อิสราเอลเข้าสู่สงคราม จับตาผลกระทบไทย - Forbes Thailand

อิสราเอลเข้าสู่สงคราม จับตาผลกระทบไทย

เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ได้ออกมาระบุว่าประเทศ "เข้าสู่ภาวะสงคราม" หลังถูกโจมตีโดยกลุ่มฮามาสจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ขณะที่มีแรงงานชาวไทยถูกจับตาเป็นตัวประกัน จำนวน 11 คน จากเกือบ 30,000 คนของแรงงานไทยที่ทำงานในอิสราเอล ภาวะสงครามในอิสราเอล ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ


    พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีเกิดเหตุจรวดโจมตีจากฉนวนกาซาไปยังหลายพื้นที่ในอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา ว่า มีแรงงานชาวไทยได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากรายงานของ นายกิตติ์ธนา ศรีสุริยะ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ พบว่ามีพี่น้องแรงงานไทยได้รับบาดเจ็บจำนวน 8 ราย ถูกจับเป็นตัวประกันไว้จำนวน 11 ราย

    ปัจจุบันมีแรงงานที่ทำงานอยู่ในอิสราเอล จำนวนเกือบ 30,000 คน มีส่วนสำคัญต่อการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ ภาวะสงครามในอิสราเอล ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงระลอกใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยและโลก หลังก่อนหน้านี้สงครามรัสเซีย – ยูเครน ที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อต้นทุนราคาพลังงาน ราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ รวมไปถึงการส่งออกสินค้าของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก


สงครามซ้ำเติมส่งออก-ท่องเที่ยว

    รายงานจากกระทรวงพาณิชย์ของไทย ระบุว่า การค้าระหว่างประเทศไทยกับอิสราเอลในช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค. 2566) มีมูลค่า 856.84 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 0.22% ของการค้าของไทยกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าไปอิสราเอล 545.69 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติก เป็นต้น

    ปัจจุบันอิสราเอลเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 5 ของไทยในกลุ่มภูมิภาคตะวันออกกลาง ขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของอิสราเอลในภูมิภาคอาเซียน ต้องจับตาผลกระทบต่อการส่งออกของไทยที่ย่ำแย่จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และที่สำคัญอิสราเอล เป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 จากภูมิภาคตะวันออกกลางที่เดินทางมายังประเทศไทย และเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง โดยก่อนโควิดนักท่องเที่ยวอิสราเอลเดินทางมาไทย 195,923 คน มีค่าใช้จ่ายต่อหัว 82,127 บาท

    ทั้งนี้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีคำสั่ง ดังนี้

    1. ให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าติดตามสถานการณ์ในอิสราเอลและรายงานเป็นรายวัน

    2. ให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกจับตาข้อมูลที่เกี่ยวข้องในประเทศของตนและรายงานสถานการณ์ให้ทราบ

    และ 3. ให้ทูตพาณิชย์ในตะวันออกกลาง วิเคราะห์และรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง


จับตาบาทอ่อน-หุ้นร่วง

    สถานการณ์สงครามที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่ที่กดดันภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 11 เดือน ที่ 37.24 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยร่วงลงแต่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี 9 เดือน มีแรงกดดันจากการเทขายของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิกว่า 155,000 ล้านบาท

    บล.ยูโอบี คาดว่าเงินบาทจะทรงตัวในระดับ 36 – 36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือเฉลี่ยทั้งปีที่ 35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง แนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง และคงอยู่ในระดับสูง

    สำหรับภาวะที่เงินบาทอ่อนค่านั้น จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจนำเข้าที่มีต้นทุนเป็นเงินตราต่างประเทศสูง เช่น กลุ่มสายการบิน โรงไฟฟ้า ยานยนต์ ยางและเคมีภัณฑ์ ขณะที่กลุ่มการท่องเที่ยวและส่งออกที่มีรายได้จากต่างประเทศ จะได้รับอานิสงส์จากเงินบาทที่อ่อนค่า เช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ และอิเล็กทรอนิกส์

    ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา แตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี 9 เดือนที่ 1,429.99 จุดช่วงกลางสัปดาห์ และร่วงลงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวลงแรงช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงขายต่อเนื่องจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ การอ่อนค่าของเงินบาท รวมถึงการปรับลดประมาณการเศษฐกิจไทยโดยธนาคารโลก ส่วนช่วงปลายสัปดาห์ปรับตัวลงแรงอีกรอบ ท่ามกลางแรงขายหุ้นบิ๊กแคป นำโดยกลุ่มพลังงานตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลง

    สำหรับสัปดาห์ถัดไป (9-13 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,415 และ 1,400 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,460 และ 1,470 จุด ตามลำดับ ทั้งนี้เมื่อรวมกับปัจจัยเสี่ยงใหม่จากภาวะสงครามในอิสราเอล ถือเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นไทยอย่างมากในสัปดาห์นี้



อ่านเพิ่มเติม : มาตรการรัฐ ทุบดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine