ดัชนีหุ้นลุ้น 1,400 จุด หวังเม็ดเงินลงทุนไหลเข้า - Forbes Thailand

ดัชนีหุ้นลุ้น 1,400 จุด หวังเม็ดเงินลงทุนไหลเข้า

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองดัชนีหุ้นไทยมีลุ้นทะลุแนวต้าน 1,400 จุด ตามทิศทางเงินทุนต่างชาติไหลเข้า หลังประธานเฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยในปีนี้ รอประกาศตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐเดือน ก.พ.วันที่ 12 มีนาคมนี้ ขณะที่ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนในไทยเริ่มฟื้น ก.ล.ต.เตรียมแถลงมาตรการกำกับดูแล Short Selling และ Program Trading เพิ่มเติมวันจันทร์นี้


    สัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปิดตลาดวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2567 ที่ระดับ 1,386.42 จุด เพิ่มขึ้น 1.39% จากสัปดาห์ก่อน โดยมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 40,153.90 ล้านบาท ลดลง 31.43% 

    โดยตลาดหุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงปลายสัปดาห์ หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณใกล้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย หากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยสัปดาห์นี้ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,375 และ 1,355 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,415 จุด ตามลำดับ

    โดยต้องติดตามการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ และตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดการค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ รวมถึงตัวเลขผู้ว่างงาน


จับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ

    วันที่ 12 มีนาคม 2567 สหรัฐจะแถลงตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งหากขยับเข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% มีโอกาสที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งตลาดคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้

    โดยเฟด สาขาคลีฟแลนด์ คงประมาณการอัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ใกล้เคียงกับมกราคมที่ระดับใกล้เคียง 3% โดยเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.43% และเงินเฟ้อพื้นฐานไม่รวมหมวดพลังงานและอาหาร จะเพิ่มขึ้น 0.32% ซึ่งจากแบบจำลองของเฟด สาขาคลีฟแลนด์ อัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงอีกในเดือนมีนาคม

    นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานเมื่อวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2567 โดยระบุการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเพิ่มขึ้น 275,000 ตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 198,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นแตะ 3.9% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 3.7% ตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเร็วขึ้น

    การคาดการณ์แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในเร็วๆ นี้ ส่งผลให้สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปรับตัวขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งในการซื้อขายเมื่อวันศุกร์ โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 20.30 ดอลลาร์ หรือ 0.94% ปิดที่ 2,185.50 ดอลลาร์/ออนซ์ และปรับตัวขึ้น 4.52% ในรอบสัปดาห์นี้

    นอกจากนี้ การซื้อทองของธนาคารกลางต่างๆ ยังหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยนักวิเคราะห์ตลาดคาดว่า ราคาทองมีเป้าหมายต่อไปที่จะปิดตลาดเหนือแนวต้านแข็งแกร่งที่ระดับ 2,250.00 ดอลลาร์ โดยได้แรงหนุนจากปัจจัยทางเทคนิคและแนวโน้มโดยรวมในระยะสั้นที่แข็งแกร่ง

    ส่วนราคาทองคำในประเทศ วันที่ 9 มีนาคม 2567 ปรับขึ้นอีก 150 บาท โดยทองคำแท่งมีราคารับซื้อในประเทศอยู่ที่บาทละ 36,400 บาท ขายออก 36,500 บาท ส่วนทองทองรูปพรรณ 96.5% รับซื้ออยู่ที่บาทละ 35,747.28 บาท และขายออกที่ราคา 37,000 บาท

    ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ช่วงนี้เงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่า จากคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดมีความชัดเจนขึ้น

    อย่างไรก็ตาม การประชุมธนาคารกลางหลายแห่งในเดือนมีนาคมนี้ ทั้งธนาคารกลางญี่ปุ่น 18-19 มีนาคม เฟด 19 – 20 มีนาคม ซึ่งคาดว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าขึ้น

    ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยในเดือนมีนาคมนี้ คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยเช่นเดียวกัน แต่มีโอกาสลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนเช่นเดียวกับเฟด โดยคาดว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ซึ่งจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า การเงิน สื่อสาร และกอง REIT เป็นต้น


ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนปรับขึ้น

    สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 (ระหว่างวันที่ 20–29 กุมภาพันธ์ 2567) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.88 ปรับเพิ่มขึ้น 37.8% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว”

    โดยความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนหน้า

    นักลงทุนมองว่าการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ นโยบายคงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) รองลงมาคือสถานการณ์เงินเฟ้อ และการไหลออกของเงินทุน

    กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ดัชนีหุ้นไทยมีการปรับตัวดีขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้าในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก หลังนักลงทุนมีความคาดหวังว่าเฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยลงในเร็ววันนี้

    รวมถึงมาตรการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นจีน การส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายทางการเงินอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางญี่ปุ่น การประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่แข็งแกร่งขึ้น และแรงหนุนจากนักลงทุนต่างชาติที่กลับเข้าซื้อหุ้นไทย

    ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นไทย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ปิดที่ 1,370.67 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.5% จากเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 47,265 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิกว่า 3,246 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิกว่า 27,624 ล้านบาท

    ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์รายงานผลดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยในปี 2566 เทียบกับปีก่อน มียอดขายรวม 17,231,564 ล้านบาท ลดลง 2.6% ต้นทุนการผลิตปรับลดลง 2.2% ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มสูงขึ้น 3.9% ซึ่งส่งผลให้ บจ. มีกำไรจากการดำเนินงานหลัก (Core profit) 1,649,990 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 961,042 ล้านบาท ลดลง 12.4% และ 10.7% ตามลำดับ

    สำหรับฐานะการเงินของกิจการ ณ 31 ธันวาคม 2566 บจ. ไทยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน หรือ D/E ratio (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) อยู่ที่ระดับ 1.51 เท่า ลดลงจาก 1.54 เท่าของปี 2565

    แมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมผลประกอบการของ บจ.ที่อ่อนตัวลงทั้งยอดขายและกำไรจากการดำเนินงาน เป็นผลกระทบจากการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิด ทั้งในกลุ่มน้ำมัน สินค้าเกษตร และอาหาร อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับสูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่คงอยู่ในระดับสูง

    ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเห็นการฟื้นตัวอย่างชัดเจนและเติบโตต่อเนื่องจากนโยบายส่งเสริมของภาครัฐ เช่น ธุรกิจการบิน โรงแรม พื้นที่เช่า ค้าปลีก และโทรคมนาคม

    นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังเร่งแก้ไขปัญหา Naked Short Selling รวมถึง Program Trading โดยวันจันทร์ที่ 11 มีนาคม นี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เตรียมแถลงมาตรการกำกับดูแล Short Selling รวมถึง Program Trading เพิ่มเติม เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 'บิตคอยน์-ทองคำ' มีโอกาสพุ่งต่อ หลังราคาสร้างจุดสูงสุดใหม่

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine