พจนา พะเนียงเวทย์ จากบัณฑิตสายอาร์ตสู่แม่ทัพ "มาม่า" - Forbes Thailand

พจนา พะเนียงเวทย์ จากบัณฑิตสายอาร์ตสู่แม่ทัพ "มาม่า"

คนที่ชื่นชอบงานศิลปะย่อมมีอารมณ์สุนทรีย์และไม่ค่อยยี่หระกับเรื่องธุรกิจ สนใจเรื่องความงามและคุณค่าทางอารมณ์มากกว่า แต่ทว่า "พจนา พะเนียงเวทย์" ไม่ใช่ หลังเรียนจบนิเทศศิลป์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังก็เข้าทำงานในระบบ และแน่นอนเธอเริ่มต้นจากงานด้านศิลปะ

พจนา พะเนียงเวทย์ ย้อนอดีตก่อนจะมาเป็นผู้บริหาร “มาม่า” ว่า เธอไม่ได้เรียนมาเพื่อทำธุรกิจครอบครัว แต่เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบ ซึ่งบิดาของเธอก็ไม่เคยบังคับ “จบนิเทศศิลป์ลาดกระบังค่ะ รุ่นที่ 1 รุ่นเดียวกับสามโทน จากนั้นก็ไปเรียนต่อคอมพิวเตอร์กราฟิกที่อเมริกา” นั่นคือการศึกษาและความสนใจที่พจนามีให้กับงานด้านศิลปะ หลังจบจากสหรัฐอเมริกาเธอไปทำงานที่ฟาร์อีสท์แอ๊ดเวอร์ไทซิ่งอยู่ 1 ปี หลังจากนั้นบิดาก็ดึงกลับมาช่วยงาน โดยให้ดูแลแผนกอาร์ตของธุรกิจครอบครัว ซึ่งแยกเป็นอีกบริษัท “เรานำเครื่อง Macintosh เข้ามาใช้ ซึ่งตอนนั้นแพงมาก ทำบริษัทพรีเซนเทชั่นและรีทัชภาพอยู่ 1-2 ปี คุณพิพัฒก็เรียกไปคุย” นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ พจนา พะเนียงเวทย์ ได้เข้ามาดูแลงานของครอบครัวอย่างจริงจัง โดยเส้นทางสู่ผู้บริหารของพจนาเริ่มต้นด้วยการเรียนรู้เช่นเดียวกับคนอื่น “เริ่มจากดูแลโรงงานที่ร่วมกับคนฮ่องกงผลิตบะหมี่ยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งยอดขายดีมาก แต่นิชชินซื้อไปแล้ว โรงงานมี 2 ไลน์การผลิตก็ดูตลาดฮ่องกงแล้วขยายมาดูออสเตรเลีย ไม่ได้ดูมาม่า ดูแบรนด์อื่นที่เป็น OEM” พจนาเล่าถึงจุดเริ่มต้นในธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปว่า ช่วงแรกไม่กดดัน เนื่องจากเป็นการดูแลโรงงานที่ผลิตให้กับแบรนด์อื่น “ตอนคุณพิพัฒบอกให้มาดูมาม่า นอนไม่หลับไป 3 วัน ในหัวก็คิดตลอดเราจะสามารถทำได้หรือ มันดูยิ่งใหญ่มาก แต่ก็มาคิดได้ว่าเขาให้โอกาสเราแล้วถ้าไม่ทำวันนี้จะทำวันไหน” เธอจึงตัดสินใจตกลง และได้ทำงานกับแบรนด์มาม่ามาตั้งแต่ปี 2535 หลังจากนั้นในปี 2541 บิดาเธอบอกให้มาขายมาม่าได้แล้ว “ต้องขอบคุณที่คุณพิพัฒให้โอกาส ถ้าไม่ตัดสินใจว่ามาลองสักยกก็คงจะไม่มีวันนี้” นั่นคือเส้นทางสู่ตำแหน่งแม่ทัพการตลาดทั่วโลกของแบรนด์ “มาม่า” ที่พจนารับผิดชอบอยู่ในปัจจุบัน

- อินกับงานยิ่งเรียนรู้ยิ่งสนุก -

ทำมากว่า 20 ปีถามว่า อินกับงานแค่ไหน พจนาตอบโดยทันทีว่า “อินค่ะ ตอนบอกให้มาทำงานที่นี่แรกๆ ถามว่า MD ที่นี่ทำอะไร น้องคนหนึ่งบอก พี่เซ็นชื่อแล้วกลับบ้านได้เลย ง่ายแบบนี้เลยหรือ ดูไม่สนุกไม่ท้าทายแต่ในที่สุดก็ได้เรียนรู้และสนุกขึ้นเรื่อยๆ” พจนาพยายามเพิ่มพูนความรู้เสมอ ในช่วงแรกเธอไปเรียนที่กรมส่งเสริมการส่งออกเป็นประจำ “ถ้ากรมฯ บอกให้ไปพูดให้ฟัง จะตอบตกลงทุกครั้งโดยไม่รู้ว่าให้พูดอะไร” นั่นเพราะรู้สึกคุ้นเคยและได้ความรู้จากกรมนี้มาเยอะมาก เพราะมีกี่หลักสูตรพจนาเรียนหมด และระหว่างเรียนเธอได้นำตัวเองไปอยู่ในโรงงาน และด้วยความที่เป็นบุตรสาวเจ้าของจึงเข้าได้ทุกแผนก เดินดูไลน์การผลิต วางแผนการผลิตอย่างไร ติดสติ๊กเกอร์แล้วมีปัญหาอย่างไร แม้กระทั่งจัดซื้อก็เข้าไปดู ได้เรียนรู้งานทุกแผนก นอกจากเรียนรู้หน้างานและหลากหลายหลักสูตรจากกรมส่งเสริมการส่งออกฯ พจนายังเรียนรู้โดยตรงจากบิดาในการออกทริปธุรกิจของจริง เธอไม่เบื่อที่จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์เหล่านั้นมาเป็นทุนรอนในการทำงาน “ตอนช่วงต้นที่ทำส่งออกคุณพิพัฒพาไปต่างประเทศด้วย ทำให้ได้เห็นเทคนิคการดูแลลูกค้าและการขายในเวลาเดียวกัน” แม้จะก้าวสู่การเป็นผู้บริหารที่ดูแลตลาดส่งออกและการทำตลาดแบรนด์มาม่าไปทั่วโลก แต่พจนามักพูดติดตลกเมื่อเทียบภารกิจที่ทำกับพี่น้องซึ่งต่างมีหน้าที่ในการดูแลธุรกิจต่างกัน “เราเป็นลูกคนที่ 2 คุณพจนีดู R&D ยังเคยแซวกันเล่นๆ คุณพจนีใช้สมองทำงาน ส่วนพจนาใช้แรงงาน เวลาคนถามว่าทำงานอะไรที่มาม่า ก็จะบอกเป็นสาวโรงงานค่ะ” พูดจบก็หัวเราะ อย่างอารมณ์ดี เมื่อพูดถึงพี่น้องทุกคนที่มี ทั้งช่วยงานในเพรซิเดนท์ฟูดส์และบางคนทำกิจการของตัวเองซึ่งทุกคนสามัคคีกันดี ส่วนตัวพจนา ภารกิจที่รับมาดูตลาดต่างประเทศและเป้าหมายที่จะเพิ่มยอดส่งออกให้ได้ 50% เท่ากับยอดขายในประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า เป็นความท้าทายที่น่าสนุก ด้วยปณิธานที่รับมาจากบิดาคือ “ความอดทน เมื่อตั้งเป้าแล้วต้องทำให้ถึง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต้องซื่อสัตย์ ขยัน อดทน และสุดท้ายคือ ความสามัคคี” นั่นคือหลักที่พจนาใช้ในการดำเนินชีวิตและการทำงานตลอดมา   ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ TFMAMA อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine