แบงก์กรุงไทยไตรมาส 1 ปี 68 มีกำไรสุทธิ 11,714 ล้านบาท โตแผ่ว 0.3% แม้หนี้เสียลดเล็กน้อย - Forbes Thailand

แบงก์กรุงไทยไตรมาส 1 ปี 68 มีกำไรสุทธิ 11,714 ล้านบาท โตแผ่ว 0.3% แม้หนี้เสียลดเล็กน้อย

ธนาคารกรุงไทย เติบโตตามยุทธศาสตร์อย่างยั่งยืน มีกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2568 จำนวน 11,714 ล้านบาท ยังเน้นจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง รักษาระดับ Coverage Ratio ในระดับสูง รองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ เดินเครื่องช่วยลูกหนี้แก้ปัญหา ส่วนไตรมาสนี้ หนี้เสียปรับตัวลงเล็กน้อย


    นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีความท้าทายที่รุนแรงขึ้นมาก ทั้งสงครามการค้าระลอกใหม่ หลังสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศคู่ค้าทั่วโลกรวมทั้งไทย กระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออก และทางอ้อมอาจเจอจากสินค้าจีนที่จะทะลักเข้ามาตีตลาดไทยมากขึ้น

    นอกจากนี้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีความเปราะบางจากปัญหาเชิงโครงสร้าง หนี้ครัวเรือนและเศรษฐกิจนอกระบบที่อยู่ในระดับสูง ธุรกิจ SME มีข้อจำกัดในการปรับตัว รวมถึงผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา แต่ปีนี้ยังมีแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยว และนโยบายภาครัฐ ทั้งมาตรการลดค่าครองชีพ และมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคที่จะมีเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า

    ในส่วนของธนาคารยังคงดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังและรอบคอบ เพื่อรับมือความไม่แน่นอน โดยรุกช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่ม เช่น มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว, ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ฯลฯ

    ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1/2568 ธนาคารยังบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รักษา Coverage Ratio ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องที่ 187.7% เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ โดยกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 11,714 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้นเล็กน้อย จากการขยายตัวของรายได้ผลิตภัณฑ์บริหารความเสี่ยงทางการเงิน การลงทุน และกำไรจากเงินลงทุน

    ขณะเดียวกัน ธนาคารมีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใกล้เคียงกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ดีที่ 95,017 ล้านบาท และมี NPL Ratio 2.97 ลดลงจากร้อยละ 2.99 จากสิ้นปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงความสามารถในการบริหารจัดการ Portfolio ได้อย่างสมดุลท่ามกลางสถานการณ์ที่ผันผวน

    ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2568 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 67 ได้แก่

    - กำไรสุทธิ (ส่วนที่เป็นของธนาคาร) อยู่ที่ 11,714 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.3%YoY

    - รายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 27,843 ล้านบาท ลดลง 5.8%YoY

    - ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.08% (ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ระดับ 3.31)

    - รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิอยู่ที่ 5,442 ล้านบาท ลดลง 2.4%YoY

    - รายได้จากการดำเนินงานอื่ืนๆ อยู่ที่ 7,002 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.6%YoY

    - ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอยู่ที่ 16,292 ล้านบาท ลดลง 8.1%YoY อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 40.4%

    - สินเชื่อรวมที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต หรือ NPL ณ สิ้นเดือน มี.ค. 68 อยู่ที่ 95,017 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากสิ้นปี 2567 ที่ระดับ 95,065 ล้านบาท

    - อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.97% ลดลงเล็กน้อยจากสิ้นปี 67 ที่ระดับ 2.99%

    - ธนาคารตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 8,223 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/67 และเพิ่มขึ้น 2.4% จากไตรมาส 1 ปี 67

    ทั้งนี้ ณ 31 มีนาคม 2568 ธนาคาร (งบการเงินเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 18.17% ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง และมีเงินกองทุนทั้งสิ้น 21.14% ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยงซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงมีสภาพคล่องในระดับที่เพียงพอโดยรักษาระดับของ Liquidity Coverage ratio (LCR) อย่างต่อเนื่อง สูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท.กำหนด

    อย่างไรก็ตาม ในปี 2568 ธนาคารมุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรภายใต้แนวคิด “Corporate Value Creation เสริมทักษะ สร้างคุณค่า สู่อนาคต” เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์หลัก ที่มุ่งเน้นการเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน บริหารจัดการความเสี่ยงจากคุณภาพสินเชื่อ เพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของพนักงานซึ่งเป็นหัวใจขององค์กร ประกอบด้วย การสร้าง Value ใน 5 ระบบนิเวศที่มุ่งเน้นได้อย่างเต็มศักยภาพ ต่อยอดแพลตฟอร์มเดิมและการเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ที่จะสร้างการเติบโตในอนาคต



ภาพ: กรุงไทย 



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กรุงศรีเผยผลกำไรสุทธิไตรมาสแรกปี 68 ที่ 7,530 ล้าน ลดลง 0.1%YoY เหตุรายได้ดอกเบี้ยสุทธิร่วง 7.6%

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine