Andrianto Jayapurna “เฮงเค็ล” ซื้อธุรกิจต่อยอดความยั่งยืน - Forbes Thailand

Andrianto Jayapurna “เฮงเค็ล” ซื้อธุรกิจต่อยอดความยั่งยืน

เฮงเค็ล (Henkel) บริษัทเคมีภัณฑ์และสินค้าอุปโภคบริโภคข้ามชาติของเยอรมนี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2419 ปัจจุบันมีอายุกว่า 146 ปี ส่วนเฮงเค็ล ประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2515 เพิ่งครบรอบดำเนินธุรกิจ 50 ปีในไทย แม้จะเป็นบริษัทข้ามชาติแต่เฮงเค็ล ไทย ก็มีวัฒนธรรมหลายอย่างที่กลมกลืนกับท้องถิ่น


    เมื่อต้นปี 2565 ราวปลายเดือนกุมภาพันธ์มีข่าวธุรกิจน่าสนใจชิ้นหนึ่ง เมื่อบริษัทแม่ของเฮงเค็ลที่เมือง Düsseldorf ประเทศเยอรมนี ได้ลงนามข้อตกลงเข้าซื้อธุรกิจ Hair Professional ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของชิเซโด้ (Shiseido) แบรนด์ชั้นนำในกลุ่มสินค้าโปรเฟสชันนัลภายใต้แบรนด์ชิเซโด้ 

    หลายคนเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า เฮงเค็ลต้องการขยายพอร์ตสินค้าด้านความงามมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้หลายปีเฮงเค็ลก็ได้มีการซื้อสินค้าความงามจากชวาร์สคอฟ (Schwarzkopf) ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าความงามเกี่ยวกับเส้นผม ร่างกาย ผิว และช่องปาก มีจำหน่าย 150 ประเทศทั่วโลก 

    เฮงเค็ลต้องการขยายฐานธุรกิจความงามเพิ่มสัดส่วนขึ้นมาเทียบเท่าสินค้าดั้งเดิมอย่างเทคโนโลยีกาวหรือ?

    คำตอบเรื่องนี้ชัดเจนจากคำบอกเล่าของ Andrianto Jayapurna ประธาน บริษัท เฮงเค็ล ประเทศไทย จำกัด ซึ่งให้สัมภาษณ์กับทีมงาน Forbes Thailand ว่า การเข้าซื้อกิจการที่มีผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพคือกลยุทธ์หลักประการหนึ่งของเฮงเค็ลซึ่งต้องการเป็นผู้นำและเป็นผู้ดำเนินธุรกิจด้วยความยั่งยืน เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม และแบรนด์สินค้าที่ได้การยอมรับมีความน่าเชื่อถือนับเป็นหัวใจของความสำเร็จ


- ซื้อธุรกิจชั้นนำโตยั่งยืน -

    “มีการซื้อกิจการจำนวนมากที่ยุโรป เช่นปี 2538 Henkel ได้เข้าไปซื้อกิจการของ Schwarzkopf จำนวนพนักงานก็เพิ่มขึ้น และเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็ซื้อกิจการ Shiseido เฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์เส้นผม” ซึ่งเขาบอกว่า การซื้อกิจการด้านบิวตี้แคร์ทั้งสองรายเป็นการขยายธุรกิจตามโยบายบริษัทที่เน้นเรื่องความยั่งยืน เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้จำนวนพนักงานของเฮงเค็ลเพิ่มขึ้นในระยะหลัง

    ธุรกิจเริ่มแรกของเฮงเค็ลจากเยอรมนีคือ เทคโนโลยีกาวและสารเคลือบ (adhesive technologies) กิจการนี้เริ่มต้นจากตระกูลเฮงเค็ล โดย Fritz Henkel และหุ้นส่วนอีก 2 คน ผลิตภัณฑ์แรกที่พวกเขาผลิตสู่ตลาดคือ ผลิตภัณฑ์ซักผ้าอเนกประสงค์ ซึ่งเป็นสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ซักล้างและโฮมแคร์ มีขายที่ต่างประเทศแต่เฮงเค็ลในไทยไม่ได้นำสินค้ากลุ่มนี้เข้ามาจำหน่าย มีเพียงเทคโนโลยีกาวและผลิตภัณฑ์ด้านความงามเท่านั้น

    จากจุดเริ่มต้นเฮงเค็ลเป็นบริษัทขนาดเล็ก ค่อยๆ เติบโตจนเป็นขนาดกลาง หลังจากนั้นบริษัทได้เข้าซื้อกิจการ Loctite ในปี 2540 และนับเป็นจุดเปลี่ยนเนื่องจาก Loctite เป็นผู้นำในธุรกิจกาวทำให้ต่อมาในปี 2543 เฮงเค็ลเติบโตขึ้นมีพนักงานเพิ่มเป็น 200 คน และเป็นปีแรกที่บริษัทได้จัดตั้ง ASK Academy (Attitude Skill Knowledge Academy) เพื่อฝึกพนักงานให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีกาว และต่อมาในปี 2549 ได้เปิดศูนย์อบรมช่างทำผม (Beauty Care Professional) ขึ้นเพื่อเสริมทักษะช่างเสริมสวยให้กับลูกค้าของผลิตภัณฑ์เส้นผมของชวาร์สคอฟ



    กลยุทธ์ซื้อกิจการที่ดีมาต่อยอดธุรกิจเป็นแนวคิดที่เฮงเค็ลใช้มาโดยตลอดทำให้กลุ่มธุรกิจเฮงเค็ลปัจจุบันประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลัก คือ 1. เทคโนโลยีกาว (adhesive technologies) 2. ธุรกิจความงาม (beauty care) และ 3. ผลิตภัณฑ์ซักล้างในครัวเรือน (laundry & home care) ซึ่งธุรกิจกลุ่มที่ 3 ไม่ได้นำเข้ามาจำหน่ายในไทย แต่มีจำหน่ายในเยอรมนีและประเทศอื่นๆ ในยุโรป

    “Laundry and home care product ของ Henkel ไม่ได้ทำตลาดในไทย แต่มีนำเข้ามาจำหน่ายใน Villa Market และ Foodland ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อเป็นชาวยุโรปที่รู้จักแบรนด์เหล่านี้ดีในต่างประเทศ” Andrianto เผยและบอกว่า ในไทยตลาดใหญ่ยังคงเป็นธุรกิจหลักคือ เทคโนโลยีกาว แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักเฮงเค็ลในโปรดักต์นี้มากนัก 


- ธุรกิจหลักเทคโนโลยีกาว -

    Andrianto กล่าวว่า ชื่อ "เฮงเค็ล" ที่คนรู้จักว่าเราเป็นเจ้าของสินค้าแบรนด์ผลิตภัณฑ์ความงามจากชวาร์สคอฟ แต่จริงๆ แล้วสินค้าหลักของเฮงเค็ลคือเทคโนโลยีกาว ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต “กระป๋องเครื่องดื่มและกระป๋องอาหารใช้เทคโนโลยีการยึดติดและเคลือบจากเราเป็นหลัก ตลาดใหญ่มาก” ประธานเฮงเค็ล ไทยย้ำ พร้อมยกตัวอย่างรายได้จากเฮ็งเคลบริษัทแม่ที่เยอรมนีว่า ในปี 2564 มียอดรายได้รวมกว่า 2 หมื่นล้านยูโร ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีกาวมากกว่า 50% ผลิตภัณฑ์ความงาม 15- 20% และผลิตภัณฑ์ซักล้างและโฮมแคร์ประมาณ 30-35%

    เมื่อเทียบจากสัดส่วนรายได้ของเฮงเค็ลโกลบอลแล้ว เฮงเค็ล ไทย ก็จะใกล้เคียงกัน เพียงแต่สัดส่วนของธุรกิจกาวอาจมากกว่า และผลิตภัณฑ์ความงามก็มากกว่า เนื่องจากในไทยธุรกิจผลิตภัณฑ์ซักล้างและโฮมแคร์ไม่มีจำหน่าย ดังนั้น 2 กลุ่มธุรกิจหลักจึงเป็นฐานตลาดสำคัญ



    ย้อนเส้นทางการเติบโต 50 ปีของเฮงเค็ลในไทย Andrianto บอกว่า เป็นอะไรที่ค่อนข้างน่าตื่นเต้น “Henkel ในไทยเริ่มธุรกิจจาก ตัวแทนขาย 1 คนเท่านั้น ค่อยๆ เจาะตลาดและ 8 ปีหลังจากนั้นจึงเพิ่มมาเป็น 6 คน” เขาบอกเล่าประวัติความเป็นมาของเฮงเค็ลในไทยด้วยน้ำเสียงที่ค่อนข้างสนุกพร้อมติดตลกว่า ทุกวันนี้พวกเขาก็ยังไม่รู้ว่าพนักงาน 1 คนที่เข้ามาบุกเบิกธุรกิจในไทยคือใคร รู้แต่เพียงว่าไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนสำหรับเฮงเค็ล เรียกว่าเป็นตลาดแรกในอาเซียน

    เหตุการณ์สำคัญในปี 2538 คือ เฮงเค็ลได้เข้าไปซื้อกิจการของชวาร์สคอฟ ทำให้กิจการเติบโตมีจำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนกระทั่งมีพนักงานในไทย 520 คนก่อนสถานการณ์โควิด ซึ่ง Andrianto บอกว่า เป็นช่วงที่เขาเข้ามารับตำแหน่งประธานบริษัท เฮงเค็ล ประเทศไทย หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 รุนแรงไปทั่วโลก ในไทยก็เช่นเดียวกัน เขาต้องบริหารรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วยหลักการของบริษัทคือ ให้ความสำคัญกับพนักงาน สังคมและสิ่งแวดล้อม

    “เราไม่มีการปลดพนักงานเลยแม้แต่คนเดียวในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดหนัก แต่ได้มีการเตรียมความพร้อมพัฒนาทักษะทีมงานเพื่อรองรับการปรับตัว” ประธานเฮงเค็ล ไทย ย้ำและว่า นี่คืออีกหนึ่งข้อดีขององค์กรที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน Sustainability Plan ในที่นี้ไม่ได้ตอบโจทย์แค่ลูกค้าหรือคู่ค้า แต่คำนึงถึงพนักงาน สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน


- บริหารความยั่งยืนธุรกิจและโลก -

    ความยั่งยืนที่ประธานเฮงเค็ล ประเทศไทยกล่าวถึงคือ ความยั่งยืนในทุกๆ ด้าน เช่น การลงทุนอย่างจริงจัง มีการลงทุนสร้างงานหลายแห่ง มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ขยายไปพื้นที่ต่างๆ ลงทุนให้กับสังคม ให้คนมีงานทำมีการอัปเกรดเรื่องความปลอดภัยให้กับพนักงานที่โรงงาน

    ยั่งยืนต่อมาคือ เฮงเค็ลเป็นบริษัทผู้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายต่างประเทศมากกว่า 10 ประเทศในเอเชีย ส่งไปขายจีนและออสเตรเลีย ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “เรา Beyond Southeast Asia โรงงานที่ศรีราชาผลิตสินค้า beauty care ส่งออกสู่เอเชียแปซิฟิกราว 17 ประเทศ” และมีบางผลิตภัณฑ์ที่โรงงานย่านบางปูผลิตเพื่อส่งออกไปที่ยุโรป ตะวันออกกลาง และอินเดีย ส่วนโรงงานที่บางปะกงเป็นการผลิตกาวเน้นป้อนตลาดในไทยและประเทศใกล้เคียงไม่ได้ส่งออกไปยุโรปเนื่องจากเป็นฐานธุรกิจที่บริษัทแม่เปิดดำเนินการอยู่แล้ว



    "โดยพื้นฐานแล้วธุรกิจกาวของ Henkel แทรกซึมอยู่ในหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์อาหาร ผลิตอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร ธุรกิจกาวเป็นส่วนประกอบสำคัญของหลายๆ อย่าง” เขายกตัวอย่างโทรศัพท์มือถือที่สามารถกันน้ำได้เพราะมีสารเคลือบของเฮงเค็ลที่ใช้ในการประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรืออย่างกล้องของโซนี่ เป็นพลาสติกก็ต้องมีกาวชนิดพิเศษในการเชื่อมต่อเช่นเดียวกัน

    ประธานเฮงเค็ล ประเทศไทย ย้ำว่า ผลิตภัณฑ์กาวมีความสำคัญในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมยานยนต์ “แพ็กเกจจิ้งเมทัลของ Henkel ใช้เยอะมากแต่คนไม่รู้ เพราะเป็นส่วนประกอบที่มองไม่เห็น แต่มีความสำคัญค่อนข้างสูง ถ้าไม่มีกาวก็ผลิตไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นกระป๋องอาหารหรือรถยนต์” เขาอธิบายต่อไปว่า โทรศัพท์มือถือก็เช่นเดียวกัน เทคโนโลยีกาวช่วยให้กันน้ำได้ ผลิตภัณฑ์ของเฮงเค็ลเป็นอะไรที่มองไม่เห็น

    นอกจากนี้ รถยนต์ไฟฟ้า (EV: Electric Vehicle) กาวก็มีบทบาทสำคัญ “รถ EV ที่ขายในไทยทุกวันนี้ยังนำเข้าจากต่างประเทศ ถ้าอนาคตผลิตในบ้านเราก็จะเป็นตลาดที่เพิ่มขึ้นของเทคโนโลยีกาว Henkel” Andrianto ยังบอกด้วยว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นตลาดที่น่าตื่นเต้นเพราะเทรนด์ของยนตรกรรมโลกที่จะขยายตัวได้อีกมาก

    ความยั่งยืนอีกอย่างที่เฮงเค็ลทำมาโดยตลอดคือ การอบรมให้ความรู้กับทีมงานและลูกค้า “เราสอนคนอบรมคนมากมาย ทั้งพนักงาน ลูกค้า และ professional ความงาม ช่างผมไทยแทบทุกคนเคยอบรมกับเรา” เขายืนยันพร้อมระบุว่า ช่างผมไทยที่ชื่อเสียงโด่งดังล้วนผ่านการอบรมกับเฮงเค็ลมาแล้วทั้งนั้น

    “Henkel ให้ความสำคัญกับประเทศไทยไม่ใช่แค่การทำธุรกิจ แต่ยังบริจาคเงินในการสร้างโรงเรียนในหลายแห่งอย่างต่อเนื่อง เช่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนคอนราดเฮงเค็ลที่นครพนม” Andrianto บอกเล่าอย่างเรียบง่ายก่อนสรุปว่า ความยั่งยืนที่เฮงเค็ลมองไม่ใช่เพียงธุรกิจ ยอดขาย ผลกำไร และลูกค้า แต่ยังมองถึงสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย


ภาพ: API

อ่านเพิ่มเติม:

>> พิทยา ธนาดำรงศักดิ์ ทะยานน่านน้ำใหม่ “EV Market Place”

>> หนุ่มสาวจากทำเนียบ 30 Under 30 ที่สร้างตัวช่วยด้านการศึกษาด้วยเทคโนโลยี


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine