กิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม "PROEN" ตอบทุกโจทย์ ICT - Forbes Thailand

กิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม "PROEN" ตอบทุกโจทย์ ICT

‘กิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โปรเอ็น คอร์ป กับความชำนาญระดับแนวหน้าและประสบการณ์นับสิบปีด้านเทคโนโลยี พร้อมพา "PROEN" เป็นเจ้าแรกในตลาดที่ตอบทุกโจทย์ ICT

เพราะการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมหลายประเภท ทว่าในภาวะปัจจุบันที่ต้องดำเนินธุรกิจและใช้ชีวิตแบบ new normal ผู้คนต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับด้านนี้จึงได้รับผลด้านบวก เช่นเดียวกับ บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ PROEN ผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูล คอมพิวเตอร์ (Internet Data Center) และธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ซึ่งในปี 2563 มีผลประกอบการ 1,005.51 ล้านบาท กำไร 25.27 ล้านบาท เติบโตจากปี 2562 ที่มีรายได้ 883 ล้านบาท และกำไร 17 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน ปี 2564 มีงานที่รอรับรู้รายได้ (backlog) 821.31 ล้านบาท โดยรับรู้เดือนธันวาคม 141.41 ล้านบาท และปี 2565 อีก 710.93 ล้านบาท PROEN กิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โปรเอ็น คอร์ป เริ่มต้นชีวิตการทำงานตั้งแต่เรียน ปวช. และ ปวส. และเปิดบริษัทขณะอายุ 20 ปี ระหว่างเรียนต่อระดับปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต โดยร่วมหุ้นกับเพื่อนด้วยทุน 50,000 บาท ปี 2539 ได้งานรับเหมาเดินสายไฟฟ้าในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งย่านถนนพัฒนาการ ปรากฏว่านายจ้างไม่จ่ายเงิน ทำให้บริษัทมีหนี้สิน 380,000 บาท ในฐานะกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารหนุ่มจึงกู้เงินจากญาติและแม่ของเพื่อนเพื่อทยอยใช้หนี้ให้กับซัพพลายเออร์ หลังจากนั้นจึงมาเปิดร้านอินเทอร์เน็ตที่สยามสแควร์ จากธุรกิจร้านเกมและอินเทอร์เน็ตที่ใช้เงินลงทุน 40,000-50,000 บาท ในปี 2540 ปัจจุบัน PROEN มีมูลค่าตามราคาตลาด (market capital) ประมาณ 2 พันล้านบาท  

- ตั้งเป้าเป็นเจ้าของธุรกิจ -

เมื่อมองย้อนกลับไปกิตติพันธ์บอกว่า เคยเป็นพนักงานบริษัทเพียงแค่ครั้งเดียวและพบว่านั่นไม่ใช่ทางของเขา “ผมเป็นเด็กต่างจังหวัดเข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ คิดว่าไม่ใช่ชีวิตที่แท้จริงของผมแล้วละ มีแนวคิดว่าต้องมีธุรกิจของตนเอง ช่วงเรียนก็รับเหมางาน ที่บ้านส่งให้ไม่พอใช้ได้เดือนละ 1,800 บาท ผมเอาค่าที่พักมาหารกับเพื่อน เขาให้อยู่ 2 คน ผมอยู่ 5 คน และทำงานรับเหมาเดินสายไฟ รุ่นพี่จบแล้วได้งานอยู่บริษัทเอกชนมาบอกว่ามีงาน เราก็ไปทำ ตั้งแต่ ปวช. และ ปวส. และมาเกษมบัณฑิต"
กิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โปรเอ็น คอร์ป
“ช่วงที่เรียนก็ใช้งานอินเทอร์เน็ต แชท พูดคุย มองเห็นเทรนด์ว่าจะมา เมื่อมาเปิดร้านที่สยาม...ใช้คอมฯ ทำงานเอกสาร เชื่อม modem ใช้แชท ICQ ต่อมามีเด็กจุฬาฯ เอแบค และอาจารย์จุฬาฯ มาขอใช้เช็กอีเมล เราต่อ modem ให้และมองว่าน่าจะให้บริการได้เลยเพิ่มเครื่องและติดป้ายว่าให้บริการเช็กอีเมล ก็มีต่างชาติและนักศึกษามาใช้บริการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ...เราเป็นร้านแรกแถวสยามซอย 4 ถึงจุดหนึ่งก็ขยายมาอีกแห่ง โดยปรับปรุงอาคาร 5 ชั้นบนถนนพัฒน์พงศ์ สีลม ให้เป็น Data Center มีบริการรับฝากเครื่องเซิร์ฟเวอร์ (co-location), web hosting, web design และเป็นตัวแทนจำหน่ายชั่วโมงอินเทอร์เน็ต” เหตุผลที่ขยายธุรกิจเพราะมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตบางช่วงไม่ได้ใช้งาน และเห็นว่าย่านนี้เป็นแหล่งของชาวต่างชาติ ก่อนจะย้ายไปเช่าพื้นที่ของ กสท. ในปี 2548 บริษัทย้ายธุรกิจ Data Center ไปไว้ที่ชั้น 4 ของอาคาร กสท. โทรคมนาคม หรือ CAT Tower ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อด้านการสื่อสารโทรคมนาคม มีโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า โดยสามารถรองรับตู้เซิร์ฟเวอร์ 118 ตู้ และขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของลูกค้า ปี 2552 ได้พัฒนาเทคโนโลยีการถ่ายทอดภาพและเสียงที่มาจากพื้นฐานวิทยุกระจายเสียงผ่านทางอินเทอร์เน็ต (radio streaming) ให้สามารถบริการถ่ายทอดสดภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต (video streaming) ซึ่งปัจจุบันธุรกิจ media entertainment ใช้ในการถ่ายทอดสดกีฬานัดสำคัญ หรือรายการละครทีวีที่มีคนดูจำนวนมาก เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนผ่าน มีการติด webcam radio ทำให้ผู้ฟังสามารถมองเห็นผู้จัดรายการวิทยุแบบเรียลไทม์ หลังจากนั้นสถานีวิทยุ รายการโทรทัศน์ต่างก็ไลฟ์สดบนอินเทอร์เน็ตแพร่ภาพได้ทั่วโลก ผู้ประกอบการช่องทีวีรายใหญ่ๆ ในประเทศให้ความสนใจมาใช้บริการ จุดเด่นของระบบเมื่อเทียบกับแบบเดิมคือ สามารถแพร่ภาพและรายการได้ทุกแห่ง ทั่วโลกที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าถึงด้วยความคมชัดเท่ากัน ทำให้ช่องทางการเผยแพร่ของสถานีกว้างขวางขึ้น โอกาสครั้งสำคัญมาถึงเมื่อบริษัทผู้ผลิตเกมมาใช้บริการ เนื่องจากธุรกิจเปลี่ยนแปลงจากเกมออฟไลน์เป็นออนไลน์ ปี 2555 เพิ่มบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดยใช้เทคโนโลยี Leased Line (Multiprotocol Label Switching (MPLS) ลูกค้าเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีสาขาจำนวนมาก และต้องเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกัน อีก 1 ปีถัดมาเปิดให้บริการรักษาความปลอดภัยข้อมูลของผู้ใช้ในอินเทอร์เน็ตหรือ cyber security ผ่านระบบ Cloud ชื่อ DDos (Distributed Denial[1]of-Service) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องเครือข่ายจากการถูกโจมตี หรือการเข้าถึงจากภายนอก และขยายพื้นที่ให้บริการ IDC เป็น 350 ตู้ ปี 2559-2560 เริ่มธุรกิจงานโครงการก่อสร้างโทรคมนาคม ส่วนธุรกิจ IDC ขยายจำนวนตู้เพิ่มเป็น 547 ตู้ และตั้งบริษัทย่อยดำเนินงานก่อสร้าง รับงานโครงการโทรคมนาคมขนาดใหญ่ งานวางสายพาดเสาไฟฟ้าแรงสูง งานนำสายไฟฟ้าลงดินผ่านระบบท่อร้อยสายต่างๆ ในปีถัดมา และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปี 2564 ทั้งนี้ บริษัท การ์ทเนอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ทำวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลกได้คาดการณ์มูลค่าตลาดไอทีทั่วโลกปี 2565 ว่ามีมูลค่า 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ไทยเติบโต 6.4% เทียบจากปี 2564 คิดเป็นมูลค่า 8.7 แสนล้านบาท โดยการใช้จ่ายด้าน Data Center มีมูลค่า 21,656 ล้านบาท  

- เติบโตจาก IDC -

PROEN ประกอบธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตสำหรับองค์กร (Internet Service), บริการศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ (Internet Data Center หรือ IDC), บริการไอซีที โซลูชั่น (ICT Solutions) และบริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมแบบครบวงจร (Business Telecom) เป็นบริการแบบ turnkey solution ตั้งแต่การวางระบบเครือข่ายและดูแลด้านไอซีที ระบบรักษาความปลอดภัยอินเทอร์เน็ต งานเชื่อมโครงข่ายในระบบการสื่อสารโทรคมนาคม งานสำรวจออกแบบและติดตั้งสถานีติดตั้งเสาอากาศ สายใยแก้วนำแสง บริษัทแบ่งธุรกิจออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ 1. ธุรกิจเทคโนโลยีและการสื่อสาร (Information Communication and Technology: ICT) โดยให้บริการ Internet Data Center, อินเทอร์เน็ต ISP และบริการคลาวด์ (Cloud Service) 2. กลุ่มงานโครงการโทรคมนาคมและสาธารณูปโภคพื้นฐาน (Telecommunication and Infrastructure Service) เช่น งานติดตั้งสายใยแก้วนำแสง (optical fiber) งานระบบไฟฟ้า งานวางท่อลอดใต้ดินด้วยแม่แรงไฮดรอลิค (pipe jacking) และการใช้แรงลมดัน (micro trenching) เป็นต้น PROEN

- วิกฤตสร้างโอกาส -

แม้ว่าบริษัทจะประสบปัญหาหลายครั้งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แต่รายได้ยังเติบโตขึ้นทุกปี ดังที่ผู้บริหารหนุ่มบอกว่า “ทุกวิกฤตมีโอกาส ไม่ว่า Data Center, hardware, อุปกรณ์ ICT มีการขยายตัวต่อเนื่อง บริษัทขยาย (บริการ) ตามปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น single gateway เรามี anti DDos (Distributed Denial of Service) เข้ามาน้ำท่วมก็เปลี่ยน hardware ใหม่ การระบาดของโควิด-19 ในช่วงปี 2563-2564 ทำให้การซื้อขายออนไลน์ การใช้บริการ Data Center เพิ่มขึ้น” ปัจจุบันมีผู้ให้บริการธุรกิจลักษณะเดียวกันหลายราย แต่ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PROEN บอกว่า ไม่กังวล และมีความเห็นว่า การที่คนหันมาสนใจด้านนี้แสดงว่าเป็นธุรกิจ ที่มีอนาคต “หลายอุตสาหกรรมเริ่มย้ายฐานข้อมูลเข้ามาโซนประเทศไทยมากขึ้น ตลาดในไทยแข่งขันกันสูง แต่ลูกค้าเป็นกลุ่มเฉพาะด้าน เรามีความเข้มแข็ง กลุ่มลูกค้าจะย้ายไปอยู่ที่อื่นก็ไม่ง่าย เพราะความต้องการด้าน bandwidth สูง ในด้าน infrastructure บางอย่างซึ่งรายอื่นอาจไม่มี เรามีความเข้มแข็งในงานราชการ” PROEN ส่วนในปี 2564 ลงทุนในบริษัทย่อย 2 แห่งคือ บจ. โปรเอ็น พยัคฆ์ อินโนเวชั่น เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการคลาวด์ และ บจ. แอสเซท คอยน์ เพื่อพัฒนาและบริหารแพลตฟอร์มที่ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล เชื่อมต่อกับผู้ให้บริการหรือทำธุรกรรมด้านการเงิน รวมทั้งบริหารแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อกับผู้ให้บริการสินค้าประเภทบริการและสาธารณูปโภค ทั้งนี้กิตติพันธ์ตั้งเป้าหมายปี 2565 ว่า จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% โดยเน้นกลุ่มธุรกิจที่มีรายได้ประจำคือ IDC และเพิ่มจำนวนอีก 140 ตู้ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 695 ตู้   ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ PROEN อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ในรูปแบบ e-magazine