นดล ไชยเจริญ แห่งธีร กรุ๊ป มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมกัญชาไทยสู่สากล - Forbes Thailand

นดล ไชยเจริญ แห่งธีร กรุ๊ป มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมกัญชาไทยสู่สากล

นดล ไชยเจริญ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธีร กรุ๊ป จำกัด ชายหนุ่มผู้มีประสบการณ์ในแวดวงธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ผันตัวมาสู่วงการเครื่องดื่ม จากการเข้าไปในอุตสาหกรรมกาแฟอาราบิก้า ความหลงรักในการเกษตร ตั้งแต่ปี 2557 จึงเพื่อพัฒนาห่วงโซ่การปลูกและผลิตกาแฟเพื่อส่งออก ขยายมาสู่การทำโรงงานผลิตน้ำมะพร้าว แบรนด์ 28 days และกัญชาในที่สุด




    ด้วยความที่ นดล สนใจด้านการเกษตรเป็นทุนอยู่แล้ว เขาจึงมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการเกษตรตลอดทุกมิติ เขาเล็งเห็นประโยชน์ของกากมะพร้าวและการนำมาใช้ประโยชน์ จึงได้พัฒนาเทคโนโลยีย่อยสลายกากมะพร้าว


    ขณะเดียวกัน กากมะพร้าวกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการปลูกต้นกัญชา ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์และได้รับความสนใจจากทั่วโลก จากนั้นการเริ่มต้นของ ธีร กรุ๊ป (TEERA Group) จึงเริ่มขึ้น จากการชวนของผู้ร่วมก่อตั้งและเพื่อนที่เรียนด้วยกันอย่าง ศุภเมธ เหตระกูล และเริ่มต้นด้วยกากมะพร้าวใช้แทนดินปลูก โดยได้รับมาตรฐาน USDA และ EU Organic ในการส่งออก


จับมือกับพันธมิตรระดับโลก


    เนื่องจากกฎหมายในประเทศไทยขณะนั้น ยังไม่รับรองการปลูกกัญชา ธีร กรุ๊ป จึงมุ่งสร้างระบบนิเวศในอุตสาหกรรมกัญชาและสมุนไพรในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้เริ่มต้นโดยการวิเคราะห์อุตสาหกรรมกัญชาทั่วโลกในหมวดของนักลงทุนและกองทุน จึงได้เจอกับบริษัท Prohibition Partners ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงในด้าน market & data intelligence รวมถึงการจัดอีเวนต์

    เกิดความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการจัดเสวนาในประเทศไทย ในงาน Prohibition Partners Live 2021 จนมาถึงการร่วมจัดทำ ASIAN CANNABIS REPORT 2022 (second edition) ซึ่งเป็นรายงานแรกที่ทำในรูปแบบ partnership

“Asian Cannabis Report 2022 เป็นรายงานที่ให้การยอมรับในระดับสากล มีผู้อ่านทั่วโลกสนใจกว่า 150,000 คน เปิดเผยข้อมูลอัพเดทสถานการณ์ของอุตสาหกรรมกัญชาในภูมิภาคเอเชีย ไทย อินเดีย ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกงและเกาหลี นับเป็นโอกาสที่ดีช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมกัญชงและกัญชาระดับภูมิภาค และ ระดับโลกสามารถเข้าใจและเข้าถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมกัญชาในตลาดภูมิภาคเอเชีย” นดลระบุ

    ธีร กรุ๊ป ได้ร่วมมือกับบริษัท Prohibition Partners (UK) จัดงาน TEERA Ecosystem Launch ในวันที่ 21 ตุลาคม 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการนำเสนอผลรายงานร่วมกันที่เป็น Asian Cannabis Report 2022 เชิง Exclusive report: Businesss Insights into the Thai Cannabis Market ที่ให้ข้อมูลเชิงลึกในด้านธุรกิจและการลงทุนในอุตสาหกรรมกัญชาในประเทศไทย



    ขณะเดียวกันก็เป็นการอัพเดทสถานการณ์ของอุตสาหกรรมกัญชาประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ทั้งในด้านกฎหมาย นโยบาย โอกาสทางการค้าและการลงทุน เทรนด์ด้านการบริโภค รวมถึงการพัฒนาและแนวทางในอนาคตของอุตสาหกรรมกัญชาในภาคพื้นทวีปเอเชีย


    เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่ทำกัญชาอย่างถูกต้องตามกกฎหมาย รวมถึงมีนโยบายครอบคลุมทั้งการนำมาใช้ทางการแพทย์และการผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ปี 2565 ที่ผ่านมา จึงทำให้ทั่วโลกต่างจับตามองและให้ความสนใจ นับเป็นโอกาสที่ดีที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกัญชงและกัญชาระดับภูมิภาค และระดับโลกสามารถเข้าใจและเข้าถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมกัญชงและกัญชาในตลาดภูมิภาคเอเชีย

มุ่งสร้างมาตรฐานและการเติบโต



    นดล กล่าวว่า สำหรับธุรกิจกัญชาในประเทศไทย แม้ยังมีหลายส่วนที่ยังไม่มีข้อกฎหมายเป็นกรอบในการทำงาน แต่ธุรกิจกัญชาเอง ต้องดำเนินกิจการให้ได้มาตรฐานระดับโลก หรือ Certification เพื่อให้สามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้ ธีร กรุ๊ป มองเห็นโอกาสของอุตสาหกรรมการเกษตรในประเทศยุโรป และออสเตรเลีย ถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก

  

    ขณะเดียวกัน ในยุโรปเองกำลังจริงจังกับการพัฒนากัญชาเพื่อการแพทย์ ธีร กรุ๊ป จึงให้ความสำคัญกับความจำเป็นที่ต้องได้มาตรฐาน GACP และ EU GMP ที่ครบครันเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย ภายในปี 2023-2024 นี้

    “ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ จึงเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยสมุนไพรนานาพันธุ์ แต่สมุนไพรเหล่านั้นกลับมีมูลค่าต่ำ ทางการแพทย์ในปัจจุบันนี้ ให้ความสนใจปัญหาสุขภาพจิตมาก ธีร กรุ๊ป จึงมองถึงโอกาสในการจับมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาสมุนไพรไทย เพื่อนำสมุนไพรไทยมาใช้ประโยชน์ รวมถึงการเพิ่มมูลค่าด้วย”

    ธีร กรุ๊ป ได้จับมือกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งพันธมิตรที่มาร่วมพัฒนาเพื่อมาตรฐานสมุนไพรไทยผ่านงานวิจัย โดยขณะนี้ได้ศึกษาสมุนไพรไทย เช่น กวาวเครือ หรือโดยเฉพาะเห็ดขี้ควาย (psilocybin) ที่เน้นเรื่องสุขภาพจิต ตามที่มหาวิทยาลัยระดับโลก เช่น John Hopkins University หรือ Kings College London รวมถึง Imperial College London ที่กำลังวิจัยกันอยู่

    “โจทย์ของเราคือ วัตถุดิบต้องคงที่ มีมาตรฐานและปลูกแล้ว มีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ที่สูง จากนั้นต้องมีการจดสิทธิบัตรสูตรสมุนไพรหรือสูตรยา ซึ่งสองอย่างนี้ประกอบกัน ภายใต้หลักการคิด Decentralization”

    นดล กล่าวว่า แนวคิดของธีร กรุ๊ป คือการกระจายรายได้ไปสู่เกษตรกร นับเป็นโอกาสที่ธีร กรุ๊ป จะช่วยถ่ายทอดและเชื่อมความรู้ในการทำมาตรฐานให้กับเกษตรกร จนกระทั่งถึงการร่วมงานกับเกษตรกรเพื่อผลักดันให้เกิดโมเดลธุรกิจแบบ Social enterprise ที่ยั่งยืนในอนาคต

     ขณะเดียวกัน นักวิจัยไทยเอง ยังมีปัญหาเรื่องการเงินสนับสนุนงานวิจัย ธีร กรุ๊ป จึงมองระยะยาวถึง การทำงานร่วมกับนักวิจัยไทยที่อยากทำผลงานเขียนงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ เพื่อศึกษา ค้นคว้า วิจัย ตลอดจนการทดลองและการขึ้นต้นผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยได้

“ทั้งหมดนี้ เป็นการทำงานในรูปแบบการทำงานเป็น ทีม ที่ทุกคนในอุตสาหกรรมนี้จะต้องเกื้อกูลกัน ทั้งองค์ความรู้และทรัพยากรอื่นๆ และธีร กรุ๊ป เองก็อยากเป็นหนึ่งในตัวช่วยในการผลักดันระบบนิเวศน์นี้ ตลอดจนต้นน้ำอย่างเกษตรกร นักวิจัย ไปจนถึงปลายน้ำผู้ใช้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยเหล่านี้ ซึ่งไม่ใช่แค่ผลงานวิจัย แต่ต้อง Commercialize ในระดับนานาชาติให้ได้ด้วย” นดลกล่าวทิ้งท้าย


อ่านเพิ่มเติม: แม็คโคร ชูโมเดล ‘บัดดี้มาร์ท’ ดึงทายาทโชห่วยร่วมธุรกิจ


​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine

TAGGED ON