ในอดีต ประเทศไทยเคยเป็นผู้ส่งออกกุ้งมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยในปี 2554 ไทยส่งออกสินค้ากุ้งมากถึง 3.9 แสนตัน ด้วยมูลค่าการส่งออกราว 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.1 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 19% ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากุ้งทั้งหมดของโลก
อย่างไรก็ดี ในปี 2556 ไทยเผชิญกับการระบาดของโรคกุ้งตายด่วน ส่งผลให้ผลผลิตกุ้งของไทยลดลงกว่า 50% และทำให้ปริมาณการส่งออกกุ้งไทยลดลง
ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาโรคระบาดในกุ้งได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งความสามารถในการแข่งขันของสินค้ากุ้งของไทยลดลงต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ไทยส่งออกสินค้ากุ้งลดลงมาอยู่ที่อันดับ 6 ของโลก รองจากเอกวาดอร์ อินเดีย เวียดนาม จีน และอินโดนีเซีย ด้วยปริมาณการส่งออก 1.4 แสนตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกราว 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 4.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้ากุ้งของไทยลดลงถึง 65% เมื่อเทียบกับปี 2554 ทำให้สินค้ากุ้งของไทยเหลือส่วนแบ่งในตลาดโลกเพียง 5% เท่านั้น
สถานการณ์การส่งออกกุ้งไทยในปี 2567 และปี 2568-2569 เป็นอย่างไร
ในปี 2567 ปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้ากุ้งของไทยอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนในปี 2568-2569 กรณีสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าพื้นฐานที่ 10% คาดว่า มูลค่าการส่งออกสินค้ากุ้งของไทยมีแนวโน้มอยู่ที่ 1,116 และ 1,073 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือลดลง -9.4%YoY และ -3.9%YoY ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าระดับที่ไทยเคยส่งออกได้สูงสุดในปี 2554 ราว 70% โดยปัจจัยกดดันหลักมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ และจีน อาจส่งผลให้กำลังซื้อและความต้องการนำเข้าสินค้ากุ้งมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากกุ้งเป็นสินค้าที่มีราคาสูงเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ทั่วไป
ประกอบกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งยังมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ซึ่งจะกดดันต่อการส่งออกสินค้ากุ้งไทยที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 25%

ตลาดส่งออกใดที่กุ้งไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด
ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและกุ้งแปรรูปในสหรัฐฯ และจีนมากที่สุด สะท้อนจากส่วนแบ่งตลาดกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งของไทยในสหรัฐฯ และจีนลดลงจาก 25% และ 18% ตามลำดับ ในปี 2554 เหลือเพียง 2% และ 5% ตามลำดับ ในปี 2567 โดยไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งให้แก่คู่แข่งอย่างเอกวาดอร์และอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่ของโลกและมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ทำให้ไทยแข่งขันด้านราคาได้ยาก
ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดกุ้งแปรรูปของไทยในสหรัฐฯ และจีนลดลงจาก 60% และ 82% ตามลำดับ ในปี 2554 เหลือเพียง 13% และ 38% ตามลำดับ ในปี 2567 โดยไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดกุ้งแปรรูปให้แก่คู่แข่งอย่างเวียดนามที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานและต้นทุนการขนส่งไปจีนที่ต่ำกว่าไทย
3 ปัจจัยกดดัน ความสามารถในการแข่งขันของกุ้งไทยในตลาดโลก
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ความสามารถในการแข่งขันของสินค้ากุ้งของไทยในตลาดโลกเผชิญกับปัจจัยกดดันที่สำคัญ ดังนี้
1. ปัญหาโรคระบาดในกุ้งที่ยืดเยื้อ ทำให้ปริมาณผลผลิตกุ้งไทยเพื่อส่งออกลดลง
ปัจจุบันปริมาณผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมของไทยอยู่ที่ราว 3.5 แสนตันต่อปี ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2554-2555 ที่ราว 5.9 แสนตันต่อปี อยู่ถึง 40%
2. ต้นทุนการผลิตกุ้งของไทยที่สูงกว่าคู่แข่ง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนแรงงานของไทยที่สูงเฉลี่ยอยู่ที่ราว 355 บาทต่อวัน ขณะที่ค่าจ้างแรงงานของอินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซียเฉลี่ยอยู่ที่ราว 200, 250 และ 279 บาทต่อวัน ตามลำดับ อีกทั้งไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบปลาป่นสำหรับการผลิตอาหารกุ้ง โดยการนำเข้าปลาป่นที่มีโปรตีนสูงกว่า 60% มีอัตราภาษีนำเข้าที่ 15% ทำให้ต้นทุนค่าอาหารกุ้งของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งที่สามารถผลิตวัตถุดิบภายในประเทศ รวมถึงมีต้นทุนแฝง เช่น การจัดการและป้องกันโรคระบาดในกุ้ง
3. ไทยเสียเปรียบด้านสิทธิประโยชน์การค้า
ไทยเสียเปรียบคู่แข่งที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้า เนื่องจากไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) จากประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2563 และปี 2562 ตามลำดับ โดยตลาดสหรัฐฯ กุ้งแปรรูปของไทยจะเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ (MFN) สูงสุดอยู่ที่ 5% ส่วนกุ้งน้ำอุ่นแช่แข็งจากไทยยังคงถูกสหรัฐฯ เก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping Duty: AD) ในอัตรา 0.57-5.34%

ปัจจัยที่ต้องติดตาม
ความเสี่ยงจากมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ โดยสินค้ากุ้งของไทยมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบในระดับสูงทั้งทางตรงและทางอ้อมจากมาตรการ Reciprocal Tariffs ของสหรัฐฯ เนื่องจากไทยพึ่งพาการส่งออกสินค้ากุ้งไปยังสหรัฐฯ และจีนสูงถึง 25% และ 21% ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากุ้งไปยังตลาดโลก ตามลำดับ
หากสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้กับสินค้ากุ้งของไทยสูงถึง 36% อาจทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องแบกรับภาระต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้น ในภาพรวมการส่งออกสินค้ากุ้งของไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีศุลกากรตอบโต้สูงถึง 145%
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ผลกระทบจากมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ต่อสินค้ากุ้งของไทย แบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
1) กรณีสหรัฐฯ จัดเก็บภาษีพื้นฐานกับสินค้านำเข้าจากไทยในอัตรา 10% ในเดือน เม.ย.-ธ.ค. 2568 จากอัตราภาษีเดิม คาดว่าจะทำให้ผู้ส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและกุ้งแปรรูปของไทยไปสหรัฐฯ ในเดือน เม.ย.-ธ.ค. 2568 มีต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้นราว 1.3 และ 1.0 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม ตามลำดับ โดยหากกำหนดให้ปริมาณการส่งออกสินค้ากุ้งของไทยในเดือน เม.ย.-ธ.ค. 2568 อยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยในปี 2565-2567 จะทำให้ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและกุ้งแปรรูปไปสหรัฐฯ ในปี 2568 มีต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้นรวม 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 762 ล้านบาท
2) กรณีสหรัฐฯ จัดเก็บภาษีพื้นฐานกับสินค้านำเข้าจากไทยในอัตรา 10% ในเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2568 และปรับขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้กับสินค้านำเข้าจากไทยเป็น 36% ในเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2568 คาดว่าจะทำให้ผู้ส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและกุ้งแปรรูปของไทยไปสหรัฐฯ ในเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2568 มีต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้นราว 1.3 และ 1.0 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม ตามลำดับ และในเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2568 มีต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้นราว 3.3 และ 2.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม ตามลำดับ โดยหากกำหนดให้ปริมาณการส่งออกสินค้ากุ้งของไทยในเดือน เม.ย.-ธ.ค. 2568 อยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยในปี 2565-2567 จะทำให้ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและกุ้งแปรรูปไปสหรัฐฯ ในปี 2568 มีต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้นรวม 47 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.6 พันล้านบาท
อย่างไรก็ดี การรับภาระต้นทุนภาษีที่อาจเกิดขึ้นนี้ยังขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างผู้ส่งออกไทยกับผู้นำเข้าสินค้ากุ้งในสหรัฐฯ ด้วย
ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินค้ากุ้ง ยังต้องจับตาความเสี่ยงค่าแรงที่อาจสูงขึ้น และควรปรับตัวมองหาตลาดใหม่ๆ แต่ที่สำคัญภาพรัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการแก้ปัญหาโรคระบาดในกุ้ง และเจรจา FTA อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลดอุปสรรคให้ภาคธุรกิจ
ภาพ: กรุงไทย, William Warby on Unsplash
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สรุปมุมมองแบงก์ชาติ กรณีสงครามการค้ากระทบไทย เมื่อ ‘ใจ’ ทรัมป์เปลี่ยนไปมา
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine