"ยอด ชินสุภัคกุล" นำทัพ LINE MAN Wongnai ติดปีกยูนิคอร์นหมื่นล้าน - Forbes Thailand

"ยอด ชินสุภัคกุล" นำทัพ LINE MAN Wongnai ติดปีกยูนิคอร์นหมื่นล้าน

สตาร์ทอัพแพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหารที่สามารถสร้างปรากฏการณ์ควบรวมธุรกิจส่งอาหาร และนั่งเก้าอี้บัญชาการผสานจุดแข็งเชื่อมต่อบริการเสิร์ฟความต้องการครบวงจร พร้อมสร้างผลงานเติบโตติดสปีดคว้าเงินลงทุนเพิ่มมูลค่าบริษัทพันล้านเหรียญฯ ปั้นฝันยูนิคอร์นไทยทะยานขึ้นทำเนียบตลาดหลักทรัพย์ฯ


    การรวมกลุ่มเพื่อนนักศึกษาที่เล็งเห็นโอกาสเริ่มต้นบุกเบิกแพลตฟอร์มรวมข้อมูลและรีวิวร้านอาหารในยุคที่สมาร์ทโฟนยังเป็นเครื่องมือสื่อสารเฉพาะกลุ่มและสตาร์ทอัพยังเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย 

    แต่ด้วยความเชื่อมั่นในความต้องการและช่องว่างทางธุรกิจจากประสบการณ์ใช้ชีวิตในต่างประเทศและใช้บริการเว็บไซต์แนะนำร้านอาหารของสหรัฐอเมริกาเป็นประจำ 

    ทำให้เกิดแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นพัฒนาเว็บไซต์สำหรับผู้ใช้งานในไทยได้แบ่งปันประสบการณ์และแนะนำร้านอาหารตามพื้นที่ต่างๆ ทำให้ร้านอาหารขนาดเล็กสามารถเข้าถึงผู้บริโภคและเป็นที่รู้จักในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว

    “แม้จะเป็นนักเรียนคอมพิวเตอร์ แต่เราชอบพรีเซนต์งานมากกว่าการเขียนโปรแกรมล้วนๆ หลังจากเรียนจบเราจึงทำงานเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ฝั่งดูแลลูกค้าด้าน support consultant ประมาณ 4-5 ปี และเลือกเรียนต่อ MBA ที่ UCLA 

    ระหว่างนั้นเพื่อนชาวสเปนก็ชวนทำสตาร์ทอัพ TrustBeat ที่อเมริกาเป็น social network แนะนำของให้คนอื่นๆ โดยจ้างทีมอินเดียเขียนโปรแกรมและเปิดตัวจนมีคนใช้งานหลักพันคน 

    แต่การระดมทุนที่นั่นค่อนข้างยาก เพราะเราเป็นนักเรียนต่างชาติรู้จักคนไม่มาก และการแข่งขันที่อเมริกาสูง รวมถึงต้องพึ่งพาคนเขียนโปรแกรม ทำให้ธุรกิจแรกของเราไม่สำเร็จ แต่ก็ทำให้รู้ว่าเราชอบทำสตาร์ทอัพ”

    ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai ในวัย 40 ปี เล่าถึงช่วงเวลาหลังสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทำงานในตำแหน่ง Support Manager กับ Thomson Reuters ราว 4 ปี 

    ก่อนจะตัดสินใจศึกษาต่อ MBA ที่ UCLA Anderson School of Management สหรัฐอเมริกา และได้เริ่มต้นก้าวแรกในธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้านจนต้องปิดตัวลงในเวลา 1 ปี

    อย่างไรก็ตาม ยอดสามารถถอดประสบการณ์ความล้มเหลวที่ผ่านมาเป็นบทเรียนสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทย ด้วยการชักชวนเพื่อนที่มีความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์หรือการเขียนโปรแกรมจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันก่อตั้ง บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด ในวันที่ 12 กรกฎาคม ปี 2553 

    โดยเล็งเห็นโอกาสจากการใช้งานเว็บไซต์ Yelp.com ค้นหาร้านอาหารในสหรัฐอเมริกาเป็นประจำ ซึ่งช่วงเวลานั้นยังไม่มีเว็บไซต์สัญชาติไทยที่ให้บริการแพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหารจากผู้ใช้งานจริง

    “การรีวิวร้านอาหารน่าจะเป็นตลาดที่ใหญ่พอในเมืองไทยและเมืองไทยยังไม่มี เราจึงชวนเพื่อนที่เก่งด้านเขียนโปรแกรมเข้ามาทำวงในดอทคอมด้วย เพราะเราเห็นจุดอ่อนของสตาร์ทอัพแรกที่ไม่มีวิศวกรคอมพิวเตอร์ของตัวเอง ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการพัฒนาระบบ 

    ซึ่งในสมัยนั้นเว็บไซต์ส่วนใหญ่ของไทยยังไม่มีเว็บไซต์ในลักษณะ user-generated content หรือมีน้อย และสตาร์ทอัพยังเป็นเรื่องใหม่ ทำให้เราต้องใช้เงินทุนของตัวเองจนเงินเก็บหมดและบริษัทต้องรับงานเขียนโปรแกรมเพื่อให้มีรายได้ทำวงในต่อ 

    เราพยายาม 2-3 ปี จนกระทั่งสมาร์ทโฟนมีคนใช้งานมากขึ้นในปี 2555-2556 เราเริ่มทำแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้งานสามารถเห็นเรตติ้ง ทำให้คนชอบและดาวน์โหลดแอปจนการเติบโตก้าวกระโดด”

    “สถานการณ์ช่วงนั้นมีความเสี่ยงพอสมควรกว่าจะได้รับเงินทุนจากญี่ปุ่น แต่เพราะผู้ร่วมก่อตั้งทุกคนไม่ยอมแพ้ และพยายามเปลี่ยนความผิดหวังเป็นพลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น โดยแรงดลใจของเราน่าจะมาจากความเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำอยู่ 

    และจากการพูดคุยกับผู้ใช้งานจริงที่รีวิวเยอะมาก ทำให้รู้ว่าเขาชอบ product ของเราที่สามารถเข้าไปเติมเต็มความต้องการใช้งานได้ รวมทั้งยังทำให้เราเชื่อมั่นว่า เราสามารถเติบโตได้จากตรงนี้ เราจึงเดินหน้าสู้ต่อ แม้รายได้จะยังไม่เข้ามาหรือต้องขาดทุนก็ตาม”


ปั้นแพลตฟอร์ม Super Lifestyle

    ฟ้าหลังฝนของวงในสามารถสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดทันทีที่ได้รับเงินระดมทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ทำให้จำนวนรีวิวเพิ่มขึ้นหลายเท่าและผู้ใช้งานจากหลักหมื่นเป็นหลักล้านคน พร้อมทั้งเดินหน้าขยายธุรกิจไปยังหัวเมืองต่างจังหวัดให้ครอบคลุมทั่วประเทศยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา ชลบุรี หัวหิน หาดใหญ่ และภูเก็ต

    ขณะเดียวกันบริษัทยังพัฒนาบริการให้มีความหลากหลายเพื่อเชื่อมต่อกับผู้ใช้งานได้ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ของคนไทย ไม่ว่าจะเป็น Wongnai Beauty, Wongnai x LINE MAN, Wongnai Cooking, Wongnai Travel และลงทุนใน FoodStory จำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เปิดตัว Wongnai POS by FoodStory ร่วมกันสร้างระบบจัดการร้านอาหารให้ผู้ประกอบการสามารถเชื่อมต่อกับผู้บริโภคผ่าน Wongnai รวมถึงแพลตฟอร์มอย่าง SCB Easy และ LINE MAN


    “ภาพรวมของเราในวันนี้เติบโตมากกว่าวันแรกที่ก่อตั้งค่อนข้างมาก ถ้าถามว่า ขั้นไหนของธุรกิจที่เราชอบมากที่สุด เราก็จะตอบว่า วันนี้เสมอ เพราะเราคิดว่าเราต้องทำให้ดีกว่าเมื่อวานทั้งเรื่องขนาดของธุรกิจ คุณภาพของทีมงาน ผลิตภัณฑ์ และการบริการให้ผู้บริโภคหรือคนอื่นๆ 

    รวมทั้งรายได้ กำไรที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยการทำให้วันนี้ดีกว่าเมื่อวานเสมอถือเป็นหน้าที่ของเรา และเราคิดว่าเราอยู่ใน stage ที่ค่อนข้างแข็งแรงและธุรกิจหลากหลาย แม้จะแข่งขันสูง แต่ตลาดใหญ่และเติบโตได้อีกมาก”


ปักหมุด National Champion

    ปัจจุบันบริษัทสามารถสร้างการเติบโตเป็นแพลตฟอร์มด้านไลฟ์สไตล์ของคนไทย ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่บริการค้นหาข้อมูล Wongnai ที่มีผู้ชม 14 ล้านคนต่อเดือน และบริการออนดีมานด์ LINE MAN ที่มีผู้ใช้มากกว่า 10 ล้านคน ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด 250 อำเภอทั่วไทย และร้านค้าในระบบมากกว่า 1 ล้านราย 

    รวมถึงผู้ขับขี่หรือไรเดอร์มากกว่า 100,000 คน โดยมีธุรกิจในเครือ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มบริการออนดีมานด์ ซึ่งให้บริการภายใต้แบรนด์ LINE MAN ครอบคลุมการส่งอาหาร สินค้า Messenger และแท็กซี่

    ขณะเดียวกันบริษัทยังให้บริการกลุ่มโซลูชันสำหรับร้านค้าและร้านอาหาร ซึ่งบริษัทมีฐานข้อมูลร้านค้าและร้านอาหารมากกว่า 1 ล้านร้านทั่วประเทศ ให้บริการค้นหาข้อมูลร้านอาหารและรีวิวจากผู้ใช้งานจริง พร้อมทั้ง Wongnai POS ระบบจัดการร้านอาหารและการขายผ่านเดลิเวอรี โดยมีผู้ประกอบการร้านอาหารใช้งานมากกว่า 50,000 ร้าน

    รวมถึงกลุ่มธุรกิจเสริมมูลค่า ซึ่งต่อยอดจากฐานผู้ใช้งานเดลิเวอรีที่มีทั้งผู้ใช้ ผู้ขับขี่ และร้านอาหารจำนวนมาก นำมาสู่ธุรกิจใหม่ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าแก่ทุกภาคส่วนในอีโคซิสเต็ม โดยมีทั้งธุรกิจโฆษณาสำหรับร้านอาหารและธุรกิจบริการทางการเงิน


    “ความสนใจของนักลงทุนประกอบด้วยหลายอย่าง อย่างแรกต้องมาจากความเชื่อมั่นในธุรกิจ การบริหารของทีม และมองถึงผลกำไรในอนาคต โดยความเชื่อมั่นมาจากข้อได้เปรียบของเรา ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าจำนวนมากจากการรวมกันของวงในและ LINE MAN พร้อมระบบ POS ที่ให้ร้านค้า และความเข้าใจร้านค้า 

    ซึ่งเราภูมิใจกับจุดแข็งด้าน synergy ของเรา รวมทั้ง relationship ระหว่างเรากับ LINE ที่ทำงานร่วมกัน ด้วยผลงานตลอด 2 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ merge แสดงให้เห็นถึงความสามารถของเราที่ไปได้ลึกและกว้างในเวลาอันรวดเร็ว เราสามารถสร้าง innovation ใหม่ๆ และตอบสนองความต้องการของคนไทยได้เป็นอย่างดี”

    ยอดกล่าวถึงการนำเงินระดมทุนมาเสริมความแข็งแกร่งในธุรกิจส่งอาหารเพิ่มมากขึ้น และการขยายบริการใหม่ พร้อมเดินหน้าสู่เป้าหมายขึ้นเป็น national champion ในอุตสาหกรรมส่งอาหารของประเทศไทย

    “เราวางแผนลงทุนเรื่องเทคโนโลยีจำนวนมาก เพราะสุดท้ายสินค้าของเราก็อยู่บนเทคโนโลยี ซึ่งมีอย่างน้อย 6 แอปที่ต้องดูแล และแต่ละแอปมีสิ่งที่ต้องพัฒนาค่อนข้างมาก รวมทั้งการนำเงินทุนใช้ในการแข่งขัน เนื่องจากธุรกิจการส่งอาหารมีการแข่งขันสูง 

    ทำให้เราต้องลงทุนสร้างการเติบโตและแข่งขันได้ต่อไป สุดท้ายน่าจะเป็นการลงทุนธุรกิจใหม่ โดยทุกปีหรือครึ่งปีเราจะมี new business ออกมาเสมอ เพื่อต่อยอดจากธุรกิจปัจจุบันและทำให้ชีวิตของคนดีขึ้น”

    สำหรับกลยุทธ์ธุรกิจโฆษณาที่วางไว้ในปีนี้มุ่งเน้นการสร้าง Hub of KOLs เป็น one-stop solution ช่วยให้แบรนด์สามารถเชื่อมต่อกับ nano-influencer ที่มีสไตล์การนำเสนอคอนเทนต์แบบผู้บริโภคจริงทั่วประเทศ และขยายไลน์อัปคอนเทนต์ผ่านช่องทางของวงใน 

    รวมทั้งให้ความสำคัญกับการนำเสนอตำแหน่งของสื่อโฆษณาสำหรับแบรนด์ต่างๆ ทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ที่เชื่อมโยงกัน โดยไฮไลต์ที่งาน LINE MAN Wongnai Food Festival 2023 ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบไฮบริดครั้งแรก

    ยอดย้ำถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพการปรับตัวและต่อยอดธุรกิจให้เติบโตได้อย่างสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง ด้วยหลักการบริหารที่มุ่งเน้นความรวดเร็วและการตัดสินใจที่เด็ดขาด 

    รวมถึงการให้ความใส่ใจในทุกรายละเอียดของธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์คนไทยทั่วประเทศให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

    โดยการเชื่อมต่อร้านค้า ผู้ประกอบการธุรกิจ SME และไรเดอร์ให้มีรายได้มากขึ้น พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานสามารถใช้บริการได้ครอบคลุมความต้องการทั่วประเทศ

    “คำแนะนำสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่เริ่มต้นใหม่ ถ้าเป็น consumer tech หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคโดยตรงอาจจะต้องเผชิญกับการแข่งขันสูงมาก โดยเฉพาะคู่แข่งระดับโลกหรือโซเชียลมีเดีย 

    ดังนั้น สตาร์ทอัพใหม่อาจจะลองมองธุรกิจที่เกี่ยวกับ B2B ซึ่งต้องอาศัย network คุยกับบริษัทต่างๆ อาจจะเป็นก้าวแรกที่ดีในการเริ่มต้น รวมทั้งเรื่อง profitability เป็นเรื่องสำคัญในยุคนี้ 

    ยกเว้นว่ามี consumer จำนวนมาก แต่ถ้า B2B เรื่อง profitability ตั้งแต่วันแรกสำคัญมาก เพราะการระดมทุนช่วงปีแรกทำได้ยาก ทำให้ต้องพยายามอยู่ได้ด้วยตัวเอง สุดท้ายเรื่อง founder สิ่งหนึ่งที่เราเป็นและใช้ได้ดีคือ เราต้อง open และปรับตัวค่อนข้างสูง ตลาดอยู่ตรงไหน โอกาสอยู่ตรงไหน เราต้องสามารถปรับตัวได้เร็ว”



ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์


อ่านเพิ่มเติม : "สุพจน์ ประกิจจานุรักษ์" ชูภาพลักษณ์ใหม่ Amari พัทยา


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine