ชยุตม์ หลีหเจริญกุล ทรานส์ฟอร์มขนมมหาชน - Forbes Thailand

ชยุตม์ หลีหเจริญกุล ทรานส์ฟอร์มขนมมหาชน

ภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ยกเครื่ององค์กรจากระบบเถ้าแก่สู่มืออาชีพ พร้อมเสริมความแข็งแกร่งการลงทุนขยายฐานธุรกิจขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มสัญชาติไทย เบนโตะ เจเล่ เขย่าตลาดโลก ด้วยความมั่นใจในแบรนด์สร้างชื่อ ช่องทางการจำหน่าย และพอร์ตสินค้าที่หลากหลายตอบดีมานด์ผู้บริโภคทุกเพศวัย 

Mission complete! ในความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้ก่อตั้งอาณาจักรศรีนานาพรที่เคยให้สัมภาษณ์กับ Forbes Thailand เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2561 ซึ่งต้องการยกระดับธุรกิจให้เป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อขยายกำลังการผลิตและการลงทุนในต่างประเทศได้สำเร็จ พร้อมผสมผสานการทำงานร่วมกับทีมบริหารรุ่นใหม่ผลักดันให้บริษัทเดินหน้าสานฝันให้เป็นจริงได้สำเร็จ วันนี้ Forbes Thailand ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ชยุตม์ หลีหเจริญกุล ถึงธุรกิจที่กำลังโลดแล่นนี้อีกด้วย “จุดเริ่มต้นมาจากแนวทางการขยายธุรกิจเมื่อ 5 ปีที่แล้วของ วิวรรธน์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอที่มองว่า แม้ที่ผ่านมาบริษัทจะสามารถเติบโตจากธุรกิจยี่ปั๊ว ซาปั๊วเป็นเจ้าของโรงงานและสร้างแบรนด์ได้สำเร็จ แต่การขับเคลื่อนไป CLMV และการขยายธุรกิจในตลาดโลกด้วยวิธีการทำงานหรือกลยุทธ์แบบเดิมๆ อาจจะไม่เพียงพอ ทำให้เราต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อให้บริษัทไปต่อได้ เช่น ระบบการทำงาน ระบบการควบคุมตรวจสอบภายใน หรือข้อมูลต่างๆ ที่สามารถวัดผลได้” ชยุตม์ หลีหเจริญกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานบัญชีและการเงิน บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SNNP กล่าวถึงโจทย์ทางธุรกิจที่ได้รับมอบหมายจาก วิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งธุรกิจนับตั้งแต่วันแรกที่ร่วมงานกับบริษัท 
ชยุตม์ หลีหเจริญกุล

ยกเครื่องศรีนานาพรสู่ SNNP 

จากความเชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนในการทำงานตำแหน่ง Vice President, Investment Banking Division ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และประสบการณ์ร่วมนำธุรกิจเข้าจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ผ่านมาในช่วงที่นั่งเก้าอี้ Group CFO บริษัท บางกอกแร้นช์ จำกัด (มหาชน) พร้อมความรู้ปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท M.A. Economics จาก Osaka University ทำให้ชยุตม์มั่นใจในความพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสร้างการเติบโตทางธุรกิจ  “วันแรกเราเข้ามาจัดการระบบหลังบ้านก่อนในเรื่องระบบบัญชี ระบบ IT ต่างๆ โดย 2 ปีแรกงานส่วนใหญ่จะเป็นการเรียนรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจในมุมของธุรกิจ เพราะหน้าที่ของ CFO ไม่ใช่ gate keeper ที่บอกว่า อะไรทำได้หรือทำไม่ได้ แต่เราต้องเป็นสื่อกลางประสานงานร่วมกันกับทุกฝ่ายให้เกิดการผสมผสานแนวคิดเดิมกับแนวคิดใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางของคุณวิวรรธนที่ใส่ใจพนักงานที่ร่วมฟันฝ่าบริษัทจนเติบโตขนาดนี้ แต่บางเรื่องที่ต้องต่อยอดเพื่อขับเคลื่อนให้บริษัทเติบโตมากขึ้น เราก็จะมีการดึงทีมงานใหม่เข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจ”  ชยุตม์ หลีหเจริญกุล กล่าวถึงการผสมผสานการทำงานระหว่างทีมงานรุ่นใหม่และให้คุณค่ากับประสบการณ์ทำงานของทีมงานที่ร่วมสร้างการเติบโตกับบริษัทตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยพัฒนาการทางธุรกิจที่ต่อเนื่องยาวนานจากร้านค้าส่งขนม “ศรีวิวัฒน์” ในปี 2515 ถึงศรีเจริญพาณิชย์ และขยายกิจการเป็นบริษัทจำกัดในปี 2534 ได้แก่ บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกิมเฮง จำกัด และ บริษัท สยามเดลี่ฟู้ดส์ จำกัด รวมทั้ง บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด พร้อมจัดตั้งบริษัทด้านการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าในปี 2536-2537 เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งทางธุรกิจและรองรับการเติบโตของบริษัท ซึ่งครอบคลุมการดำเนินงานตั้งแต่ขั้นตอนการคิดค้น พัฒนา ผลิต ทำการตลาด และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวในปัจจุบัน
ผลิตภัณฑ์บางส่วนของศรีนานาพร
  ขณะที่ความเปลี่ยนแปลงสำคัญของบริษัทเกิดขึ้นนับตั้งแต่ช่วงปี 2559 เป็นต้นมา ทั้งการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศและการปรับโครงสร้างของบริษัท เพื่อเตรียมพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถการแข่งขันของบริษัท ด้วยการพัฒนาและปรับปรุงระบบงานด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับระบบสารสนเทศของบริษัท เช่น ระบบ ERP ระบบ Smart Visual Workflow เป็นต้น และการปรับปรุงกระบวนการผลิตตามมาตรฐาน ISO 22000 พร้อมเพิ่มบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและเริ่มต้นลงทุนในประเทศกัมพูชา  นอกจากนั้น ชยุตม์ยังเล็งเห็นความสำคัญในการปรับปรุงหน่วยสินค้า (SKU) โดยยกเลิกรายการสินค้าที่มียอดขายหรืออัตรากำไรต่ำควบคู่กับการปรับปรุงภาพลักษณ์ พัฒนาและสร้างเอกลักษณ์ให้กับแบรนด์สินค้าชัดเจนยิ่งขึ้นผ่านการลงทุนในแบรนด์หลัก และใช้กลยุทธ์ทางการตลาด รวมทั้งสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ในแบรนด์และออกสินค้าใหม่ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค  “ในอดีตศรีนานาพรมียอดขายเกือบแตะ 5 พันล้านบาท แต่สินค้าหลายรายการยังเป็นสินค้ารูปแบบเดิม เช่น ขนมปังปี๊บซึ่งตลาดใหญ่มาก แต่มาร์จิ้นอาจจะไม่สูงมากและด้วยแนวทางที่เราวางไว้ให้บริษัทอีก 5-10 ปีข้างหน้าอาจจะไม่สอดคล้องกัน เพราะสินค้าของเราแม้จะได้รับมาตรฐาน GMP, HACCP หรือ ISO สำหรับในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบริษัท แบ่งออกเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เยลลี่พร้อมดื่มและเยลลี่คาราจีแนน แบรนด์เจเล่, ไดยาโมโตะ, คูลลี่ คูล และเมจิกฟาร์ม ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มอื่นๆ เช่น Asian Drink เช่น น้ำเฉาก๊วยผสมเนื้อเฉาก๊วย, น้ำมะพร้าวผสมวุ้นมะพร้าว, น้ำเต้าหู้พาสเจอร์ไรซ์ และน้ำจับเลี้ยง แบรนด์เมจิกฟาร์มเฟรช และน้ำดื่มผสมวิตามิน เจเล่ อควา วิตซ์ วิตามิน มิเนอรัลวอเตอร์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวของบริษัท ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทปลาหมึกอบ ปลาหมึกเส้น และปลาเส้น แบรนด์เบนโตะ กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทขนมขึ้นรูปและขนมปังแท่งแบรนด์ดอกบัว โลตัส รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทเวเฟอร์และขนมปังอบแบรนด์ช๊อคกี้เบเกอรี่เฮาส์  “บริษัทลงทุนเรื่องแบรนด์สินค้าตลอด 30 ปี ทำให้ปัจจุบันเรามีแบรนด์สินค้าที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจำนวนมากรวมทั้งการกระจายสินค้า เมื่อเรามีแบรนด์ที่เข้มแข็งเราจะทำอย่างไรให้สินค้าของเราถึงมือผู้บริโภคได้เป็นวงกว้าง ไม่เฉพาะช่องทาง modern trade ที่เราสามารถปูพรมได้แล้ว แต่ช่องทาง traditional trade ก็สำคัญ โดยการที่เรามีพันธมิตรที่เป็นคู่ค้ายี่ปั๊ว ซาปั๊ว เราจะต่อยอด หรือทำงานร่วมกันเสริมจุดแข็งของเขาให้เกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างไร ทั้งในมุมของสินค้าและคู่ค้าของเรา”  ดังนั้น นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวบริษัทยังเล็งเห็นถึงศักยภาพในการเติบโตและความสำคัญของธุรกิจการจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะในช่องทางการค้าแบบดั้งเดิม ด้วยการลงทุนใน บริษัท สิริ โปร จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายและเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคโดยมีการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านร้านค้าประเภทต่างๆ ทั้งร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ร้านขายส่ง และร้านค้าปลีกย่อยที่มีอยู่ทั่วประเทศ  ทั้งนี้ สิริ โปรแบ่งหมวดสินค้าที่รับจัดจำหน่ายออกเป็น 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัวและของใช้ในครัวเรือน รวมถึงให้บริการจัดจำหน่ายสินค้าให้บริษัทและสินค้าอื่นๆ จากบริษัทภายนอกกลุ่มบริษัท โดยบริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด เข้าร่วมถือหุ้นในสัดส่วน 30% ช่วยเสริมความพร้อมทั้งกระบวนการที่ได้มาตรฐาน ระบบสารสนเทศที่ทันสมัย และครอบคลุมการกระจายสินค้าได้ทั่วประเทศ รวมถึงการดำเนินงานที่มีความรวดเร็วในการปฏิบัติงาน ความเชี่ยวชาญและความชำนาญในพื้นที่  “เมื่อเราได้บุญรอดเทรดดิ้งเป็นพันธมิตรก็ทำให้เป้าหมายของสิริ โปรที่ต้องการติดอันดับ 1 ใน 3 บริษัทจัดจำหน่ายสินค้าในประเทศเป็นไปได้เร็วขึ้น ด้วยความเข้มแข็งเรื่องโครงสร้างเงินทุน know-how และบุญรอดเทรดดิ้งก็เป็นรายใหญ่ในสาย beverage สามารถเชื่อมกับเราที่เป็นสาย snack รวมถึงทีมบริหารที่มีความเชี่ยวชาญการบริหารจัดการ ซึ่งสิริ โปรไม่ได้ขายเฉพาะสินค้าของเราอย่างเดียว แต่เราต้องการให้สิริ โปรเป็นบริษัทจัดจำหน่ายสินค้าชั้นนำในประเทศเหมือนเวลาเดินเข้าร้านสินค้าก็ต้องการสินค้าที่หลากหลาย ดังนั้น ทีมขายของเราวิ่งเข้าร้านค้าก็ต้องมีสินค้าให้ครบทุกรูปแบบ” 

ปั้นยอดขายทะยาน 8 พันล้าน 

แม้ในวันนี้บริษัทจะสามารถจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สำเร็จ ด้วยราคาเปิดเทรดเพิ่มขึ้น 29.34% จากราคาจองที่ 9.2 เป็น 11.9 บาท แต่การระดมทุนในตลาดหุ้นเป็นเพียงการเริ่มต้นก้าวแรกของบันไดสู่การขยายอาณาจักรในต่างประเทศ ด้วยความมั่นใจในกลยุทธ์และแผนการลงทุนทางธุรกิจที่จะผลักดันให้บริษัทสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมาย 8 พันล้านบาทภายในปี 2569  “กลยุทธ์ธุรกิจย้อนกลับมาที่หลักการตลาด 4P คือ Product, Price, Place, Promotion เพียงแต่ใครจะทำได้ดีกว่า หรือใครจะมองเห็นเทรนด์ในอนาคตและความต้องการของผู้บริโภคได้ก่อน รวมถึงต้องมีความพร้อมพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบโจทย์ได้ ซึ่งเราศึกษาเทรนด์สินค้าและเทรนด์ผู้บริโภค เก็บสะสมข้อมูลเตรียมความพร้อมล่วงหน้าตลอด ก่อนจะกลับมาทำงานร่วมกับทีมพัฒนา R&D เพื่อให้สามารถออกสินค้าถึงมือผู้บริโภคได้ทันกับกระแสที่เข้ามา นอกเหนือจากช่องทางการกระจายสินค้าทั้ง modern trade และช่องทางการค้าแบบดั้งเดิม โดยมียี่ปั๊ว ซาปั๊ว 3,000 กว่ารายทั่วประเทศร้านปลีกอีกเป็น 100,000 ราย ซึ่งเรามีบริษัทลูกชื่อสิริ โปรที่มีศูนย์กระจายสินค้า 11 จุดตามหัวเมือง และรถ cash van สามารถวิ่งเข้าไปวางปูพรมสินค้าของเราได้ 70,000 จุดภายใน 1 เดือน”  ขณะที่การขยายน่านน้ำทางธุรกิจได้รับการเสริมทัพเงินทุนอย่างแข็งแกร่งจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทั้งในแง่ของกำลังการผลิตและการบริหารจัดการต้นทุนโดยรวม รวมถึงขยายการจัดจำหน่ายสินค้าให้ครอบคลุมภูมิภาคอาเซียนผ่านบริษัทย่อยในกัมพูชาและเวียดนาม ด้วยการลงทุนผ่านบริษัทย่อย S.T. Food Marketing Co., Ltd เพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มเยลลี่สำเร็จรูปในประเทศเวียดนาม ซึ่งได้ เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วในไตรมาส 3 ปี 2564 และคาดการณ์แล้วเสร็จในปี 2565 โดยโรงงานทั้งหมดตามแผนการลงทุนในเบื้องต้นจะแล้วเสร็จช่วงสิ้นปี 2566  ชยุตม์กล่าวถึงการขยายฐานการผลิตของบริษัทในปัจจุบันที่มีจำนวนรวม 6 แห่ง ทั้งในประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม ครอบคลุมตลาดที่มีประชากรกว่า 250 ล้านคน และเป็นฐานการส่งออกสินค้าไปตลาดอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันบริษัทส่งออกไปยัง 5 ทวีป รวมกว่า 35 ประเทศทั่วโลก ทั้งยังจัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อจัดจำหน่ายสินค้าในประเทศจีนและกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป โดยวางเป้าหมายรายได้จากตลาดต่างประเทศเติบโต 3 เท่าในอีก 5 ปีข้างหน้า  “สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เราต้องมีแผนสำรอง โดยประเทศไทยจะเป็นธุรกิจหลักหรือแผนแรก ส่วนแผน 2 เป็น CLMV แผน 3 ประเทศจีน แผน 4 ออสเตรเลีย แผน 5 ยุโรป แผน 6 ตะวันออกกลางและอเมริกา โดยเราต้องทำไปพร้อมกันอย่าง CLMV ใกล้จบแล้ว เราต้องเตรียมตั้งไข่ประเทศอื่นๆ ไว้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ไม่คาดคิด ซึ่งเราพัฒนาเป็นบันไดเตรียมไว้แต่ละขั้น โดยเรายังเห็นโอกาสในจีนที่มีประชากร 1.4 พันล้านคน และยังนิยมสินค้าของเรามากทั้งเบนโตะและโลตัส โดยวันนี้เราเข้าไปตั้งบริษัทลูกแล้วในการนำเข้าสินค้าและติดต่อตัวแทนขายในประเทศจีนทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งการส่งออกไป EU จากสินค้าที่หลากหลายตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม”  นอกจากนั้น บริษัทยังเดินหน้าแผนการลงทุนพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ด้วยการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาด้านการวิจัยผลิตภัณฑ์อาหารจากกัญชงและกัญชา และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ รวมถึงโครงการวิจัยเรื่องการคัดเลือกพันธุ์กัญชงสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ และเสริมสร้างพอร์ตโฟลิโอให้มีความหลากหลาย  ขณะเดียวกันชยุตม์ยังให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การต่อยอดแบรนด์ผู้นำตลาด เช่น เจเล่, เบนโตะ, โลตัสขาไก่, เมจิกฟาร์ม และเครื่องดื่มอควา วิตซ์ เป็นต้น โดยมุ่งพัฒนาทั้งรสชาติ ขนาด และราคา ให้เหมาะกับความต้องการและกำลังซื้อของผู้บริโภค ทั้งในและต่างประเทศ (localization) เช่น การออกผลิตภัณฑ์ประเภทขนมขึ้นรูปและขนมปังแท่งตราโลตัสที่กัมพูชาในราคา 500 เรียลกัมพูชา เพื่อให้ตรงกับขนาดราคา (price point) ของประเทศกัมพูชาโดยเฉพาะการพัฒนาตราสินค้า Tako สำหรับการวางขายสินค้าในประเทศจีน ซึ่งคาดการณ์จัดจำหน่ายในช่วงไตรมาส 2 ปี 2564  “ฐานสินค้าของเราเหมือนต้นไม้ที่เติบโตหลายต้น เราไม่ได้รอเก็บเกี่ยวเฉพาะสินค้าใดสินค้าหนึ่ง และต้นไม้ของเราปลูกไว้หลายประเทศมาก โดยวันนี้ยอดขายเราประมาณ 4 พันล้านบาทกับ 67 ล้านคน เรามอง CLMV จำนวน 250 ล้านคน ถ้าในเชิงของประชากรเพิ่มเกือบ 4-5 เท่า โดยเราเข้าไปในขนาดเดียวกับธุรกิจของไทย ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ ฐานการผลิต และช่องทางที่สามารถสร้างราคา price point ได้ ดังนั้น เราจึงวางไว้ว่า ภายใน 4-5 ปีข้างหน้าเราจะสามารถ double รายได้เป็น 8 พันล้านได้”  ชยุตม์ หลีหเจริญกุล ย้ำความมั่นใจในเป้าหมายสร้างการเติบโตเป็นเท่าตัวจากความแข็งแกร่งด้านพอร์ตโฟลิโอสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวที่มีความหลากหลายสามารถตอบสนองความต้องการครอบคลุมทุกช่วงเวลาและโอกาสในการบริโภค รวมทั้งการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ด้วยแนวทางการบริหารธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจให้ทีมงานสามารถประสานการทำงานขับเคลื่อนธุรกิจไปยังทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน  “วิธีการทำงานของผมไม่ค่อยอยู่ในห้องทำงาน ส่วนใหญ่อยู่ในโรงงานและส่วนของการขาย โดยวันนี้เราต้องการทำให้หน่วยงานที่อยู่ภายใต้การดูแลของเราเป็นทีมที่สามารถเดินควบคู่กับหน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสายการผลิต การขาย การตลาด หรือทีมผู้บริหารทั้งหมดที่จะขับเคลื่อนกลยุทธ์ เราต้องสนับสนุนเขาไปในทางเดียวกัน และทำงานเชื่อมหลังบ้านกับหน้าบ้านให้สามารถถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้น”  อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine