“เวฟ บีซีจี” ปั้นพืชเศรษฐกิจใหม่ ลุยธุรกิจคาร์บอนเครดิต - Forbes Thailand

“เวฟ บีซีจี” ปั้นพืชเศรษฐกิจใหม่ ลุยธุรกิจคาร์บอนเครดิต

ท่ามกลางสภาวะอากาศที่ร้อนขึ้นทุกวัน ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ที่ถือเป็นภัยธรรมชาติอย่างหนึ่งที่คนทั่วโลกตืนตัว จนนำไปสู่ความตกลงปารีส (Paris Agreement) กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งไทยเป็นหนึ่งใน 197 ประเทศที่ลงนามในสัญญาครั้งนี้


    สำหรับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกล่าสุด ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) ครั้งที่ 27 หรือ COP 27 ย้ำถึงความพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียล ขณะที่ภาคธุรกิจมีการปรับตัวอย่างคึกคัก และนำไปสู่โมเดลธุรกิจในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ที่คาดว่าจะเป็นแนวโน้มธุรกิจที่เติบโตต่อเนื่อง

    บริษัท เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WAVE นำโดย เจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ในเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านคาร์บอนเครดิตครบวงจร (Carbon Credit และ Renewable Energy Certificate หรือ RECs) โดยเป็นตัวกลางการซื้อขายแลกเปลี่ยน ให้คำปรึกษาและวางแผนด้านคาร์บอนเครดิต ทำหน้าที่ในการจัดหาทรัพยากร ที่มีใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย Carbon Credit และ RECs

    สำหรับธุรกิจใหม่ด้าน Carbon Credits/ RECs ของ WAVE ดำเนินการภายใต้ บริษัท เวฟ บีซีจี ซึ่งเป็นบริษัทลูก มีโมเดลให้บริการด้านคาร์บอนเครดิตครบวงจร ทั้งการให้คำปรึกษา สำหรับผู้ซื้อและผู้ขาย ที่ต้องการดำเนินการด้านคาร์บอนเครดิต แบบ One Stop Service การเป็นผู้พัฒนาและผู้ประเมินโครงการลดคาร์บอนเครดิต (V/VB) การศึกษาและจัดหาคาร์บอนเครดิต รวมไปถึงการรับรองการผลิตพลัง งานสะอาด (RECs) เพื่อขายในอนาคต

    “เป้าหมายของบริษัท ต้องการเป็นผู้นำการถือครองคาร์บอนเครดิตในปริมาณที่สูงที่สุดในประเทศไทยและในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เจมส์กล่าว


    เจมส์ เป็นลูกครึ่งไทย – ออสเตรเลีย ที่มีประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษามากว่า 8 ปี ทั้งที่ Baker Tilly PwC และ Deloitte Digital (Australia) โดยเฉพาะในด้านการวางกลยุทธ์และการเพิ่มประสิทธิภาพด้านบุคลากรและกระบวนการการทำงานให้กับองค์กรทั้งในและต่างประเทศ ด้วยองค์ความรู้และกลยุทธ์ในด้านต่างๆ ทั้ง LEAN KAIZEN Workshop การผสผสานด้านวัฒนธรรม และการออกแบบทางความคิด (Design Thinking)

    หลังเข้ารับตำแหน่งซีอีโอของ WAVE ในปี 2022 ได้ปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจใหม่ และหนึ่งในนั้น คือ WAVE BCG บริษัทให้บริการด้านคาร์บอนเครดิตครบวงจร


ตลาดมีความต้องการสูง


    ซีอีโอ WAVE กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดในประเทศไทย มีความต้องการซื้อขาย Carbon Credits/ RECs สูงถึง 100 ล้านตันต่อปี แต่มีการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. เพียง 7 ล้านตัน ซึ่งแนวโน้มการเติบโตของตลาดภาคสมัครใจ หรือ Voluntary Markets มีแนวโน้มเติบโต 15 เท่าในปี 2573 และ 100 เท่าในปี 2593 ส่วนตลาดภาคบังคับ หรือ Compliance Market ตามตัวเลขของสหภาพยุโรป หรือ EU มีปริมาณการซื้อขาย Carbon Credits/ RECs สูงถึง 36% ของคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีการปล่อยออกมา เมื่อเทียบกับประเทศไทยมีปริมาณการซื้อขายเพียง 0.3% จึงมีโอกาสเติบโตได้สูงได้อีกมาก


    ปัจจุบันราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตปรับตัวขึ้นสูงถึง 410% จากปี 2561 อยู่ที่ 21 บาท/ตัน และในปี 2565 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 107 บาท/ตัน ปัจจุบันราคาซื้อขายอยู่ที่ 50-150 บาท/ตัน ส่วนราคาในตลาดโลกซื้อขายกันที่ 18-70 เหรียญสหรัฐ/ตัน คาดว่าในปี 2575 มีแนวโน้มปรับขึ้นมา 80-150 เหรียญสหรัฐ/ตัน ตามความต้องการที่สูงขึ้น ซึ่งความแตกต่างของราคาขึ้นอยู่กับประเภท และแหล่งที่มาของ Carbon Credits และ RECs

    เจมส์ กล่าวว่า ปัจจุบันองค์กรในประเทศไทย เริ่มได้รับแรงกดดันหลายด้านให้ต้องดำเนินการเรื่องคาร์บอนเครดิตอย่างเร่งด่วน ทั้งจากปัจจัยต่างประเทศและในประเทศ การกำหนดเป้าหมาย Net Zero Emission ทำให้องค์กรไทยต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน รวมถึงข้อกำหนดเรื่องการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนตามแนวทาง ESG หรือ Environment Social และ Governance ทำให้หลายองค์กรเริ่มมองหาคาร์บอน เครดิต โซลูชัน ที่จะสนับสนุนการดำเนินการด้านคาร์บอนเครดิตอย่างครบวงจร รวมถึงดำเนินโครงการปลูกพืชที่มีศักยภาพในการลดคาร์บอน


ชู Silver Oak พืชเศรษฐกิจตัวใหม่


ล่าสุด บริษัทได้ดำเนินโครงการ Doa Green Together แปลงต้นแบบการบริหารจัดการคาร์บอนเคดริตในการผลิตพืช สำหรับพืชไร่ 5 ชนิด ได้แก่ อ้อย มันสัมปะหลัง ยางพารา ไม้ผล(ทุเรียนและมะม่วง) ที่ดำเนินการแบบ Good Agriculture Practice (GAP) และบริษัทได้ค้นพบว่าต้นไม้ที่สามารถลดคาร์บอนได้ดีมากมากก็คือ ต้น Silver Oak

    “ต้น Silver Oak เป็นพืชที่ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้ และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่เกษตกรชาวไทยได้ ซึ่งการในปลูกต้นไม้สร้างคาร์บอนเครดิตในแปลงเดี่ยวๆ หรือจะปลูกแซมร่วมกับพืชเกษตรนั้น ก็ยังสามารถนำไปซื้อขายคาร์บอนเครดิต สร้างรายได้และสร้างความยั่งยืน มั่นคง ให้แก่เกษตกรได้” เจมส์กล่าว

    ก่อนหน้านี้ WAVE BCG ร่วมกับ Spiro Carbon ผู้นำด้านคาร์บอนเครดิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดำเนินการเรื่องคาร์บอนเครดิต ให้กับชาวนาและเกษตรกรในโครงการปลูกข้าวแบบ Alternative Wetting and Drying (AWD) ซึ่งเป็นการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 50% ถือเป็นความร่วมมือที่ผลักดันให้เกิดแนวทางการเกษตรแบบใหม่ ที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน


    สำหรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่ม WAVE ในปี 2566 แบ่งออกเป็น 3 ธุรกิจประกอบด้วย 1. ธุรกิจให้บริการด้านคาร์บอนเครดิตครบวงจร ซึ่งดำเนินธุรกิจภายใต้บริษัท WAVE BCG คาดว่าจะสร้างรายได้ให้บริษัทประมาณ 150-200 ล้านบาท 2. ธุรกิจโรงเรียนสอนภาษาวอลล์สตรีท (Wallstreet) ซึ่งในปีนี้จะยังเป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับกลุ่ม WAVE ปัจจุบันมีจำนวน 14 สาขา และมีแผนที่เปิดจะเพิ่มอีก 2 สาขาในปีนี้ คาดว่าจะสร้างรายได้ให้บริษัทประมาณ 500-550 ล้านบาท และ 3. ธุรกิจด้านสุขภาพและกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ที่ดำเนินธุรกิจภายใต้บริษัท WAVE Wellbing คาดว่าปีนี้มีรายได้ประมาณ 150 ล้านบาท

    "ภาพรวมผลการดำเนินงานปีนี้ รายได้หลักยังจะมาจาก วอลล์สตรีท เราวางเป้าไว้ว่าจะทำให้ WAVE สามารถเทิร์นอะราวด์ได้ แต่กำไรจะไม่เยอะมาก เพราะบริษัทยังมีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อลงทุนสำหรับอนาคต ส่วนรายได้จากธุรกิจ คาร์บอนเครดิต ช่วงแรกยังไม่หวือหวา ประมาณ 150-200 ล้านบาท แต่อนาคตจะเติบโตสูงตามเทรนด์โลก ที่ต้องการลดปริมาณคาร์บอนฯ เป็นธุรกิจที่บริษัทใช้เวลาศึกษามานานพอสมควร จึงมั่นใจในอนาคตจะสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน ให้กับ WAVE ในอนาคต" เจมส์กล่าว


อ่านเพิ่มเติม: "การบินไทย" รายได้พุ่งไตรมาส 1 ปี 66 ทำกำไรสุทธิ 1.2 หมื่นล้านบาท


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine