ถอดกลยุทธ์ค้าปลีก เฟรเซอร์สฯ 3 ปี หนุนโต "สามย่าน มิตรทาวน์" - Forbes Thailand

ถอดกลยุทธ์ค้าปลีก เฟรเซอร์สฯ 3 ปี หนุนโต "สามย่าน มิตรทาวน์"

เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ผู้บริหารศูนย์การค้าสามย่าน มิตรทาวน์ ชูกลยุทธ์ “Inspiring Everyday Experiences” ขับเคลื่อนธุรกิจรีเทลยุคใหม่ สอดรับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนยุคหลังโควิด ยอดทราฟฟิก 3 ปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 135 เตรียมแผนจัดกิจกรรม 3 เดือนสุดท้ายรับนักท่องเที่ยวกลับมาคืกคัก

ศูนย์การค้าสามย่าน มิตรทาวน์ โมเดลธุรกิจค้าปลีก ภายใต้การบริหารของ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) หรือ “FPCT” ที่มีทั้งศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน และโรงแรม ทำให้ศูนย์การค้ามีลักษณะเฉพาะที่แตกต่าง และโดยเฉพาะอยู่ใกล้สถาบันการศึกษาอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้ยอดผู้ใช้บริการวันธรรมดา สูงกว่าช่วงสุดสัปดาห์ กลายเป็น DNA ของศูนย์การค้าแห่งนี้ ธีรนันท์ กรศรีทิพา รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจรีเทล เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) กล่าวว่า สามย่านมิตรทาวน์ มี DNA ที่แตกต่างห้างค้าปลีกทั่วไป ที่มีความชัดเจน และด้วยจุดยืนที่เป็น ‘มิตร’ กับร้านค้าและชุมชุนโดยรอบ ทำให้ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เป็น ‘พื้นที่ที่เป็นหัวใจของชุมชน’ และพร้อมสนับสนุนให้ชุมชนรอบข้างได้เติบโตไปด้วยกัน “เราเปิดมา 3 – 4 เดือนก็เจอโควิด เราต้องปรับตัวมาโดยตลอด และปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะหลังโควิด เราเห็นพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เป็น fragment ทำให้เราต้องเกาะเทรนด์อยู่ตลอดเวลา และปรับแผนการตลาดอย่างรวดเร็ว”

ทราฟฟิกเพิ่มร้อยละ 135

ธีรนันท์ กล่าวว่า ปัจจุบันยอดทราฟฟิกของสามย่าน มิตรทาวน์เพิ่มขึ้นร้อยละ 135 จากในช่วงโควิดมีผู้ใช้บริการ 55,000 ต่อวัน ปัจจุบันอยู่ที่ 79,000 คนต่อวัน และคาดว่าในสิ้นปีจะมียอดผู้ใช้บริการ 80,000 ต่อวัน โดยอัตราผู้ใช้บริการศูนย์การค้าอยู่ที่ร้อยละ 98 ของพื้นที่ ส่วนอาคารสำนักงานอยู่ที่ร้อยละ 95 และในส่วนของโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 90 ขณะที่ผู้ใช้บริการใช้เวลาเฉียง 3-4 ชั่วโมงต่อวัน และมีการใช้จ่าย 3,500 บาทต่อคน โดยเฉพาะในช่วงที่มีการจัดโปรโมชั่น ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เป็นพื้นที่มีความผสมผสาน หลากหลาย เหมาะกับคนหลากหลายกลุ่ม และให้บริการ 24 ชั่วโมง เช่น โคออป พื้นที่สำหรับอีสปอร์ต ร้านค้าที่หลากหลายตั้งแต่ร้านค้าย่อย ถึงร้านค้าขนาดใหญ่ ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เจ้าของร้านค้าส่วนใหญ่ต่อสัญญาร้อยละ 95 ในอีก 3 ปีข้างหน้า สำหรับช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2565 คาดว่าธุรกิจค้าปลีกทุกที่จะกลับมาคึกคัก หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายและบรรยากาศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ คนเริ่มออกจากบ้านมากขึ้น เดินทางท่องเที่ยว รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามา ซึ่งสามย่านมิตรทาวน์ได้เตรียมแผนจัดกิจกรรมครบรอบ 3 ปี กิจกรรมลานนม และกิจกรรมเคาน์ดาวน์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยจะเน้นนำเทรนด์ใหม่ใหม่ๆ มาสร้างสีสันให้กับธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย การตลาดต้องปรับตัวเร็ว ธีรนันท์ กล่าวว่า การทำธุรกิจรีเทลปัจจุบันไม่สามารถใช้แนวทางปฏิบัติแบบเดิมได้ ต้องปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ตามกระแสและพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยสามย่านมิตรทาวน์ใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า Fluid approach ที่ทำให้ศูนย์การค้าสามารถสื่อสารการตลาดได้อย่างน่าสนใจทันทุกเทรนด์ตลอดทั้งปี​ โดยแบ่งกิจกรรมตามขนาดความสนใจของผู้บริโภคตั้งแต่ขนาด SS–XL ทำให้สามารถตอบรับความต้องการของผู้บริโภคได้ตลอด “มากกว่าการเป็นศูนย์การค้า สามย่าน มิตรทาวน์ ส่งมอบประสบการณ์การรีเทลที่แตกต่างจากางอื่นๆ ด้วยการจับเทรนด์ Placemaking เป็นพื้นที่ที่ทุกคนในชุมชนมาเยี่ยมเยียนและใช้ชีวิตประจำวันได้เสมอ ไม่ว่าจะมาพบปะสังสรรค์ หาของอร่อย อ่านหนังสือ หรือ เพียงแค่มาพักผ่อนหย่อนใจ เพราะเรามีพื้นที่ที่หลากหลายและยืดหยุ่น รองรับลูกค้าทุกกลุ่ม ทุกความต้องการ” สามย่าน มิตรทาวน์ ต้องการทำหน้าที่เป็นหัวใจของชุมชนด้วยการทำให้พื้นที่สามย่านให้แข็งแกร่งขึ้น โดยผลักดันและส่งเสริมให้ย่านนี้เป็นเดสติเนชั่นทำให้มีลูกค้าประจำและลูกค้าจรแวะเวียนมาเสมอ อีกทั้งยังผลักดันให้ธุรกิจรายย่อยและคนในชุมชนได้รับโอกาสด้านธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในระดับสังคม สิ่งที่สามย่าน มิตรทาวน์ริเริ่มและนำหน้าพื้นที่รีเทลอื่นๆ มาโดยตลอด คือ การสนับสนุนให้กรุงเทพฯมีพื้นที่สร้างสรรค์คุณภาพตั้งอยู่ใจกลางเมือง โดยให้บริการพื้นที่กิจกรรม/พื้นที่การเรียนรู้สำหรับนักเรียนและชุมชน​ บริการ Co-working space พื้นที่เวทีแห่งดนตรีและศิลปะการแสดง​ ตลอดจน​พื้นที่อเนกประสงค์เพื่อรองรับความต้องการของชุมชน เป็นต้น ​“เราถือเป็นหน้าใหม่ในธุรกิจรีเทล การทำตลาดต้องมองไปข้าง ต้องหาวิธีคิดที่แตกต่าง จับกลุ่มที่เฉพาะ สอดรับกับ DNA ของเรา เพื่อจะสามารถเติบโตไปลูกค้า และพันธมิตรร้านค้าของเราในอนาคต” ธีรนันท์ กล่าว อ่านเพิ่มเติม: เผยงบการเงิน Starbucks และแผนธุรกิจของ Howard Schultz

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine