ตลาดแรงงานคึกคัก ชิงทาเลนต์สายไอที ค่าตัวพุ่ง 1 แสนบาท - Forbes Thailand

ตลาดแรงงานคึกคัก ชิงทาเลนต์สายไอที ค่าตัวพุ่ง 1 แสนบาท

อเด็คโก้ เผยตลาดแรงงานไทยคึกคัก 67% รู้สึกมั่นคงในอาชีพ อุตสาหกรรมไอที อสังหาริมทรัพย์ และบริการให้คำปรึกษาแนวโน้มเติบโตสูง องค์กรแย่งชิงทาเลนต์สายไอที ค่าตัวผู้ไม่มีประสบการณ์อัปถึง 1 แสนบาท ระดับบริหารเงินเดือนทะลุ 5 แสน เทียบเท่าซีอีโอ จับตาดิจิทัล-เอไอ เปลี่ยนภูมิทัศน์ตลาดแรงงาน รีโมท-ไฮบริดเวิร์ค กลยุทธ์สำคัญดึงทาเลนต์ในอนาคต


    ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย ผู้ให้บริการด้านการสรรหาและให้คำปรึกษาด้านงานบุคคลครบวงจร เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดแรงงานไทยในช่วงปีที่ผ่านมาค่อนข้างคึกคัก หลายธุรกิจฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งกระจายการจ้างงานไปทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย

    มีการเพิ่มขึ้นของรูปแบบการทำงานที่เรียกว่า gig economy หรือระบบเศรษฐกิจจากการรับงานเป็นชิ้นหรือเป็นครั้ง และมีการเปลี่ยนรูปแบบจากการจ้างงานประจำมาเป็นสัญญาจ้างตามระยะเวลาหรือฟรีแลนซ์มากขึ้นเพื่อให้องค์กรมีความคล่องตัว โดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง และเดลิเวอรี่

    สำหรับปีที่ผ่านมา มีการจ้างงานผ่านอเด็คโก้ถึง 20,000 ตำแหน่ง สูงสุดนับตั้งแต่เปิดให้บริการในประเทศไทยมา 34 ปี โดยมีรายได้ 7,000 ล้านบาท และมีอัตราเติบโตสมบทในช่วงปี 2565-2566 ถึง 18% ซึ่งแนวโน้มตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยตำแหน่งงานที่มีความต้องการสูง และได้เงินเดือนดี คือ ตำแหน่งที่เกี่ยวกับดิจิทัล และเทคโนโลยี ซึ่งต้องการคนที่มีทักษะเฉพาะหรือมีความเชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรมซึ่งยังมีไม่เพียงพอในตลาดแรงงาน



สายไอทีจบใหม่ค่าตัวแตะ 1 แสนบาท

    อเด็คโก้ ได้จัดทำผลสำรวจ Salary & work Trend 2024 จากคนทำงาน 2,450 คนในประเทศไทย พบว่า คนทำงานในประเทศไทยส่วนใหญ่ หรือ 67% รู้สึกมั่นคงในอาชีพมากกว่าเดิม โดยเฉพาะคนในอุตสาหกรรมไอที อสังหาริมทรัพย์ และบริการเฉพาะด้านการให้คำปรึกษา ซึ่งเป็นสามอุตสาหกรรมที่มองว่าธุรกิจที่ตนเองสังกัดกำลังเติบโตมากที่สุด

    ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากการใช้เทคโนโลยีในองค์กรที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ทำให้คนกล้าใช้เงินซื้อสินทรัพย์หรือพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น รวมถึงการหันมาใช้บริการจากที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อตอบสนองความต้องการขององค์กรได้อย่างทันท่วงที

    ปัจจุบันอัตราเงินเดือนระดับปริญญาตรีไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยอยู่ในระดับ 18,000-25,000 บาท โดยปี 2566 ที่ผ่านมา มีการปรับขึ้นเงินเดือนเฉลี่ย 2-5% และปีนี้คาดหวังว่าจะได้ปรับเงินเดือน 5-10% อย่างไรก็ตาม สำหรับทาเลนต์ โดยเฉพาะในสายไอที ตำแหน่ง Software Engineer ระดับประสบการณ์ 0-3 ปี เงินเดือนสูงสุดที่ได้รับถึง 1 แสนบาท ปรับเพิ่มจากปีที่ผ่านมาที่ได้รับ 80,000 บาท

    ส่วนเงินเดือนผู้บริหารระดับสูงอาจถึง 5 แสนบาท เช่น Chief Digital Officer/Chief Technology Officer เทียบเท่าระดับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Chief Executive Officer หรือ CEO ขณะที่ตำแหน่งผู้บริหารในธุรกิจ Healthcare ในตำแหน่ง Medical Director ได้รับเงินเดือนถึงระดับ 600,000 บาท

    สำหรับภาพรวมการย้ายงาน คนทำงาน 36% บอกว่าตนเองกำลังมองหางานใหม่อย่างจริงจังในช่วงปีนี้ ในขณะที่ 54% บอกว่าพร้อมเปิดรับโอกาสใหม่ๆ โดยคนที่ต้องการเปลี่ยนงาน 60% คาดหวังการได้เงินเพิ่มมากกว่า 20% จากงานใหม่ และยิ่งมีอายุการทำงานน้อยก็จะมีสัดส่วนที่ต้องการเงินเดือนเพิ่มมากกว่าคนที่อยู่นานกว่า

    โดย 94% ของผู้สมัครงานให้ความสำคัญกับเรื่อง competitive salary ในการพิจารณาร่วมงานกับองค์กร ขณะที่สิ่งที่คนทำงานอยากได้เพิ่มนอกเหนือจากเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ เช่น ประกันชีวิตและสุขภาพ 84% การทำงานที่ยืดหยุ่น 53% บริการรถเช่า 43% เป็นต้น



รีโมท-ไฮบริด เวิร์ค ปัจจัยสำคัญดึงทาเลนต์

    ธิดารัตน์ กล่าวว่า ผลสำรวจพบว่าระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น ซึ่งรวมถึง remote / hybrid work เป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ที่ผู้สมัครงานและพนักงานใช้พิจารณาในการร่วมงานกับองค์กรนั้นๆ และการทำงานแบบรีโมทช่วยให้องค์กรสามารถดึงดูดคนเก่งที่มีความสามารถจากทุกที่ทั่วโลก ไม่จำกัดเฉพาะที่ตั้งของสำนักงาน

    การมีตัวเลือกการทำงานแบบรีโมทหรือไฮบริดจึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการดึงดูดและรักษาทาเลนต์อย่างต่อเนื่องในปีนี้ นอกจากนี้พนักงานยังต้องการให้องค์กรลงทุนพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล/เทคโนโลยี 62% รวมถึงการลงทุนพัฒนาคนและหัวหน้างาน 60%

    “นโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น ถือเป็นความท้าทายขององค์กรที่ต้องบาลานซ์ระหว่างความต้องการของพนักงาน และประสิทธิภาพของงาน ซึ่งจากแนวโน้มตลาดแรงงานในปีนี้บางธุรกิจอาจจำเป็นต้องเร่งปรับกลยุทธ์ในการดึงดูดและรักษาพนักงาน ผู้บริหารและฝ่ายทรัพยากรบุคคลจึงควรพิจารณาปรับนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน” ธิดารัตน์กล่าว

    นอกจากนี้ องค์กรต้องให้ความสำคัญกับการสร้าง "วัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง" (Strong Company Culture) เพราะการสร้างความรู้สึกของการเป็นเจ้าของและการมีส่วนร่วมช่วยให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรและมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งส่งผลให้พวกเขามีความผูกพันและต้องการอยู่กับองค์กรในระยะยาว

    ทาเลนต์คุณภาพมักจะมองหาองค์กรที่มีวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงค่านิยมและเป้าหมายที่ตรงกับตนเองและสะท้อนถึงความรับผิดชอบทางสังคมแบบยั่งยืน โดยเฉพาะ Gen Z ที่เป็นแรงงานรุ่นใหม่ โดย 64% มองว่า CSR (Corporate Social Responsibility) / ESG (Environment Social Governance) เป็นหน้าที่ที่สำคัญลำดับต้นๆ ขององค์กร รวมทั้งจะชอบการทำงานแบบทีม การแบ่งปันความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ รวมถึงนโยบาย Wellbeing ที่ดูแลสุขภาพกายและจิตของพนักงานไปพร้อมกัน


ไทยเปิดรับ Generative AI

    อเด็คโก้ ยังได้สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับ Generative AI ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยในประเทศไทย คนทำงาน 74% มองการเกิดขึ้นของ Generative AI เช่น ChatGPT ในแง่ดี และมีคน 45% ที่ใช้ Generative AI ช่วยในการทำงานเป็นประจำ มีเพียง 24% ที่รู้สึกกังวลว่าอาจโดน AI แย่งงานใน 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในกลุ่ม พนักงานพาร์ทไทม์ คนที่กำลังว่างงาน และผู้บริหาร ที่มีความกังวลว่าจะไม่สามารถตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ทัน ไม่รู้วิธีใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพ หรืออาจกังวลว่า ด้วยข้อมูลที่มีมากกว่า และความสามารถในการประมวลผลที่เร็วกว่า AI ก็อาจจะประเมินสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีกว่าคนที่มีประสบการณ์สูง

    สำหรับในประเทศไทยกลุ่มที่มีการใช้ Generative AI สูง ได้แก่ ภาครัฐ/สถาบันการศึกษา 62% ตามด้วยธุรกิจดิจิทัลเทคโนโลยี 59% โลจิสติกส์ 52% ส่วนธุรกิจที่มีความกังวลกับ Generative AI มากที่สุด ได้แก่ ก่อสร้าง 28% เฮลท์แคร์ 27% และโรงงานผลิต 26% ส่วนที่ธุรกิจที่กังวลน้อย ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์

    ทั้งนี้ หากเทียบกับผลสำรวจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศที่มีความกังวลกับ Generative AI ได้แก่ อินเดีย 42% สิงคโปร์ 40% ฮ่องกง และเกาหลีใต้ 39% ขณะที่ไทยมีความกังวล 24% ต่ำสุดใน 9 ประเทศที่มีการสำรวจ

    “ในที่ประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีการพูดถึงประเด็นเรื่อง Generative AI อย่างกว้างขวาง ตอนนี้ยังมองเป็นช่วงฮันนีมูน พีเรียดของการใช้เทคโนโลยี และอนาคตไม่สามารถบอกได้ว่าจะกระทบตลาดแรงงานมากน้อยเพียงใด สำหรับประเทศไทยมองเชิงบวกกับเทคโนโลยีดังกล่าว และมีส่วนช่วยคนทำงานในหลายด้าน เช่น เรื่องภาษา การออกแบบ และการสร้างสรรค์คอนเทนต์ เป็นต้น” ธิดารัตน์ระบุ

    ไซม่อน แลนซ์ รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสรรหาทรัพยากรบุคคล อเด็คโก้เอเชียแปซิฟิก กล่าวถึงภาพรวมตลาดแรงงานในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ว่า ในปีที่ผ่านมาองค์กรทั่วภูมิภาคได้เจอกับความท้าทายหลายประการซึ่งส่งผลต่อการปรับกลยุทธ์การจ้างงาน ได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงของธุรกิจและความเชื่อมั่นของผู้สมัครงาน หลายองค์กรไม่สามารถรับผู้สมัครได้ทันทีและมีกระบวนการต่อรองเงินเดือนที่ยาวนานขึ้น การรักษา ให้ยังคงอยู่กับองค์กรจึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น

    ปัญหาต่อมาคือการขาดแคลนทาเลนต์ในระดับผู้บริหาร โดยเฉพาะผู้บริหารที่เข้าใจเทคนิคการทำงานร่วมกับคนหลากหลายวัฒนธรรม และสุดท้ายคือปัญหาการเปลี่ยนแปลงทักษะสำคัญต่อการทำงานที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจากการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งส่งผลให้หัวหน้างานต้องสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาทักษะให้พนักงานเก่าและการสรรหาพนักงานใหม่ที่สามารถใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีในการทำงานได้อย่างคล่องแคล่ว เพื่อให้ทีมยังคงทำงานร่วมกันได้อย่างดี และมีประสิทธิภาพสูงสุด

    ด้านรูปแบบการทำงานพบว่าการทำงานแบบรีโมท ยังคงเป็นรูปแบบที่คนคาดหวังมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังในกระบวนการสรรหาที่คนต้องการสมัครงานออนไลน์ได้ 100% ตั้งแต่การสมัครไปจนถึงการเริ่มงานวันแรก หรือความคาดหวังต่อการใช้นโยบายรีโมทต่อไป นำไปสู่การตั้งคำถามต่อนโยบายเรียกพนักงานกลับเข้าออฟฟิศอย่างฉับพลัน ซึ่งทำให้ทาเลนต์หลายคนหันมาทบทวนและพิจารณาอีกครั้งว่ายังอยากร่วมงานกับองค์กรนั้นๆ หรือไม่


    สำหรับการคาดการณ์ในปีนี้ เชื่อว่าหลายองค์กรจะมีการปรับโครงสร้างอย่างต่อเนื่องจาก digital disruption โดยเพิ่มการจ้างงานในรูปแบบ partnership & outsourcing หรือการจ้างคนและทีมงานภายนอก เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับองค์กร ซึ่งการปรับโครงสร้างองค์กรในลักษณะนี้ยังส่งผลให้ธุรกิจ career transition & outplacement ที่เชี่ยวชาญในการปรับโครงสร้างองค์กรและการเลิกจ้างเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากขึ้น รวมถึงเชื่อว่าการแย่งชิงตัวทาเลนต์จะคึกคักมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในตำแหน่งดิจิทัล AI และพลังงานทดแทน เพื่อรองรับแนวทางการพัฒนาธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต


​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เทคโนโลยีใหม่คือโอกาสใหม่ Bill Gates มอง AI จะเปลี่ยนชีวิตทุกคนให้ดีขึ้นใน 5 ปี

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine