NIDA เผยพบ 3 ปัจจัยหลัก ‘สุขภาพใจ สุขภาพกาย และทรัพย์สิน’ กระทบคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทยโดยตรง - Forbes Thailand

NIDA เผยพบ 3 ปัจจัยหลัก ‘สุขภาพใจ สุขภาพกาย และทรัพย์สิน’ กระทบคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทยโดยตรง

FORBES THAILAND / ADMIN
28 May 2024 | 08:30 AM
READ 528

ข้อมูลสถิติเผยจำนวนประชากรไทยอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนถึง 13,358,751 คน คิดเป็นร้อยละ 19.6 ของประชากรทั้งหมด เป็นผู้สูงอายุชายประมาณ 5.97 ล้านคน และหญิงประมาณ 7.38 ล้านคน ถือได้ว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งในวัยสูงอายุนี้เอง ที่ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจ และสังคมส่งผลต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีอย่างมาก


    ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยจำนวนมากมุ่งเน้นค้นหาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และผลการศึกษาในประเทศต่างๆ ทำให้เห็นได้ว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุนั้นมีหลายแง่มุมและมีความสัมพันธ์กัน ตัวอย่างการวิจัยผู้สูงอายุในฟินแลนด์ โปแลนด์ และสเปน พบความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมกับความพึงพอใจในคุณภาพชีวิต ส่วนผู้สูงวัยชาวจีนที่มีสถานะทางการเงินดีมีแนวโน้มที่จะมีความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตในระดับที่สูงเช่นกัน

    นอกจากนั้น สุขภาพกายและสุขภาพจิตยังเป็นมิติสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ในอินเดียพบความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างสุขภาพกาย สุขภาพจิต และความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตโดยรวม เช่นเดียวกันกับในเกาหลีใต้ ผู้สูงอายุที่มีสถานะทางการเงินดี มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางกายต่างๆ เช่น การออกกำลัง การทำงานบ้าน และพบปะพูดคุยหรือมีความสัมพันธ์ทางสังคม มักจะมีความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตที่สูงตามไปด้วย ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุนั้นเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสนใจศึกษาและความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเกิดขึ้นได้ในหลายแง่มุม


    ในประเทศไทย มีการศึกษาเรื่อง “Factors Influencing Elderly Life Satisfaction in Thailand: A Comprehensive Study on Socio-economic, Mental, and Physical Health, and Social Activity” โดย ผศ.ดร.ธิฏิรัตน์ พิมลศรี, รศ.ดร.พาชิตชนัต ศิริพานิช และ วศิน แก้วชาญค้า จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ที่มีการสำรวจข้อมูลจากผู้สูงอายุชาวไทยอายุ 45 ปีขึ้นไป จาก 5 ภูมิภาค ทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเทพฯ ใช้ขนาดตัวอย่างจำนวน 646 คน (ศึกษาเฉพาะผู้สูงอายุที่ยังมีรายได้) และใช้เทคนิคทางสถิติตัวแบบสมการโครงสร้างในการวิเคราะห์ข้อมูล

    การศึกษานี้เปิดเผยให้เห็นข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจว่าสิ่งที่สำคัญต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศไทย คือ ‘สุขภาพจิต’ และ ‘ทรัพย์สินที่ถือครอง’ ซึ่งส่งผลกระทบทางตรงต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ ‘รายได้’ ‘สุขภาพกาย’ และ ‘การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม’ ส่งผลกระทบทางอ้อม

    เมื่อพิจารณาเจาะลึกในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือในวัยเกษียณ จึงได้ข้อค้นพบว่า หากผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตดีจะส่งผลกระทบทางตรงต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตที่ดีตามไปด้วย สำหรับสุขภาพกายและทรัพย์สินที่ถือครองจะส่งผลกระทบทางอ้อมผ่านสุขภาพจิตเท่านั้น



    
ในขณะที่สำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 45-59 ปี ประเด็นสุขภาพจิตและทรัพย์สินที่ถือครองยังถือเป็นปัจจัยที่มีส่วนสำคัญต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิต รวมทั้งกิจกรรมทางสังคมและสุขภาพกายส่งผลกระทบทางอ้อมต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิต
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ก่อนเข้าสู่วัยเกษียณ (อายุ 45-59 ปี) ความมั่นคงทางการเงินมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มระดับความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและทำให้มีสุขภาพจิตที่ดี

    ในช่วงแรกของการเกษียณอายุ (อายุ 60-69 ปี) สถานะทางการเงินและสุขภาพร่างกายยังคงมีผลทางอ้อมกับความพึงพอใจในคุณภาพชีวิต แต่ท้ายที่สุดท้ายแล้วสำหรับผู้สูงอายุที่อายุ 70 ปีขึ้นไป ‘ทรัพย์สินภายนอก และสุขภาพกาย ดูเหมือนไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับความสุขภายในหรือความสุขทางจิตใจ’ นั่นเอง 
อย่างไรก็ตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุก็ต้องการการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นเช่นกันดังนั้นรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรปรับปรุงบริการต่างๆ ให้ตรงตามความต้องการเฉพาะของผู้สูงอายุ

    ผลการศึกษานี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการกำหนดนโยบายสาธารณะอย่างรอบคอบ และการดำเนินการส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรการที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับระบบสนับสนุนเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุในประเทศไทยได้อย่างเหมาะสม


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เครือสหพัฒน์ จับมือ 2 ยักษ์ใหญ่ไต้หวัน เตรียมบุกธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพและการดูแลสุขภาพ

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine