จุฬาฯ เผยปี 2570 งานลดลง 14 ล้านตำแหน่ง - Forbes Thailand

จุฬาฯ เผยปี 2570 งานลดลง 14 ล้านตำแหน่ง

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) ร่วมกับ World Economic Forum (WEF) เผยแพร่รายงานอาชีพในอนาคต (Future of Jobs Report) พบว่าภายในปี 2570 อาจมีงานลดลงสุทธิ 14 ล้านตำแหน่ง หรือ 2% ของการจ้างงานในปัจจุบัน ขณะที่อาชีพด้าน AI และ Big Data พุ่งสูง แนะพัฒนา 10 ทักษะซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดอาชีพในปัจจุบันและในอนาคต



    ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) กล่าวว่า CBS เป็นตัวแทนหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่ได้ร่วมกับ World Economic Forum (WEF) ทำการสำรวจทิศทางอาชีพในอนาคต (Future of Jobs Survey) โดยรวบรวมมุมมองจาก 803 บริษัท ซึ่งรวมการจ้างงานมากกว่า 11.3 ล้านคน ใน 27 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 45 ประเทศจากทุกภูมิภาคทั่วโลก

    คาดว่างานประมาณ 23% จะเปลี่ยนแปลงภายในปี 2570 โดยมีการสร้างงานใหม่ 69 ล้านตําแหน่ง และการยุบงาน 83 ล้านตําแหน่ง หรือลดลงสุทธิ 14 ล้านตำแหน่ง จากงานทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 673 ล้านตำแหน่งในปัจจุบัน

    “ตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตของงานภายในระยะ 5 ปีนี้ (2566-2570) คือ การเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืน (Green transition) มาตรฐาน ESG ห่วงโซ่อุปทานท้องถิ่น (Localization of supply chains) อย่างไรก็ดี ธุรกิจต่างๆ อาจต้องเผชิญความท้าทายหลายประการ เช่น ภาวะเงินเฟ้อ การชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก และการเข้าถึงเทคโนโลยี เป็นต้น” ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศกล่าว


AI และ Big Data ต้องการพุ่งสูง


สำหรับอาชีพที่มีความต้องการสูงในอนาคต เป็นอาชีพที่มีเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysts) ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลมหัต (Big Data Specialists) ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Machine Learning Specialists) และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity Professionals) ซึ่งคาดว่าจะเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณ 30% ภายในปี 2570

    นอกจากนี้ คาดว่างานทางด้านพาณิชย์ดิจิทัล (Digital Commerce) จะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านตำแหน่ง เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce Specialists) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation Specialists) และผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัลและกลยุทธ์ (Digital Marketing and Strategy Specialists)

    อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีและดิจิทัลอาจลดงานในบางบทบาทลง เช่น ธุรการหรือเลขานุการ (Clerical or Secretarial Jobs) พนักงานธนาคาร (Bank Tellers) แคชเชียร์ (Cashiers) และพนักงานป้อนข้อมูล (Data Entry Clerks)


    นอกจากนี้ คาดว่าในช่วงปี 2566–2570 อาชีพที่เติบโตและอาชีพที่ถูกทดแทนเร็วที่สุด 5 อันดับ ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน นักวิเคราะห์ธุรกิจอัจฉริยะ นักวิเคราะห์ความปลอดภัยของข้อมูล และวิศวกรฟินเทค ส่วนอาชีพที่ถูกทดแทนเร็วที่สุด ได้แก่ พนักงานธนาคารและตำแหน่งที่เกี่ยวข้อง พนักงานให้บริการไปรษณีย์ พนักงานเก็บเงินและพนักงานขายตั๋ว พนักงานบันทึกข้อมูล และเลขานุการฝ่ายบริหาร

    ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจ คือการเพิ่มขึ้นของงานที่เกี่ยวกับความยั่งยืน การศึกษา และการเกษตร ในช่วงปี 2566–2570 โดยอาชีพด้านความยั่งยืน คาดว่าจะเติบโต 33% นำไปสู่การเพิ่มตำแหน่งงาน 1 ล้านตำแหน่ง อาชีพด้านการศึกษา คาดว่าจะเติบโต 10% นำไปสู่การเพิ่มตำแหน่งงาน 3 ล้านตำแหน่ง อาชีพด้านการเกษตร คาดว่าจะเติบโต 15-30% นำไปสู่การเพิ่มตำแหน่งงาน 4 ล้านตำแหน่ง

    “องค์กรต้องเร่งปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานโลกและประเทศไทย โดยองค์กรต่างๆ ควรกำหนดกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการสร้างทักษะใหม่ ให้ความสำคัญและลงทุนกับการฝึกอบรมพนักงานให้สามารถใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ (AI) และข้อมูลมหัต (Big Data) รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาทักษะในการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) และการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) นอกจากนี้ องค์กรต่างๆ ควรคำนึงถึงการเพิ่มความสามารถในการทำงานข้ามบทบาท การเพิ่มความพึงพอใจของพนักงาน และการเพิ่มผลผลิตของพนักงาน”

    ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ กล่าวว่า สถาบันการศึกษาควรเร่งปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเสริมทักษะองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี การคิดเชิงวิเคราะห์ และการคิดเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนองค์ความรู้และประสบการณ์เพื่อรองรับอาชีพใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองและสร้างคุณค่าให้กับโลกในภาพรวม


อ่านเพิ่มเติม: "ซีพีเอชไอ เซาธ์ อีสต์ เอเชีย 2023" โชว์นวัตกรรมการผลิตยาในประเทศไทย


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine