กุลภา อิงค์ธเนศ ทายาท “SVOA” เชื่อมโลกธุรกิจด้วยแนวคิดดิจิทัล - Forbes Thailand

กุลภา อิงค์ธเนศ ทายาท “SVOA” เชื่อมโลกธุรกิจด้วยแนวคิดดิจิทัล

เมื่อโลกดิจิทัลไล่ล่าธุรกิจ ดิจิทัลเป็นคำตอบแทบทุกเรื่องในโลกปัจจุบัน ซึ่งนับรวมถึง อาณาจักร SVOA ภายใต้การบริหารของทายาทรุ่นสอง กุลภา อิงค์ธเนศ ที่เข้ามาบริหารธุรกิจไอทีท่ามกลางกระแสคลื่นของเทคโนโลยี

ราวบ่าย 2 ของวันทำงานกลางสัปดาห์ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทีมงาน Forbes Thailand มีนัดสัมภาษณ์นักธุรกิจสาวสองพี่น้อง นักธุรกิจสาวคนแรกในการสัมภาษณ์ครั้งนี้คือ กุลภา อิงค์ธเนศ บุตรสาวของ แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ ปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVOA ในที่นี้หมายถึงการเป็นซีอีโอผู้นำทัพคนใหม่ของ SVOA ที่เพิ่งเปิดตัวกับภารกิจใหม่นี้ไปเมื่อกลางปี 2563 หลังจาก แจ็ค มินทร์ ผู้เป็นบิดาต้องการส่งต่อธุรกิจสู่ทายาททั้ง 3 คน โดยบุตรชายคนโตดูแล IT CITY และบุตรสาวอีก 2 คนดูแล SVOA และธุรกิจไอทีโซลูชันใหม่ๆ ที่ปรับตามเทรนด์เทคโนโลยี กุลภา เป็นบุตรคนที่ 2 แต่เธอเป็นบุตรสาวคนโตของบ้านอิงค์ธเนศ ครอบครัวนักธุรกิจชาวไต้หวันที่เข้ามาลงหลักปักฐานการทำธุรกิจในเมืองไทย ในจังหวะนี้ แจ็ค มินทร์ ในวัย 66 ต้องการส่งไม้ต่อธุรกิจสู่มือทายาททั้ง 3 คน ดังนั้นโอกาสเติบโตของ SVOA ในยุค new normal จึงขึ้นอยู่กับผู้บริหารเจเนอเรชั่นใหม่ ซึ่งในส่วนของ IT CITY ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ด้านไอทีเทคโนโลยียังคงเดินหน้าและปรับตัวตามกระแสค้าปลีกที่หันหัวรบไปสู่สมรภูมิการค้าออนไลน์มากขึ้น ส่วนธุรกิจหลัก SVOA และบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มที่ครอบคลุมธุรกิจไอทีและโซลูชันเพื่อบริการแก่องค์กรต่างๆ คือความท้าทายใหม่ เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว พฤติกรรมตลาดเปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ บริการด้านไอทีและโซลูชันจึงต้องก้าวตามให้ทัน และดูเหมือนสองสาวพี่น้อง กุลภา วัย 36 และพิรดา วัย 32 ปี ได้เตรียมพร้อมรองรับความเปลี่ยนแปลงไว้มากพอสมควร ความท้าทายใหม่ “SVOA ก่อตั้งเมื่อปี 2525 ผ่านยุคขาขึ้นขาลงของไอทีมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันเราเป็น holding group มองหา investment ใหม่ๆ ด้านไอทีอย่างต่อเนื่อง เรามี 4 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประกอบด้วย IT, SVOA, LIT, SPVI แบ่งโครงสร้างเป็น 3 level” กุลภา เริ่มบทสัมภาษณ์ด้วยการย้อนภาพรวมการเติบโตของบริษัทและกิจการในกลุ่ม ที่มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึง 4 บริษัท และมีบริษัทอื่นๆ ที่เปิดตัวตามมาในระยะหลัง พร้อมแจกแจงการลำดับธุรกิจว่า level แรก คือ SVOA ซึ่งเป็นกิจการที่ก่อตั้งมายุคแรกจำหน่ายสินค้าไอทีต่างๆ โน้ตบุ๊ก พรินเตอร์ แกดเจ็ตต่างๆ ผ่านช่องทางจัดจำหน่ายทั่วประเทศ โดยมีพาร์ตเนอร์กลุ่มดีลเลอร์ทั่วประเทศ รวมถึงกลุ่มรีเทล เชนสโตร์ และโมเดิรน์เทรด นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจแนวดิ่ง (vertical) เช่น ซอฟต์แวร์การออกแบบ เครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่ซึ่งมีตลาดเฉพาะทาง รวมทั้งมีไอทีโปรเจ็กต์ การขายสินค้าและบริการครบวงจรให้หน่วยงานของภาครัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ Level 2 เป็นบริษัทในเครือที่ SVOA ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ เช่น บริษัท ดาต้าวัน ซึ่งทำธุรกิจขายสินค้าและให้บริการโซลูชันต่างๆ กับกลุ่มธนาคาร ประกันภัย กำลังขยายไปเฮลท์แคร์ และล่าสุดได้ก่อตั้ง บริษัท ดิจิเทค วัน ขึ้นมารองรับการเปลี่ยนแปลง ทั้งตัวแอปพลิเคชันต่างๆ ที่กำลังมา “ตรงนี้เราพัฒนาและขยายต่อไป โดยมีบริษัทให้บริการโดยเฉพาะคือ ASYS ครอบคลุมทั่วประเทศ ให้บริการสินค้าและบริการที่เราขายเองแบบครบวงจร ตั้งแต่ติดตั้ง ดูแลบำรุงรักษา และ IT outsourcing” กุลภาเล่าอย่างรวบรัด ก่อนจะอธิบายว่า ทุกบริการของบริษัทมีพนักงานพร้อมให้บริการ ปัจจุบันมีลูกค้าจากแบรนด์ชั้นนำทั้งแบรนด์สินค้าไอที โทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องใช้ไฟฟ้า มอบหมายให้ทางกลุ่มฯ เป็นผู้ซ่อมบำรุงรักษาผลิตภัณฑ์ที่ขาย ส่วนธุรกิจใน level 3 คือ บริษัทในเครือที่ SVOA ถือหุ้น 20-30% เช่น บมจ. ไอที ซิตี้ บริษัทผู้ค้าสินค้าไอที อุปกรณ์ไอทีต่างๆ ครบทุกยี่ห้อซึ่งล่าสุดได้ควบรวมกิจการกับบริษัท ซีเอสซี บริการขายมือถือ ทำให้ปัจจุบันมีทั้งอุปกรณ์ไอที เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์มือถือ และไอที ซีตี้ ยังถือหุ้นให้ บมจ. เอสพีวีไอ ที่จำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์แอปเปิล มีร้านค้าตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ แม้แต่ในมหาวิทยาลัย “ถ้ารวมทั้ง 3 level เรามีเครือข่ายร้านค้า 400 ร้านค้าทั่วประเทศ มีรายได้รวมกันกว่า 2 หมื่นล้านบาท” กุลภา ย้ำถึงความแข็งแรงของกลุ่มธุรกิจในเครือ SVOA ที่วันนี้เติบโตบนฐานที่แข็งแกร่งหากเทียบย้อนกลับไปในยุคที่ต้องเผชิญวิกฤตต้มยำกุ้ง ครั้งนั้นแทบมองไม่เห็นภาพการเติบโตในอนาคต นอกจากบริการด้านไอทีและโซลูชันใหม่ๆ แล้ว แม่ทัพ SVOA เผยว่า อีกธุรกิจที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันนั่นคือบริการด้านการเงิน บมจ. ลีซ อิท ที่ให้บริการเป็นแหล่งการเงินสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อทำให้สามารถทำธุรกิจต้นน้ำส่งต่อถึงปลายน้ำ “3 ปีก่อนเราได้ลงทุนใน บริษัททัช ปรินท์ติ้ง พิมพ์แบบดิจิทัล มีทั้งการขายและบริการค่อนข้างครบ เหมือนองค์กรขนาดใหญ่และผู้บริโภคทั่วไป เราเป็นทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในอุตสาหกรรมไอที” เป็นอีกหนึ่งจุดแข็งที่เข้ามาเสริมความแข็งแรงให้กับ ecosystem ของธุรกิจไอทีเชื่อมโยกับเอสเอ็มอีได้อย่างกลมกลืน โควิดส่งผลบวกไอที ในปี 2563 ที่ผ่านมาหลายธุรกิจเผชิญปัญหาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่มีบางธุรกิจที่ได้รับผลดี ธุรกิจไอทีอยู่ในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ได้รับผลบวกไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ไอที แอปพลิเคชันต่างๆ มีสินค้าไอทีบางตัวที่รับผลกระทบบ้าง และแม้ผู้คนจะหันมาใช้ระบบดิจิทัลในการทำธุรกรรมต่างๆ มากขึ้นก็ตาม แต่ความมั่นคงและปลอดภัยทางเทคโนโลยีคือสิ่งที่ต้องมีมากขึ้น โดยภาพรวมแล้วถือว่าผลบวกมีมากกว่าผลลบ คำกล่าวนี้พิสูจน์ได้ด้วยตัวเลขยอดขาย SVOA ตามข้อมูลที่ระบุในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งพบว่า รายได้รวมปี 2563 ของบริษัทที่ทำได้ 7,847 ล้านบาทนั้นเพิ่มสูงขึ้นจากรายได้รวม 7,444 ล้านบาทในปี 2562 กำไรสุทธิก็เช่นเดียวกัน ในปี 2563 ทำได้ 139 ล้านบาท ขณะที่ปี 2562 ทำได้ 123 ล้านบาท “รายได้ที่ console มีไอที ดิสทริบิวชั่น ไอทีโปรเจ็กต์ ดาต้าวัน และบริษัทย่อยๆ เหมือนรับแค่ผลกำไรมารวบรวม โดยรายได้เรารวมเฉพาะ SVOA และบริษัทย่อยประมาณ 50% มาจากดิสทริบิวชั่น อีกกว่า 20% มาจาก SI และกว่า 20% จากโปรเจ็กต์ ถือว่าโชคดีที่อุตสาหกรรมไอทีได้อานิสงส์จากการแพร่ระบาด” เธอย้ำและว่าสิ่งที่มองเห็นได้ชัดคือ คนหันมาทำงานจากที่บ้าน เรียนที่บ้าน ทำให้สินค้าไอทีเติบโต เช่น โน้ตบุ๊ก จอมอนิเตอร์ ที่จำเป็นต้องซื้อเมื่อทำงานที่บ้านนานๆ การใช้โน้ตบุ๊กอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ หรือเครื่องไม่ได้รับการอัพเกรด กุลภาเผยว่าสินค้าอีกกลุ่มที่มาแรงและเติบโตอย่างต่อเนื่องคือตลาดเกมมิ่ง เพราะเทรนด์เปลี่ยนไป เกมคอมพิวเตอร์ไม่ใช่แค่เกมเท่านั้น ปัจจุบันสามารถใช้เป็นอาชีพได้ มีการแข่งขัน เกิดเป็นสายงานขึ้นมา และอี-สปอร์ตก็ได้รับการยอมรับ มีการแข่งขัน “เดี๋ยวนี้ผู้บริโภคเปลี่ยนไป เวลาซื้อคอมฯ เขาเลือกทุกชิ้นส่วนเองเพราะมันมีผลต่อการเล่น ความเร็ว อย่างในเคสมี CPU, mainboard และมี character อีกแบบคือ เครื่องที่ประกอบจะบ่งบอก character คนคนนั้น” เป็นเทรนด์ที่เห็นได้ชัดซึ่งแม่ทัพ SVOA บอกว่า แต่ละคนเลือกสเปกชิ้นส่วนและประกอบเครื่องออกมาไม่เหมือนกัน 4 ทศวรรษโตพร้อมคู่ค้า การสร้างฐานแรงงานรุ่นใหม่เพื่อรองรับไอทีที่เปลี่ยนไป เป็นกิจกรรมกึ่งซีเอสอาร์ที่ SVOA ไม่ได้หยิบยกมาประชาสัมพันธ์มากนักทั้งที่ทำมาอย่างต่อเนื่องตลอดเกือบ 4 ทศวรรษของการดำเนินธุรกิจ เช่นเดียวกับอีกสิ่งที่ค่ายไอทีย่านพระราม 3 ทำมาตลอด นั่นคือ การสร้างความเติบโตให้กับองค์กรและคู่ค้าไปพร้อมๆ กัน ประสบความสำเร็จและล้มบ้างในบางครั้ง แต่ก็ฟันฝ่าอุปสรรคมาจนกระทั่งปัจจุบัน “เราเรียนรู้จากลูกค้า ด้วยความที่มีประสบการณ์ทำมากว่า 40 ปี มีคู่ค้า พาร์ตเนอร์ ลูกค้าไว้วางใจให้บริการ เราอยากเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของลูกค้า การที่ลูกค้าประสบความสำเร็จ เราสามารถเติบโตไปพร้อมๆ กับเขาได้ เราได้เรียนรู้ตอนแรกทำค้าส่ง พอคู่ค้าต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเราก็จัด บมจ. ลีซ อิท ขึ้นมารองรับส่วนนี้ให้ดำเนินธุรกิจได้อย่าง smooth แม้แต่ลูกค้าอยากให้ทำบริการครบวงจร เขาอยากโฟกัสเฉพาะธุรกิจหลัก เราทำบริษัท ASYS ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการหลังการขายออกมารองรับ เราเรียนรู้จากลูกค้า เพื่อ serve เขาและเติบโตไปพร้อมกับเขา” กุลภา ย้ำชัดเจนถึงวิถีการทำธุรกิจ การดูแลใส่ใจและพัฒนาบริการให้ธุรกิจก้าวไปข้างหน้าพร้อมกันได้อย่างลงตัว เมื่อถามถึงหลักคิดในการทำงานและสิ่งที่ได้รับจากคุณพ่อ กุลภาไม่ลังเลที่จะตอบว่า “เราเรียนรู้เรื่องอดีตเพื่อใช้ในอนาคต สิ่งที่เราเรียนอาจใช้ไม่ได้ตลอด เพราะทุกอย่างมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่เราเรียน วิธีการคิด กระบวนการ เราจะเชื่อเรื่องการเรียนรู้ตลอดเวลา พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น” เป็นหลักคิดคร่าวๆ ในการทำงานและการใช้ชีวิตของกุลภา ส่วนสิ่งที่เธอรับมาจากบิดาคือการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง “คุณพ่ออาจวางแผนไว้ตั้งแต่ต้นให้เราฝึกทำงานจริง เรียนจากหลายๆ ที่ เพื่อให้เรามีประสบการณ์ที่หลากหลายเพื่อนำมาใช้” กุลภาอธิบายและว่า การเรียนรู้ตลอดเวลาเป็นหลักคิดสำคัญ SVOA ถือเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ มีการพัฒนาบุคลากรต่อเนื่อง รวมถึงการคืนสู่สังคม เธอบอกว่า SVOA เป็นพาร์ตเล็กๆ ในมูลนิธิที่คุณแจ็คก่อตั้งขึ้นคือ “มูลนิธิสร้างสรรค์ไทย” ซึ่งมีศูนย์การเรียนรู้ 14 แห่ง เป็นห้องคอมฯ ห้องสมุด คนที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีจึงเข้าถึงได้ และโครงการ “การ์ดนี้เพื่อน้อง” เปิดเวทีให้เด็กจากมูลนิธิต่างๆ มาวาดภาพประกวด ก่อนจบการสัมภาษณ์กุลภาบอกว่า อยากเห็น SVOA เป็นผู้นำไอทีของประเทศไทยเพราะค่อนข้างครบทุกเซกเมนต์ แต่ก็ยังมองหาโอกาสเรื่อยๆ ในการลงทุน ทั้งในเครือหรือบริษัทสตาร์ทอัพใหม่ๆ ไอเดียที่นำมาตอบสนองลูกค้าได้ ควบคู่กับการพัฒนาส่วนหลักให้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยี และมองหาโอกาสจากการลงทุนเพิ่มเติมตลอดเวลา ภาพ: กิตติเดช เจริญพร, SVOA อ่านเพิ่มเติม: พิรดา อิงค์ธเนศ ปั้น “SaaS Business Model” https://www.instagram.com/p/COiIZR6rvCX/
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine