สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ เสริมฐานทุน “MGC-ASIA” - Forbes Thailand

สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ เสริมฐานทุน “MGC-ASIA”

​กว่า 22 ปีในธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์หรู เรือยอช์ต และบริการครบวงจรเกี่ยวกับการเดินทาง สร้างชื่อและการยอมรับมาอย่างต่อเนื่อง ขยายอาณาจักรยานยนต์และการเดินทางครอบคลุมทุกเซกเมนต์ เมื่อจะนำกิจการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่หลายคนให้ความสนใจ


    MGC-ASIA ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์หรู ซึ่งเป็นทั้งเอ็กซ์คลูซีฟดีลเลอร์ ผู้นำเข้า และผู้แทนจำหน่ายรถยนต์แบรนด์ดังหลากหลาย เช่น BMW, MINI, Honda, Rolls-Royce, จักรยานยนต์ Harley-Davidson เรือยอช์ต Azimut, บริการเช่าเครื่องบินส่วนตัว VistaJet และล่าสุดตัวแทนจำหน่ายเรือแม่น้ำ Chris-Craft จากสหรัฐอเมริกา ผู้ค้าปลีกยานยนต์และบริการต่อเนื่องรายนี้ กำลังก้าวสู่การเติบโตครั้งสำคัญด้วยการนำกิจการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

    “เราเป็นหนึ่งในผู้นำค้าปลีกยานยนต์ด้าน Mobility Lifestyle ที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลางและขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) หรือ MGC-ASIA เริ่มบทสัมภาษณ์กับทีมงาน Forbes Thailand ในโอกาสที่กำลังนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุนสำหรับการเติบโตรอบใหม่ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของยุคดิจิทัล

    ปี 2543 MGC-ASIA หรือมิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) ก่อตั้งขึ้นพร้อมกับการเริ่มต้นของยุคมิลเลนเนียมในคริสต์ศักราช 2000 ด้วยธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์แบรนด์ดังจากเยอรมัน BMW เป็นการเริ่มต้นธุรกิจในยุคเปลี่ยนผ่านหลังช่วงวิกฤตการเงินในเอเชียปี 2540 (วิกฤตต้มยำกุ้ง) ซึ่งมีส่วนทำให้ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์หรูเปลี่ยนมือ สัณหวุฒิขณะนั้นอายุเพียง 26 ปี เป็นคนหนุ่มไฟแรงที่ก้าวเข้าสู่ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ BMW ด้วยความชอบส่วนตัวที่มีต่อยนตรกรรมหรูแบรนด์นี้


    ปีแรกในฐานะตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ BMW มิลเลนเนียมกรุ๊ปฯ ทำได้เกินคาดด้วยยอดขาย 333 คัน จากนั้นธุรกิจเติบโตต่อเนื่องมาตลอด โดย 10 ปีแรกโตแบบ organic growth ยอดขายโตตามความต้องการตลาด “ปีที่ 10-15 โตแบบ expansion growth ถ้าดูจาก timeline จะเห็นว่า MGC-ASIA ขยายค่อนข้างเยอะในช่วงปี 2553-2558” 

    สัณหวุฒิแจกแจงก้าวย่างการเติบโตใน 2 ยุคแรก ก่อนเผยถึงการเติบโตช่วงที่ 3 ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2559 มาถึงปัจจุบัน เขานิยามการเติบโตรอบนี้ว่า เป็น synergy growth หมายถึงการโตไปพร้อมกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในอีโคซิสเต็มด้านยานยนต์ โดยเริ่มจากการเป็นผู้แทนจำหน่ายขยับมาสู่บริการหลังการขาย และต่อยอดไปสู่บริการที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ อย่างครบวงจร


4 ธุรกิจต่อยอด Mobility

    “Ecosystem ของ MGC-ASIA เรามี 4 ธุรกิจหลัก ธุรกิจแรกคือ ยานยนต์ โดยเป็นพาร์ตเนอร์กับแบรนด์ชั้นนำระดับโลกครอบคลุมทุก segment ทั้ง high luxury, ultra-high-net-worth รวมถึงกลุ่ม mass ” ซีอีโอหนุ่มอธิบายพร้อมยกตัวอย่างกลุ่ม ultra-high คือ รถยนต์ Rolls-Royce ซึ่ง MGC-ASIA เป็นผู้จำหน่ายแบบเอ็กซ์คลูซีฟผู้เดียวในไทย ส่วนกลุ่ม high luxury คือ BMW และ MINI ในฐานะตัวแทนจำหน่ายหลัก

    ส่วนกลุ่มแมสคือ การเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ Honda นอกจากนั้นทางกลุ่มฯ ยังเป็นตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์แบรนด์คลาสสิก Harley-Davidson และเป็นตัวแทนจำหน่ายเรือยอช์ตในกลุ่ม top end ของ Azimut Group เจ้าของแบรนด์ Azimut Yachts โดยเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายเพียงผู้เดียว นอกจากนี้ ล่าสุด MGC-ASIA ยังเป็นตัวแทนจำหน่ายเรือแม่น้ำ Chris-Craft ที่มีประวัติมายาวนานตั้งแต่สมัยสงครามโลกและเป็นความภาคภูมิใจของชาวอเมริกัน เนื่องจากเป็นเรือที่รัฐบาลให้ช่วยรบ หลังก่อกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี 1840

    กลุ่มที่ 2 คือ ธุรกิจบริการหลังการขาย เป็นการขยายธุรกิจให้ควบคู่กับสินค้าที่ขายในกลุ่มยานยนต์ทั้งหมด รวมถึงจักรยานยนต์บิ๊กไบค์และเรือ เป็นบริการเพื่อดูแลลูกค้าให้ได้รับความพึงพอใจสูงสุด
กลุ่มที่ 3 เป็นธุรกิจทางเลือกให้ลูกค้าทั้งบุคคลทั่วไปและองค์กรคือ ธุรกิจ fleet operating lease หรือรถเช่า 

    โดยบริการนี้ลูกค้ายังคงได้ใช้รถเหมือนเดิมแต่ความเป็น ownership เปลี่ยนไปซึ่งหมายถึงการบันทึกทรัพย์สินอาจจะไม่เหมือนกัน ธุรกิจนี้ดำเนินการผ่านบริษัทรถเช่า Master Car Rental และ Sixt “เราเป็นตัวแทน Sixt มากว่า 10 ปี ทำตลาดในไทยและบางประเทศในภูมิภาคที่เป็นพาร์ตเนอร์” เป็นอีกหนึ่งก้าวย่างที่น่าสนใจ เนื่องจาก Sixt บริการรถเช่าระดับสากลนี้สะท้อนเรื่องของการท่องเที่ยว

    กลุ่มที่ 4 คือ ธุรกิจเกี่ยวกับการเงิน ประกันภัย และนวัตกรรม โดยธุรกิจการเงิน MGC-ASIA ได้ร่วมทุนกับ SCBX ของธนาคารไทยพาณิชย์ จัดตั้งบริษัท Alpha X ขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจเกี่ยวกับลิสซิ่ง เช่าซื้อ การจำนำรถและเรือในกลุ่มลักชัวรี่ “Alpha X มีสัญญาณที่ดีหลังจากเปิดมาได้ 7-8 เดือน มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการอย่างมีนัย”


เทรนด์ใหม่เช่าแทนซื้อ

    “เรากำลังคิดและมีโอกาสทำหลายเรื่อง เนื่องจากมีแบรนด์ใน portfolio ที่ค่อนข้างดีและมากพอ” เขามองว่านี่คือข้อได้เปรียบในการทำตลาด เช่นเดียวกับการทำตลาดเรือ ซึ่งเป็น private เหมือน private jet เป็นสินค้าลักชัวรี่ที่มีระบบ ownership program มาช่วยตัดปัญหาเรื่องการดูแลจากการซื้อมาเป็นการเช่าใช้ และรวมทุกอย่างเข้าไปโดยมีโปรแกรมทางการเงินครบทั้งหมด จะซื้อขาดก็ได้ เช่าใช้ก็ได้ หรือเช่าซื้อก็ได้เช่นกัน และยังสามารถนำมาหักภาษีได้ เพราะเรือเป็นเครื่องจักรสามารถหักลดหย่อนได้ 100%

    “ต่อไปคนจ่าย 30,000 บาทก็ได้เรือเล่นแล้ว โดยรวมหมดทุกอย่างยกเว้นเพียงกัปตัน เราหา dry dock ให้ด้วย เก็บเรือให้ด้วย” เขาอธิบายการขายเรือพร้อมข้อเสนอที่อำนวยความสะดวกลูกค้าทุกอย่าง เพียงจ่ายค่าเช่า 30,000 บาท หรือวางเงินดาวน์จัดลีสชิ่ง ถ้าเช่าใช้ก็จ่ายเหมือน subscription คล้ายการดูภายนตร์ผ่าน Netflix ซึ่งมีโปรแกรมให้เลือกตามความต้องการ 

    เขาจะนำไปเชื่อมกับการขายทั้งรถและเรือ โดยมีแพลตฟอร์มรองรับ เช่น จ่าย 30,000 บาท มีระดับและรุ่นรถให้เลือกเซ็นสัญญา 1 ปี สามารถเลือกรถขับได้ สิ่งเหล่านี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา ซีอีโอ MGC-ASIA บอกว่า แนวคิดนี้สิ่งที่แพงไม่ใช่รถหรือเรือ แต่เป็นซอฟต์แวร์ซึ่งประเทศไทยยังไม่มี โดยก่อนหน้านี้หลายค่ายเคยประกาศไว้แต่สุดท้ายยังทำไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ทำยากเนื่องจากต้องเชื่อม tech code และซอฟต์แวร์ต้องฉลาดมาก

โตยั่งยืนทั้งแนวลึก-กว้าง

    ซีอีโอ MGC-ASIA ย้ำว่า มิลเลนเนียมกรุ๊ปฯ จะเติบโตใน 2 แนวทางทั้งแนวลึกและแนวขยาย “ผมอยากให้มองเป็นแกน X และแกน Y คือมิติในการขยายธุรกิจของเรา แกน X คือส่วนของธุรกิจที่มีอยู่เราจะขยายเพิ่มขึ้นทั้งรายได้และผลกำไรโดยเรียกว่าเป็น vertical expansion” นั่นคือ การขยายธุรกิจแนวตั้ง หมายถึงธุรกิจที่มีอยู่เดิมจะขยายให้ใหญ่ขึ้นและสร้างความได้เปรียบเพื่อครอบคลุมลูกค้ามากขึ้น บริการลูกค้าให้ดีขึ้นด้วยการเปิดสาขาเพิ่ม

    ส่วนการขยายแนวราบ horizontal คือแกน Y เป็นการขยายธุรกิจใหม่หรือเพิ่มนวัตกรรมให้กับธุรกิจ เช่น ปัจจุบัน MGC-ASIA ได้พัฒนาบริการของ loyalty program ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะเข้ามาปลั๊กอินกับระบบนิเวศธุรกิจของทั้งกลุ่มในการขยายธุรกิจให้สมบูรณ์แบบและเข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุด

    สำหรับรายได้ในปีที่ผ่านมาพบว่า สัดส่วน 80% มาจากรายได้การขายยานยนต์ต่างๆ รายได้ส่วนที่ 2 คือ ธุรกิจบริการหลังการขายมีสัดส่วนประมาณ 15% และกลุ่มสุดท้ายคือ ภาคบริการคิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 5% จากยอดรายได้รวมปี 2565 (9 เดือน) ที่ทำได้กว่า 16,657 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากยอด 9 เดือนของปี 2564 ที่ทำได้กว่า 14,604 ล้านบาท


เพิ่มพอร์ต Marine

    นอกเหนือจากธุรกิจที่ขยายต่อเนื่องแล้ว สัณหวุฒิยังได้กล่าวถึงสิ่งที่กำลังจะทำเพิ่มว่า “เราต้องการสร้าง blue ocean ในธุรกิจใหม่คือ ธุรกิจ marine ซึ่งหากเข้าไปจุดนี้จะเกิดขึ้นได้เร็ว” เนื่องจาก MGC-ASIA มีระบบนิเวศด้าน marine ของตัวเองไม่ต้องไปต่อสู้แข่งขันด้านราคากับใคร เพราะตลาดนี้ไม่ใช่ red ocean ผู้เล่นยังมีน้อย

    “สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาน่าสนใจมาก ตั้งแต่สมุทรปราการถึงอยุธยาเรามองว่าเป็นเทรนด์ของคนไทยที่ได้รับความสนใจ เป็นสิ่งที่ลูกค้าเราปรารถนาและเป็นไลฟ์สไตล์ของฐานลูกค้าที่มีกว่า 500,000 ราย” เขาบอกว่า จากฐานลูกค้าที่มีอยู่เพียง 1% ที่สนใจธุรกิจเรือแม่น้ำจะทำให้เกิด synergy ทางธุรกิจขึ้นได้ และเชื่อว่าจะสามารถอัพสเกลขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด

    อย่างไรก็ดีธุรกิจ marine เดิมนั้น MGC-ASIA ทำอยู่แล้วด้วยเรือยอช์ต Azimut “ตอนที่เราเริ่มทำเมื่อ 7 ปีที่แล้วเรือยอช์ตมีน้อยยังไม่ดัง แต่วันนี้ทุกสื่อรวมถึงลูกค้าของเรารู้จักเรือยอช์ต รวมทั้งในโซเชียลต่างๆ ออกมาเยอะ” นี่คือสัญญาณที่ชัดเจนว่าธุรกิจเกิดขึ้นแล้ว

    แผนงานและก้าวย่างของ MGC-ASIA ภายใต้การนำของซีอีโอหนุ่มเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นองค์กรค้าปลีกยานยนต์ยอดขายกว่า 2 หมื่นล้านบาทนี้มีเป้าหมายที่ไม่หยุดนิ่ง “ผมให้ทีมงานท่องไว้เสมอว่า เรายังเล็กอยู่ เรายังจนยังไม่มีเงิน เพราะถ้ามีเงินก็คงไม่ต้องระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ” สัณหวุฒิเผยสิ่งที่เขาปลูกฝังกับทีมงานต่อเนื่องมาถึงการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ


    นอกจากนี้ ข้อคิดที่เขามักบอกกับลูกน้องเสมอคือ ฝันให้ไกลไปให้ถึงและอยู่ให้เป็น “ผมสอนลูกน้องให้อยู่เป็นกับพาร์ตเนอร์ เพื่อนร่วมงาน เจ้านายและลูกค้า ถ้าอยู่ไม่เป็นจะลำบากทุกข์และอยู่ไม่ได้”
แม้จะมองว่าการก้าวสู่ภูมิภาคคือความท้าทาย แต่ สัณหวุฒิ ยืนยันว่าเขายังคงนำ MGC-ASIA ไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น “เราตั้งใจให้เป็นแบบนั้น หากถามว่า จะ deliver ได้ขนาดไหนก็อยู่ที่จังหวะและโอกาส โดยจังหวะคือ timing สภาพเศรษฐกิจแต่ละประเทศและความพร้อมบุคลากรของเรา” 

    เขาบอกด้วยว่า MGC-ASIA เป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทของไทยที่ขยายธุรกิจรีเทลในต่างประเทศ การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นจุดเริ่มต้นอีกก้าวโดยเขาคาดว่าหลังจากนี้จะเติบโตด้านรายได้เป็นเลข 2 หลัก 

    จากนี้ไปคงต้องเฝ้ามองการเติบโตของ MGC-ASIA ในฐานะบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะสะท้อนการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกยานยนต์ยุคใหม่ด้วยคอนเซ็ปต์ Mobility Lifestyle Ecosystem ว่าจะตอบโจทย์ตลาดได้เร็วเท่าทันการเปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมผู้บริโภคเพียงใด ภายใต้บริบทที่สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน


ภาพ: กิตติเดช เจริญพร



อ่านเพิ่มเติม: วรฉัตร ลักขณาโรจน์ ก้าวใหม่ของ Grab


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine

​​