รู้จัก "เครือข่ายธรรมกาย" - Forbes Thailand

รู้จัก "เครือข่ายธรรมกาย"

FORBES THAILAND / ADMIN
03 Feb 2015 | 03:41 PM
READ 36541
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2558 ที่เพิ่งผ่านมา เป็นวันสุดท้ายของการเดิน “ธุดงค์ธรรมชัย” ของพระจากวัดพระธรรมกาย ผ่าน 7 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร  ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เป็นกิจกรรมที่วัดพระธรรมกายจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว  
 
ย้อนกลับไปในเดือนมกราคม 2557 หรือ 1 ปีที่ผ่านมา Forbes Thailand ฉบับมกราคม 2557 ได้จัดทำเรื่องเด่นประจำฉบับ “วัดพระธรรมกาย ขุมทรัพย์มหาศาล นี่หรือวิถีพุทธ?” โดยบทความ “เครือข่ายธรรมกาย” โดย “พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์” เป็นหนึ่งในบทความชุดดังกล่าว
 


 

เครือข่ายธรรมกาย
 

จากเงินทุนเริ่มต้นในการสร้างวัดเพียง 3,200 บาท กับที่นา 196 ไร่ที่ได้รับบริจาคมาจากคุณหญิงประหยัด แพทยพงศา วิสุทธาธิบดี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2513 และผู้เลื่อมใสศรัทธาจำนวนไม่มาก 
 
ปัจจุบัน ไม่เพียงพื้นที่วัดพระธรรมกายที่ ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ขยายเป็น 2,500 ไร่ ยังมีการขยายวัดศูนย์สาขาและศูนย์ปฏิบัติธรรมไปทั้งในประเทศและต่างประเทศรวม 131 แห่ง แบ่งเป็นในประเทศ 51 แห่ง ทั้งภาคเหนือ (20 แห่ง) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (10 แห่ง) ภาคกลางและตะวันตก (9 แห่ง) ภาคตะวันออก (8 แห่ง) และภาคใต้ (3 แห่ง) 
 
ส่วนต่างประเทศ หลังจากไปเปิดวัดศูนย์สาขาที่รัฐ California สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2535 ก็มีการเปิดวัดศูนย์สาขาและศูนย์ปฏิบัติธรรมในต่างประเทศเพิ่มเติม กระทั่งปัจจุบันมีถึง 80 แห่ง กระจายอยู่ทั่วทุกทวีปทั้งอเมริกา ยุโรป เอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา โดยสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีศูนย์สาขาตลอดจนศูนย์ปฏิบัติธรรมของวัดพระธรรมกายมากที่สุด ถึง 14 แห่ง
 
นอกจากนี้ ยังจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมกายแคลิฟอร์เนียในสหรัฐฯ (DOU - Dhammakaya Open University) โดยเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา เปิดสอนระบบทางไกล ด้วยภาษาไทย อังกฤษ และจีน ปัจจุบันมี 3 หลักสูตร คือ ประกาศนียบัตร หลักสูตร Pre-Degree และสัมฤทธิบัตร ปริญญาตรี หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต (พธ.บ.) เรียน 4 ปี และปริญญาโท หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต (พธ.ม.) เรียน 2 ปี
 
ไม่เพียงเครือข่ายที่กระจายอยู่ทั่วโลก วัดพระธรรมกายก็ดำเนินกิจกรรมทางธรรมที่หลากหลาย เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าร่วม นอกเหนือไปจากกิจกรรมโดยทั่วไปของวัด เช่น ตักบาตรหรือทอดกฐิน
 
ปี 2551 เริ่มต้นโครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก หรือโครงการเด็กดี V-Star ด้วยการรวบรวมเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ ให้สมัครเข้าร่วมโครงการอบรม โดยในปี 2555 วัดพระธรรมกายประเมินว่ามีเยาวชนทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการเด็กดี V-Star ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน
 
ปี 2552 เริ่มต้นโครงการบวชพระธรรมทายาท รุ่นเข้าพรรษา 1,000 รูป โดยใช้ชื่อรุ่นอุปสมบทนี้ว่า “กองพันสถาปนา” ซึ่งต่อมามีการอุปสมบทหมู่ 7,000 รูป 7,000 ตำบลทั่วไป โดยใช้ชื่อรุ่นการอุปสมบทว่า “กองพลสถาปนา”
 
ปี 2552 เริ่มต้นโครงการ “ธุดงค์ธรรมชัย” ด้วยการให้พระภิกษุสงฆ์เดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ ระยะทางตั้งแต่ 300-500 กิโลเมตร ภายในเวลากว่า 20 วัน โดยจะมีสาธุชนมาโปรยกลีบกุหลาบตลอดเส้นทาง ทั้งนี้ ในปี 2557 มีการกำหนดเส้นทางธุดงด์ธรรมชัย ตั้งแต่วันที่ 2-28 มกราคม 2557 ผ่านพื้นที่ 6 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม รวมระยะทางทั้งสิ้น 459 กิโลเมตร
 
ปี 2553 เริ่มต้นโครงการอุปสมบทหมู่ “บวชพระแสนรูป” โดยเปิดโอกาสให้ชายไทยที่ต้องการอุปสมบท สมัครเข้าโครงการได้ที่วัดอบรมประจำอำเภอทั่วประเทศ และจะมีการกำหนดช่วงเวลาการอุปสมบทพร้อมกันทั่วประเทศ ทั้งนี้มีการตั้งเป้าหมายว่าจะมีผู้เข่ารวมโครงการอุปสมบทหมู่ “บวชพระล้านรูป” ในอนาคต
 
ปี 2553 เริ่มต้นโครงการบวชอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน ด้วยการบวชอุบาสิกาให้รักษาศีล 8 เป็นเวลา 1 สัปดาห์ จากนั้นเปิดโครงการอบรมอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน ผ่านทางวัดและสถาบันการศึกษากว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศ ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์ฝึกอบรม
 
ไม่เพียงโครงการต่างๆ วัดพระธรรมกายยังมีสื่อหลากหลายแขนงที่ใช้สื่อสารกับสาธารณชน ทั้งหนังสือ อาทิ นิตยสาร “อยู่ในบุญ” ที่ออกเป็นประจำทุกเดือน เอ็มพีสาม วีดีโอ เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น อีบุ๊ค และโซเชียลมีเดีย แต่ช่องทางสื่อสารหลักที่คนทั่วไปรู้จักเป็นอย่างดี คือสถานีโทรทัศน์ดีเอ็มซี (DMC – Dhammakaya Media Channel) หรือทีวีธรรมกาย ที่ออกอากาศผ่านดาวเทียมตลอด 24 ชั่วโมง โดยพระเทพญาณมุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย จะลงเทศน์สอนธรรมะสด ทุกวันจันทร์ถึงวันเสาร์ เวลา 19.30-22.00 น. วันอาทิตย์ เวลา 09.30-11.00 น.และเวลา 13.30-16.00 น.
 
ด้วยวัดศูนย์สาขาและศูนย์ปฏิบัติธรรมที่กระจายไปทั่วโลก โครงการและกิจกรรมทางธรรมที่หลากหลาย รวมถึงช่องทางสื่อสารที่เข้าถึงคนทุกกลุ่ม จึงไม่น่าแปลกใจที่วัดพระธรรมกายจะมีผู้เลื่อมใสศรัทธาจำนวนมาก ทั้งระดับประชาชนทั่วไปจนถึงบุคคลระดับสูงในสังคม ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ ผู้นำองค์กรเอกชน แม้จะถูกวิพากษ์เรื่องแนวทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และการใช้ทรัพย์สินของวัดไปในเชิงพาณิชย์อยู่เป็นระยะก็ตาม