วัลยา จิราธิวัฒน์ ภารกิจแม่ทัพใหม่ CPN - Forbes Thailand

วัลยา จิราธิวัฒน์ ภารกิจแม่ทัพใหม่ CPN

1 มกราคม ปี 2565 นอกจากจะเป็นวันเริ่มต้นของปีแล้ว ยังเป็นบันทึกใหม่ของ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) (CPN) เนื่องจากมีซีอีโอหญิงคนแรกที่รับตำแหน่งต่อจากปรีชา เอกคุณากูล ผู้เป็นหัวเรือใหญ่ที่สร้างความเติบโตให้กับบริษัทมา 8 ปี และปลุกปั้นให้ศูนย์การค้าเซ็นทรัลทุกสาขาเป็น Center of Life ศูนย์กลางการใช้ชีวิตที่อยู่ในใจของลูกค้าทั่วประเทศ

แม้จะเป็นแม่ทัพหญิงคนใหม่ของธุรกิจศูนย์การค้าเซ็นทรัล ทว่า วัลยา จิราธิวัฒน์ ไม่ใช่คนแปลกหน้าของที่นี่ เพราะตำแหน่งล่าสุดคือ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทั้งยังร่วมงานกับเซ็นทรัลพัฒนามา 17 ปีแล้ว

ท่ามกลางสภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 ธุรกิจศูนย์การค้าซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของบริษัทได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ต้องปิดการให้บริการศูนย์การค้าชั่วคราวในพื้นที่ควบคุมหลายเดือน ประกอบกับเซ็นทรัลพัฒนาได้ปรับลดค่าเช่าพื้นที่ รวมถึงคิดค้นบริการใหม่บนแฟลตฟอร์มอื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มยอดขายให้กับลูกค้า

โดย 9 เดือนแรกของปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตที่สุดของปี บริษัทมีรายได้รวม 20,995 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11 แต่ยังคงมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 5,332 ล้านบาท สะท้อนถึงการบริหารจัดการทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ และการปรับตัวที่ยืดหยุ่น ขณะที่ปี 2563 บริษัทมีรายได้รวม 32,062 ล้านบาท กำไรสุทธิ 9,557 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2562

หลังมาตรการคลายล็อกดาวน์ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น ทำให้จำนวนผู้ใช้บริการศูนย์การค้ากลับมาเกือบร้อยละ 80 สำหรับสาขาในกรุงเทพฯ และเกือบร้อยละ 100 สำหรับสาขาในต่างจังหวัด ทั้งนี้ ผู้บริหาร CPN คาดการณ์ว่า รายได้ปี 2564 จะใกล้เคียงกับปี 2563

รวดเร็วและยืดหยุ่น

หลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 ผ่านมา 2 ปี CPN มีการปรับกลยุทธ์และก้าวข้ามไปอย่างไร

วัลยา จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับทีมงาน Forbes Thailand บนชั้น 32 ของอาคารสำนักงานที่เซ็นทรัลเวิลด์ในช่วงสายวันหนึ่งของเดือนพฤศจิกายน ปี 2564

แม่ทัพคนใหม่ของ CPN เอ่ยถึงความท้าทายในการเข้ารับตำแหน่งใหม่ว่า ไม่ได้อยู่ที่ความรู้ในเนื้องานหรือความเข้าใจธุรกิจองค์กร เพราะทำงานกับเซ็นทรัลพัฒนามากว่า 17 ปีแล้ว จึงไม่ต้องปรับเปลี่ยนหรือทำความเข้าใจในเนื้องานใหม่

โจทย์ใหญ่ขณะนี้คือ การทำให้รายได้กลับมาใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 ซึ่งในส่วนของธุรกิจศูนย์การค้าบริษัทมีการปรับตัวตลอดเวลาเพื่อสนองตอบความต้องการของลูกค้า เช่น พฤติกรรมการช็อปปิ้งออนไลน์ การทำงานแบบเวิร์กไลฟ์บาลานซ์ การใช้ชีวิตแบบ next normal เป็นต้น

การปรับกลยุทธ์เพื่อให้ยืนหยัดท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องมีความรวดเร็ว ยืดหยุ่น จะเป็นทั้ง rapid agility หรือ resilience เราปรับกลยุทธ์ให้ dynamic ไปกับผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งในบทบาทความเป็นผู้นำที่ต้องสร้างความมั่นใจให้กับพนักงาน 5,000 คน ต้องพยายาม empower เขาว่า ทำอะไรได้ ไม่ได้ สร้างเสริมให้เพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ให้ความสำคัญกับ OKR (Objective & Key Result) มากกว่าการวัดด้วย KPI เพียงอย่างเดียว

บริษัทผ่านวิกฤตมาหลายครั้ง ทุกครั้งทำให้เข้มแข็งขึ้น แต่สิ่งที่พึงระลึกไว้เสมอคือ ต้องปรับตัวให้เร็ว มีความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับธุรกิจค้าปลีก

ถ้าเรามี strategy มีแผนธุรกิจหรือกลยุทธ์ที่ชัดเจน เราจะนำพาองค์กรและก้าวข้ามผ่านสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ เซ็นทรัลพัฒนามีศูนย์การค้า 36 แห่ง (35 สาขาในประเทศไทย 1 แห่งในมาเลเซีย) ส่วนใหญ่อยู่ในทำเลที่ดียอดเยี่ยม ผลประกอบการดีมาก แต่พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทำให้เราต้องกลับมานั่งคิด เนื่องจากเรามีสิ่งที่เป็น asset ที่ดีอยู่แล้ว ลูกค้าไว้วางใจ แต่จะทำอย่างไรให้เข้าใจบริบทของเรา และเราต้องปรับตาม วัลยา กล่าว

เราต้องการให้ศูนย์การค้าเป็น experience mall หมายความว่า เข้ามาสัมผัสแล้วรู้สึกสนุกสนานไปกับการใช้ชีวิต ก่อนหน้านี้อาจเน้นด้านการค้าขายเป็นหลัก ทว่าปัจจุบันเป็นมากกว่าสถานที่ช็อปปิ้ง ให้ลูกค้าเข้ามาแล้วได้ผ่อนคลายกับครอบครัว เพื่อนฝูง สามารถหา trend ความรู้หรือกิจกรรมใหม่ๆ รวมทั้งต้องมีช่องทางเชื่อมโยงหรือ engage ให้กับลูกค้า แม้จะอยู่บ้านหรือที่ทำงานก็สามารถเข้าถึงศูนย์การค้าได้ เรามองว่า เราเป็น omnichannel อีกช่องทางหนึ่ง ลูกค้าสามารถมา connect กับเราผ่านการ chat and shop สั่งซื้อสินค้า หรือไลฟ์สตรีมมิ่ง เพื่อช่วยร้านค้าต่างๆ ขายสินค้า นี่เป็นสิ่งใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามา

ปัญหาคือความท้าทาย

วัลยาเป็นบุตรของ เตียง และ วิภา จิราธิวัฒน์ และเป็นเจเนอเรชั่นที่ 2 ซึ่งมีความใกล้ชิดกับเจเนอเรชั่นที่ 3 อย่าง ทศ-กอบชัย จิราธิวัฒน์ และ ยุวดี พิจารณ์จิตร

หลังจบการศึกษาปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ University of California, Los Angeles (UCLA) และปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ University of Hartford ประเทศสหรัฐอเมริกา วัลยา จิราธิวัฒน์ ขณะอายุ 24 ปี และมาเริ่มทำงานในปี 2528 โดยสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ พี่ใหญ่ของครอบครัวมอบหมายให้เป็นผู้จัดการซูเปอร์มาร์เก็ตที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล สีลม ซึ่งเธอได้ริเริ่มปรับโฉมซูเปอร์มาร์เก็ต มีการนำตู้เย็นมาจัดเก็บผักผลไม้ เพื่อคงความสดไว้ให้นานที่สุด รวมทั้งแนะนำเจ้าของสินค้าให้ทำระบบบาร์โค้ดเพื่อเช็กยอดขายได้ง่ายขึ้น

ปี 2531 เป็นกรรมการผู้จัดการเซ็นทรัลมาร์เก็ต กระทั่งปี 2539 บริษัท เอโฮลด์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต มาเปิดตลาดในไทยและร่วมกับเครือเซ็นทรัล บริษัทจึงให้วัลยาเป็น Co-CEO ร่วมกับชาวต่างชาติ และย้ายมาดูแลธุรกิจศูนย์การค้าในปี 2545 ซึ่งขณะนั้นบริษัทมีศูนย์การค้า 9 แห่ง รวมทั้งดูแลการพัฒนาโปรเจ็กต์ทุกขั้นตอนของเซ็นทรัล เฟสติวัล ภูเก็ต กระทั่งเปิดให้บริการในปี 2547 ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

โปรเจ็กต์ใหญ่ต่อมาคือ เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งเปิดตัวในปี 2549 และเป็นโครงการ mixed-use ขนาดใหญ่ที่สุดใจกลางเมือง ซึ่งมีทั้งศูนย์การค้า ออฟฟิศ 2 อาคาร และโรงแรมเซ็นทารา

ระหว่างปี 2541-2547 รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ปี 2548 ย้ายมาทำงานที่เซ็นทรัลพัฒนาในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและบริหารโครงการก่อสร้าง เป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารในปี 2561 และรับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ในวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา

ตลอดระยะเวลาการทำงาน 36 ปีกับเซ็นทรัลกรุ๊ป หลักคิดในการทำงานของวัลยาคือ มีความมุ่งมั่นไม่เคยย่อท้อกับปัญหา คิดว่าปัญหามีไว้ให้แก้ไข และทุกปัญหาคือความท้าทาย

เธอกล่าวว่า สิ่งสำคัญเราต้องกล้าตัดสินใจและรู้จักที่จะเดินหน้า เพราะถ้าเราไม่เดินหน้า ไม่ลงมือทำ สิ่งนั้นก็จะไม่เกิดขึ้น เราต้องมีความมุ่งมั่น มีความจริงใจ ต้องสร้างความมั่นใจให้กับเพื่อนๆ พนักงานทุกคน และรู้ว่าสิ่งที่เราเดินหน้าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง โดยบุคลิกเป็นคนเข้าถึงง่าย อยากจะ empower คนให้มากที่สุด...การที่เราคิดและช่วยกันทำงานและแก้ปัญหาไม่มีอะไรช้าหรือสายเกินไป ทุกอย่างเดินหน้าและแก้ไขได้

เซ็นทรัลเวิลด์ โครงการ mixed-use ขนาดใหญ่กลางใจเมือง ซึ่งมีทั้งศูนย์การค้า อาคารสำนัหกงาน 2 อาคาร และโรงแรมเซ็นทารา

ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากเพื่อนร่วมงาน ทีมงานมาโดยตลอด รู้สึกดีใจ ประทับใจ สิ่งเหล่านี้เป็นกำลังใจให้เราคิดและกล้าที่จะทำอย่างต่อเนื่อง เราต้องแสดงความจริงจังต่อทุกคน ไม่ว่าระดับพนักงาน เพื่อนพนักงาน บอร์ดผู้บริหารระดับสูง หากมีสิ่งไม่ถูกต้องต้องกล้าพูด กล้าแนะนำเสนอแนะแนวทาง แต่มติในที่ประชุมก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราตัดสินใจและอธิบายแล้ว แต่มติที่ประชุมเป็นแบบนี้เราก็ต้องให้ความร่วมมือเดินหน้าไปกับมติอย่างเต็มที่ ไม่ต้องมาเหลียวหลัง ถ้าเจออุปสรรคอีกก็มาเช็ก และ balance คุยกันใหม่ได้

และกล่าวต่อว่า เหล่านี้เป็นหลักในการทำงานและหลักในการใช้ชีวิตด้วย work life balance คิด วางแผน หาเหตุ investigate risk ดูว่า risk มีอะไร มีแผนสำรองไว้รองรับ วางแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เมื่อเจอปัญหาแก้ไขจัดการอย่างรวดเร็ว มีความยืดหยุ่นกับสิ่งที่ทำ ไม่ยึดติด ไม่ยึดมั่น ทุกอย่างปรับเปลี่ยนได้ แต่ไม่ใช่ปรับจนองค์กรตามไม่ทัน คือถ้าตรงนี้ไปไม่ได้ก็ปรับนิดหนึ่งเพื่อให้มันเดินหน้าต่อ ถ้าเราบอกว่า มันยังไม่ใช่ ไม่กล้าเดินหน้า มันจะช้า เราจะปรับไปทำไป แต่ต้อง investigate risk ได้ว่า ทำแบบนี้แล้วมีแผนสำรองอย่างไร ถ้าแนวทางนี้ไม่ใช่ เราจะเดินไปทางซ้าย ขวา หรือเดินถอยหลังอย่างไร

ผู้นำ Shopping Center

น้อยคนที่จะไม่รู้จัก หรือไม่เคยใช้บริการศูนย์การค้าเซ็นทรัล บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งในปี 2523 ด้วยทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท ภายใต้ชื่อบริษัท เซ็นทรัล พลาซา จำกัดเพื่อประกอบธุรกิจพัฒนาและบริหารศูนย์การค้าขนาดใหญ่ปี 2525 เปิดตัวโครงการเซ็นทรัล ลาดพร้าว และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปี 2538 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 พันล้านบาท โดยมี บจ. เซ็นทรัลโฮลดิ้ง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

หลังจากนั้นได้ขยายธุรกิจศูนย์การค้าขนาดใหญ่แบบครบวงจรตามหัวเมืองหลักและจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยว รวมถึงซื้อโครงการศูนย์การค้า เช่น เซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต (ปี 2539) เซ็นทรัลเวิลด์ (ปี 2545) เซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์ (ปี 2546) เซ็นทรัล อุดร (ปี 2552) เซ็นทรัล ภูเก็ต เฟสติวัล (ปี 2558) และ ปี 2561 ขยาย

Escent Ville ที่อยุธยา โครงการที่พักอาศัยซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจของ CPN

ต่อเนื่องเซ็นทรัล ภูเก็ต ฝั่งฟลอเรสต้า ซึ่งเป็นลักชัวรี่มอลล์แห่งแรกของไทยที่ตั้งอยู่นอกกรุงเทพฯ ต่อมาในปี 2562 เปิดตัวเซ็นทรัล ไอ-ซิตี้ ซึ่งเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกของบริษัทในประเทศมาเลเซีย และเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชัวรี่เอาต์เลตแห่งแรกในประเทศไทย

เซ็นทรัลพัฒนาคือ ผู้บริหารศูนย์การค้ารายใหญ่ของประเทศ ทั้งยังเป็นผู้นำด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือ mixed-use developer มีอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การบริหารประกอบด้วย

1. ศูนย์การค้า 36 แห่ง

2. อาคารสำนักงาน 10 แห่ง

3. โรงแรม 2 แห่ง

4. โครงการที่พักอาศัย 19 โครงการ ประกอบด้วยคอนโดมิเนียมภายใต้แบรนด์ Escent, Escent Ville, Escent Park Ville, Phyll Phahol 34 และ Belle Grand Rama 9 และโครงการแนวราบภายใต้แบรนด์ Escent Town พิษณุโลก (ทาวน์โฮม) นินญา กัลปพฤกษ์ (บ้านแฝด) โครงการนิยาม บรมราชชนนี (บ้านเดี่ยวระดับลักชัวรี่) และโครงการบ้านเดี่ยวแบรนด์ใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว ได้แก่ นิรติ เชียงราย และนิรติ บางนา โดยโครงการดังกล่าวได้รวมส่วนที่บริหารจัดการโดย บริษัท แกรนด์ คาแนลแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLAND และบริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (SF) ที่ CPN เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

นอกจากนี้ ยังร่วมกับ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) พัฒนาโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค บนที่ดินกว่า 23 ไร่ บริเวณหัวมุมถนนสีลมและถนนพระราม 4 โครงการดังกล่าวประกอบด้วย ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค อาคารสำนักงานเซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ และโครงการที่พักอาศัยภายใต้ชื่อดุสิต เรสซิเดนเซสและดุสิต พาร์คไซด์โดยคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จและทยอยเปิดให้บริการในปี 2567

ทั้งนี้รายได้หลักของ CPN มาจากธุรกิจศูนย์การค้าคิดเป็นร้อยละ 80 ของทั้งหมด เป็นรายได้จากค่าเช่าพื้นที่ค้าปลีก, การให้บริการระบบสาธารณูปโภคและระบบรักษาความปลอดภัย, การให้บริการรักษาความสะอาดภายในศูนย์การค้า, รายได้ค่าเช่าและการให้บริการพื้นที่ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์, การให้บริการสื่อโฆษณา, การจัดกิจกรรมในพื้นที่ส่วนกลาง และธุรกิจอื่นๆ ที่สนับสนุนศูนย์การค้า

จากการประมาณการ ณ วันที่ 31 ธันวาคมปี 2563 บริษัทฯ มีส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจศูนย์การค้าในประเทศไทยประมาณร้อยละ 20 โดยพิจารณาจากขนาดพื้นที่ค้าปลีกรวมมีพื้นที่ให้เช่าสุทธิรวม 1.8 ล้านตารางเมตร

ไม่หยุดลงทุน

แม้ภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่ CPN ยังคงมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเพิ่งบรรจุเมกาบางนาซึ่งเป็นโครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ระดับ super regional mall เข้าพอร์ต หลังซื้อหุ้นของสยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ (SF) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาและบริหารศูนย์การค้าแบบเปิดของประเทศไทย เช่น เมกาบางนา, เอสพลานาด, ลา วิลล่า, เจ อเวนิว รวม 19 โครงการ โดยซื้อต่อจากผู้ถือหุ้นใหญ่เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ปและรายอื่นๆ และปิดดีลเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมปี 2564 ใช้งบฯ 23,568 ล้านบาท ได้หุ้นรวมทั้งหมดร้อยละ 96.24 ส่งผลให้มีศูนย์การค้าเข้ามาอยู่ในพอร์ตโฟลิโอเพิ่มอีก 19 แห่ง พื้นที่รวม 426,044 ตารางเมตร และมีที่ดินรอการพัฒนาอีกหลายแปลง

วัลยาอธิบายถึงการลงทุนครั้งนี้ว่า เป็นกลยุทธ์ที่บริษัทต้องปรับปรุงและเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจในทุกศูนย์การค้าอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

ธุรกิจที่ทำไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า ออฟฟิศ โรงแรม residential เราไม่ยึดติดว่าต้องสร้างด้วยมือเราเอง แต่มองโอกาสธุรกิจว่า ถ้าเอาเข้า portfolio แล้วทำให้เติบโต เรามองเห็นว่าถ้าถือหุ้นใหญ่ SF จะได้ 2 ธุรกิจหลักคือ เพิ่มพอร์ตศูนย์การค้าขนาดใหญ่ระดับ super regional mall ปัจจุบันเรามีเซ็นทรัล เวสเกสต์ และเมกาบางนา อีกธุรกิจที่ได้มาคือ community mall ก่อนหน้านี้ เรายังไม่มี community mall แต่การที่เราได้มา 18 community mall ทำให้เราต่อยอดได้ทันทีในอนาคต นี่คือจุดแข็ง เราไม่หยุดการลงทุนและพัฒนา เรามองหาโอกาสทุกช่องทาง...การที่เราไปต่อยอดทำให้บริหารธุรกิจได้ดีขึ้น สามารถลดต้นทุน สร้าง marketing program ต่างๆ เชื่อมโยงเข้าหากัน มีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น

Escent Ville ที่อยุธยา โครงการที่พักอาศัยซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจของ CPN

การถือหุ้นใหญ่ใน SF จะช่วยต่อยอดและสร้างรายได้ให้กับเซ็นทรัลพัฒนาอีกมาก เนื่องจากที่ผ่านมา SF มีกำไรจากการดำเนินธุรกิจหลักปีละประมาณ 1 พันล้านบาท

ปลายเดือนตุลาคม ปี 2564 เปิดตัวศูนย์การค้าเซ็นทรัล ศรีราชาอีก 1 เดือนถัดมาคนเมืองกรุงเก่ามีโอกาสต้อนรับศูนย์การค้าเซ็นทรัล อยุธยาและมีโครงการขยายศูนย์การค้าเซ็นทรัล วิลเลจ เฟส 2 ในเดือนมกราคม ปี 2565 รวมทั้งจะเปิดศูนย์การค้าเซ็นทรัล จันทบุรี ปลายไตรมาสแรกหรือต้นไตรมาสที่ 2 ของปีเดียวกัน

ทั้งหมดนี้อยู่ในแผนระยะยาวที่ทางบริษัทได้วางไว้ แม้การระบาดของโควิดจะทำให้กำหนดการคลาดเคลื่อนออกไปบ้าง แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนแต่อย่างใด

เธอกล่าวไว้ว่า การเปิดศูนย์การค้าเซ็นทรัล ศรีราชา และเซ็นทรัล อยุธยา เราวางแผนมากว่า 5 ปี และมุ่ง focus เดินหน้า เราทราบว่าโควิดเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ของโลก ของประเทศไทยและบริษัท แต่เราไม่หยุดการลงทุน อาจมีปรับ timeline หรือวิธีการดำเนินงานเล็กน้อย เช่น เซ็นทรัล ศรีราชา เดิมจะเปิดไตรมาสแรกหรือไตรมาส 2 แต่สถานการณ์โควิดไซต์ก่อสร้างต้องหยุดร้านค้าไม่สามารถตบแต่งร้านได้ ทำให้เราเลื่อนออกไปเล็กน้อย เซ็นทรัล ศรีราชา เป็น semi-outdoor mall ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี เป็น fully-integrated mixed-use development จะมีโรงแรมเกิดขึ้นเป็นเฟส 2 และมีเซอร์วิสโรงแรมในเฟส 3 และ 4 ในอนาคต เราวาง master plan ไว้แล้วว่าสามารถบริหารจัดการและเดินหน้าได้

เรานำความสำเร็จจากเซ็นทรัล อีสต์วิลล์ในกรุงเทพฯ ไปต่อยอดที่เซ็นทรัล ศรีราชา คนทำงานที่ศรีราชา ทำงานในโรงงาน SME ต้องการการพักผ่อนหย่อนใจจึงสร้างศูนย์การค้าแบบ indoor outdoor สร้างความแตกต่างให้ภาคตะวันออก เป็นครั้งแรกที่ไม่มีห้างหรือส่วน department store แต่เอาแผนกต่างๆ มาปรับเข้าหากัน ทำให้การเดินในศูนย์การค้ามีความแปลกใหม่และสนุก เข้าถึงได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมต่างๆ การรับประทานอาหาร ซื้อสินค้าแฟชั่น เซอร์วิส IT เป็นการจัด retail รูปแบบใหม่ เช่น ร้าน B2S อยู่ในช็อปและพื้นที่ทางเดินด้วย ทำให้การช็อปปิ้งสนุกสนานมากยิ่งขึ้น ศรีราชาเป็นเมืองเทคโนโลยี เราเพิ่มเทคโนโลยีเข้าไปมากมาย อีกทั้งยังมีส่วนดูแลสิ่งแวดล้อม เพิ่ม solar rooftop การจัดการขยะ recycle station และเป็น pet friendly mall เรานำสิ่งเหล่านี้มาใช้ และจะต่อยอดในศูนย์การค้าอื่นๆ เธอกล่าวต่อ

เซ็นทรัล อยุธยาซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองหลวงเก่าของไทย ก็ชูความเป็นเอกลักษณ์ความเป็นศิลปะเดิมของอยุธยา และ twist ให้มีความเป็นโมเดิร์นมากขึ้น ชูความเรืองรองอัศจรรย์อยุธยาของเมือง UNESCO World Heritage มีมุมตกแต่งเป็นกำแพงอิฐ ขณะเดียวกันมีความเป็นโมเดิร์น มีตลาด open-air market หรือตลาดเช้าเรียกว่า ลานพระนคร และมีจุดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาแวะพักก่อนเข้าเมืองอยุธยาไปท่องเที่ยวศิลปวัฒนธรรม มาจอดรถ รับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ เช่าชุดไทยไปถ่ายรูป มีมิวเซียมเล็กๆ เป็น interactive นำรถสามล้อมาปรับให้บริการเป็นรถเช่าท่องเที่ยวในเขตเมือง

เซ็นทรัลพยายามสร้างความแตกต่างในทุกแห่งที่ไป สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนและดึงเอกลักษณ์ท้องถิ่น ศิลปะ วิถีชีวิต สินค้า OTOP หรือทุกอย่างของผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย ชูจุดเด่นขึ้นมา เพื่อให้เขามีความภาคภูมิใจในจังหวัด ผสมผสานเชื่อมโยงศูนย์การค้ากับท้องถิ่นมากขึ้น

ส่วนเซ็นทรัล จันทบุรีที่คาดว่าจะเปิดตัวปลายไตรมาส 1 หรือต้นไตรมาส 2 ของปี 2565 ออกแบบให้มีพื้นที่สวนสำหรับการออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ หรือจัดกิจกรรมของท้องถิ่น โดยทำเลของศูนย์การค้าตั้งอยู่ใกล้กับคลองขนาดใหญ่ คนในพื้นที่สามารถขี่จักรยาน พาสัตว์เลี้ยงมาเดินเล่นได้

แผนเศรษฐกิจภาครัฐมาถึงระยอง และ EEC plus 2 คือ จันทบุรีกับตราด ซึ่งเรามองว่ามีศักยภาพเป็นแกนหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชาติ ที่ชลบุรีเรามีศูนย์การค้า ได้แก่ พัทยา 2 แห่ง และอำเภอเมือง และอำเภอศรีราชา เพราะฉะนั้น EEC ที่ชลบุรี 4 แห่ง ระยอง 1 แห่ง จันทบุรีอีก 1 แห่ง เป็น EEC plus 2 เรามี 6 สาขา เรียกว่า ภาครัฐสร้างแผนแกนหลักพัฒนาประเทศอย่างไร เราก็ไปตามแผนภาครัฐ

มีคนพูดว่า ดัชนีชี้วัดของประเทศไทย หนึ่งในแกนหลักคือ เซ็นทรัลพัฒนา พอเราปักหมุดว่าจะไปจังหวัดไหน จังหวัดนั้นมีการตื่นตัวและพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พอเราไปเกิดโรงแรม ออฟฟิศ residential เกิดโรงพยาบาล และหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ส่วนภาคเอกชนเราเป็นตัวเติมเต็ม วัลยากล่าว

รุกตลาดต่างประเทศ

นอกจากธุรกิจศูนย์การค้าแล้ว CPN ยังมีธุรกิจอาคารสำนักงาน โรงแรม ซึ่งมีการปรับกลยุทธ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ work from home กันมากขึ้นเป็น hybrid work lifestyle เช่น ทำให้โรงแรมเป็นทั้งที่ทำงานและสถานที่พักผ่อน ส่วน residential หรืออาคารที่พักยังโฟกัสที่จุดแข็งของทำเลที่อยู่ติดหรือใกล้กับศูนย์การค้าระยะไม่เกิน 5 กิโลเมตร

การเป็น fully-integrated mixed-use development ที่มีการเชื่อมต่อแพลตฟอร์มถึงกัน ไม่ว่าจะเป็นช็อปปิ้งเซ็นเตอร์ อาคารสำนักงาน โรงแรม และที่อยู่อาศัยนับเป็นจุดแข็งของเซ็นทรัลพัฒนา และภายใน 5 ปีข้างหน้ามีแผนงานที่จะเพิ่มต่อยอดและเพิ่มศักยภาพแต่ละธุรกิจ โดยที่ยังคงเชื่อมต่อทั้ง 4 สายงานธุรกิจเข้าด้วยกัน

ปัจจุบันรายได้หลักมาจากศูนย์การค้า แต่แผนกลยุทธ์ 5 ปีทุกสายงานจะต้องทำงานเข้มข้นมากขึ้น การเติบโตแต่ละสายงานอาจปรับเปลี่ยนได้บ้าง แต่การเพิ่มยอดธุรกิจแต่ละประเภทได้มากน้อยต่างกัน เรายังมองการไปต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นการปรับสัดส่วน การไปเปิดหรือทำธุรกิจต่างประเทศจะมากขึ้นด้วย

สำหรับแผนการลงทุนและเป้าหมายทาง ธุรกิจในระยะ 5 ปี (ปี 2564-2568) ซึ่งมีงบประมาณ 1.2 แสนล้านบาท บริษัทได้ปรับแผนการลงทุนและแผนพัฒนาโครงการใหม่ที่ยังไม่ได้ประกาศ ทั้งโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (fully-integrated mixed-use development) โครงการที่พักอาศัย รวมถึงแผนการปรับปรุงสินทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมทั้งบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและลดต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน พร้อมรับกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน

รวมทั้งศึกษาโอกาสการลงทุนธุรกิจในรูปแบบอื่น เช่น การเข้าซื้อกิจการ การลงทุนในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ มาเลเซีย และเวียดนาม มองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง เพื่อขยายช่องทางในการสร้างรายได้ที่สอดคล้องกับแผนการเติบโตตามเป้าหมายในอนาคต โดยปี 2562 เพิ่งเปิดศูนย์การค้าเซ็นทรัล ไอ-ซิตี้ ที่มาเลเซีย และมีโครงการจะเปิดศูนย์การค้าในเวียดนามอีก 2-3 แห่ง ภายใน 5 ปีข้างหน้า

ในตอนท้ายซีอีโอหญิงกล่าวถึงความท้าทายของการเป็นผู้นำเบอร์ 1 ของ CPN ว่า

ความท้าทายอยู่ที่บทบาทการนำพาองค์กรและทีมพนักงานทุกคนก้าวผ่านหลังจากโควิดครั้งนี้ เราเข้าสู่ new normal และ next normal นั่นเป็นสิ่งที่ท้าทายและรู้สึกว่าต้องทำให้ได้ เซ็นทรัลพัฒนาอยู่คู่กับสังคมไทยมากว่า 40 ปี ความสำเร็จตรงนี้จะเป็นจุดพลิกผัน ทำอย่างไรให้ไปต่อ อนาคตจะทำอย่างไรก็ต้องกลับมาเสริม brand purpose ของเราที่ว่า imagining better futures for all หรือมุ่งมั่นสร้างสรรค์สิ่งที่ดีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคนเราสร้างทีมให้ align ไปกับ brand purpose ตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงและตอบรับกับ trend ใหม่ๆ ของโลก เหล่านี้คือความท้าทายที่เราจะต้องก้าวผ่านให้ได้ด้วยกันทั้งบริษัท

ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ CPN อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine