ครึ่งหลังปี 66 ความตึงเครียดเพิ่ม นักลงทุนต้องระวัง - Forbes Thailand

ครึ่งหลังปี 66 ความตึงเครียดเพิ่ม นักลงทุนต้องระวัง

    แนวโน้มสถานการณ์ครึ่งหลังปี 2566 ความตึงเครียดทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศส่อเค้าความวุ่นวาย วิกฤตมอสโกที่แม้จะจบลงภายใน 1 วันครึ่ง แต่ยังมีความไม่แน่นอน กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลายประเทศเผชิญปัญหาอัตราดอกเบี้ยสูง เตือนนักลงทุนไทยเพิ่มความระมัดระวัง รับภาวะตลาดไม่นิ่ง

    ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จากแรงกดดันด้านราคาและอัตราดอกเบี้ย ขณะที่เศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นความหวังว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจโลกกลับมาแข็งแกร่งมากขึ้น แต่กลับมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

    ttb analytics ประเมินว่าจากปัจจัยด้านมหภาคของประเทศเศรษฐกิจสำคัญสามารถแบ่งภาพเศรษฐกิจออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก กลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจแผ่วลง แต่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อได้ อาทิ สหรัฐอเมริกา ที่แม้การส่งออกสินค้าและความต้องการสินค้าในประเทศชะลอลง แต่ตลาดแรงงานโดยรวมที่ยังเข็มแข็งและเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่อง ทำให้โดยรวมกำลังซื้อยังมีอยู่ และ เศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่น รวมทั้งเศรษฐกิจไทย มีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่องจากการบริโภคในประเทศและภาคบริการ แต่แรงส่งในครึ่งปีหลังอาจแผ่วลงบ้าง ส่วนการผลิตและการส่งออกสินค้ามีทิศทางชะลอตัวลงสอดคล้องกับภาวะการค้าโลก ขณะที่การจ้างงานมีทิศทางทยอยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

    กลุ่ม 2 กลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเปราะบางอยู่ อาทิ เศรษฐกิจอังกฤษ กำลังประสบภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจชะงักงัน โดยเกิดความเปราะบางทั้งในด้านการส่งออกและการบริโภค รวมถึงอัตราการว่างงานสูงกว่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 และ เศรษฐกิจยูโรโซน ซึ่งปัจจุบันแรงส่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจชะงักงันหรือไม่มีการเติบโต (การเติบโตไตรมาสต่อไตรมาส) ทั้งจากการส่งออกสินค้าที่ชะลอตัวลง และการบริโภคภายในภูมิภาคที่หดตัวต่อเนื่องจากผลของภาวะสงครามในยูเครน ค่าครองชีพและการเร่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ECB หรือธนาคารกลางสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี เนื่องจากอัตราการว่างงานของยูโรโซนโดยรวมยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง จึงเป็นตัวช่วยพยุงให้พื้นฐานกำลังซื้อของคนยุโรปไม่ทรุดตัวลงหนักท่ามกลางแรงกดดันด้านราคา

    

จับตาวิกฤติมอสโกย้ำไฟสงคราม

    

    สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เพิ่มความร้อนแรงเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อกลุ่มแวกเนอร์ กองกำลังทหารรับจ้างของรัสเซีย นำโดยนายเยฟเกนี ปริโกซิน (Yevgeny Prigozhin) ออกมาก่อกบฎต่อรัสเซีย พร้อมเคลื่อนกองกำลังทหารราว 50,000 นาย มุ่งสู่กรุงมอสโกว เพื่อยึดอำนาจพล.อ.เซอร์เก ชอยกู (Sergei Shoigu) รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย และ พล.อ.วาเลอรี เกราซิมอฟ (Valery Gerasimov) ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมรัสเซียว่า "ไร้ความสามารถในการควบคุมกองทัพ" แต่วิกฤตการณ์จบลงภายใน 1 วันครึ่ง เมื่อปริโกซินยอมรับข้อตกลงของประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก (Alexander Lukashenko) ผู้นำเบลารุส พันธมิตรของรัสเซียที่เข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อไม่ให้เสียเลือดเนื้อ

    สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น วิเคราะห์ว่าสถานการณ์หลายอย่างยังมีความไม่นอน และมองว่าการจลาจลที่เกิดขึ้นไม่น่าจะจบลงอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีผลกระทบตามมา โดยเฉพาะบทบาทของปริโกซิน ในสงครามระหว่างรัสเชียกับยูเครน ความบาดหมางครั้งนี้อาจสร้างความไม่พอใจให้กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย และทำให้เกิดความคลางแคลงใจของชาวรัสเซียที่มีต่อนโยบายของปูตินในการทำสงครามครั้งนี้

    สงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจของโลก นับตั้งแต่เกิดสงครามเมื่อปี 2565 ทำให้ขาดแคลนพืชผลทางการเกษตร ปุ๋ยขาดตลาด ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งปี 2566 นี้ จะมีปัญหาภัยแล้งจากปรากฎการณ์เลนีโญซ้ำเติมอีก ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีแนวโน้มขาดแคลนเพิ่มขึ้น


เศรษฐกิจไทยเสี่ยงเพิ่มขึ้น

    

    ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 แม้ความต้องการสินค้าทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากแรงกดดันด้านราคาและดอกเบี้ยในระดับสูง แต่ภาวะตลาดแรงงานโดยรวมยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการจ้างงานเพิ่มในภาคบริการเป็นหลัก ttb analytics จึงประเมินโดยรวมว่า จะมีเฉพาะบางประเทศเท่านั้นที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ Technical Recession หรือ การหดตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจช่วงสั้นๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางในตลาดแรงงาน

    นอกเหนือจากโมเมนตัมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงแล้ว อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกได้ชะลอลงพร้อมกันด้วย ทำให้ธนาคารกลางส่วนใหญ่ รวมทั้ง Federal Reserves จะเข้าสู่ช่วงหยุดการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 สำหรับการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปค แม้จะเพิ่มแรงกดดันต่อราคาน้ำมันดิบโลกขึ้นมาบ้าง แต่ผลกระทบไม่แรงพอที่จะผลักให้เงินเฟ้อโลกพุ่งสูงขึ้นเหมือนช่วงที่เกิดปัญหาขาดแคลนในห่วงโซ่การผลิตสินค้าในช่วงก่อนหน้านี้

    จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงผ่านการชะลอตัวในภาคการส่งออกสินค้า ซึ่งกระทบต่อระดับการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าที่มีคำสั่งซื้อจากกลุ่มยุโรปมีแนวโน้มลดลงชัดเจนในปัจจุบัน (มีสัดส่วน 10.8 % ของการส่งออกของไทยทั้งหมด) เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ (สัดส่วน 26% ของการส่งออกไปยุโรปทั้งหมด) ผลิตภัณฑ์ยาง (4%) เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (7.2%) เหล็กกล้า (2%) รวมถึงภาคการท่องเที่ยว ผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวยุโรปอาจมีทิศทางชะลอตัวได้เช่นกัน (มีสัดส่วน17% ของจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าของไทยทั้งหมด)

    

การเมืองในประเทศส่อเค้าวุ่นวาย

    

    สำหรับสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย เริ่มมีเค้าลางของความวุ่นวายเพิ่มขึ้น หลังนักการเมืองรุ่นเก๋าอย่างนายเฉลิม อยู่บำรุง และนายอดิศร เพียงเกษ ออกมาให้ความเห็นการแย่งชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ขณะที่เวบไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พ.ร.ฎ.เรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ.2566 ในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ เร็วกว่ากำหนดเดิม ทำให้สัปดาห์นี้สถานการณ์การเมืองจะกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง โดยวันที่ 27 มิถุนายนนี้ จะมีการหารือตำแหน่งประธานสภาฯ ระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลอีกครั้ง

    ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับประเด็นเชิงโครงสร้าง หรือโจทย์ในระยะกลางถึงยาว เช่น ในอีก 8 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจำนวนกว่า 20% จะมีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปี ซึ่งการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะส่งผลกระทบทั้งต่อตลาดแรงงาน การบริโภคของครัวเรือน และฐานะการคลังของรัฐบาล แต่จากสถานการณ์ด้านการเมืองในประเทศ อาจส่งผลให้รัฐบาลต้องให้น้ำหนักไปที่โจทย์เฉพาะหน้า เช่น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การปรับลดค่าไฟฟ้า การอัดฉีดเงินโดยตรงแก่ประชาชน การแก้ไขหนี้ครัวเรือน การให้ความช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี มากกว่าการแก้ไขประเด็นเชิงโครงสร้างต่าง ๆ เช่น การปรับขึ้นภาษี การต่อต้านการผูกขาด

    นอกจากนี้ การขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อยอดหนี้สาธารณะของรัฐบาล รวมไปถึงการจัดทำงบประมาณในอนาคตข้างหน้า ในขณะที่การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนตามแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทยวางไว้ คงจะช่วยบรรเทาปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ในที่สุดแล้ว การแก้ปัญหาคงจะหนีไม่พ้นการเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2566 อยู่ที่ 3.7%

    สำหรับทิศทางการลงทุนในประเทศ สัปดาห์นี้ (26-30 มิ.ย. 2566) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มีปัจจัยที่ต้องติดตาม คือสถานการณ์การเมืองในประเทศ ตัวเลขการส่งออกเดือนพ.ค.ของไทย รวมทั้งทิศทางเงินทุนต่างชาติ หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยร่วงลงตลอดสัปดาห์ โดยมีแรงเทขายอย่างหนักในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีรายใหญ่ เนื่องจากเข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1 ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และ Cash Balance

    โดยศูนย์วิจัยมองว่าดัชนีหุ้นไทยสัปดาหนี้แนวรับอยู่ที่ 1,490 และ 1,475 ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,520 และ 1,545 จุด ตามลำดับ

    

    อ่านเพิ่มเติม : ASICS ประเทศไทย ตั้ง “ตฤณ ธนากิตติวรา” นั่งแท่น Country Manager คนใหม่ ASICS ประเทศไทย ตั้ง “ตฤณ ธนากิตติวรา” นั่งแท่น Country Manager คนใหม่

    ​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine