ไฮเนเก้นติงรัฐเก็บภาษีเบียร์ 0% ปิดทางเลือกผู้บริโภค - Forbes Thailand

ไฮเนเก้นติงรัฐเก็บภาษีเบียร์ 0% ปิดทางเลือกผู้บริโภค

กรณีกรมสรรพสามิตกำลังศึกษาขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 0% ไฮเนเก้น ผู้ผลิตเครื่องดืมมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ ตราไฮเนเก้น ศูนย์จุดศูนย์ ติงเป็นการปิดกั้นทางเลือกนักดื่มแบบรับผิดชอบต่อสังคม ย้ำเทรนด์ทั่วโลกเติบโต ไม่สร้างนักดื่มหน้าใหม่


จากกรณีที่กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เตรียมศึกษาจัดทำพิกัดอัตราภาษีสินค้าในกลุ่มสุราและเบียร์ 0% เพิ่มเติม โดยมีแนวคิดจัดเก็บในอัตราต่ำกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่สูงกว่าเครื่องดื่มทั่วไป บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ ตราไฮเนเก้น 0.0 (ศูนย์จุดศูนย์) มองว่าจะเป็นการปิดกั้นสินค้าทางเลือกของผู้บริโภคที่ช่วยในการดื่มอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและตัวเอง


    ปริญ มาลากุล ณ อยุธยา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด เปิดเผยว่า เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์อย่างไฮเนเก้น 0.0 (ศูนย์จุดศูนย์) เป็นเครื่องดื่มทางเลือกที่ผู้บริโภคทั่วโลกหันมาบริโภคเพื่อทดแทนหรือลดปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นเทรนด์การดื่มอย่างรับผิดชอบ เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในยุโรป อเมริกา ในภูมิภาคนี้มีในสิงคโปร์ และเวียดนาม เป็นต้น


    ปัจจุบัน มีสัดส่วนร้อยละ 5-10 จากตลาดเบียร์โดยรวมในประเทศไทย บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ ได้เริ่มทำตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ ตราไฮเนเก้น 0.0 (ศูนย์จุดศูนย์) เมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา


    ผลการศึกษา พบว่า ผู้บริโภคที่หันมาดื่มเครื่องดื่มประเภทนี้ คือคนที่ดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว แต่ต้องการลดปริมาณการดื่มลง เนื่องจากให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น ไม่ใช่นักดื่มหน้าใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาในต่างประเทศ


“ความกังวลของภาครัฐที่ว่า จะทำให้เด็กและเยาวชนหันมาบริโภคมากขึ้น ไม่เป็นความจริง เพราะนักดื่มหน้าใหม่ ส่วนใหญ่จะหันไปบริโภคเบียร์ที่มีราคาถูก หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมดื่มที่มีรสหวานดื่มง่าย ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาในทุกตลาดทั่วโลก” ปริญกล่าว


    ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ ตราไฮเนเก้น 0.0 (ศูนย์จุดศูนย์) เสียภาษีในอัตราร้อยละ 14 เท่ากับเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ หรือ ซอฟต์ดริ๊ง ขณะที่เบียร์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ ร้อยละ 5 จะเสียภาษีสรรพสามิตในอัตรา ร้อยละ 22 ซึ่งมาตรการทางภาษีเป็นหนึ่งในวิธีที่ภาครัฐใช้ เพื่อลดโอกาสของผู้บริโภคในการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะมีราคาสูง เข้าถึงยาก


เทรนด์ทั่วโลกบริโภคแอลกอฮอล์ลดลง


ปริญ กล่าวว่า เทรนด์ผู้บริโภคทั่วโลก เน้นปริมาณแอลกอฮอล์ที่น้อยลง ซึ่งมีพัฒนาต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวลดปริมาณแอลกอฮอล์ลง โดยเฉพาะผู้บริโภคในประเทศพัฒนาแล้ว จะให้ความสำคัญกับการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ เช่น ในกลุ่มประเทศยุโรป หรือญี่ปุ่น ที่มีข้อกำหนดโทษเมาแล้วขับค่อนข้างสูง รวมทั้งผู้ประกอบการและรัฐจะให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ลดลง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค

    “ในต่างประเทศเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ 0% จะไม่ถูกเก็บภาษีสรรพสามิต หรือบางประเทศเก็บภาษีในอัตราเดียวกับเครื่องดื่มประเภทซอฟต์ดริ๊ง ซึ่งเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ ตราไฮเนเก้น 0.0 (ศูนย์จุดศูนย์) ปัจจุบันเสียภาษีมากกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางประเภทด้วยซ้ำ ซึ่งบริษัทยินดีที่จะจ่ายในอัตราที่เก็บอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนได้มีทางเลือก โดยจะเข้าหารือกับกรมสรรพสามิตภายในเดือนพ.ย.นี้” 


    ปริญ ยกตัวอย่างว่ามาตรการด้านภาษีมีส่วนช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมให้เติบโต เช่น การสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า โดยเก็บภาษีต่ำกว่ารถยนต์แบบเดิม ทำให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม กรณีเบียร์ 0% ก็เช่นเดียวกัน รัฐควรสนับสนุน เพราะไม่ได้ทำลายสุขภาพเหมือนเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์


“สิ่งที่เราต้องการเห็น คือ อยากให้ประเทศไทยมีการยกระดับมาตรฐานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตให้เทียบเท่าประเทศที่เจริญแล้ว เป็นไปตามมาตรฐานสากล เป็นธรรม และโปร่งใส ขณะเดียวกันให้ประชาชนได้มีทางเลือกในการบริโภคอย่างรับผิดชอบ ไม่เป็นภัยต่อตนเองและสังคม ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคแอลกอฮอล์โดยรวมลดลงได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน” ปริญกล่าว

อ่านเพิ่มเติม: นดล ไชยเจริญ แห่งธีร กรุ๊ป มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมกัญชาไทยสู่สากล


​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine

TAGGED ON