุงรักษาระบบ และจัดจำหน่ายอุปกรณ์และโซลูชันเครือข่ายและความปลอดภัย ทายาทสาววัย 32 ปีกล่าวถึงขอบข่ายงานของดาต้าวันว่า ให้บริการด้านไอทีโซลูชันมากว่า 20 ปี โดยแบ่งธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ให้คำปรึกษา วางระบบคอมพิวเตอร์ โดยโฟกัสกลุ่มลูกค้าหลักคือธนาคาร ประกันภัย ตัวอย่างบริการของบริษัท เช่น โซลูชันที่เกี่ยวข้องกับ ATM การช่วยให้ธนาคารชำระเงินโดยผ่าน บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (National ITMX) ซึ่งเป็นตัวกลางทำหน้าที่เคลียร์เงินระหว่างธนาคาร บริษัทให้บริการโซลูชันนี้ในตลาดกลุ่มธนาคาร 95% และต่อยอดทำ payment hub รองรับให้ลูกค้าชำระเงินผ่าน PromptPay หรือ QR อันนี้คือ core หลัก นอกจากนั้น มีแอปพลิเคชันอื่นๆ ที่เป็น core banking เป็นซอฟต์แวร์ที่ธนาคารใช้ดันระบบหลัก ไม่ว่าจะเป็นการออกผลิตภัณฑ์การเงิน payment delivery อีกส่วนคือ core insurance เป็นระบบที่ออกแบบมาสำหรับใช้กับธุรกิจประกันโดยเฉพาะ กลุ่ม 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย ซึ่งไม่ซ้ำซ้อนกับ SVOA เช่น routing, switching, Wi-Fi โดยจำหน่ายผ่านคู่ค้าที่สร้างโครงการ เช่น ทำแคมปัสเน็ตเวิร์ก หรือขายผ่านเครือข่ายค่ายโทรศัพท์มือถือ เช่น เอไอเอส ทรู ดีแทค รวมทั้งมีบริการหลังการขาย และจัดเทรนนิ่งให้พาร์ตเนอร์ เพื่อสร้างความเข้าใจและทำให้มีความเชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์ กลุ่ม 3 ให้บริการ IT outsourcing โดยรันและมอนิเตอร์ระบบ ATM switching ซึ่งบริษัทเป็นผู้เชี่ยวชาญ และให้บริการธนาคาร 3 แห่ง  
  • สร้างเซอร์วิสจากซอฟต์แวร์
สำหรับ ดิจิเทค วัน บริษัทน้องใหม่มีอายุ 2 ปี เป็นส่วนงานที่แยกออกมาเพื่อให้บริการองค์กรธุรกิจในรูปแบบโซลูชันเฉพาะกลุ่ม หรือ SaaS business model (Software as a Service) โดยแบ่งบริการออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. platform business มีเทคโนโลยีหลัก ประกอบด้วยการพิสูจน์และยืนยันตัวตนการลงนามลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีการขอกู้ยืมออนไลน์ให้แก่ภาคธุรกิจสถาบันการเงินและองค์กรในภาคเอกชนต่างๆ เพื่อเข้าถึงและให้บริการออนไลน์อย่างปลอดภัย 2. cybersecurity หรือการปกป้องข้อมูล พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 มีข้อกำหนดให้หน่วยงานเอกชนและภาครัฐที่เป็นหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ซึ่งมีความสำคัญเชิงเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ต้องยกระดับการเฝ้าระวัง ป้องกันรับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ องค์กรดังกล่าวประกอบด้วยกลุ่มความมั่นคงและบริการภาครัฐที่สำคัญกลุ่มการเงินการธนาคาร กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและคมนาคม กลุ่มการขนส่งและโลจิสติกส์ กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภคและกลุ่มสาธารณสุข “นอกจากนี้ เราได้พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูล ปกติเวลาจะขอกู้เงินลูกค้าต้องเปิดเผยข้อมูลเครดิตเพื่อให้ธนาคารพิจารณา ในอดีตการกรอกข้อมูลเพื่อขอกู้ใช้เวลาเป็นสัปดาห์ แต่ด้วยแอปนี้สามารถลดเหลือ 1 วัน แพลตฟอร์มข้างต้นไม่ได้มาด้วยตัวเอง แต่เราจัดสรรเทคโนโลยีที่มองว่ามีความสำคัญในการทำธุรกรรมออนไลน์ เช่น e-KYC ก่อนลูกค้าสมัครใช้บริการออนไลน์ต้องระบุตัวตน ก็นำเทคโนโลยี Biometric ยืนยันด้วยใบหน้าหรือลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ธนาคารเก็บไว้ตรวจสอบย้อนหลังซึ่งมีน้ำหนักในชั้นศาล “เราเปิดบริการ 2 ปี ได้กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เข้ามา เช่น บริษัทฟินเทค หลักทรัพย์ ที่สนใจให้ลูกค้าเปิดบัญชีออนไลน์ ไม่ต้องมาเจอแบบ face to face และทำดิจิทัลไอดีด้วยการยืนยันตัวตนผ่านแพลตฟอร์ม NDID (National Digital ID) เทคโนโลยีเพื่อใช้ในการยืนยันตัวบุคคลแบบดิจิทัลผ่านระบบออนไลน์ เช่น เราเปิดบัญชีกับธนาคาร A วันต่อมาต้องการเปิดบัญชีกับธนาคาร B แทนที่จะต้องวิ่งไปธนาคารก็ขอให้ธนาคาร A แชร์ข้อมูลให้ธนาคาร B ได้เลย โดยเราให้ความยินยอม เป็นเทคโนโลยีส่วนที่เพิ่มมาอำนวยความสะดวก ก้าวข้ามข้อจำกัดการเดินทาง” ด้วยเทคโนโลยีข้างต้นทำให้ลูกค้าสามารถเปิดบัญชีธนาคารออนไลน์ การเปิดบัญชีการลงทุนทางออนไลน์ รวมถึงขอสินเชื่อออนไลน์ โดยไม่ต้องไปติดต่อที่สาขาธนาคาร  
  • ร่วมโครงการ PromptPay
พิรดากล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า ระยะ 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีโอกาสร่วมดำเนินการในโครงการสำคัญ 2 โครงการคือ
  1. บริการ PromptPay เดิมลูกค้าต้องชำระผ่านธนาคาร แต่โซลูชันนี้ช่วยลูกค้าถอน โอน หรือจ่ายเงิน e-billing รับเงินจากภาครัฐทั้งนี้ การใช้งานผ่าน PromptPay มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีธนาคารหลายแห่งใช้บริการ
  2. ทำระบบ Bulk Payment ให้กับ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ (National ITMX) ซึ่งเป็นระบบที่ทำหน้าที่จ่ายหรือชำระเงินหลายๆ รายการ เช่น ธนาคารทำหน้าที่เป็นตัวแทนเงินเดือนให้บริษัทต่างๆ เดิมพนักงานบริษัทต้องผูกบัญชีเงินเดือนกับธนาคารแห่งเดียว แต่ด้วยระบบนี้สามารถกระจายไปใช้หลายธนาคารได้ หรือการชำระเงินแบบ B2B ธุรกิจใหญ่มีซัพพลายเออร์ต้องชำระเงินให้ลูกค้า ตัว Bulk Payment ช่วยให้การชำระเงินข้ามธนาคารทำได้รวดเร็วขึ้น
แอปพลิเคชัน ระบบ หรือ เทคโนโลยี ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักที่ใช้ในการให้บริการมีทั้งที่เป็นโซลูชันสำเร็จรูปจากต่างประเทศ บริษัทนำมาปรับแต่งให้ตรงกับความต้องการลูกค้าในไทย และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทีมงานบริษัทสร้างสรรค์ขึ้นเอง โดยนำเทคโนโลยีหลายอย่างมารวมกัน นอกจากนี้บริษัทยังได้พัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการลงทะเบียนพิสูจน์ยืนยันตัวตนออนไลน์ (e-KYC) โดยมีเทคโนโลยี Biometric ในการตรวจสอบใบหน้าเพื่อให้การทำธุรกรรมออนไลน์ปลอดภัยมากขึ้น “ส่วนแพลตฟอร์มที่ทำเฉพาะของประเทศไทยคือ e-service ของภาครัฐ โดยปีที่ผ่านมาหลายกรมปรับตัวสู่ digital business เช่น กรมสรรพากรตั้งโครงการ  e-Tax Invoice & e-Receipt โดยรับใบกำกับและใบเสร็จเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเราได้รับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งในตัวแทน เป็น service provider ของกรมสรรพากรในการนำส่งข้อมูลชุดนี้ โดยข้อมูลขาหนึ่งไปสู่กรมสรรพากร อีกขาส่งไปที่ลูกค้าโดยตรงเป็นการลดการใช้กระดาษ เช่น ซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า แทนที่จะได้ใบเสร็จเป็นกระดาษ ก็ได้รับใบเสร็จทางอีเมล นั่นคือที่เราจัดการให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ไฟล์” น่าสังเกตว่าในกลุ่ม cybersecurity ดิจิเทค วัน พัฒนาโซลูชันโดยอิงไปกับกฎหมายภาครัฐ ซึ่งพิรดาตอบรับว่า ใช่ และบอกว่านี่เป็นจุดสำคัญมากดังที่เธออธิบายว่า “ทีมงานของเราคอยไปศึกษากับผู้วางมาตรฐานหรือกำกับมาตรฐานเทคโนโลยีหลายอย่างที่ออกมาเราต้องอยู่ใน first line เพราะเรากำลังจะรังสรรค์เทคโนโลยี ปิด gap ให้กับสิ่งเหล่านี้ เราไปคุยกับผู้วางมาตรฐานทำงานร่วมกับเขาด้วย เช่น การยืนยันตัวตนให้ภาครัฐบางที่ทำก่อนที่กฎหมายออกมาด้วยซ้ำ เราทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงาน เช่น แบงก์ชาติ กลต. เราต้องมีหน่วยที่คอยติดตามนโยบายต่างๆ ที่ประกาศออกมา
พิรดา อิงค์ธเนศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิเทค วัน จำกัด
“คู่แข่งก็มีอยู่แล้ว แต่ฐานที่เราตั้งขึ้นมาเราเชี่ยวชาญ e-KYC เทคโนโลยีสำหรับการลงทะเบียนพิสูจน์ยืนยันตัวตนออนไลน์ โดยมีเทคโนโลยี Biometric ในการตรวจสอบใบหน้าเพื่อให้การทำธุรกรรมออนไลน์ปลอดภัยมากขึ้น ดิจิเทคนำมาประกอบกันเป็นแพลตฟอร์มให้ลูกค้าใช้บริการได้อย่างค่อนข้างง่าย ส่วนที่เป็น cyber ก็เช่นเดียวกัน เรามีทีมที่แข็งแรงและประสบการณ์มากกว่า 10 ปี” ในตอนท้ายกรรมการผู้จัดการ ดิจิเทค วัน กล่าวถึงเป้าหมายในการนำบริษัทให้เติบโตต่อไปว่า ต้องดูแลทีมให้ราบรื่น มีการพัฒนาตลอดเวลา ส่วนตัวทราบว่ามีหน้าที่ต่อองค์กร “เรามองว่า เทคโนโลยี ไอที apply ได้เกือบทุกอุตสาหกรรม ทั้งการใช้ชีวิต การใช้สื่อ connect การดูแลสุขภาพ ทั้งหมดนี้เราจะใช้ประโยชน์และสร้างคุณค่าให้กับสังคมได้อย่างไร...ด้วยธุรกิจที่ซับซ้อน ละเอียดอ่อน เราต้องรู้ลึกรู้จริงในผลิตภัณฑ์ และทีมต้องมีความเข้าใจในตัวธุรกิจของลูกค้า key success factors และ pain point คืออะไร เราต้องนำสองส่วนนี้มาผสานกันให้ลงตัว”     อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine