บรรลือศักร โสรัจจกิจ คุมต้นน้ำธุรกิจอาหารสัตว์ TFM - Forbes Thailand

บรรลือศักร โสรัจจกิจ คุมต้นน้ำธุรกิจอาหารสัตว์ TFM

TFM บริษัทแฟล็กชิปอาหารสัตว์น้ำที่เปรียบเหมือนธุรกิจต้นน้ำในห่วงโซ่อุปทานแห่งความยั่งยืนของกลุ่มไทยยูเนี่ยนได้รับการปลดล็อกศักยภาพการลงทุนเต็มพิกัด พร้อมเดินหน้าวางรากฐานการผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนอย่างแข็งแกร่งสู่เป้าหมาย 8 พันล้านบาทใน 5 ปี

ภาพรวมอุตสาหกรรมสัตว์น้ำของไทยยังคงมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่เฉพาะในประเทศแต่ยังได้รับการยอมรับจากต่างประเทศในฐานะหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมประมงที่สามารถส่งออกผลผลิตสัตว์น้ำที่เพียงพอไปยังตลาดสำคัญทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เป็นต้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กุ้ง กุ้งสดแช่เย็น และกุ้งสดแช่แข็ง ซึ่งประเทศไทยมีปริมาณการผลิตกุ้งติดอันดับ 6 ของโลกในปี 2563 ขณะที่ข้อมูลประมาณการของกลุ่มวิจัยและวิเคราะห์สถิติการประมง กองนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาการประมงได้ประเมินผลผลิตสัตว์น้ำของประเทศไทยในปี 2563 จำนวน 3,498,137 ตัน แบ่งเป็นผลผลิตที่มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ 2,553,101 ตัน และมาจากการเพาะเลี้ยง 945,036 ตัน โดยสะท้อนชัดถึงทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของประเทศที่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์กับหลากหลายภาคธุรกิจที่เชื่อมโยงกันในรูปแบบห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) การสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่อุปทานจำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำ ซึ่งยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมอาหารทะเลได้เล็งเห็นความสำคัญในการจัดตั้งบริษัทแฟล็กชิปด้านการผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำและสัตว์เศรษฐกิจแบบครบวงจร ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารกุ้ง ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารปลา (รวมอาหารกบและอาหารปู และกลุ่มอาหารสัตว์บก เช่น อาหารสุกร อาหารสัตว์ปีก โดยมอบหมายให้ บรรลือศักร โสรัจจกิจ นั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFM ในปี 2543 ถึงปัจจุบัน “ผมจบปริญญาตรีทางด้านสัตวบาลและทำงานเกี่ยวกับอาหารหมู ไก่ วัว เป็ด ประมาณ 3 ปี จากนั้นเมืองไทยก็เริ่มมีกุ้งกุลาดำเข้ามา ผมก็เป็นพนักงานขายคนแรกที่มาทำเรื่องอาหารกุ้งกุลาดำ และยังเคยเดินทางไปสำรวจเรื่องอาหารกุ้งที่ อินโดนีเซียเมื่อ 28 ปีที่แล้วจนกระทั่งผลิตอาหารกุ้งที่อินโดนีเซีย รวมถึงผมยังเป็นผู้บุกเบิกการเลี้ยงกุ้งที่เมียนมาด้วย ก่อนที่จะได้รับการชักชวนให้มาเป็นผู้บริหารและได้เป็นหุ้นส่วนถือหุ้นของ TU” จากความรู้และประสบการณ์ที่สะสม ทำให้บรรลือศักรมั่นใจในการรับภารกิจขับเคลื่อนธุรกิจต้นน้ำของกลุ่มไทยยูเนี่ยน ซึ่งเข้าซื้อธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารกุ้งของ บริษัท แอควาสตาร์ จำกัด พร้อมแบรนด์ PROFEED (โปรฟีด), AQUAFEED (แอควาฟีด) และ SEAFEED (ซีฟีด) ในปี 2543 หลังจากนั้น บริษัทจึงขยายโรงงานและเปลี่ยนแปลงที่ตั้งบริษัทจากโรงงานระโนดที่จังหวัดสงขลา เป็นโรงงานมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมเริ่มต้นส่งออกครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซียในปี 2543 ซึ่งได้เข้าทำสัญญาความร่วมมือทางเทคนิคและการอนุญาตให้ใช้ชื่อทางการค้า PROFEED และ NANAMI กับบริษัท AVANTI พันธมิตรทางธุรกิจในประเทศอินเดียในปี 2546 ก่อนจะขยายธุรกิจการผลิตและจำหน่ายอาหารปลาน้ำจืด เช่น อาหารปลานิล ปลาดุก และปลาทับทิม โดยยังขยายธุรกิจไปยังอาหารปลาทะเล ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำรายแรกๆ ของประเทศที่บุกเบิกเข้าสู่ธุรกิจอาหารปลากะพง รวมถึงต่อยอดสร้างการเติบโตไปยังธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์บกในปี 2562 “ไทยยูเนี่ยนซื้อกิจการในเดือนมิถุนายน ปี 2543 ผมเข้ามาเดือนสิงหาคมและเริ่มปรับปรุงโรงงาน 3 เดือนก็เริ่มผลิตอาหารกุ้งกุลาดำออกขายได้ถุงแรก หลังจากผ่านไป 1 ปีก็เริ่มเต็มกำลังการผลิตทำให้ต้องขยายโรงงานไปสมุทรสาคร และเราก็เริ่มมองว่า ถ้าเราอยู่กับกุ้งอย่างเดียวอาจจะมีความเสี่ยงและโอกาสการเติบโตมีข้อจำกัด เราจึงทำอาหารปลาและเป็นบริษัทแรกที่สามารถผลิตอาหารเม็ด 100 เปอร์เซ็นต์ สำหรับปลากะพงตั้งแต่ลูกปลาวัยอ่อนถึงโตเต็มวัย จนช่วงปลายปี 2561 การเติบโตของกุ้งกุลาดำเริ่มลดลงและกุ้งขาวมากขึ้น รวมถึงโรค EMS (Early Mortality Syndrome) ระบาดไปยังฟาร์มกุ้ง บวกกับเรามีที่ดินที่ระโนดอยู่ ทำให้เราเริ่มทำอาหารสัตว์บก” สำหรับผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้รับการจัดจำหน่ายหลากหลายแบรนด์โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารกุ้ง ซึ่งบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดอาหารกุ้งประมาณร้อยละ 17 ของปริมาณอาหารกุ้งไทยในปี 2563 และมีสัดส่วนรายได้จากการขายอาหารกุ้งในไตรมาสแรกปี 2564 ประมาณร้อยละ 43.3 นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารปลา (รวมอาหารกบและอาหารปู) แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ อาหารปลาทะเล เช่น อาหารปลากะพง ปลาเก๋า เป็นต้น อาหารปลาน้ำจืด เช่น อาหารปลานิล ปลาดุก อาหารสัตว์น้ำวัยอ่อนสำหรับการอนุบาลลูกปลา และอาหารกบ โดยครองสัดส่วนรายได้จากการขายอาหารปลาในไตรมาสแรกปี 2564 ประมาณ 41.4% รวมถึงกลุ่ม อาหารสัตว์บก แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ อาหารสุกร และอาหารสัตว์ปีก เช่น อาหารไก่ อาหารเป็ด และอาหารนกกระทา โดยบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการขายอาหารสัตว์บกในไตรมาสแรกปี 2564 จำนวน 10.5% “การผลิตอาหารสัตว์น้ำและสัตว์บกแตกต่างกันทั้งโรงงานและเครื่องจักร ซึ่งสัตว์บกจะไม่ยุ่งยากเหมือนสัตว์น้ำที่ใช้ไลน์ผลิตขนาดเล็กได้จำนวนไม่มากเท่าโรงงานผลิตอาหารสัตว์บกที่ใช้เครื่องจักรใหญ่และวัตถุดิบก็แตกต่างกัน รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ เช่น อาหารกุ้งที่ต้องให้ในน้ำและกินอาหารช้ามาก ทำให้การอัดเม็ดอาหารต้องมีเทคโนโลยีที่ทำให้อาหารคงตัวได้ ซึ่งจุดยืนของเราต้องการเป็นบริษัทที่เป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์เศรษฐกิจและเน้นเรื่องอัตราผลตอบแทนเป็นหลัก ทำให้เราโฟกัสที่ธุรกิจหลักที่เรามีความชำนาญอย่างอาหารสัตว์น้ำมากกว่า ส่วนอาหารสัตว์บกจะเป็นการใช้ facility ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นรายได้เพิ่มกำไรให้บริษัท” ดังนั้น ในปัจจุบันบริษัทแบ่งสัดส่วนกำลังการผลิตอาหารกุ้งจำนวน 153,000 ตันต่อปี อาหารปลา 90,000 ตันต่อปี และอาหารสัตว์บก 30,000 ตันต่อปี โดยรวมกำลังการผลิตอาหารสัตว์ทั้งโรงงานมหาชัยและโรงงานระโนดรวมกัน 273,000 ตันต่อปี รุกขยายน่านน้ำอาเซียน แม้บริษัทจะสามารถสร้างการเติบโตในประเทศและเปิดพรมแดนการแข่งขันส่งออกต่างประเทศนับตั้งแต่ปี 2543 ไม่ว่าจะเป็นประเทศศรีลังกา มาเลเซีย บังกลาเทศ เมียนมา ปากีสถาน และสาธารณรัฐมัลดีฟส์ เป็นต้น แต่ด้วยปัจจัยด้านต้นทุนค่าขนส่งและเสริมความแข็งแกร่งในการรุกตลาดต่างประเทศ ทำให้บริษัทเล็งเห็นความสำคัญในการจับมือกับพันธมิตรท้องถิ่นเดินหน้าขยายฐานธุรกิจในต่างประเทศ เช่น AVANTI Feeds Limited (AVANTI) ผู้ผลิตอาหารกุ้งรายใหญ่ของประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 500 อันดับแรกของอินเดีย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินเดีย “เรามองเรื่องการเติบโตในต่างประเทศด้วย เพราะในอดีตเราเคยส่งออกสัดส่วน 15% แต่ตอนหลังลดลงเหลือ 5% และ 3% ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีบริษัทท้องถิ่นและประเทศอื่นๆ เข้าไปลงทุนจำนวนมาก ประกอบกับค่าเงินอ่อนทำให้การแข่งขันกับ local ลำบาก แต่ขณะนี้เรามั่นใจมาก เพราะไม่ได้ส่งออกจากเมืองไทย แต่เป็นการลงทุนกับพาร์ตเนอร์ที่อินโดนีเซียและปากีสถาน โดยยังมี AVANTI สนใจเข้าร่วมกับเราด้วย ซึ่งในอดีต AVANTI เคยเป็นเบอร์ 1 และกลายเป็นเบอร์ 4 ของอินเดียจนมาขอความร่วมมือกับเราในแง่วิชาการ เทคนิคการผลิต และการบริหารเกี่ยวกับอาหารสัตว์น้ำ โดยเราเซ็นสัญญาความร่วมมือกับเขาให้ใช้สินค้าแบรนด์ของเรา รวมถึงส่งทีมเข้าไปช่วยตั้งแต่ 18 ปีที่แล้วทำให้เขากลับมาเป็นเบอร์ 1 ของอินเดีย จากยอดขาย 30,000-40,000 ตันต่อปี เป็น 300,000-400,000 ตันต่อปี” บรรลือศักรให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขยายธุรกิจที่ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยการเข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจในการจัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศดังกล่าว คือ บริษัท พีที ไทยยูเนี่ยน คาริสม่า เลสทารี จำกัด หรือ TUKL โดยมีพันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่ พันธมิตรท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจแปรรูปอาหารแช่แข็งรายใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงมีการดำเนินธุรกิจฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้ง โดยมีผลผลิตกุ้งประมาณ 6,500 ตันต่อปี และ AVANTI และ Srinivasa Cystine Private Limited ซึ่งเป็นบริษัทของผู้ถือหุ้นของ AVANTI ขณะเดียวกันบริษัทยังร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัทย่อย AMG-Thai Union Feedmill (Private) Limited หรือ AMG-TFM ในประเทศปากีสถานเมื่อปี 2564 เพื่อประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศปากีสถาน โดยกลุ่ม AMG ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจอาหารสัตว์น้ำรายสำคัญในประเทศปากีสถานร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจถือหุ้นในสัดส่วน 49% บรรลือศักรยังกล่าวถึงแผนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อเพิ่มสายการผลิตอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินโดนีเซียอีก 2 สายการผลิต และทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 36,000 ตันต่อปีในปี 2566 ซึ่งใช้เงินลงทุนไม่เกิน 250 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะนำเงินชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินจำนวนไม่เกิน 250-350 ล้านบาทในเดือนมีนาคม ปี 2565 รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจ พร้อมมองโอกาสขยายฐานลูกค้าไปยังประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโต โดยมีปัจจัยสำคัญในการพิจารณา ได้แก่ ความเป็นไปได้ของการลงทุน อัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ ความเสี่ยงและแนวทางการบริหารหรือลดความเสี่ยง นอกจากนั้น บริษัทยังวางกลยุทธ์การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และประสิทธิภาพการผลิตตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันอย่างยั่งยืนผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสูตรอาหารสำหรับสัตว์น้ำชนิดใหม่ เพื่อส่งเสริมให้มีสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น อาหารปลากะพงยักษ์ ปลาเก๋า อาหารปลาสลิด อาหารปู และปลากดคัง เป็นต้น “เรามองการเติบโตจากนี้ในช่วง 5 ปีในประเทศประมาณ 6-7 พันล้านบาท รวมกับต่างประเทศเป็น 8 พันล้าน ส่วน 1 หมื่นล้านอาจจะ 10 ปี ซึ่งคีย์สำคัญอยู่ที่คุณภาพของ บุคลากรทั้งความรู้ ความสามารถ ความมุ่งมั่นและความทุ่มเท เพราะถ้าเรามีบุคลากรที่ดีจะทำให้เราสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและต้นทุนสามารถแข่งขันได้ ประกอบกับเรามีคู่ค้าที่ดี ลูกค้า ตัวแทนจำหน่าย ผู้เลี้ยง สัตว์ทุกชนิด และพาร์ตเนอร์ที่เราต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ซึ่ง 20 ปีที่ผ่านมาเราได้พัฒนาสินค้าจนมีความหลากหลายทุกระยะการเลี้ยงสัตว์” ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine