‘Bluebik’ เปิด 4 ทริคสร้างโอกาสหลังโควิด-19 - Forbes Thailand

‘Bluebik’ เปิด 4 ทริคสร้างโอกาสหลังโควิด-19

‘Bluebik’ เปิด 4 ทริค โอกาสหลังโควิด-19 นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมากมายมาสู่โลก เป็นชนวนสู่ ‘New Normal’ ความปกติแบบใหม่ในการใช้ชีวิต การทำงาน และโลกธุรกิจ โอกาสนับจากนี้ไปจึงอยู่ที่การปรับตัว ใครปรับตัวเร็วย่อมได้เปรียบในทางกลับกันใครปรับตัวไม่ทันอาจเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย

เริ่มต้นเดือนกรกฏาคมกับมาตรการ lockdown ที่ผ่อนคลายลงมาก รัฐบาลประกาศผ่อนปรนมาตรการในระยะ 4 หลายองค์กรเริ่มกิจกรรมทางธุรกิจ การตลาด และการจัดอีเวนต์ ในขณะที่ Bluebik ผู้ให้บริการปรึกษาการ transform ธุรกิจสู่เทคโนโลยีใหม่ เลือกช่องทางการแถลงข่าวผ่าน Zoom แอปพลิเคชั่นการประชุมออนไลน์ที่มียอดการใช้เพิ่มสูงในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา และเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการทำงานและการสื่อสารของผู้คนทั่วโลก เป็น New Normal ด้านการสื่อสารที่คนหันมาพึ่งพิงเทคโนโลยีมากขึ้น ผู้บริหาร Bluebik นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับปัจจัยที่จะนำมาใช้ เพื่อการปรับเปลี่ยนและพัฒนาองค์กรให้สอดรับกับสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนไปหลังจากทั่วโลกต้องเผชิญวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นซ้ำเติมปรากฎการณ์ Digital Disruption ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ก่อนหน้านี้ นับเป็น 2 สถานการณ์สำคัญที่จะนำความเปลี่ยนแปลงมากมายมาสู่โลก ทั้งในแง่การใช้ชีวิตของผู้คน และการดำเนินธุรกิจที่ต้องปรับตัวตาม โดยผู้บริหาร Bluebik ได้สรุปแนวทางในการมองหาโอกาสและทางรอดด้วย 4 ทริสำคัญ ทั้งการลดต้นทุน การปรับใช้เทคโนโลยี เพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจ และสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจผ่านพันธมิตร รวมถึงการเตรียมความพร้อมรับมือหากเกิดไวรัสโควิด-19 ระบาดระลอก 2 ที่หลายคนยังกังวล พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (Bluebik) กล่าวว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกรวมถึงเศรษฐกิจประเทศไทย ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund - IMF) พบว่า GDP ปี 2563 ของทั้งโลกมีโอกาสติดลบถึงร้อยละ 4.9 และประเทศไทยมีโอกาสติดลบมากถึงร้อยละ 7.7 เนื่องจากอุปสงค์ที่มีแนวโน้มลดลงในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในขณะเดียวกันยังเปิดทางให้ผู้เล่นรายใหม่ ได้พลิกวิกฤตสู่โอกาสจากช่องว่างทางการตลาดที่เกิดขึ้น หากสามารถปรับตัวรับมือกับวิกฤตได้
พชร อารยะการกุล
4 จุดเปลี่ยนที่ต้องปรับ “จากวิกฤตพบว่ามีธุรกิจบางส่วนที่หยุดชะงัก แต่ก็มีธุรกิจอีกกลุ่มที่สามารถคว้าโอกาส และขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้” ผู้บริหาร Bluebik สรุปโอกาสทางธุรกิจออกเป็น 4 ปัจจัย เริ่มจาก 1.ช่องว่างทางการตลาดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ทำให้ผู้เล่นรายใหม่สามารถแจ้งเกิดได้ ประกอบกับอุปสงค์ใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและธุรกิจที่เกี่ยวข้องเติบโตอย่างก้าวกระโดด ปัจจัยที่ 2.ผลพวงจาก Digital Disruption เป็นปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงภาคธุรกิจในระยะยาว เมื่อผู้บริโภคเริ่มคุ้นชินกับแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ประกอบการจึงมีโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ได้มากขึ้นแบบไร้ข้อจำกัดทางด้านเวลาและสถานที่ ปัจจัยที่ 3.การขยายธุรกิจข้ามอุตสาหกรรม เป็นการขยายโอกาสเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และเพิ่มฐานลูกค้าระหว่างผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันในแต่ละอุตสาหกรรม ก่อเกิดเป็นความร่วมมือที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจได้อย่างหลากหลายมิติมากขึ้น และปัจจัยที่ 4.กฎหมายบังคับใช้ใหม่จะเป็นตัวช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของภาคธุรกิจ ช่วยให้สามารถเตรียมความพร้อมในการนำข้อมูลผู้บริโภค ไปใช้ต่อยอดทางธุรกิจ อาทิ ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ซึ่งส่งผลต่อแนวทางการปฏิบัติด้านข้อมูล หากธุรกิจปรับตัวได้เร็วเท่าใดก็จะเกิดโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจได้เร็วยิ่งขึ้น
จากซ้าย(คนที่2) พชร อารยะการกุล, ฉันทชา สุวรรณจิตร์ และ ปกรณ์ เจียมสกุลทิพย์
ความพร้อมที่ต้องเตรียม จากปัจจัยข้างต้น การค้นหาโอกาสและทางรอดในยุคเศรษฐกิจผันผวน คือกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรที่ช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจและภาครัฐฯ ให้ฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 และเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดการระบาดระลอก 2 ซึ่งองค์กรต้องเตรียมความพร้อม ด้วย 4 แนวทาง ดังนี้ 1.ค้นหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ (New S – Curve) หรือสร้างธุรกิจใหม่ (New Venture Creation) องค์กรควรเตรียมธุรกิจให้พร้อมในช่วงนี้ เพื่อหวังสร้างผลกำไรยามเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ เพราะหากธุรกิจสามารถอยู่รอดและมีกลยุทธ์ที่ดี จะกลายเป็นอีกผู้เล่นหนึ่งที่น่าจับตา เช่น ธุรกิจค้าปลีกอาจวางกลยุทธ์ปรับช่องทางการขายหน้าร้านเดิมให้เป็น Third Place ที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ หรือเพิ่มช่องทางการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ 2.นำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาปรับใช้ ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นช่วงชะลอตัวของภาคธุรกิจ ถือเป็นโอกาสในการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มความสะดวกในการทำงานจากที่พักอาศัย เช่น การเก็บเอกสารในรูปแบบ Soft file ซึ่งสะดวกมากกว่าการเก็บเอกสารรูปแบบเดิมที่พนักงานจำเป็นต้องเข้าออฟฟิศมาจัดการ การจัดประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference) เป็นอีกหนึ่งช่องทางการสื่อสารระยะทางไกล หรือการใช้เครื่องมือเพื่อช่วยในการบริหารจัดการงานร่วมกับทีม 3.ลดต้นทุน (Cost) และเพิ่มความยืดหยุ่น (Flexibility) องค์กรควรแปลงค่าใช้จ่ายจากต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) สู่ต้นทุนแปรผันตามรายได้ (Variable Cost) ทั้งด้านบุคลากรและเทคโนโลยีที่สามารถเลือกใช้บริการได้ตามต้องการเพื่อบริหารค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การให้บริการจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านภายนอกองค์กร (Outsourcing) หรือการเลือกใช้ระบบซอฟต์แวร์แอปพลิเคชัน (Software as a Service-SaaS) ซึ่งส่วนใหญ่คิดค่าบริการตามลักษณะการใช้งาน (Pay-as-you-go) จากจำนวนผู้ใช้ ปริมาณที่ใช้ ระยะเวลาที่ใช้ เช่น การใช้งานระบบคลาวด์คอมพิวติ้งที่จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยรวมที่ถูก และสามารถเพิ่ม-ลดขนาดให้เหมาะกับธุรกิจได้ตลอดเวลา 4.สร้างพันธมิตรทางธุรกิจ (Partnership) องค์กรควรขยายโอกาสในการทำธุรกิจและปรับกลยุทธ์ในการขยายกิจการทั้งแนวตั้งและแนวนอน อาทิ การควบรวมกิจการ หรือการร่วมมือกับพันธมิตรข้ามอุตสาหกรรม ส่งผลให้มีโอกาสในการทำกำไร เพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด พร้อมทั้งลดต้นทุนผ่านการเพิ่มขนาดการผลิตในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน (Supply Chain) จนก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) เทคโนโลยียุค New Normal ด้าน ปกรณ์ เจียมสกุลทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี Chief Technology Officer (CTO) บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่าในเวลาวิกฤตเช่นนี้ ทุกคนต้องเร่งปรับตัว โดยเราจะเห็นเทรนด์เทคโนโลยีเด่นๆ บางอย่างที่จะตอบโจทย์ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) อาทิ การสร้างโอกาสจากข้อมูลที่อยู่บนช่องทางออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจได้ใช้ประโยชน์จาก Big Data เพื่อรองรับการเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาลและนำมาต่อยอดทางธุรกิจได้ รวมถึงเทคโนโลยีไร้การสัมผัส (Contactless Technology) ซึ่งรวมไปถึงระบบการรับชำระเงิน (Cashless Payment Solution) ที่จะถูกนำมาใช้กับผู้ให้บริการด้านต่าง ๆ อาทิ ร้านค้าปลีก ระบบขนส่งมวลชน ระบบการจอดรถ ฯลฯ เทคโนโลยีดังกล่าวนอกจากจะสามารถนำองค์กรไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อธุรกิจและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคด้วย ซึ่งทักษะด้านดิจิทัลถือเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้บุคลากรทันต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อองค์กรนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในกระบวนการทำงาน อีกหนึ่งทักษะที่สำคัญที่สุดของการปรับตัวด้านดิจิทัลคือความคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม (Innovative thinking) ที่สามารถนำเสนอรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่ช่วยสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจของตนอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขององค์กร 2 ประเภท คือองค์กรที่ยังไม่พร้อมในการปรับใช้เทคโนโลยี ควรมองหาผู้ช่วยหรือที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการวางแผนเพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ เนื่องจากหากทำเองอาจทำให้เริ่มต้นผิดจุดและมีค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล รวมทั้งมีต้นทุนค่าเสียโอกาสเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการออกแบบประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience - UX) และการออกแบบอินเตอร์เฟซเพื่อติดต่อกับผู้ใช้งาน (User Interface - UI) ในทางกลับกัน องค์กรที่มีความพร้อมอาจมองหาเครื่องมือที่เข้ามาช่วยทำให้ระบบการทำงานภายในเป็นอัตโนมัติมากขึ้น รวมทั้งควรนำแนวคิดการทำงานแบบ DevOps หรือการทำงานร่วมกันระหว่างทีมผู้พัฒนาและทีมปฏิบัติการให้ทำงานด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อนของกระบวนการ แนวคิดการทำงานแบบ CI/CD (Continuous Integration / Continuous Deployment - กระบวนการในการทำงานในด้านพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อลดระยะเวลาในการพัฒนา รวมทั้งรองรับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ง่าย เนื่องจากมีการดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและเป็นไปอย่างอัตโนมัติและทราบผลลัพธ์ได้ทันที) มาปรับใช้เพื่อทำให้สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์สู่ตลาดได้รวดเร็วมากขึ้น ขณะที่ ฉันทชา สุวรรณจิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ Chief Operation Officer (COO) บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด กล่าวเสริมว่า นอกเหนือจากการให้บริการที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และที่ปรึกษาด้านไอทีแล้วนั้น ในปีนี้บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นช่วยลูกค้าในการปรับตัวเพื่อรองรับความปกติใหม่ (New Normal) เพื่อให้กระบวนการทางธุรกิจของลูกค้ามีความเชื่อมโยงและสมดุลมากขึ้นทั้งในส่วนของกระบวนการหน้าบ้านและกระบวนการหลังบ้าน การนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ก็เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยการปรับกระบวนการทางธุรกิจนั้นจะช่วยให้องค์กรของลูกค้าไปสู่ความเป็นเลิศในการดำเนินงาน ‘Operational Excellence’ ภายใต้ 3 วัตถุประสงค์หลัก ได้แก่ กระบวนการการทำงานที่มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล สูงสุด รวมทั้งสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงทีอีกด้วย   อ่านเพิ่มเติม: “Friendship Economy” เศรษฐกิจใหม่ยุคโควิด  
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine