เปิดมุมมอง “ภัทร บุญญลักษม์” รองซีอีโอ “Nano Electric Product” กับเป้าหมาย 3 ปี ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ Industry 4.0 รองรับทุกความท้าทาย เตรียมเพิ่มไลน์สินค้า เจาะตลาดใหม่ สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน - Forbes Thailand

เปิดมุมมอง “ภัทร บุญญลักษม์” รองซีอีโอ “Nano Electric Product” กับเป้าหมาย 3 ปี ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ Industry 4.0 รองรับทุกความท้าทาย เตรียมเพิ่มไลน์สินค้า เจาะตลาดใหม่ สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

หลังจากผลิตภัณฑ์อุปกรณ์พลาสติกและอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับงานก่อสร้างที่เป็นสินค้าเฮาส์แบรนด์ภายใต้ชื่อ NANO Electric Product ซึ่งเป็นธุรกิจน้องใหม่ของบริษัท ที่เริ่มต้นเมื่อปี 2549 ได้สร้างยอดขายแซงหน้าธุรกิจหลักที่เป็นชิ้นส่วนพลาสติกในงานอุตสาหกรรมต่างๆ ของบริษัทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งเมื่อช่วงต้นปีบริษัท บางบอนพลาสติค กรุ๊ป จำกัด ซึ่งก่อตั้งในปี 2529 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท นาโน อิเลคทริค โปรดักส์ จำกัด ตามแบรนด์สินค้าที่กลายเป็นธุรกิจหลักในวันนี้ ก้าวถัดไปของบริษัท คือ การขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย Industry 4.0 ภายใน 3 ปีภัทร บุญญลักษม์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นาโน อิเลคทริค โปรดักส์ จำกัด ได้เปิดมุมมองการนำบริษัทมุ่งสู่ Industry 4.0 ด้วยเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมเขี้ยวเล็บให้กับธุรกิจ ตลอดจนนำเสนอสินค้าและบริการที่แตกต่างให้กับลูกค้ามากขึ้น“เป้าหมายสู่ Industry 4.0 เป็นแผนระยะกลางของบริษัทที่จะต้องไปให้ถึงภายใน 3 ปี ซึ่งจะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง สามารถนำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น เราจะเปลี่ยนจาก Smart Factory ซึ่งเป็น Industry 3.0 ที่เรายืนอยู่ ณ วันนี้ ไปสู่ Intelligent Factory ใน Industry 4.0”

ภัทร บุญญลักษม์

ภัทรกล่าวว่า Intelligent Factory คือ การใช้ข้อมูลที่เป็น Big Data การใช้ Machine Learning และการใช้ AI เข้ามาตัดสินใจในเรื่องต่างๆ แทนคน ซึ่งจะทำให้กระบวนการผลิตมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมาก ปัจจุบันพนักงานในส่วนการผลิตมีสัดส่วนมากที่สุดจากจำนวนพนักงานทั้งหมดประมาณ 500 คน เมื่อบริษัทก้าวสู่ Industry 4.0 พนักงานในส่วนการผลิตโดยตรงจะมีสัดส่วนลดลง ในขณะที่พนักงานในส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้แก่ ทีมช่างเทคนิค ทีมวิศวกร และทีมR&D จะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ท้าทาย คือ บริษัทฯ จะต้องเสริมทักษะ และเร่งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในเชิง Technical skills ควบคู่ไปกับการพัฒนา Soft Skills และผลักดันให้มีการคิดวิเคราะห์เชิงลึกมากขึ้น เพื่อรองรับให้บุคลากรสามารถปฏิบัติงานใน Industry 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนปัจจุบัน ไลน์การผลิตของบริษัท ซึ่งเป็น Industry 3.0 มีการใช้ระบบ ERP อย่างครบวงจรในทุกแผนก ใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย ทำงานด้วยระบบออโตเมชัน ตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำหรือตั้งแต่การลำเลียงวัตถุดิบ ผสมวัตถุดิบ กระบวนการการผลิต ซึ่งไม่มีการใช้แรงงานหนักแม้แต่คนเดียว และยังมีระบบการผลิตที่มีการส่งข้อมูลผ่าน PLC เพื่อวัดประสิทธิภาพทั้งในเรื่องของเสียและมาตรฐานการทำงานต่อชั่วโมงอีกด้วย“การที่เราให้ความสำคัญกับการพัฒนา Fundamental หรือโครงสร้างหลังบ้านในทุกๆ แผนก โดยเฉพาะแผนกการผลิต นอกจากจะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง ยังทำให้ลูกค้ารับรู้ถึง Differentiation หรือความแตกต่างทั้งด้านสินค้าและบริการของเราอย่างชัดเจนมากขึ้น ทั้งสินค้าที่มีคุณภาพสูงสุดและมีนวัตกรรมใหม่ๆ การมีฐานข้อมูลลูกค้าที่ครอบคลุม การขนส่งสินค้าที่รวดเร็ว รวมไปถึงการบริการหลังการขายต่างๆ” ภัทรกล่าวเพิ่มไลน์สินค้า เจาะตลาดใหม่นอกจากการก้าวสู่ Industry 4.0 อย่างเต็มรูปแบบที่เป็นเป้าหมายเชิงคุณภาพที่บริษัทจะต้องไปให้ถึงภายใน 3 ปี การขยายไลน์สินค้าไปสู่สินค้ากลุ่มอื่นๆ เป็นอีกเป้าหมายที่บริษัทมุ่งมั่นพัฒนา เพื่อให้มีสินค้าที่ครอบคลุมมากขึ้น สามารถนำเสนอสินค้าที่หลากหลายได้มากขึ้น และยังสามารถเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ รวมทั้งเพิ่มยอดขายจากฐานลูกค้าเดิมได้มากขึ้น

“สินค้าใหม่ที่เราจะเพิ่มมี 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโลหะ เช่น ท่อเหล็กร้อยสายไฟ รางไฟเหล็กและตู้ไฟเหล็ก ซึ่งจะทำให้เราสามารถขยายไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ได้ เช่น ร้านค้าฮาร์ดแวร์ต่างๆ และยังสามารถ Cross-Sell นำสินค้าเดิมเข้าไปนำเสนอได้อีกด้วย โดยในช่วงปลายปีเราจะเปิดตัวสินค้าแรกในกลุ่มโลหะ ซึ่งผลิตโดยบริษัทใหม่ภายใต้แบรนด์ NANO จากโรงงานแห่งใหม่ที่เราตั้งขึ้นที่บางปะกง อีกกลุ่มเป็นกลุ่มแสงสว่าง เป็นสินค้านำเข้าจากพันธมิตรผู้ผลิตในไต้หวันและจีน ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวได้ในต้นปีหน้า”

ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมี 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กลุ่มอุปกรณ์พลาสติกสำหรับงานก่อสร้าง เช่น ตู้กันน้ำพลาสติก กล่องครอบเบรคเกอร์ แผงไฟฟ้าพลาสติก รางพลาสติกเก็บสายไฟ ท่อร้อยสายไฟ อุปกรณ์ข้อต่อ ฯลฯ ซึ่งสร้างยอดขายสูงสุดในสัดส่วน 65% ของยอดขายรวม

กลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับงานก่อสร้าง เช่น ตู้คอนซูเมอร์ยูนิต เซอร์กิตเบรคเกอร์ สวิทช์ เต้ารับ ฯลฯ ซึ่งมียอดขายคิดเป็นสัดส่วน 30% และกลุ่มสินค้านวัตกรรมหรือกลุ่มสมาร์ท เช่น ตู้คอนซูเมอร์ยูนิตระบบสมาร์ทที่สามารถสั่งการผ่าน WiFi และสินค้าใหม่ คือ Extension Socket หรือปลั๊กพ่วงที่สั่งการผ่านแอปพลิเคชัน มีระบบแจ้งเตือนและตั้งเปิดปิดแบบอัตโนมัติได้ ซึ่งจะเปิดตัวเร็วๆ นี้ปรับตัวเร็วสร้างการเติบโต แม้อสังหาฯ ซบภัทรกล่าวว่า แม้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นเซกเตอร์ที่บริษัทถือเป็นหนึ่งในซัพพลายเชน เผชิญกับภาวะชะลอตัวในปีที่ผ่านมา โดยตลาดมีการหดตัวเกือบ 30% แต่ยอดขายของบริษัทมีการเติบโตถึง 19% เนื่องจากบริษัทได้ปรับตัวรับมือกับปัจจัยภายนอกที่ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยลบในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19“ในรอบปีที่ผ่านมา เราเจาะลูกค้าเพิ่มในเซกเมนต์ต่างๆ โดยเซกเมนต์ใหม่ๆ ได้แก่ กลุ่มงานโปรเจกต์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จากเดิมฐานลูกค้าของเราอยู่ในกลุ่มร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า และอุปกรณ์ก่อสร้าง เราได้เพิ่มทีมงานวางสเปคและทีมเซลส์สำหรับงานโปรเจกต์ เพื่อเจาะตลาดนี้มากขึ้น ทำให้รายได้เติบโตมากขึ้นจากกลุ่มลูกค้าตลาดใหม่”นอกจากนี้ บริษัทยังได้ขยายไลน์สินค้าใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง แม้ดีมานด์ในกลุ่มลูกค้าเดิมจะลดลง แต่การมีสินค้ามากขึ้นในหลากหลาย SKU ทำให้บริษัทสามารถเพิ่มยอดขายในกลุ่มลูกค้าเดิมได้มากขึ้น เช่น สินค้าใหม่อย่างตู้โหลดเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่สำหรับติดตั้งในโรงงาน เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าโรงงานที่เป็นฐานลูกค้าในกลุ่มสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้า ถือเป็นการสร้างรายได้ได้อีกทาง โดยในปีนี้บริษัทวางเป้าหมายรายได้ 1,500 ล้านบาท และเป้าหมาย 2,000 ล้านบาทก่อนปี พ.ศ. 2567“ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ขณะที่จำนวนลูกค้ามีเท่าเดิม จำนวนผลิตภัณฑ์เท่าเดิม ตลาดเหมือนเดิม เราก็จะต้องติดลบตามตลาดที่เผชิญหน้ากับปัจจัยภายนอกอย่างแน่นอน การปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบที่คาดไม่ถึงจะทำให้เรากลับมาได้เร็วที่สุด แม้ดีมานด์รวมจะน้อยลง แต่หากเรามีสินค้าและบริการที่แตกต่าง มีสินค้าใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้า และสามารถนำเสนอสินค้าได้ครอบคลุมและครบวงจร เราก็จะสามารถแบ่งเค้กจากส่วนอื่นเพิ่มได้” ภัทรกล่าวทิ้งท้าย