SCB ทุ่ม 8 พันล้านทรานส์ฟอร์ม “ดิจิทัล” ผนึก “Julius Baer” ขยายเวลธ์ไร้รอยต่อ - Forbes Thailand

SCB ทุ่ม 8 พันล้านทรานส์ฟอร์ม “ดิจิทัล” ผนึก “Julius Baer” ขยายเวลธ์ไร้รอยต่อ

ท่ามกลางบรรยากาศหนาวเย็นในช่วงเริ่มต้นฤดูหนาวที่เมือง Zurich ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จุดหมายปลายทางในการนำคณะสื่อมาเยือนคู่ค้า Julius Baer Group สถาบันการเงินผู้เน้นบริหารความมั่งคั่ง พันธมิตรคนสำคัญของธนาคารไทยพาณิชย์


ดิจิทัลแบงก์-ผู้นำเวลธ์

    การเดินทางครั้งนี้ทีมผู้บริหาร SCB ร่วมคณะเดินทางพร้อมจัดแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์อย่างเป็นกันเองกับสื่อที่ร่วมทริปเกือบ 30 คน โดยทีมบริหาร SCB วางวิชั่นการเติบโตของธนาคารฯ ภายใต้กลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch ซึ่งหมายถึงการพัฒนาไปสู่ดิจิทัลแบงก์ ขณะเดียวกันยังคงรักษาการสื่อสารกับผู้คนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่เข้าถึงและมีทีมงานให้บริการอย่างใกล้ชิด

    กฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCB เริ่มต้นด้วยการสรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทยว่ายังคงเปราะบาง โดยเฉพาะการส่งออกไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตเพียง 3.1% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 3.9% ธนาคารต้องระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อและดูแลคุณภาพสินเชื่อ ดังนั้น การเติบโตของสินเชื่อธนาคารในปีนี้จึงเป็นไปอย่างมีคุณภาพ

    โดย 9 เดือนแรกสินเชื่อ SCB เติบโต 5% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน ซึ่งมาจากสินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ สินเชื่อความยั่งยืน และสินเชื่อบ้าน โดย SCB มีสินเชื่อคงค้างรวม 2.35 ล้านล้านบาท

    “9 เดือนที่ผ่านมาธนาคารมีรายได้ 1.1 แสนล้านบาท เติบโตจาก 9.9 หมื่นล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2565 และมีกำไรสุทธิ 3.66 หมื่นล้านบาท เติบโต 21%” ซีอีโอ SCB ย้ำและว่า ผลงานที่ผ่านมาสะท้อนความมุ่งมั่นในกลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch ที่สร้างเสถียรภาพและความสมดุลในองค์กร โดย SCB ประกาศว่าจะเป็นผู้นำธุรกิจบริหารความมั่งคั่งอันดับ 1 ในไทย ตอกย้ำด้วยความมั่นใจกับพันธมิตรจูเลียส แบร์ที่ร่วมให้บริการด้านเวลธ์กับธนาคารมาตลอด 5 ปี

    SCB จะสร้างประสบการณ์ใหม่ 2 ส่วนคือ การเป็นดิจิทัลแบงก์ และบริการด้าน wealth management โดยมีเป้าหมายภายในปี 2568 จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ดิจิทัลเป็น 25% หรือราว 4 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันรายได้ดิจิทัลอยู่ที่ 7% เพิ่มขึ้นจาก 3% ในปี 2565 มีฐานลูกค้าที่ใช้บริการดิจิทัลรวมกว่า 25 ล้านราย ยอดธุรกรรมรวมแต่ละปีอยู่ที่ 7 พันล้านรายการ หรือกว่า 89% ของธุรกรรมทั้งหมด

    ล่าสุด SCB ได้เริ่มปรับใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเรียนรู้และทำความรู้จักลูกค้าในช่องทางต่างๆ ด้วยการสร้างแชทบอท เริ่มจาก Call Center จากนั้นจะขยายสู่ SCB Connect รวมถึงใช้ AI และแมชชีนเลิร์นนิ่ง เสริมศักยภาพแก่ทุกผลิตภัณฑ์ในทุกกลุ่มลูกค้า เริ่มจากธุรกิจขนาดเล็ก (sSME) เดือนเมษายนที่ผ่านมาเป็นวงเงินเพื่อธุรกิจ “Up เงินทันใจ” อนุมัติแล้ว 2 พันล้านบาทภายใน 5 เดือนแรก และธนาคารเตรียมผลักดันดิจิทัลไปยังเทรดไฟแนนซ์และซัพพลายเชน สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ และผลิตภัณฑ์การลงทุน

    อีกส่วนสำคัญคือ การเป็นที่ 1 ในธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ด้วยการยกระดับจุดแข็งของธนาคารที่มีชื่อเสียงด้านการลงทุนของผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ (RM) ให้บริการลูกค้ามั่งคั่งในทุกระดับผ่านไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ บริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารและจูเลียส แบร์ เพื่อขยายโอกาสลงทุนทั่วโลกได้แบบไร้พรมแดน



ทุ่ม 8 พันล้านลุยดิจิทัล

    อรพงศ์ เทียนเงิน ผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานเทคโนโลยี SCB กล่าวว่า ภายใต้กลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch ธนาคารได้วางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับลูกค้ายุคดิจิทัลซึ่งเติบโตด้วยยอดผู้ใช้โมบายแบงก์กิ้งของธนาคาร 15 ล้านคน ซึ่งหากนับรวมช่องทางดิจิทัลอื่นๆ เช่น SCB Connect, Corporate Portal สำหรับลูกค้านิติบุคคล, Business Anywhere จะเป็น 17 ล้านคน และภาพรวมธุรกรรมเติบโต 20-30% ต่อปี

    โลกดิจิทัลเติบโตต่อเนื่อง ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยสิ้นเดือนกรกฎาคม ปี 2566 จำนวนผู้ใช้โมบายแบงก์กิ้งมีกว่า 103 ล้านบัญชี มีปริมาณการใช้กว่า 2,529 ล้านรายการ มูลค่าธุรกรรมกว่า 5.72 ล้านล้านบาท เป็นสัดส่วนถึง 97.3% ที่เหลือเป็นการใช้ผ่านอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง

    ดังนั้น ภารกิจสำคัญคือ การยกระดับบริการสู่การเป็นธนาคารดิจิทัลครบวงจร ผสานเทคโนโลยีพัฒนาการให้บริการในทุกมิติ ด้วยเป้าหมายเพิ่มรายได้จากช่องทางดิจิทัลจาก 7% เป็น 25% ให้ได้ภายในปี 2568 ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างมาก

    ทิศทางที่ธนาคารจะมุ่งไปไม่ใช่รายได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพและแข็งแกร่งมากพอที่จะทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นและก้าวเข้าสู่ดิจิทัลไปด้วยอย่างรวดเร็ว เพราะในอนาคตธนาคารต้องเป็นดิจิทัลโดยสมบูรณ์ ซึ่งธนาคารมีแผนลงทุนเพื่อพัฒนาด้านดิจิทัลกว่า 8 พันล้านบาทในการปรับปรุงและพัฒนาระบบให้สอดรับกับพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า และยกระดับ Core Banking ไปสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้งอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมนำ AI มาใช้เพื่อให้เคลื่อนตัวได้เร็วขึ้นตามสถานการณ์และความต้องการของลูกค้า ซึ่งการเปลี่ยน Core Banking ครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 4 ปี เริ่มจากปลายปี 2023


เพิ่มรายได้กลุ่มเวลธ์ 20%

    ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเวลธ์ SCB กล่าวว่า ท่ามกลางภาวะตลาดโลกที่มีความผันผวนตลอดปีในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อสูง รวมทั้งสงครามที่ยังมีความไม่แน่นอน แต่ธุรกิจบริหารความมั่งคั่งสามารถปรับกลยุทธ์การลงทุนให้ลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและหลากหลายตามระดับความเสี่ยงที่ลูกค้ารับได้

    โดยคาดว่ารายได้จากกลุ่มธุรกิจเวลธ์จะเพิ่มขึ้นกว่า 20% เมื่อเทียบกับปี 2565 ต่อยอดการเติบโตจากประกัน เงินฝาก และสินเชื่อเพื่อต่อยอดความมั่งคั่ง ปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้าเวลธ์และลูกค้าที่มีศักยภาพที่จะเป็นเวลธ์มากกว่า 1 ล้านคน


    ในช่วงสถานการณ์โควิดและความผันผวนของโลกสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการของกลุ่มลูกค้าเวลธ์ยังเติบโตและคาดว่าจะโตต่อเนื่องในปี 2567-2569 เฉลี่ยที่ 4.5% ต่อปี มาจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เหมาะสมกับสภาวะตลาด เช่น ผลิตภัณฑ์การลงทุนในสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ อย่างตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำระยะสั้น นอกจากนี้ ธนาคารยังมีผลิตภัณฑ์ประกันควบการลงทุน Regular Unit-linked อันดับ 1 ในตลาดประกันผ่านช่องทางธนาคาร 3 ปีซ้อน ด้วยส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 50% ในปี 2566 รวมถึงผลิตภัณฑ์การลงทุน Thematic ที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

    Digital Wealth with Human Touch ขยายขอบเขตบริหารความมั่งคั่งมุ่งเจาะนักลงทุนรุ่นใหม่ เพิ่มขีดความสามารถในการใช้ AI และแมชชีนเลิร์นนิ่ง ควบคู่กับการนำแพลตฟอร์มเทคโนโลยีและดาต้ามาใช้วิเคราะห์ข้อมูลการลงทุนตลอดจนให้คำปรึกษาแบบ Hybrid Advisory ควบคู่กับ Wealth Planning Platform เพื่อให้การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนที่เหมาะกับูกค้า และจัดพอร์ตการลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายของลูกค้าโดยเน้นการสร้างประสบการณ์อย่างไร้รอยต่อด้วยทีมที่ปรึกษาการเงินที่ได้การรับรองจากหลักสูตรการวางแผนการเงินระดับสากลกว่า 500 คน


สร้างความมั่งคั่งจากพื้นฐาน

    ลลิตภัทร ธรณวิกรัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด เผยว่า ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการขยายธุรกิจบริหารความมั่งคั่งระดับสูง พร้อมปักธงสู่ International Private Banking ชั้นนำของเมืองไทย เปิดดำเนินการเมื่อปี 2562 นำความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การวางแผนและบริหารความมั่งคั่ง ตลอดจนประสบการณ์ในการดูแลลูกค้าผู้มีความมั่งคั่งระดับสูงจากทั่วโลกของจูเลียส แบร์ มาผสานเข้ากับจุดแข็งของ SCB

    ในปี 2566 ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ นำกลยุทธ์ “The New Wave of Wealth” มาใช้เป็นแกนหลักในการดำเนินธุรกิจ ตอกย้ำจุดยืนของการเป็นผู้นำด้านบริหารความมั่งคั่งซึ่งครอบคลุมและครบวงจรที่สุด เพื่อเจาะกลุ่มทายาทคนรุ่นใหม่ใน 3 แกนสำคัญ ได้แก่ Onshore & Offshore Investment โดยลูกค้าสามารถลงทุนทั้งในประเทศ (onshore) และต่างประเทศ (offshore) กับผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการลงทุนแบบ holistic view อาทิ บริการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ, สินเชื่อเพื่อการลงทุนอย่าง Lombard Loan หรือ Property Backed Loan ซึ่งถือเป็นเฮ้าส์แรกและที่เดียวในประเทศไทยที่สามารถดูแลและให้บริการได้แบบครบวงจร

    นอกจากนี้ ลูกค้ายังสามารถเข้าถึงทีมผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพระดับสากลจากจูเลียส แบร์ รวมถึงทีม Estate Planning & Family Office ของธนาคารไทยพาณิชย์ได้

    Human Touch เป็นบริการที่เข้าใจกลุ่มลูกค้าคนไทยโดย RM คนไทยที่มีความรู้ความเข้าใจตลาดเมืองไทย เข้าใจความต้องการของลูกค้าทั้งในเชิงวัฒนธรรม วิถีชีวิต และแนวคิดของไทย ให้บริการแบบ Human Touch มีเทคโนโลยีสนับสนุนเพื่อสร้างผลตอบแทนดีที่สุด ตรงตามความต้องการของลูกค้า และเป็นบริการแบบ seamless access ผ่าน Open Product Platform ด้วยผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลาย และการวางแผนการส่งต่อความมั่งคั่ง รวมทั้งบริการดีที่สุด เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถลงทุนได้อย่างอิสระ ทำให้สามารถกำหนดกลยุทธ์การลงทุนที่สร้างผลตอบแทนดีที่สุด ตรงกับความต้องการของลูกค้าเฉพาะบุคคล (tailor made) เข้าถึงการลงทุนทั่วโลกได้อย่างแท้จริง

    ในปีนี้ (2566) ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ ได้เปิดหลักสูตรสุดเอ็กซ์คลูซีฟ “The 45 Academia” เป็นปีแรก ภายใต้แนวคิด “Leader of Tomorrow” มุ่งปั้นผู้นำที่มีพลังสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคมในทุกมิติ


    Philipp Rickenbacher ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จูเลียส แบร์ กรุ๊ป กล่าวว่า จูเลียส แบร์ มุ่งเน้นให้บริการและให้คำปรึกษาด้านการลงทุนกับกลุ่มลูกค้า Private Banking ที่มีความต้องการด้านการลงทุนที่ซับซ้อน โดยจูเลียส แบร์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2433 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง Zurich และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ SIX Swiss Exchange และใน Swiss Leader Index ด้วยการบริหารงานที่ยึดความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก และให้คำปรึกษาด้วย Open Product Platform ของจูเลียส แบร์ ประกอบกับวัฒนธรรมการทำงานแบบผู้ประกอบการ และความเชี่ยวชาญด้านการเงินการลงทุนที่สะสมมายาวนานทำให้จูเลียส แบร์ เป็นผู้นำด้าน Private Banking ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับสากล

    “ธุรกิจบริหารความมั่งคั่งระดับสูงในไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่จูเลียส แบร์ ให้ความสำคัญในการขยายขอบเขตบริการ โดยเดือนมีนาคม ปี 2561 จูเลียส แบร์ ได้ร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับธนาคารไทยพาณิชย์” ซีอีโอ จูเลียส แบร์ ย้ำและว่า ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ ได้นำเสนอประสบการณ์บริหารความมั่งคั่งแบบเหนือระดับให้กับลูกค้า ด้วยการผสานความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจบริหารความมั่งคั่งระดับสากลและข้อมูลเชิงลึกในท้องถิ่นของธนาคารแห่งสแกนดิเนเวียของจูเลียส แบร์ เข้ากับจุดแข็งของธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นธนาคารชั้นนำของประเทศ ที่มีความเข้าใจกลุ่มลูกค้าผู้มีความมั่งคั่งระดับสูงในประเทศไทยอย่างลึกซึ้งและเครือข่ายที่กว้างขวาง ช่วยให้สามารถบริการแนะนำการลงทุนได้ตรงเป้าหมาย ล้ำสมัย และมีประสิทธิภาพ


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Harald Link นักธุรกิจผู้อารี ผสานพันธมิตร สร้าง บี.กริม เติบโตคู่สังคม

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine