บางครั้งวัตถุดิบตั้งต้นในการทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ก็มาจากความปรารถนาดี เติมด้วยปณิธานอันแน่วแน่ เคี่ยวกรำด้วยอุปสรรค และปรุงด้วยรสชาติแห่งความอดทน ดังเช่นเรื่องราวของ White Story ร้านขนมปังและอาหารกล่องสดใหม่ทุกวันที่มองเห็นโอกาสในการขยายสาขาเพิ่มกว่า 20 แห่งท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 แพร่ระบาด กระทั่งธุรกิจเติบโตจนสร้างรายได้รวมกว่า 598 ล้านบาทในปี 2567 ที่ผ่านมา และยังมุ่งมั่นก้าวต่อไปข้างหน้าพร้อมเจตจำนงแรงกล้าในการคัดสรรสิ่งดีๆ ส่งตรงถึงผู้บริโภค
“White Story สวัสดีค่ะ”
คำทักทายด้วยรอยยิ้มของพนักงานคือประโยคแรกที่คุณจะได้ยินทันทีที่ก้าวเท้าเข้าไปในร้านบรรยากาศปลอดโปร่ง ตกแต่งโทนสีสว่างดูสะอาดสะอ้านและอบอุ่น ครั้นกวาดสายตามองไปรอบๆ ก็จะเห็นโต๊ะวางขมมปังและอาหารปรุงสดใหม่ทุกวัน ตามด้วยตู้แช่เย็นที่มีน้ำแร่ น้ำผลไม้ สลัด ผลไม้สด และขนมวางเรียงราย นอกจากนี้ยังมีชั้นวางขนมขบเคี้ยวและของกินที่เก็บได้นาน อาทิ เห็ดเข็มทองทอด ข้าวตัง น้ำผึ้ง และอื่นๆ อีกมากมาย หลากหลายสินค้าเกิดจากการคอลแล็บกับพาร์ทเนอร์รายทั้งในและต่างประเทศ
นี่คือร้าน White Story ซึ่งจดทะเบียนในนาม บริษัท โซดา น้ำชา จำกัด ก่อตั้งขึ้นโดย แวว - วาศิณี สุรชาติชัยฤทธิ์ ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งได้ให้เกียรติพูดคุยกับ Forbes Thailand ถึงเส้นทางการเติบโตของแบรนด์ร้านขนมปังและอาหารกล่องที่กำลังรุกขยายสาขาไปทั่วกรุงเทพฯ โดยมีจุดเริ่มจากคาเฟ่เล็กๆ บนทำเลชานเมือง

นับตั้งแต่เปิดร้านวันแรกในปี 2550 มาจนถึงวันนี้ White Story มีอายุกว่า 18 ปีแล้ว แต่หากถามถึงต้นกำเนิดไอเดีย วาศิณีเล่าย้อนไปยังสมัยที่เธอเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศเนเธอร์แลนด์
“เคยได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนช่วงประมาณปี 2540 ได้ไปอยู่ที่เนเธอร์แลนด์มาปีหนึ่ง ได้อยู่ชนบทของเนเธอร์แลนด์ ในหมู่บ้านเล็กๆ ก็รู้สึกว่าทำไมเขาถึงมีไลฟ์สไตล์ที่ดีจังเลย” ซีอีโอสาววัย 46 ปีรำลึกความหลัง บรรยายภาพชนบทห่างไกลความเจริญ ต้องขี่จักรยานไป-กลับโรงเรียนรวม 26 กิโลเมตรทุกวัน แต่เธอสังเกตว่าทุกคนในหมู่บ้านยังมีโอกาสเข้าถึงอาหารดีๆ เป็นประจำ
“มีร้านเบเกอรี่อยู่ในหมู่บ้าน มีร้านขายเนื้อ มีซูเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ จะทานอะไรก็ได้ของสดใหม่มาทาน รู้สึกว่ามันเป็นไลฟ์สไตล์มันตอบโจทย์ทำให้คนมีสุขภาพที่ดี แล้วก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบาย สบายใจ แล้วก็สบายกาย ก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นโมเดลอันหนึ่งที่จริงๆ แล้วสังคมไทยเราก็ทำได้ เราแค่ต้องเปลี่ยนมาเป็นอาหารที่คนเอเชียคุ้นชินและคนไทยทาน” เธอชี้ว่าเมืองไทยเราเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ มีทรัพยากรพร้อม ดังนั้นคนไทยเองก็ควรมีโอกาสได้รับประทานอาหารดีๆ เช่นกัน
วาศิณีไม่ได้เร่งรีบนักแม้จะเกิดประกายแห่งแรงบันดาลใจขึ้นมาแล้ว เธอให้โอกาสตัวเองได้เติบโตและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างๆ โดยหลังจบการศึกษาจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอเริ่มต้นเส้นทางอาชีพเหมือนคนอื่นๆ ทั่วไปด้วยการเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี แต่ทำไปได้ 3 ปีก็พบว่าไม่ใช่ทางของตัวเอง จึงเบนเข็มไปเรียนต่อด้านการตลาด และเก็บเกี่ยวประสบการณ์เกี่ยวกับธุรกิจรีเทลไปจน customer good ในองค์กรใหญ่อย่าง Unilever กระทั่งถึงจุดอิ่มตัว เธอจึงบอกลาชีวิตมนุษย์เงินเดือน แล้วก้าวเข้าสู่เส้นทางของผู้ประกอบการแทน
จุดเริ่มต้นคือคาเฟ่เล็กๆ ย่านชานเมือง
“แบรนด์ White Story เกิดมาประมาณ 18 ปีแล้ว เริ่มจากการทำคาเฟ่เล็กๆ เป็นบ้านไม้สีขาว stand alone ทีแรกเป็นบ้านไม้ก่อน แล้วเรามารีโนเวตให้เป็นสีขาวค่ะ อยู่บนถนนนครอินทร์ ราชพฤกษ์ ตอนนั้นเราก็มองว่าเป็นถนนที่ตัดใหม่ แล้วก็เป็น residential zone ที่ยังไม่มีร้านอาหารหรือคาเฟ่ที่จะมาตอบโจทย์คนแถวนั้นที่จะทานเครื่องดื่มหรืออาหารง่ายๆ เราเลยก่อตั้งคาเฟ่เล็กๆ ขึ้นมา” วาศิณีเล่าถึงการตามรอยแพสชั่นของตัวเอง นั่นคือการทำอาหาร กลายเป็นแรงบันดาลใจในการเปิดคาเฟ่เล็กๆ ขึ้น “ตั้งชื่อแบรนด์ว่า White Story เพราะว่า White มาจากบ้านไม้สีขาว ส่วน Story ก็คือเรื่องราว เหมือนกับว่ามีลูกค้าเข้ามาแต่งแต้มสีสันเรื่องราวภายในร้าน จึงเป็น White Story”
อย่างไรก็ตาม หลังเปิดคาเฟ่ได้ประมาณ 5 ปีก็เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 ซึ่งกรุงเทพฯ และนนทบุรีได้รับผลกระทบหนัก แต่ท่ามกลางวิกฤตก็ยังมีโอกาส เพราะในช่วงเวลานั้นเอง เริ่มมี community mall หลายแห่งเข้ามาเปิดในโซนราชพฤกษ์
“หนึ่งในนั้นคือ The Walk ราชพฤกษ์ เราเองก็เห็นเทรนด์ว่าคนจะเข้าไปจับจ่ายใช้สอยใน community mall มากขึ้น เลยตัดสินใจว่าเราจะย้ายจาก stand alone เข้าห้างเป็นครั้งแรก หลังน้ำท่วมห้างก็เปิดพอดี ขณะที่ร้านเก่าก็ถูกน้ำท่วมเสียหาย กลายเป็นวิกฤตที่เปลี่ยนเป็นโอกาส ซึ่งโอกาสนั้นคือการ transition เข้ามาอยู่ในห้าง บนพื้นที่ประมาณ 160 ตารางเมตร”
การย้ายจากคาเฟ่เล็กๆ เข้ามาในห้างนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ White Story เพราะห้างมีค่าเช่าที่สูงมาก จึงต้องมีการวางแผนธุรกิจใหม่เพื่อให้รองรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยพิจารณาความต้องการของลูกค้า (customer need) เป็นสำคัญ
“ด้วยเทรนด์ในตอนนั้นมันเป็น lazy economy ก็คือคนไม่ค่อยทำกับข้าวทานที่บ้านแล้ว คนต้องการความเร่งรีบ” วาศิณีอธิบาย “health conscious ก็เริ่มมาแล้ว คนต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ ไม่ได้ต้องการทานอาหารเพื่ออิ่มเท่านั้น แต่ต้องการทานอาหารเพื่อสุขภาพของตัวเองด้วย รวมทั้งต้องการความรวดเร็ว”

วาศิณีจึงแบ่งพื้นที่หน้าร้านจากเดิมที่มีโต๊ะสำหรับนั่งรับประทานอาหารทั้ง 100% ให้ประมาณ 30% เป็นพื้นที่สำหรับ grab and go โดยเริ่มจากเบเกอรี่ก่อน แล้วจึงขยายเพิ่มอาหารกล่องและเครื่องดื่มเข้ามา พร้อมมีเตาอบและไมโครเวฟให้ลูกค้าสามารถอุ่นร้อนเพื่อนำไปทานที่ทำงานหรือที่รถได้เลย
แน่นอนว่าทั้งขนมปังและอาหารต่างก็ทำสดใหม่ทุกวัน โดยคัดสรรวัตถุดิบคุณภาพ ลดการใช้สารเคมีให้มากที่สุด ใช้ของเกษตรอินทรีย์ให้มากเท่าที่เป็นไปได้ ไม่ใส่สารกันเสีย ดังนั้นสินค้าของ White Story จึงไม่ได้มีดีแค่สะดวกและอร่อย แต่ยังตอบโจทย์ลูกค้าที่มองหาอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งผลตอบรับก็ออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจ ทั้งยังประสบความสำเร็จจนมีการขยายสาขาเพิ่มเติมในแถบชานเมือง นำไปสู่ขั้นตอนต่อไปนั่นคือการก่อตั้ง ‘ครัวกลาง’ ขึ้น
“เรายังคงทำสดใหม่ทุกวันอยู่ สมัยแรก สาขาแรกเราใช้ครัวเป็น The Walk แต่พอเราเริ่มขยายมาสัก 3-4 สาขา เราเริ่มรู้แล้วว่า เราต้องมีครัวกลาง เราก็เลยพัฒนาและทำครัวกลางให้เกิดขึ้นโดยตั้งอยู่ที่นนทบุรี แล้วช่วงที่มีสาขาที่ 7-8 เราขยายครัวกลางให้ใหญ่เลย มันก็เลยรองรับ business model แบบนี้ เพราะฉะนั้นของที่เราทำทุกวันนี้ก็จะสดใหม่ แล้วทยอยออกจากครัวกลางกระจายส่งไปยังสาขาต่างๆ เป็นประจำทุกวัน”
สั่งสมประสบการณ์ รอคว้าโอกาสรุก CBD
“จุดยืนของเรา เวลาเราจะทำอะไร เราจะมองความต้องการของลูกค้า ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จได้ อย่างตอนเริ่มทำ grab and go ที่มองเห็นเทรนด์การเติบโตของ lazy economy และ health conscious”
ด้วยเหตุนี้ White Story จึงกลายเป็นร้านขนมปังและอาหารกล่องที่ประสบความสำเร็จในโซนชานเมือง ด้วยกลยุทธ์สำคัญคือความใส่ใจความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก กระนั้นวาศิณีเผยว่าเธอไม่ได้ต้องการหยุดอยู่ที่ชานเมืองตลอดไป แต่มีเป้าหมายขยายสู่โซน Central Business District (CBD) ซึ่งเป็นย่านธุรกิจและคนทำงาน
“จริงๆ แล้วตั้งแต่ day 1 เราก็อยากเข้ามาใน CBD นะคะ เพียงแต่ ณ วันนั้นโอกาสมันยังมาไม่ถึง เราจึงอยู่โซนชานเมืองก่อน เราใช้โอกาสที่ได้มาทำโซนชานเมืองให้มันสำเร็จ ให้มันรู้จักพฤติกรรมของผู้บริโภคในโซนชานเมือง ทำความเข้าใจและเรียนรู้จากตรงนั้น”
หลังสั่งสมประสบการณ์อยู่นาน โอกาสก็มาถึง White Story ได้เปิดสาขาใจกลางเมืองครั้งแรกเมื่อปี 2558 ที่ศูนย์การค้า EmQuartier ซึ่งนับว่าเป็นทำเลศักยภาพ เพราะมีทั้งสำนักงานและที่อยู่อาศัย ถือเป็นก้าวใหญ่ที่มาพร้อมความท้าทาย
“โซน CBD แรกที่เราเข้ามาคือ EmQuartier ในช่วงที่ห้างเปิด วันแรกเปิดพร้อมกับห้างเลย ตรงนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าโซน CBD ลูกค้ามีความต้องการอะไร มีความเหมือนหรือความแตกต่างอย่างไรกับโซนชานเมือง พอเราเริ่มเรียนรู้ทั้งสองโซนแล้ว ทั้งชานเมืองทั้งในเมือง เวลาเราขยายต่อๆ ไป การทำ product หรือว่าการวาง SKU มันจะตอบโจทย์ได้ทั้งสอง location”

นอกเหนือจาก EmQuartier แล้ว วาศิณียังเล่าถึงทำเลศักยภาพกลางเมืองแห่งอื่นๆ ที่เธอและทีมงานต้องตั้งใจพิสูจน์ตัวเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งความไว้ใจจากบรรดา landlord จนได้เข้าไปเปิดสาขาในที่สุด
“เวลาเราทำธุรกิจ grab and go เรารู้อยู่แล้วว่าทำเลที่ดีต้องเป็นชุมชน มีคนพลุกพล่าน หรือว่าเป็น CBD เราต้องแบ่งเป็น stages ณ ตอนที่เรายังเล็กอยู่ เราคงไม่มีโอกาสจะได้ในทุกจุดที่เราชี้ เรามีทักษะในการดูว่าจุดไหนที่มันใช่สำหรับแบรนด์เรา แต่ไม่ใช่ทุกจุดที่ใช่ที่เขาจะให้พื้นที่เรา”
ช่วงแรกๆ ตอนที่แบรนด์ยังไม่ใหญ่มาก เธอต้องรอโอกาสจาก landlord ที่มองเห็นว่า White Story จะสามารถตอบโจทย์คนในตึกของเขาได้ เมื่อเข้าไปตั้งร้านแล้วก็ต้องทำให้ดี กระทั่ง landlord รายอื่นๆ เห็นศักยภาพและทยอยติดต่อเข้ามาในโอกาสถัดไป ซึ่งโอกาสสำคัญก็มาในช่วงที่เกิดวิกฤตขึ้นอีกครั้ง นั่นคือช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดนั่นเอง
“พอโควิดมา มันเป็นตัวหนึ่งที่เร่งเลย หลายๆ ร้านต้องปิดตัวไป ทำให้ landlord ที่เราเคยติดต่อไปแล้วสนใจเราแต่ไม่มีที่ว่างให้เรา เขาโทร.กลับมาหาเรา บอกว่าที่มันพร้อมแล้ว ทำให้ White Story เติบโตได้มากกว่า 20 สาขาในช่วงนั้น พอเรา scale up ได้ในช่วงวิกฤตโควิด มันเลยทำให้ landlord หลายๆ เจ้าเริ่มเห็น เป็น timing ที่ประจวบเหมาะที่ทำให้เราหา location ได้ง่ายขึ้น”
ปัจจุบัน White Story มีร้านทั้งหมด 90 สาขา ในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ในภาคกลางเป็นหลัก ได้แก่ อยุธยา นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรปราการ แทบทุกสาขาเป็นร้านแบบ grab and go คงเหลือไว้เพียงสาขาแรกอย่าง The Walk ราชพฤกษ์ที่มีที่ให้นั่งรับประทานอาหาร
ด้านผลประกอบการของ บริษัท โซดา น้ำชา จำกัด ย้อนหลัง 3 ปี จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีดังนี้
- ปี 2565 รายได้รวม 165,610,874.88 บาท กำไรสุทธิ 3,354,882.32 บาท
- ปี 2566 รายได้รวม 395,232,515.86 บาท กำไรสุทธิ 49,264,386.68 บาท
- ปี 2567 รายได้รวม 598,943,135.00 บาท กำไรสุทธิ 67,978,111.96 บาท
สำหรับปี 2568 บริษัท โซดา น้ำชา จำกัด ตั้งเป้าเปิดสาขาเพิ่มให้ถึง 100 สาขาก่อนสิ้นปี โดยจะมีการขยายออกนอกภาคกลางไปยังจังหวัดชลบุรีเป็นที่แรก
ความไว้ใจและความหลากหลาย คือกุญแจสู่ความสำเร็จ
การทำความเข้าใจลูกค้าและการเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ ทำให้ White Story ได้รับความไว้วางใจทั้งจากผู้บริโภคและพาร์ทเนอร์ ซึ่งวาศิณีมองว่า ‘ความไว้ใจ’ นี้เองคือกุญแจสู่ความสำเร็จของบริษัทฯ โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ ‘ความหลากหลาย’ ของสินค้าต่างๆ ภายในร้าน
“White Story ตอบโจทย์เรื่องความไว้ใจที่มีให้กับลูกค้า เมื่อนึกถึง White Story ลูกค้าสามารถไว้ใจได้ว่าเราคัดสรรสิ่งที่ดีมาอยู่ที่ร้านแล้ว ทั้งยังมีความหลากหลาย ลูกค้าสามารถซื้อเป็นของฝาก ซื้อให้ตัวเอง หรือกระทั่งซื้อให้ครอบครัวในทุกๆ วัน”

นอกจากขนมปัง อาหารกล่อง เครื่องดื่ม และขนมขบเคี้ยวของตัวเองแล้ว White Story ยังจับมือคอลแล็บกับแบรนด์อื่นๆ ที่ยึดมั่นในปณิธานเดียวกัน ได้แก่ ความใส่ใจสิ่งแวดล้อม ความปรารถนาดีต่อลูกค้า และการทำเกษตรอินทรีย์ ทำให้ภายในร้านเต็มไปด้วยสินค้านานาชนิด กลายเป็นศูนย์รวมสำหรับผู้ที่ต้องการผลิตภัณฑ์คุณภาพที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในราคาย่อมเยา
พาร์ทเนอร์ที่คอลแล็บด้วยกันก็มีทั้งที่ทางฝ่ายนั้นติดต่อเข้ามาเอง และทาง White Story ติดต่อไปหา เช่น Fruit Vinegar ที่เกิดจากความร่วมมือกับทางญี่ปุ่น และน้ำยาล้างผักแบรนด์ Lamoon ที่มีจำหน่ายในร้าน White Story เป็นต้น
White Story ยังมีการขยายไลน์สินค้าไปยังผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ที่เกี่ยวข้อง อาทิ อุปการณ์สำหรับทานอาหาร แก้วน้ำ หลอดแก้ว และอื่นๆ รวมถึงมีการขายปุ๋ย ซึ่งวาศิณีเล่าที่มาที่ไปว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับปัญหาขยะอาหาร (food waste) มาก มีการลงทุนในเครื่องจักรมูลค่า 2 ล้านบาทจำนวน 2 เครื่อง ที่ใช้ในการเปลี่ยนขยะอาหารบางส่วนเป็นปุ๋ยนำมาขายที่หน้าร้าน และบางส่วนก็มีการนำไปใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ต่อ
ความท้าทายมีทุกวัน และบางครั้งก็ต้องปล่อยมันไป
วิกฤตแรกคือน้ำท่วม วิกฤตต่อมาคือโควิด-19 เส้นทางของ White Story ต้องเผชิญกับวิกฤตใหญ่ถึง 2 ครั้ง ซึ่งวาศิณีมองเห็นโอกาสท่ามกลางสถานการณ์อันเลวร้ายทั้ง 2 ครั้ง จนบริษัทเติบโตมีสาขามากมาย
เช่นนั้นแล้ว White Story เคยประสบกับความท้าทายครั้งสำคัญบ้างหรือเปล่า?
เมื่อถามคำถามนี้ ซีอีโอสาวก็ยิ้มและตอบว่า “มีทุกวันค่ะ เรายืนหยัดที่จะทำอาหารสดใหม่วันต่อวัน ไม่มีสารกันเสีย ลดการใช้สารเคมีให้ได้มากที่สุด ใช้สารธรรมชาติ ในสภาพของบ้านเมืองร้อนชื้นอย่างเรา มันย่อมมีอุปสรรคอยู่แล้ว เราเองในด้านครัวกลางต้องวางแผน demand plan ให้ดีมากๆ เพื่อให้เกิด waste ให้น้อยที่สุด”
อีกสิ่งหนึ่งที่วาศิณีชี้ว่าท้าทายมากไม่แพ้กันคือการปรับมุมมองของลูกค้า “ลูกค้าอาจจะเอาขนมปังออกไปแล้ว วันที่สามหรือสี่ราขึ้น ลูกค้าบางท่านอาจมีแนวคิดว่าสินค้าที่ซื้อมาไม่ได้คุณภาพ ทำไมราถึงขึ้น การที่เราจะไปพูดตรงๆ มันก็ลำบาก ว่าสิ่งที่มันขึ้นรา ก่อนหน้านั้นมันเป็นสิ่งที่ดี ถ้าเกิดมันไม่ขึ้นรา มันน่าสงสัยมากกว่า แต่เราพูดตรงๆ มันก็ยากกับลูกค้าบางกลุ่มที่อาจยังไม่เข้าใจตรงจุดนี้”
สิ่งเหล่านี้กลายเป็นโจทย์ให้ทีมงาน White Story ต้องหาทางสื่อสารกับลูกค้าให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน ตลอดจนการแนะนำวิธีการเก็บรักษาขนมปังและอาหารให้ได้นานขึ้นโดยใส่ไว้ในตู้เย็น แต่ไม่ลืมเน้นย้ำว่าควรรับประทานให้หมดวันต่อวันจะดีที่สุด
ทั้งนี้ ใช่ว่าทุกปัญหาจะเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถควบคุมได้ บางครั้งบางคราวก็เกิดเหตุไม่คาดฝันยากจะรับมือขึ้นเช่นกัน ทำให้ผู้ก่อตั้ง White Story แบ่งแนวทางแก้ปัญหาออกเป็นระดับต่างๆ ตามแบบฉบับของเธอเอง
“ปัญหามันมีทั้งหมด 3 ระดับ ระดับแรกคือเป็นปัญหาที่ทุกวันต้องเผชิญอยู่แล้ว เป็นปัญหาเบสิก เราก็ใช้สติปัญญาแก้ไปในทุกๆ วัน ทีมงานเราก็แก้ไปในทุกๆ วัน เป็น level 1 เพราะฉะนั้นเราก็เรียนรู้จากปัญหา แล้วก็สอนให้ทีมงานแก้ปัญหา อย่าให้มันเกิดซ้ำ” วาศิณีมองว่าปัญหาระดับนี้สามารถลดได้ด้วยความระแวดระวัง ทั้งยังใช้เป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาการดำเนินงานต่างๆ ให้ดีขึ้น
ปัญหาต่อมาคือ level 2 เป็นระดับกลาง เธออธิบายว่าเป็น “ปัญหาที่แก้ไม่ได้ในทันทีทันใด มันต้องค่อยๆ แก้ไป แต่มันก็ยังมีหนทาง ต้องวางกลยุทธ์ให้ดี รีบลงมือแก้ไปตามนั้น แต่ว่าก็ต้องทำใจว่ามันจะไม่ได้แก้ได้วันนี้พรุ่งนี้ และต้องใช้สติปัญญาอย่างหนักหน่วง”
สุดท้ายคือความท้าท้าย level 3 ซึ่ง “มันแก้อะไรไม่ได้เลย มันนอกเหนือจากอำนาจการควบคุมของเรา เช่น การปิดเมืองช่วงโควิด และการอพยพคนออกจากตึกช่วงแผ่นดินไหว ก็ต้องช่างมัน แก้ได้เท่าที่แก้ แก้ไม่ได้ก็ปล่อยวาง”
เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้สำนักงานและห้างสรรพสินค้าทั่วกรุงเทพฯ ต้องปิดลงกะทันหัน ขนมปังและอาหารของ White Story ผลิตมาสดใหม่วันต่อวัน เมื่อห้างปิดจึงขายต่อไม่ได้ วาศิณียอมขาดทุนในวันนั้น เพราะมองว่าสถานการณ์อยู่เหนือการควบคุมของเธอ สิ่งที่เธอและทีมงานทำได้คือการนำอาหารไปแจกจ่ายให้ผู้ที่เดือดร้อนจากเหตุการณ์ดังกล่าวแทน เพราะขายไม่ได้แล้ว เก็บไว้พอหมดวันก็จะเสียและกลายเป็นขยะ สู้เอาไปแบ่งปันช่วยเหลือทุกคนดีกว่า

เปรียบธุรกิจเหมือนวงออร์เคสตร้า ผู้บริหารคือวาทยากร
วาศิณียังกล่าวถึงความท้าทายตามธรรมชาติของธุรกิจร้านอาหารที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ตัวเธอในฐานะผู้บริหารจึงยิ่งต้องมีทักษะและความชำนาญอย่างลึกซึ้ง ไม่สามารถรู้แค่ผิวเผินได้
“การทำร้านอาหารมันแทบจะใช้ทักษะแบบ 360 องศาเลยค่ะ คือใช้ทุกอย่าง ทุกๆ ด้าน แต่ทักษะที่มีความจำเป็นในฐานะผู้บริหารคิดว่าคือการ hands-on คือเข้าใจในแง่ของ operation ที่มือจับได้ รู้ว่าต้องจับอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ต้องลึกไปถึงระดับนั้นจึงจะเป็นผู้บริหารที่ดีในธุรกิจร้านอาหารได้”
ถัดมาเธอให้ความสำคัญกับการบริหารคน “เพราะว่าธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจที่ยังจำเป็นต้องใช้คนจำนวนมาก ทั้งในแง่ของบริการและการผลิตที่เรายังเป็นโฮมเมดอยู่ เราไม่ได้ทำเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ทักษะการบริหารคนจึงจำเป็นมาก”
ที่ขาดไม่ได้อีกหนึ่งทักษะคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ (New Product Development หรือ NPD) ให้สินค้ามีความหลากหลาย ลูกค้าจะได้ไม่ต้องรับประทานอาหารซ้ำซากจำเจ มีเมนูใหม่ๆ ให้ลอง ตลอดจนตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด โดยไม่หลุดจากแนวทางและคุณค่าของแบรนด์
เมื่อมองภาพรวมแล้ว วาศิณีเปรียบเปรยผู้บริหารร้านอาหารกับ conductor หรือวาทยากรผู้คอยกำกับวงออร์เคสตร้า
“ผู้บริหารควรเป็น conductor ที่ดี ร้านอาหารเป็นเหมือนวงออร์เคสตร้าที่แต่ละแผนกก็เปรียบได้กับเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นในการที่จะบรรเลงให้ดนตรีออกมาเพราะ ก็เหมือนการที่เราทำอาหารออกมาให้อร่อย กลมกลืนกับแบรนด์ กำหนดทิศทาง บางครั้งก็ต้องสั่งไปเลยว่าต้องทำอะไร ต้องรู้จังหวะจะโคน แล้วก็รู้ว่าควรโฟกัสไปที่จุดไหนเพื่อให้มันไม่ติดขัด และให้การแสดงจบลงอย่างสวยงาม”
นอกเหนือจากทักษะต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ‘ผลลัพธ์’ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่วาศิณีให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน กระบวนการ (process) อาจทำให้การทำงานมีลำดับขั้นเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ในบางสถานการณ์ก็จำเป็นต้องยืดหยุ่นและตัดขั้นตอนบางอย่างออกไปเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในเวลาจำกัด
“บางครั้งมันดูที่ผลลัพธ์ น้องในทีมเองก็ต้องมีไหวพริบ อันนี้อาจแก้ด้วยการกระโดดข้ามบันได แล้วเดี๋ยวได้ผลลัพธ์เลย ตอบลูกค้าก็ได้ ตอบนายก็ได้ ลูกค้าก็แฮปปี้ด้วย เร็ว ไม่ต้องมานั่งรอ” ทั้งนี้เธอย้ำว่าอย่าทิ้งกระบวนการทำงานไปเสียทีเดียว ให้ปรับเอาตามความเหมาะสมจะดีที่สุด
ทำงานหนักแค่ไหน ก็ต้องไม่ลืมใส่ใจสุขภาพ
จากเรื่องราวการก่อตั้งแบรนด์ White Story มาจนถึงการบริหารบริษัท วาศิณีอาจดูเป็น working woman ที่ตั้งใจทำงานหนักมากคนหนึ่ง กระนั้นเธอก็ไม่ลืมสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน หรือ work-life balance ที่ผู้คนในปัจจุบันต่างแสวงหา ซึ่งเธอมองว่าต้องแยกกรณีระหว่างพนักงานกับผู้ประกอบการ
วาศิณีสนับสนุนให้พนักงานมี work-life balance เน้นให้ทุกคนทำงานอย่างประสิทธิภาพ เพื่อที่พองานเสร็จเร็วก็จะได้มีเวลาไปใช้ชีวิตส่วนตัว พักผ่อน ทำสิ่งอื่นๆ ที่อยากทำ แต่ในฐานะผู้ประกอบการนั้นถือเป็นเรื่องยาก เพราะแม้จะเลิกงานแล้ว สมองก็มักเผลอหวนมาคิดเรื่องงานขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้เธอเน้นว่าต้องพยายามหาจุดสมดุลในเรื่องสุขภาพให้ได้
“ถ้าแบ่งเวลาได้ก็จะแบ่งเวลาในการออกกำลังกาย ก็จะออกกำลังกายตามหลักการ มีคาร์ดิโอ ยืดเส้น และการ balance แกนกลางลำตัว แล้วเราจะมีสุขภาพที่ดีในตอนแก่” วาศิณีเผยเคล็ดลับการดูแลสุขภาพของเธอ “จะทำตามโอกาส แต่ต้องทำ ห้ามปล่อย เคยปล่อยนะ ช่วงที่ชีวิตยุ่งเหยิงสุดๆ มันก็จะเห็นเลยว่าไม่โอเค มันจะสะท้อนมาทางสุขภาพเราเลยว่าทำไมเราป่วยบ่อย ทำไมเราเป็นหวัดบ่อย ทำไมเราออดๆ แอดๆ ช่วงนี้”
อาจกล่าวได้ว่าเบื้องหลังการทุ่มเททำงานที่ตัวเองรัก บริหารกิจการจนเติบโต ซีอีโอหญิงแกร่งแห่ง White Story ก็ไม่ลืมที่บริหารชีวิตของตัวเองอย่างชาญฉลาด และให้ความสำคัญกับสุขภาพมาเป็นอันดับ 1 สมดังปรัชญาประจำใจของเธอ
“ความอดทนเป็นเพื่อนกับสติและปัญญา คืออดทนอย่างมีเป้าหมาย แล้วก็มีความสมดุลในด้านสุขภาพด้วย”
ทุกอย่างต้องเกิดจากความอดทนก่อน เมื่ออดทนก็จะมีเวลาตั้งสติ ใคร่ครวญ อันจะนำไปสู่ปัญญาในการคิดตัดสินใจกระทำสิ่งต่างๆ
“ความอดทนช่วงแรกมันอาจจะดูขมขื่น อาจจะดูทุกข์ อาจจะดูเศร้า ไม่รู้สึกแฮปปี้กับการทำงาน แต่ถ้าเราอดทนอย่างมีเป้าหมายที่ balance กับสุขภาพ ผลลัพธ์ของความอดทนมันมักจะหวานชื่นเสมอ”
ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Hadara Healthy Bag พลิกปัญหาสู่ผลิตภัณฑ์ สร้างแบรนด์กระเป๋าเพื่อสุขภาพร้อยล้าน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine