“สิริน ฉัตรวิชัย” นักธุรกิจโคมไฟ ส่องทาง Deep Tech - Forbes Thailand

“สิริน ฉัตรวิชัย” นักธุรกิจโคมไฟ ส่องทาง Deep Tech

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจสตาร์ทอัพหน้าใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก จากพัฒนาการของเทคโนโลยี โดยเฉพาะสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเชิงลึก หรือ Deep Tech แต่ปัญหาสำคัญของสตาร์ทอัพหนีไม่พ้นเรื่องเงินทุน ซึ่งปัจจุบันมีรูปแบบการลงทุนในสตาร์ทอัพที่หลากหลาย กลุ่มนักลงทุนบุคคล หรือ Angel Investor เป็นอีกกลุ่มที่สำคัญ ที่สามารถต่อยอดธุรกิจสู่ธุรกิจได้ และ “สิริน ฉัตรวิชัย” ก็คือหนึ่งในนักลงทุนกลุ่มนี้


    “สิริน ฉัตรวิชัย” นักธุรกิจหญิงผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการธุรกิจโคมไฟกว่า 20 ปี กับ Degree lighting store ผู้จำหน่ายโคมไฟ แชนเดอเลียร์ หรือโคมระย้าที่เรารู้จักกันดี กลายมาเป็นนักลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ หลังจากได้ขยายธุรกิจภายใต้ บริษัท ยาพร้อม จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม “ยาพร้อม” สำหรับร้านขายยาและองค์กรพันธมิตรที่ร่วมดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงยาและบริการคำปรึกษาได้อย่างรวดเร็วในช่วงโควิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ห่างไกล

    “ยาพร้อมเป็นแอปพลิเคชันที่ยกร้านขายยาทั่วประเทศมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้ผู้ซื้อยาและเภสัชกรเข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่เลือกลงทุน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านการเข้าถึงบริการสุขภาพและยารักษาโรคของคนไทยด้วยเทคโนโลยี เมื่อได้เรียนรู้ยิ่งสนุก มองเห็นความสำคัญของเทคโนโลยี และโมเดลธุรกิจในโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว” สิริน เล่าถึงการเข้ามาสู่วงการสตาร์ทอัพในช่วงโควิดที่ผ่านมา


จากธุรกิจโคมไฟหันมาส่องทางให้สตาร์ทอัพ


จากการเห็นความสำคัญของเทคโนโลยี และสนใจผู้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ หรือสตาร์ทอัพ สิริน จึงมองเห็นโอกาสในการลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจ จากธุรกิจหนึ่งไปสู่ธุรกิจหนึ่ง

    ซึ่งตอนนั้นการตัดสินใจลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ ต้องมองหานวัตกรรม หรือสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดกรอง บ่มเพาะ จากองค์กรอย่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และสะพานเชื่อมต่อระหว่างนักลงทุนให้ได้เจอกับสตาร์ทอัพที่ตรงกับความต้องการ

    สิริน กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ บริการ และธุรกิจให้ก้าวทันโลกที่หมุนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต แต่ด้วยพื้นฐานธุรกิจที่ทำอยู่ในปัจจุบันไม่ได้เชื่อมโยงกับความเป็นเทคโนโลยีมากนัก จึงต้องศึกษา ทำความเข้าใจ และพาตัวเองไปคลุกคลีกับเรื่องของเทคโนโลยี แพลตฟอร์ม เทรนด์ของเทคโนโลยีที่จะมาในอนาคต ทิศทางการเติบโตของธุรกิจ
    “เพราะเชื่อว่าองค์ความรู้เหล่านี้มีความสำคัญและเป็นใบเบิกทางขั้นแรกที่จะช่วยพัฒนาตนเองให้มีความพร้อมในการก้าวสู่การเป็นนักลงทุนที่นอกจากจะให้เงินสนับสนุนแล้ว ยังให้โอกาสและเครือข่ายองค์กรธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้สตาร์ทอัพไทยสามารถเติบโตถึงระดับยูนิคอร์น” สิรินกล่าว

    สิริน ได้เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการลงทุน ของ NIA ซึ่งประกอบด้วยการอบรมนักลงทุนรุ่นใหม่ กิจกรรมนักลงทุนพบสตาร์ทอัพ การอบรมกลยุทธ์และเทคนิคการลงทุนของ Angel Investor ในระดับสากล (Qualified Angel Investor Course; QBAC+) และสร้างเครือข่ายนักลงทุน 5 พื้นที่ทั้งกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายนักลงทุนรุ่นใหม่กว่า 1000 ราย


ลงทุนกับเมตาเวิร์ส แพลตฟอร์ม


หลังจากได้ชิมลางกับเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสุขภาพแล้ว สิริน ยังได้ตัดสินใจร่วมลงทุนกับบริษัท อิมเมจ เอนจิน จำกัด สตาร์ทอัพคนรุ่นใหม่ผู้พัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูป imgen. (อิมเจน) แพลตฟอร์มที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์พื้นที่จักรวาลนฤมิตนวัตกรรมประเทศไทย หรือ NIA Metaverse ที่ในงาน STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2022 (SITE 2022) ที่ผ่านมา อิมเจนเป็นโปรแกรมสำเร็จที่สร้างขึ้นมาเพื่อลดความยุ่งยาก ลดระยะเวลาในการทำงานให้สั้นลง และลดต้นทุนในอุตสาหกรรมเมตาเวิร์ส

    นอกจากนี้ โปรแกรมสำเร็จรูปอิมเจนยังสนับสนุนให้เกิดการเติบโตของธุรกิจบนโลกเสมือน เช่น การสร้างประสบการณ์สินค้า/บริการเสมือนกับได้สัมผัสจริงที่ร้านค้า (Virtual Shopping) ห้างสรรพสินค้าบนโลกเสมือน (Virtual Mall) การสร้างเมตาเวิร์ส (Metaverse) รวมถึงการสร้างแอนิเมชันสำหรับสื่อการเรียนการสอน หรือในเกมต่างๆ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ จึงเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก

    “นวัตกรรมของ อิม จาก พลวัต ดีอันกอง ผู้ก่อตั้งบริษัท อิมเมจ เอนจิน จำกัด มีความโดดเด่นและสมควรที่จะได้รับโอกาส ซึ่งจะเห็นได้ว่าความคิด ความทันสมัย มุมมองของคนรุ่นใหม่ ช่วยให้เราได้เรียนรู้และนำมาปรับใช้กับธุรกิจได้ การที่พวกเขามีประสบการณ์ในเทคโนโลยีและมีผลงานเป็นที่ยอมรับตั้งแต่ตอนเรียนในระดับมหาวิทยาลัยทำให้มั่นใจว่าเราจะเสริมศักยภาพและอาวุธในการทำธุรกิจให้ทีมอิมเจนเติบโตและแข็งแรงถึงระดับนานาชาติได้”

    สิริน กล่าวว่า นวัตกรรมของอิมเมจ เอนจิน เป็นแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำไปต่อยอดในต่างประเทศได้ เพราะอุตสาหกรรม interactive ที่อิมเจนเข้ามาเติมเต็มนั้น มีสัดส่วนตลาดที่ใหญ่และแข่งขันรุนแรง และอยากมีส่วนพัฒนาให้เติบโต

    ปัจจุบันการทำธุรกิจไม่ได้มุ่งแค่ตลาดในประเทศอีกต่อไป โอกาสการทำธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมไม่มีพรมแดน จึงตั้งเป้าหมายอยากให้โปรแกรมสำเร็จรูปอิมเจนเติบโตไปเป็นยูนิคอร์นสัญชาติไทยอีกรายหนึ่ง

    กลุ่มนักลงทุนบุคคล หรือ Angel Investor หนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพหน้าใหม่ที่อยู่ในระยะเริ่มต้นสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด เพราะไม่เพียงแต่เป็นการสนับสนุนด้านเงินลงทุนเท่านั้น หากแต่เป็นกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่น่าสนใจ

    “สำหรับผู้ที่สนใจอยากลงทุนในธุรกิจนวัตกรรม นอกจากจะหมั่นฝึกฝนตนเองให้มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอยู่เสมอแล้ว ควรจะเรียนรู้และหาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจที่จะเข้าไปให้การสนับสนุน เพราะไม่ใช่ทุกสตาร์ทอัพจะประสบความสำเร็จ ผู้ลงทุนจึงควรรู้ว่าจะช่วยเสริมศักยภาพและสร้างประโยชน์ให้กับสตาร์ทอัพในด้านใด ที่ไม่ใช่แค่การให้เงินทุน แต่รวมไปถึงช่องทางการจัดจำหน่าย เพิ่มการลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ ทุกอย่างต้องสอดคล้องและเหมาะสม ดูแลกันเหมือนครอบครัว” สิรินกล่าวทิ้งท้าย


อ่านเพิ่มเติม: "มาสเตอร์การ์ด" ประกาศใช้พลาสติกรีไซเคิลหรือวัสดุทางเลือกบนบัตรทั้งหมดภายในปี 2571


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine