Mckinsey & Company เสนอแนวทางการปรับตัวธนาคารไทยในยุคใหม่ - Forbes Thailand

Mckinsey & Company เสนอแนวทางการปรับตัวธนาคารไทยในยุคใหม่

บริษัทที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจ Mckinsey & Company เผยถึงการชะลอตัวทางด้านการเติบโตและกำไรของกลุ่มธนาคารในประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พร้อมแนะแนวทางการปรับตัวสำหรับอนาคตที่เป็นช่วงเวลาของดิจิทัลดิสรัปชั่น

    เมื่อวันอังคารที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัท Mckinsey & Company จัดการประชุมออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ ​Zoom โดยมีการนำเสนอรายงานในหัวข้อ “Shaping the future of Thai banking: Reinventing purpose to ignite growth” ซึ่งได้สรุปภาพรวมของการเติบโตของธนาคารไทยในระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตและผลกำไรที่ลดลง


    จากผลรายงานของบริษัท ธนาคารไทยมีการเติบโตอย่างมากในระหว่างปี 2009-2014 จนกระทั่งหลังปี 2015 จนถึงปัจจุบันที่ปรากฏให้เห็นถึงการชะลอตัวทางการเติบโตและผลกำไรอย่างชัดเจน อันจะเห็นได้จากอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ROE ลดลงจากร้อยละ 13.8 ก่อนปี 2015 อยู่ที่ร้อยละ 6.9 ในขณะที่ค่า Return to Shareholders ติดลบร้อยละ 4.9 ต่อปี 

    นอกจากนี้ สัดส่วนมูลค่าตลาดของธนาคารในประเทศไทยจากมูลค่าตลาดรวมของธนาคารในอาเซียนลดลงเหลือเพียงร้อยละ 9 ในปี 2021 ส่งผลให้ธนาคารจากประเทศอื่นในภูมิภาคอย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ขึ้นมาอยู่ในรายชื่อธนาคารที่มีมูลค่าสูงสุด 15 อันดับแรกแทนที่ธนาคารไทยหลายแห่ง

รายงานการวิเคราะห์เผยว่า ความสามารถในการทำกำไรลดลงนั้นมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 
1. การปรับพอร์ตไปยังสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนต่ำ ทำให้เกิดการหดตัวของอัตราผลตอบแทน หรือ Yield

2. รายได้ในส่วนค่าธรรมเนียมลดลง เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนการทำธุรกรรมแบบดิจิทัล

3. ผลขาดทุนด้านสินเชื่อมีอัตราสูงขึ้น เนื่องมาจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น



    ทั้งนี้ บริษัท Mckinsey ได้เสนอแนวทางเพื่อให้ธนาคารไทยสามารถรับมือและปรับตัวเข้ากับบริบทเศรษฐกิจและสังคมใหม่ของประเทศ โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในยุคที่มีการดิสรัปชั่นในอุตสาหกรรม โดยธนาคารควรสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและส่งเสริมอุตสาหกรรม S-Curve ใหม่ๆ เน้นการทำ Green Financing เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

    นอกจากนี้ บริษัทยังเน้นย้ำถึงความสำคัญในการนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อพัฒนาการให้บริการแก่ลูกค้า ทั้งในแง่การพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้าให้เป็นไปตามความต้องการของแต่ละบุคคล, การสร้างโมเดลธุรกิจที่มีความคล่องตัวและเฉพาะทางเพื่อตอบโจทย์การทำธุรกรรมแบบออนไลน์ รวมถึงการสร้างความพร้อมและศักยภาพขององค์กรสำหรับอนาคต 


    กนกรัตน์ นามะสนธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน รายงานว่าตลาดคาดการณ์ว่าบริษัทที่มีโมเดลธุรกิจเฉพาะทางจะมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าบริษัทที่มีโมเดลธุรกิจที่ให้บริการธนาคารแบบครบวงจร ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากค่า P/B หรือ Price to Book โดยโมเดลแบบครบวงจรจะมีค่า P/B น้อยกว่า 2 เท่า


    "ถ้าเรามองกลับมาในประเทศไทย เราจะพบว่าธนาคารไทยหรือผู้เล่นในอุตสาหกรรมธนาคารส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของการให้บริการแบบครบวงจร หมายความว่าสิ่งที่ธนาคารสามารถทำได้คือการสร้างโมเดลธุรกิจเน้นเฉพาะทางในแง่ของการสร้างความมั่งคั่ง ข้อดีคือ ในอนาคตสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจะเติบโตต่อปีปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ ใน 5 ปีข้างหน้าจากกลุ่มลูกค้า Affluent และ Mass Affluent Customer" กนกรัตน์กล่าว


    Renny Thomas พาร์ตเนอร์และ Asia Banking Practice Leader ที่บริษัท Mckinsey & Company กล่าวว่า การรับแนวทางใหม่มาปรับใช้จะทำให้ธนาคารไทยมีความพร้อมมากขึ้นในการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านความต้องการของผู้บริโภคและโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว


    “หากภาคธนาคารไทยสามารถเริ่มลงมือเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและเด็ดขาดก็มีแนวโน้มที่จะทำให้ธนาคารไทยสามารถกลับขึ้นมาเป็นผู้นำระดับภูมิภาคได้อีกครั้ง


อ่านเพิ่มเติม:


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine