ปูนซีเมนต์ไทย ชี้แจง 4 ข้อ กรณี "สหรัฐฯ สั่งปรับ SCG Plastics" รวม 20 ล้านเหรียญ - Forbes Thailand

ปูนซีเมนต์ไทย ชี้แจง 4 ข้อ กรณี "สหรัฐฯ สั่งปรับ SCG Plastics" รวม 20 ล้านเหรียญ

ปูนซีเมนต์ไทย ออกเอกสารชี้แจงกรณี SCG Plastics ถูกสหรัฐสั่งจ่ายค่าปรับ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ฐานละเมิดกฎหมายคว่ำบาตรอิหร่าน เผยไม่กระทบผลการดำเนินงานในปี 67 เพราะตั้งสำรองในงบการเงินปี 66 ไว้แล้ว


    นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ว่า ตามที่ปรากฏข่าวกรณีรัฐบาลสหรัฐฯ สั่งปรับบริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ จำกัด ฐานละเมิดกฎหมายคว่ำบาตรอิหร่านจากการโอนเงินดอลลาร์สหรัฐชำระค่าสินค้าที่ผลิตในอิหร่าน ช่วงปี พ.ศ. 2560 ถึง พ.ศ. 2561 นั้นขอชี้แจงใน 4 ข้อ ได้แก่

    1. บริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ จำกัด (SCG Plastics) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SCC (ปัจจุบันอยู่ระหว่างชำ ระบัญชี) เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ขายเม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีน (PE) ที่ผลิตจากบริษัทที่เอสซีจีร่วมทุนในอิหร่าน ซึ่ง SCG Plastics ได้ขาย PE ที่ผลิตจากบริษัทร่วมทุนนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยได้ใช้หลายสกุลเงินในการค้าขายตามความต้องการของลูกค้าซึ่งเป็นการประกอบธุรกิจตามปกติของอุตสาหกรรมนี้ และช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีมาตรการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของอิหร่าน

    2. ต่อมาในเดือน ก.พ. 2556 SCG Plastics ได้หยุดการขาย PE ที่ผลิตในอิหร่านหลังจากสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของอิหร่าน และกลับมาขายอีกครั้งเมื่อสหรัฐฯ ประกาศผ่อนผันการคว่ำบาตรดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2557 จากความไม่แน่นอนในสถานการณ์การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่ออิหร่าน
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 SCG Plastics ได้ยุติการขาย PE จากบริษัทร่วมทุนอย่างถาวร หลังจากที่บริษัทในเอสซีจีหยุดดำเนินการกับบริษัทร่วมทุนนั้น และสินทรัพย์ดังกล่าวได้ถูกจำหน่ายไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ตามมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกา

    3. ต่อมาสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (OFAC) เข้าตรวจสอบการขาย PE ของ SCG Plastics ที่ค้าขายช่วงเดือน เม.ย. 2560 - พ.ย. 2561 ว่าละเมิดมาตรการคว่ำบาตรหรือไม่
    ซึ่ง SCG Plastics ได้ให้ความร่วมมือกับทางราชการของสหรัฐฯ เป็นอย่างดี เมื่อเสร็จสิ้นการตรวจสอบ OFAC เห็น ว่ามีการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน แม้การขายสินค้าดังกล่าวจะไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลสัญชาติสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการคว่ำบาตร แต่มีการใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในการขายสินค้าที่ผลิตจากอิหร่านในช่วงดังกล่าว ทำให้สถาบันการเงินซึ่งเป็นบุคคลสหรัฐมีส่วนร่วมในการชำระเงินด้วย ส่วนการค้าขายด้วยสกุลเงินอื่นไม่ได้ละเมิด มาตรการดังกล่าว

    4. OFAC เห็นว่า SCG Plastics ได้ให้ความร่วมมือกับ OFAC ในการตรวจสอบอย่างเต็มที่ รวมถึงได้ออก นโยบายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต OFAC จึงได้เสนอให้ SCG Plastics ทำ Settlement Agreement โดยให้ SCG Plastics จ่ายเงินค่าประนอมยอมความให้กระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาจำนวน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้ OFAC ยุติการพิจารณาข้อหาดังกล่าว ทั้งนี้ การจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อ ผลการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2567 ของเอสซีจีเนื่องจากได้ตั้งสำรองในงบการเงินสิ้นปี พ.ศ. 2566 เรียบร้อยแล้ว



Photo by Tormius on Unsplash



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : แบตเตอรี่ หรือ ไฮโดรเจน : เส้นทางสู่เป้าหมาย Net-Zero Emission

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine