ไฮไลต์ การจัดอันดับมหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2023 - Forbes Thailand

ไฮไลต์ การจัดอันดับมหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2023

แม้การเมืองจะยังไม่นิ่ง แต่ทรัพย์สินรวมของผู้ที่รวยที่สุด 50 อันดับแรกของไทยก็เพิ่มเป็น 1.73 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ

    

    การกลับมาของนักท่องเที่ยวได้ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะโต 3.6% ในปีนี้ และในเดือนพฤษภาคมพรรคก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคการเมืองหัวก้าวหน้าขวัญใจคนไทยวัยหนุ่มสาวชนะการเลือกตั้งอย่างเหนือความคาดหมาย แม้ในขณะที่เราตีพิมพ์บทความนี้สถานการณ์จะยังไม่ชัดเจนว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคผู้จบการศึกษาจาก Harvard จะใช้ชัยชนะต่อรองเข้านั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาได้หรือไม่ แต่ท่ามกลางความไม่แน่นอนนี้ ทรัพย์สินรวมของผู้รวยที่สุด 50 อันดับแรกของไทยก็ยังเพิ่มขึ้นเกือบ 15% เป็น 1.73 แสนล้านเหรียญ

    พี่น้องเจียรวนนท์แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งได้ควบรวมหน่วยธุรกิจโทรคมนาคมของกลุ่มคือ True เข้ากับคู่แข่งคือ Total Access Communications เสร็จสิ้นไปเมื่อต้นปีนี้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อวัดเป็นตัวเงิน และยังคงครองอันดับ 1 ในทำเนียบ ทรัพย์สินของตระกูลซึ่งแบ่งกันในหมู่พี่น้อง 3 คนคือ ธนินท์, สุเมธ, จรัญ และครอบครัวของมนตรี พี่ชายคนรองผู้ล่วงลับไปเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นมา 7.5 พันล้านเหรียญจนแตะจุดสูงสุดที่ 3.4 หมื่นล้านเหรียญ

    ปีนี้เป็นอีกปีที่ Red Bull ยังคึกไม่หยุดด้วยยอดขาย 1.16 หมื่นล้านกระป๋องทั่วโลก และกวาดรายได้ไปกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญในปี 2022 ทำให้ เฉลิม อยู่วิทยา ยังครองอันดับ 2 ด้วยทรัพย์สิน 3.34 หมื่นล้านเหรียญ เจ้าพ่อเครื่องดื่มชูกำลังมั่งคั่งขึ้น 7 พันล้านเหรียญ โดยเป็นทรัพย์สินที่ถือครองร่วมกันในครอบครัวใหญ่ของเขา (Dietrich Mateschitz เศรษฐีพันล้านชาวออสเตรียผู้ร่วมก่อตั้ง Red Bull เสียชีวิตไปเมื่อเดือนตุลาคมด้วยวัย 78 ปี เขาเป็นผู้สร้างเครื่องดื่มแบรนด์ดังนี้ร่วมกับเฉลียว บิดาผู้ล่วงลับไปแล้วของเฉลิม)

    เมื่อดูภาพรวม มีเศรษฐี 21 อันดับรวยขึ้นกว่าปีที่แล้ว โดยมี 2 อันดับที่ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากที่สุดในแง่ของเปอร์เซ็นต์จากการกลับมาของนักช็อปต่างชาติ คนแรกคือ อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา แห่งตระกูลเจ้าของกิจการห้างสรรพสินค้าปลอดภาษี King Power International ทรัพย์สินสุทธิของเขาเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเป็น 3.5 พันล้านเหรียญ และติด 1 ใน 10 อันดับแรกโดยรั้งอันดับ 8 และอีกคนคือ ศุภลักษณ์ อัมพุช ผู้บริหารอาณาจักรค้าปลีก The Mall Group ของตระกูลเจ้าของห้างสรรพสินค้ายอดนิยมอย่างสยามพารากอนและเอ็มควอเทียร์ โดยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 2 พันล้านเหรียญ

    การฟื้นตัวของภาคธุรกิจค้าปลีกยังช่วยส่งให้ 1 ใน 2 เศรษฐีหน้าใหม่เข้ามาในทำเนียบปีนี้ด้วย ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งตระกูลของเขามีหุ้นใน The Mall Group และกิจการอื่นๆ เข้าทำเนียบมาเป็นปีแรกในอันดับ 27 ด้วยทรัพย์สิน 1.4 พันล้านเหรียญ ส่วนผู้มาใหม่อีกคนคือ อนันท์ รักอริยะพงศ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทเครื่องดื่ม Sappe ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (อยู่ในอันดับ 50 มีทรัพย์สิน 590 ล้านเหรียญ) 

    เขาเริ่มต้นทำธุรกิจเมื่อ 5 ทศวรรษก่อนด้วยการขายถั่วกรอบแก้วและคุกกี้แบบไทยที่ใช้ชื่อแบรนด์ว่า ปิยจิต ตามชื่อลูกสาวซึ่งปัจจุบันเป็นซีอีโอของบริษัทมีเศรษฐี 2 คนในทำเนียบนี้ที่ได้ประโยชน์จากการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ คนแรกคือ วานิช ไชยวรรณ ผู้คร่ำหวอดในวงการประกันซึ่งนำบริษัทไทยประกันชีวิตอายุ 81 ปีของเขาเข้าตลาดเมื่อปีที่แล้วในการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศในปี 2022 เขามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 30% เป็น 3.9 พันล้านเหรียญ อีกคนคือ ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ ซึ่งกลับเข้าทำเนียบมาอีกครั้งหลังจากหายไป 2 ปี หลังจากที่กลุ่มบริษัทอาหาร Betagro ของเขาเสนอขายหุ้น IPO เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว

    เมื่อดูภาพรวม มี 22 อันดับในทำเนียบที่มีทรัพย์สินลดลง เจ้าพ่อสีทาบ้าน ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ มีทรัพย์สินสุทธิลดลงเกือบ 30% ซึ่งลดลงมากที่สุดเมื่อวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากปัญหาที่รุมเร้ากิจการสายไฟฟ้าและสายเคเบิลภายใต้บริษัท Stark ที่วนรัชต์ ลูกชายของเขาถือหุ้นอยู่ โดยหุ้นของ Stark ร่วงหนักและถูกสั่งห้ามซื้อขายหลังจากไม่สามารถส่งงบการเงินให้ตลาดหลักทรัพย์ได้ทันกำหนด แม้มูลค่าสินทรัพย์ที่นำมาพิจารณาของทำเนียบปีนี้จะลดลงเหลือ 590 ล้านเหรียญจากเดิม 655 ล้านเหรียญ แต่ก็มีเศรษฐีในทำเนียบปีที่แล้วหลุดจากทำเนียบนี้ไป 5 คน

    

จากข้าวสู่ความมั่งคั่ง - วานิช ไชยวรรณ


    

    การเสนอขายหุ้น IPO มูลค่า 1 พันล้านเหรียญเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วของบริษัทไทยประกันชีวิตที่มีอายุ 81 ปี ได้ช่วยเพิ่มความมั่งคั่งให้กับ วานิช ไชยวรรณ ผู้คร่ำหวดในวงการประกันได้ไต่ขึ้นมา 2 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 6 ด้วยทรัพย์สิน 3.9 พันล้านเหรียญ เมื่อมีเงินทุนในกระเป๋าบวกกับการที่ตลาดประกันชีวิตของไทยที่มีอัตราเบี้ยประกันภัยรับรวมต่อ GDP เป็นตัวเลขแค่หลักเดียว บริษัทของเขาจึงดูมีความพร้อมสำหรับการเติบโตได้อีก

    ไทยประกันชีวิตกล่าวว่า บริษัทได้จัดสรรเงินทุนจากการระดมทุนขายหุ้น IPO ไว้ส่วนหนึ่งสำหรับการพลิกโฉมธุรกิจให้เป็นระบบดิจิทัลมากขึ้น โดยมีการใช้ซอฟต์แวร์ที่ทำงานเลียนแบบมนุษย์เพื่อลดงานเอกสารลง และการออกกรมธรรม์ 96% ก็ทำผ่านแอปของบริษัทได้แล้ว ปัจจุบันบริษัทต้องการจะยกระดับทักษะของตัวแทนขาย 46,000 คน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกิน 1 ใน 4 ของจำนวนตัวแทนทั้งหมดในประเทศไทยที่ทำงานอยู่ใน 77 จังหวัด และบริษัทมีแผนจะใช้เครื่องมือดิจิทัลกับระบบวิเคราะห์ข้อมูลให้มากขึ้น ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายกรมธรรม์ และเสริมเงินทุนหมุนเวียนให้แข็งแกร่งขึ้น

    ข้อมูลของ Fitch Ratings ชี้ว่า อัตราเบี้ยประกันภัยรับรวมต่อ GDP ของประเทศไทยมีแค่ราว 4% เท่านั้น ดังนั้น ไทยประกันชีวิตจึงยังมีพื้นที่ให้โตได้อีก บริษัทแห่งนี้เป็นบริษัทประกันใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ มีส่วนแบ่งตลาด 14% เมื่อวัดจากรายได้ค่าเบี้ยประกันรวมในปี 2022 และมีกำไรสุทธิในปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อนหน้า เป็น 9.27 พันล้านบาท (268 ล้านเหรียญ) เพราะมีรายได้จากการลงทุนเพิ่มขึ้น

    ไทยประกันชีวิตมี “ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการตอบรับดีและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่ง” ณฐพล พงษ์สุขเจริญกุล ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ของ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ “และลงทุนกับการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ด้วย” บริษัทนี้มีชื่อเสียงมาจากการทำโฆษณาแนวซาบซึ้งกินใจซึ่งหลายชุดก็กลายเป็นกระแสไวรัล

    วานิช ผู้เริ่มทำธุรกิจจากการเป็นพ่อค้าข้าว ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกิตติคุณของไทยประกันชีวิตซึ่งเขาซื้อกิจการมาเมื่อปี 1970 โดยมี ไชย บุตรชาย เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ และมี วรางค์ บุตรสาว กับ วิญญู บุตรชายอีกคน เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้เป็นบิดายังคงถือหุ้นใหญ่ในบริษัทหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งถือเป็นการนำหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีที่แล้ว

    

เข็มกระตุ้น - ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ


    

    เมื่อการเดินทางฟื้นตัวขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา หลังจากข้อจำกัดด้านการเดินทางเพื่อรับมือการระบาดของโควิด-19 ถูกยกเลิก จึงได้ช่วยกระตุ้นให้ความมั่งคั่งของ ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว อดีตศัลยแพทย์ผู้นี้มีหุ้นในสายการบิน Bangkok Airways และกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) เครือโรงพยาบาลเอกชนใหญ่ที่สุดของประเทศเมื่อวัดจากรายได้และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด

    กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาชี้ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งรวมถึงนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์พุ่งขึ้นเป็น 11.2 ล้านคนในปี 2022 จากที่เคยลดเหลือไม่ถึง 500,000 คนในปีก่อนหน้า และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 3 เท่าเป็น 30 ล้านคนในปีนี้ การฟื้นตัวเช่นนี้ได้ช่วยดันราคาหุ้น Bangkok Airways และ BDMS ขึ้น 56% และ 19% ตามลำดับในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ทรัพย์สินสุทธิของปราเสริฐโดดขึ้นไปพร้อมกัน โดยเพิ่มขึ้น 23% เป็น 3.8 พันล้านเหรียญ

    Bangkok Airways ซึ่งปราเสริฐก่อตั้งเมื่อปี 1968 กลับมามีกำไรอีกครั้งในไตรมาสแรก และมีรายได้ 5.74 พันล้านบาท (165 ล้านเหรียญ) เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงปีก่อนหน้า ส่วน BDMS ซึ่งเขาร่วมก่อตั้งในปี 1972 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น 5% เป็น 2.4 หมื่นล้านบาท

    บทวิเคราะห์ฉบับเดือนพฤษภาคมโดย สิริการย์ กฤษฏิ์นิพัทธ์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี กล่าวว่า รายได้จากผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามาพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 57 แห่งในเครือ BDMS โตขึ้น 14% จากไตรมาสก่อน ภาคธุรกิจนี้สร้างรายได้เป็นสัดส่วน 29% ของรายได้รวมของเครือ BDMS ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งถือว่ากลับคืนสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาด

    ปัจจุบัน พุฒิพงศ์ บุตรชายของปราเสริฐ เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของ Bangkok Airways และ ปรมาภรณ์ บุตรสาว เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของ BDMS ส่วนปราเสริฐกลับมาเป็นกรรมการของทั้งสองบริษัทในปี 2021 หลังจากถูกหน่วยงานกำกับดูแลหลักทรัพย์ของไทยสั่งห้ามดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนเป็นเวลา 2 ปีเนื่องจากคดีปั่นหุ้น Bangkok Airways ซึ่งปรมาภรณ์ก็มีส่วนพัวพันด้วยและถูกสั่งห้ามดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 1 ปี ทั้งคู่ปฏิเสธข้อกล่าวหาแต่ยอมชำระค่าปรับทางแพ่ง

    

ช็อปปิ้งฟื้นตัว  - อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา


    

    การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในประเทศไทยทำให้ร้านค้าปลอดภาษีของ คิง เพาเวอร์ อินเตอร์-เนชั่นแนล กลับมาคึกคักอีกครั้ง จากข้อมูลนำส่งตามข้อบังคับกฎหมายระบุว่า บริษัทภายใต้การบริหารของ อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา และครอบครัวกลับมาทำกำไรสุทธิ 2.2 พันล้านบาท (64 ล้านเหรียญ) เมื่อปีที่แล้วหลังประสบผลขาดทุน 2.5 พันล้านบาทในปีก่อนหน้านั้น ขณะที่รายได้เติบโตแบบก้าวกระโดดถึง 59% ไปเป็น 2.75 หมื่นล้านบาท

    กำไรที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้ทรัพย์สินที่ครอบครองร่วมกันระหว่างอัยยวัฒน์และครอบครัวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเป็น 3.5 พันล้านเหรียญ ส่งอัยยวัฒน์ขึ้นรั้งอันดับ 8 บนทำเนียบ สำหรับคิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล มีร้านค้าปลอดภาษี 11 แห่งกระจายตามสนามบินและสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมทั่วประเทศไทย ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมายังประกาศเตรียมเปิดสาขาใหม่อีก 2 แห่งในสนามบินสุวรรณภูมิแห่งหนึ่ง ส่วนอีกแห่งจะตั้งอยู่ในย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพฯ

    การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวยังน่าจะส่งผลดีต่อการลงทุนอีกแห่งหนึ่งของครอบครัวคือ คิง เพาเวอร์ มหานคร อาคารระฟ้าเพื่อการใช้งานผสมผสานในกรุงเทพฯ ที่ประกอบไปด้วยโรงแรม The Standard และดาดฟ้าสำหรับชมวิวที่สูงที่สุดในประเทศไทย สำหรับอาคาร 78 ชั้นแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่า เป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศ ซึ่งตามรายงานต่างๆ ระบุว่า คิง เพาเวอร์เข้าซื้อมาในราคา 1.4 หมื่นล้านบาทเมื่อปี 2018 หรือเพียงไม่กี่เดือนก่อนการเสียชีวิตของ วิชัย ศรีวัฒนประภา คุณพ่อของอัยยวัฒน์จากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์

    บรรดานักวิเคราะห์มีมุมมองเป็นบวกต่อธุรกิจโรงแรม “เราคาดว่ากรุงเทพฯ จะกลับมาสัมผัส ‘high season’ ที่แท้จริงได้เป็นครั้งแรกในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ นับตั้งแต่เผชิญสถานการณ์โรคระบาดมา 3 ปี” รัฐวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบริการที่ปรึกษาและบริหารสินทรัพย์ด้านโรงแรม JLL Hotels & Hospitality Group ประเทศไทย กล่าวไว้ในรายงานเมื่อเดือนพฤษภาคม

    เมื่อเดือนกุมภาพันธ์อัยยวัฒน์เดิมพันเงินลงทุนของครอบครัวในสโมสรฟุตบอล Leicester City (LCFC) ด้วยการแปลงหนี้เงินกู้ของสโมสรจำนวนกว่า 194 ล้านปอนด์ (239 ล้านเหรียญ) ให้มาเป็นทุนกลับมาที่บริษัท นับเป็นครั้งที่ 2 สำหรับครอบครัวศรีวัฒนประภา หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2013 (3 ปีหลังการเข้าซื้อสโมสร) วิชัย ศรีวัฒนประภา ได้แปลงเงินกู้ยืมจำนวน 103 ล้านปอนด์กลับมาเป็นทุนแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งนั้นนับว่าคุ้มค่าไม่น้อยเลยทีเดียวเมื่อทีมจิ้งจอกสยามคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้สำเร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2016 อย่างไรก็ตามพวกเขาเพิ่งตกชั้นสู่ลีกแชมเปียนชิพเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลที่ผ่านมา

    

ทะยานขึ้น

    

    สถานการณ์เงินเฟ้อและสงครามยูเครนก่อกวนการเติบโตของไทยหลังยุคโรคระบาดในปีที่ผ่านมา แต่การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะขับเคลื่อนการเติบโตของ GDP ในปี 2023 โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเปิดเผยว่า ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยว 30 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเกือบ 3 เท่า แม้จะยังคงต่ำกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเมื่อปี 2019 และคาดว่า GDP จะขยายตัว 3.6% ในปีนี้ และ 3.8% ในปี 2024 หลังการเติบโตอย่างอ่อนแอ 2.6% เมื่อปี 2022

    ธุรกิจค้าปลีกที่เติบโตจากอานิสงส์การท่องเที่ยว ประกอบกับการจับจ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นนั้นต่างผลักดันมุมมองทางเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันประเทศไทยยังมีประเด็นที่ต้องกังวลคือ หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นแตะ 87% ของ GDP ในไตรมาส 4 ของปี 2022 ซึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณว่าจำเป็นจะต้องลดระดับหนี้ครัวเรือนลงให้อยู่ต่ำกว่า 80% เพื่อลดความเสี่ยงด้านการเงิน ข้อมูลจาก Bank for International Settlements แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเป็นอันดับต้นๆ ของทวีปเอเชีย (เป็นอันดับ 3 รองจากเกาหลีใต้และฮ่องกง) แต่ยังมีข่าวดีคือ เงินเฟ้อคาดว่าจะผ่อนคลายลงในปีนี้ เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานเริ่มทรงตัว หลังจากหลังจากค่าครองชีพพุ่งทะยานเมื่อปีที่ผ่านมา

    สถานการณ์ไม่แน่นอนทางการเมืองหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อไม่นานมานี้ (พรรคฝ่ายค้านได้เก้าอี้ ส.ส. ข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร) ยังทำให้หุ้นตกหนัก ส่งผลให้ตลาดหุ้นของไทยเกาะกลุ่มยอดแย่ของทวีปเอเชียในปีนี้ ซึ่งทั้งประชาชนผู้เลือกตั้งชาวไทยและนักลงทุนจากทั่วโลกต่างปรารถนารัฐบาลใหม่ที่มีเสถียรภาพ มีนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจน ซึ่งรวมถึงมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อผลักดันการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

    

เติบโตขึ้น 


    เศรษฐกิจของประเทศไทยคาดว่าจะเติบโตในอัตราเร่งในปีนี้จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง


ประเทศยอดนิยม 


    รัฐบาลคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือนประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ แต่จะยังคงมีจำนวนน้อยกว่าก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19


ค่อยโล่งใจ


    อัตราเงินเฟ้อเริ่มคลายตัวลงในปีนี้หลังจากที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพุ่งสูงขึ้นถึง 6.1% เมื่อปี 2022


อ่อนไหวจากการเมือง


    ผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้ประเทศไทยเกาะกลุ่มตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนต่ำสุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปีนี้

    

บ่มเพาะการเติบโต - เสถียร เสถียรธรรมะ

    


    เสถียร เสถียรธรรมะ เป็นเจ้าของทรัพย์สินมูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากคาราบาวแดง หรือเครื่องดื่มชูกำลังที่ตั้งชื่อตามวงร็อกชื่อดัง เขากำลังเข้าสู่ธุรกิจโรงเบียร์ขนาดใหญ่โดยลงทุนถึง 4 พันล้านบาท (115 ล้านเหรียญ) เพื่อสร้างโรงงานในภาคกลางของประเทศไทย เป้าหมายอยู่ที่การครองส่วนแบ่ง 3% ของตลาดเบียร์ในประเทศซึ่งมีมูลค่าประมาณ 2.57 แสนล้านบาทในปีแรกของการดำเนินงาน

    การลงทุนดังกล่าวดำเนินการผ่านโรงเบียร์ตะวันแดงซึ่งเสถียรก่อตั้งเมื่อปีที่แล้ว คาดว่าเบียร์ล็อตแรกจะวางจำหน่ายภายในสิ้นปีนี้ และจะจัดจำหน่ายผ่านกลุ่มคาราบาวซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลังที่เสถียรได้ร่วมก่อตั้งในปี 2002 กับพื่อนๆ อย่าง ยืนยง โอภากุล เพื่อนสนิทที่เป็นนักร้อง ที่ใช้ชื่อในวงการว่า แอ๊ด คาราบาว และ ณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ หุ้นส่วนธุรกิจอีกคน (อันดับ 38) 

    คาราบาวจะมี “ความเสี่ยงน้อยที่สุดในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล่านั้น” เพราะเป็นมาตรฐานปฏิบัติสำหรับผู้ค้าปลีกที่จะต้องชำระค่าผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ล่วงหน้า ร่มธรรม เสถียรธรรมะ ลูกชายของเสถียรและกรรมการผู้จัดการของคาราบาวให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เมื่อเดือนมิถุนายนว่า “เรามีต้นทุนส่วนเพิ่มน้อยที่สุดอีกด้วยเนื่องจากเราจะใช้โครงสร้างการขายที่มีอยู่แล้ว” แต่เบียร์ใหม่นี้จะต้องเผชิญกับแบรนด์ที่ครองตลาดอยู่ ได้แก่ ช้างที่ผลิตโดยบริษัทเจ้าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของ เจริญ สิริวัฒนภักดี (อันดับ 3) และลีโอกับสิงห์ที่ผลิตโดยบริษัทเจ้าตลาดเบียร์ของ สันติ ภิรมย์ภักดี (อันดับ 20)

    เสถียรซึ่งเพิ่งเปลี่ยนนามสกุลจาก เศรษฐสิทธิ์ เป็นเสถียรธรรมะกำลังขยายเครือร้านขายของชำขนาดใหญ่ที่เขาถือหุ้นอยู่ราว  50% อย่าง  CJ  Express ซึ่งมีวีรธรรมลูกชายคนโตเป็นซีอีโอ ธุรกิจค้าปลีกนี้ขยายสาขาเพิ่ม 300 แห่งในปี 2022 รวมเป็น 1,000 แห่ง และมีแผนจะเพิ่มอีก 600 แห่งในปีหน้า ในขณะเดียวกัน เทียนธรรม ลูกสาวของเขาก็เป็นกรรมการผู้จัดการของ บริษัท ทีดี ตะวันแดง ซึ่งมีร้านสะดวกซื้อชื่อถูกดีมากกว่า 5,000 แห่ง เมื่อต้นปีที่ผ่านมาคู่ค้าถูกดีเกือบ 100 ราย (บริหารร้านโดยมีการแบ่งผลกำไรกับผู้ดำเนินงานในพื้นที่) ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ทีดี ตะวันแดง ไม่ได้ออกมาให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้

    

กระหายการเติบโต - ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์



    หนึ่งในการเสนอขายหุ้น IPO ที่ประเทศไทยรอคอยมากที่สุดในปี 2022 ก็คือ การเสนอขายหุ้นของเบทาโกร กลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหารซึ่งกุมบังเหียนโดย ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ การเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนพฤศจิกายนซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ ระดมทุนได้ 575 ล้านเหรียญ ได้ดันให้ชัยวัฒน์กลับเข้าสู่ทำเนียบ 50 คนรวยที่สุดของไทยหลังจากห่างหายไป 2 ปี ตอนนี้เขาอยู่อันดับที่ 30 โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.2 พันล้านเหรียญ

    ตอนนี้เป้าหมายของเบทาโกรคือ การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารระดับโลก บริษัทวางแผนที่จะอัดฉีดเงินที่ได้จากการขายหุ้น IPO บางส่วนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต สร้างฟาร์มและโรงงานเพิ่มทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งรวมไปด้วยลาว กัมพูชา และเมียนมา เบทาโกรซึ่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในประเทศและส่งออกไปยังกว่า 20 ประเทศกำลังจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น อาหารพร้อมทาน “กลยุทธ์ของเบทาโกรในการขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มและตลาดต่างประเทศจะช่วยผลักดันให้กำไรเติบโต และช่วยรักษาอัตรากำไรให้อยู่ในระดับสูงได้” ประสิทธิ์ สุจิรวรกุล นักวิเคราะห์วิจัยตราสารทุน บล.บัวหลวง กล่าว

    กำไรสุทธิในปี 2022 ของเบทาโกรทะยานขึ้นเกือบ 8 เท่าจากปีก่อนเป็น 7.94 พันล้านบาท (230 ล้านเหรียญ) ขณะที่รายได้พุ่งขึ้น 31% เป็น 1.1388 แสนล้านบาท สืบเนื่องจากปริมาณการขายและราคาผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ และราคาสุกรที่อ่อนตัวลงทำให้ราคาหุ้นที่ซื้อขายบนกระดานของบริษัทลดลง 30% จากราคา IPO เมื่อต้นเดือนมิถุนายน

    ครอบครัวของชัยวัฒน์ถือหุ้นเกือบ 3 ใน 4 ของเบทาโกร ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1967 ในฐานะผู้ผลิตอาหารสัตว์ ก่อนจะเพิ่มธุรกิจปศุสัตว์ ยาและอาหารเสริมสำหรับสัตว์ และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีตราสินค้า เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ ไส้กรอก และโปรตีนจากพืช หลังจากบริหารบริษัทมากว่า 4 ทศวรรษ ชัยวัฒน์ก็ก้าวลงจากตำแหน่งประธานกรรมการในปี 2021 ส่วนวสิษฐลูกชายของเขาดำรงตำแหน่งซีอีโอและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของเบทาโกร โดยมีสมาชิกครอบครัวอีก 4 คนนั่งอยู่ในคณะกรรมการบริษัทด้วย

    

    อ่านเพิ่มเติม : Nancy Whiteman ปั้น Wana Brands ยักษ์ใหญ่วงการของกินผสมกัญชา

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine 

    ​