สภาพัฒน์ ปรับเป้าหมายการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2568 เหลือ 1.8% โดยระดับต่ำสุดในคาดการณ์ครั้งนี้คือ 1.3% ส่วนไตรมาส 1/68 รับสภาพ GDP โตชะลอเหลือ 3.1% แม้มีแรงส่งจากภาคส่งออกสินค้าและบริการที่เติบโต 12.3% หากเทียบเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 68 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าจะขยายตัว 0.7% จับตาครึ่งหลังที่ความผันผวนจะสูงขึ้น
ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผย แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว 1.3 - 2.3% (ค่ากลาง 1.8%) ลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2.3-3.3% (ค่ากลาง 2.8%) ส่วนหนึ่งที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างจำกัดจากหลายปัจจัย
1. ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง และอาจชะลอลงในช่วงครึ่งหลังปี 2568
2. แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก
3. ผลกระทบจากการดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ
4. ความเสี่ยงจากความผันผวนในภาคเกษตร

ขณะที่ประมาณการปี 2568 คาดว่า การอุปโภคบริโภคจะขยายตัว 2.4% (เดิมคาด 3.3%) และการลงทุนภาคเอกชนลดลง 0.7% ส่วนมูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐจะขยายตัว เหลือ 1.8% (เดิมคาดว่า 3.5%) อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.0 - 1.0% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.5% ของ GDP
แต่ยังต้องติดตามภาคการท่องเที่ยว เนื่องจาก 4 เดือนแรก 2568 ที่ผ่านมาจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มตลาดระยะไกล (เดินทางเกิน 6 ชม.) ยังมาชดเชยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ร่วงลงถึง 24.2% ได้เพียงบางส่วน
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยปี 2568 นี้ยังคงมาจากรายจ่ายลงทุนภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้น ตามกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน ท่ามกลางอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ
ดังนั้น เมื่อต้องปรับลด GDP ปี 68 มองว่าการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2568 ควรให้ความสำคัญกับ 1) การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 2) เร่งดำเนินการเพื่อรับมือมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศสำคัญ และอื่นๆ

ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกปี 2568 เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 3.1% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า หากเทียบเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 68 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าจะขยายตัว 0.7% ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังมีแรงส่งหลักมากจากการส่งออกสินค้าและบริการที่เติบโต 12.3% โดยปริมาณการส่งออกสินค้า 13.8% และส่งออกบริการที่ 7.0% ส่วนภาคการผลิตพบว่าภาคการเกษตรโตขึ้น 5.7% มาจากน้ำที่เพิ่มขึ้นทำให้ผลผลิตออกมามากขึ้น ส่วนภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพียง 0.6%
นอกจากนี้ สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารยังขยายตัวที่ 7.2% มาจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัว ในภาพรวมการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัว 2.6% ในไตรมาสนี้
ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.89% สูงกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 0.88% แต่ต่ำกว่า 1.01% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.1% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 0.9%
ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 10,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (355,200 ล้านบาท) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2568 อยู่ที่ 245,300 ล้านเหรียญสหรัฐ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2568 มีมูลค่าทั้งสิ้น 12.08 ล้านล้านบาท คิดเป็น 64.4% ของ GDP
ภาพ: สภาพัฒน์
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เปิดแผนงาน 5 ปีของ ‘ดุสิตธานี’ หลังซีอีโอ ‘ศุภจี’ ยืนยัน ปมขัดแย้งผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่กระทบธุรกิจ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine