“ขยล ตันติชาติวัฒน์” กับฝันพาไทยก้าวสู่ Smart City ปั้น “เมทเธียร์” ใส่เทคฯ ให้แม่บ้าน-รปภ. - Forbes Thailand

“ขยล ตันติชาติวัฒน์” กับฝันพาไทยก้าวสู่ Smart City ปั้น “เมทเธียร์” ใส่เทคฯ ให้แม่บ้าน-รปภ.

จากชายหนุ่มผู้คร่ำหวอดในสายงานการตลาดที่เข้าไปคลุกคลีตั้งแต่เอเจนซี่โฆษณา วงการบัตรเครดิต ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด จนถึงบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เลือกทำงานแต่ละที่เพราะชื่นชอบพิชิตโจทย์อันแสนท้าทาย กระทั่งมองเห็นเทรนด์ธุรกิจในด้านเทคโนโลยี และมีปรัชญาการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปเป็นการทำธุรกิจที่สร้าง impact ให้กับประเทศและสังคม นั่นทำให้ “ขยล ตันติชาติวัฒน์” ลุยปลุกปั้น “เมทเธียร์” ใส่เทคโนโลยีให้กับวงการ “แม่บ้าน-รปภ.” ผลักดันประเทศไทยก้าวสู่ Smart City


    ช่วงสายของวันหนึ่งในราวปลายเดือนธันวาคม 2566 Forbes Thailand มีนัดกับผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีสำหรับใช้ในอาคาร การทำความสะอาด และการรักษาความปลอดภัย ที่ตึกออฟฟิศในย่านรัชดา ซึ่งเป็นที่ตั้งของ เมทเธียร์ บริษัทลูกของสกาย ไอซีที ผู้ทำเทคโนโลยีต่างๆ ให้กับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย

    แน่นอนว่าการขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ ทำให้การเข้าใช้งานหรือเดินไปมาในตึกนี้ไม่ธรรมดาเลย เพราะแทนที่จะใช้บัตรพนักงาน ทุกประตูที่ผ่านเข้าไปหรือแม้แต่การเข้าลิฟต์ ต้องใช้การสแกนใบหน้าเท่านั้น และถ้าคุณไม่ใช่พนักงานของที่นี่ อีกทั้งยังไม่มี “คนใน” ไปกับคุณด้วย ก็เรียกว่าคุณแทบจะไปไหนในตึกนี้ไม่ได้ นั่นไม่เพียงสะท้อนถึงความทันสมัย แต่ยังแสดงให้เห็นถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อรักษาปลอดภัยในอาคารด้วย

    นัดวันนี้ของเราคือการพูดคุยกับ “ขยล ตันติชาติวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมทเธียร์ จำกัด (Metthier) เขาเป็นซีอีโอใหม่ป้ายแดงในบริษัทที่เพิ่งก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายนปีก่อน หลังจากบริษัทแม่อย่าง “บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน)” หรือ สกาย กรุ๊ป (SKY Group) มองเห็นว่าควรต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยอัจฉริยะ (Smart Security) สู่ธุรกิจใหม่อย่าง “ธุรกิจการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์อัจฉริยะ” (Smart Facility Management) แบบครบวงจร จึงได้ตั้งเมทเธียร์ขึ้น และส่ง “ขยล” ซึ่งแต่เดิมดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านเทคโนโลยี หรือ CTO ของสกาย กรุ๊ป ขึ้นเป็นซีอีโอเมทเธียร์


ขับเคลื่อนชีวิตด้วยการพิชิตเป้าหมาย

    “ในเรื่องการดำเนินชีวิต เราไม่ได้ยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งตัวเองและงานที่ทำ” ขยลเริ่มบทสนทนากับ Forbes Thailand ด้วยแนวทางการในการดำเนินชีวิตของเขาที่มีการเปลี่ยนแปลงสายงานมาแล้วหลายครั้ง และเส้นทางที่ผ่านมาก็ไม่ใช่วงการเทคโนโลยีหรือแม้แต่วงการทำความสะอาดและการรักษาความปลอดภัยเลยแม้แต่น้อย

    “สาเหตุที่เปลี่ยนสายงานเรื่อยๆ คือพอเราทำอะไรจนถึงจุดที่เราสามารถบรรลุเป้าหมายแล้ว เราจะคิดว่าสิ่งที่เราจะทำต่อไปคืออะไร เป้าหมายต่อไปที่จะบรรลุคืออะไร เราจะมองหาตัวเองว่าอะไรที่เราสนใจอยากจะทำ อยากจะเปลี่ยน” ขยลเล่าให้ฟังถึงการเปลี่ยนแปลงสายงานในหลายครั้ง โดยหลังเรียนจบปริญญาโท จากมหาวิทยาลัย California State University, Fullerton สหรัฐอเมริกา เขาก็เริ่มงานในสายการตลาดที่บริษัทเอเจนซี่โฆษณาแห่งหนึ่งในตำแหน่ง Strategic planner ที่ต้องวางแผนกลยุทธ์ให้ลูกค้าจากหลากหลายอุตสาหกรรม

    จนกระทั่งบรรลุเป้าหมาย คืองานลูกค้าที่ออกไปได้รับ engagement ที่ดี เขาก็เปลี่ยนมาอยู่ในสายงานบัตรเครดิตกับ KTC โดยโจทย์ที่เขาได้รับคือต้องทำให้มีคนมาสมัครบัตรเครดิตให้ได้มากที่สุด และแน่นอนว่าเขาก็ทำได้สำเร็จตามเป้าหมายอีกเช่นเคย ในปีนี้ที่เขาเข้าไป KTC กลายเป็นแบรนด์ที่มีคนสมัครบัตรเครดิตมากที่สุดในประเทศ


    ธุรกิจบัตรเครดิตเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับขยล เมื่อเขาบรรลุเป้าหมายแล้ว เขาก็มองหาวงการที่ต้องเจอความท้าทายที่มากขึ้น จนมาได้งานในแวดวง FMCG อย่างร้าน Pizza Hut กับโจทย์ใหม่คือการขยายสาขาให้ได้มากที่สุด “ที่นั่นท้าทายมาก เพราะเราต้องเดินทางไปทุกภูมิภาค ทำเทรดโซน ดูธุรกิจมากขึ้น ไม่ใช่การตลาดอย่างเดียว ต้องคำนวณพื้นที่ขาย ทำการตลาดอย่างโปรแกรมส่งฟรีใน 30 นาที”

    ที่นี่เรียกได้ว่าเป็นที่ที่เขาทำงานหนักที่สุด เพราะไม่ใช่แค่การตลาดแต่เขาแทบจะดูแลธุรกิจ ทั้งคิดหน้าพิซซ่าใหม่ๆ ออกมาขายซึ่งมีผลงานอย่างการเพิ่มความน่ากินให้ขอบพิซซ่าด้วยการเติมไส้กรอกหรือชีสเข้าไป, คำนวณต้นทุนการขายและการเปิดสาขาใหม่, ทำโฆษณาเมื่อมีโปรดักต์ใหม่เปิดตัว, ช่วงพักกลางวันต้องเข้าเทรนนิ่งออนไลน์กับฝรั่ง อีกทั้งเสาร์-อาทิตย์ต้องเดินทางไปดูสาขา

    จนกระทั่ง Pizza Hut มีการเปิดสาขาไปเป็นจำนวนมาก เกิดการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ก็ถึงจุดที่ขยลบรรลุเป้าหมาย ตอนนั้นเองโอกาสในสายงานใหม่ก็มาถึงเขา เมื่อผู้บริหารจาก SCB ชวนเขาเข้าไปทำการตลาดให้ธุรกิจบัตรเครดิต ซึ่งที่นี่เองที่เขาได้ทำงานร่วมกับ “แสนสิริ” เพราะทำแคมเปญร่วมกัน และทำให้เขาเห็นว่าเทรนด์การซื้ออสังหาริมทรัพย์มาแรงโดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ทั้งซื้ออยู่เองและซื้อเพื่อลงทุนเนื่องจากคนย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น

    และขยลก็ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในวงการอสังหาฯ ที่ “พฤกษา” เป็นที่แรกจากการชักชวนของผู้ใหญ่ ที่มีโจทย์ให้เขาคือสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก นำมาซึ่งการปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่ของพฤกษา ทั้งทำ Online Communication ใหม่, ปรับต้นทุนจากการใช้ป้ายบิลบอร์ด มาเป็นการใช้ป้ายรียูส และทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น จนลดต้นทุนการตลาดไปได้กว่าครึ่งหนึ่ง

    แต่บริษัทอสังหาฯ ที่เขาอยู่ด้วยนานที่สุดเป็นเวลา 8 ปี ก็คือ “เอพี ไทยแลนด์” ที่นี่ขยลได้รับโจทย์ให้เข้าไปกอบกู้ธุรกิจเรียลเอสเตทเอเจนซี่ของเอพีฯ ที่ขาดทุนมาตลอดให้สามารถกลับมามีกำไรและเติบโตอย่างยั่งยืน สิ่งที่ขยลทำคือการเข้าไปวางโครงสร้างใหม่ ปรับทีมใหม่ เปลี่ยนระบบการบริหารใหม่ ทำระบบ CRM ทำการตลาดแยกระหว่างการซื้อและการขาย

    นอกจากนี้ยังเริ่มเอาเทคโนโลยีมาใช้ เช่น โปรแกรมการติดตามการทำงานของเซล ที่นอกจากจะเห็นลูกค้าทั้งพอร์ตของเซลแต่ละคน ก็สามารถดูกระบวนการการทำงานจนถึงขั้นปิดการขายได้ และที่นี่นี่เองที่ทำให้เขามองเห็นว่า “เทคโนโลยีจะเป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยทำให้อะไรดีขึ้นได้”


แตะขอบฟ้าวงการเทคฯ ที่สกาย ไอซีที

    วันที่เขาเริ่มเห็นเทรนด์และโอกาสในวงการเทคโนโลยีเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ประจวบเหมาะกับเป็นช่วงที่เขาได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารของ “สกาย ไอซีที” ซึ่งมีโปรดักต์ไฮไลต์คือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน (Aviation Tech) และการบริการภายในสนามบิน (Airport Services) อาทิ ระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง (CUPPS) และการให้บริการระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า (APPS) ซึ่งรับรู้รายได้ตามจำนวนผู้โดยสารขาเข้า ผู้โดยสารขาออก ผู้โดยสารผ่าน และผู้โดยสารเปลี่ยนลำ

    “เราชื่นชมว่าเขา (สกาย ไอซีที) สามารถสร้างสิ่งที่ไม่เคยมีในไทยมาก่อน ให้เข้าไปอยู่ในสนามบินได้ ทำไมถึงทำได้ นี่คือแอดวานซ์เทคที่ต้องลงทุนสูงมาก แล้วมีรายได้จากทรานแซคชั่นคนมาใช้บริการ เราเห็นแล้วในวันนั้นว่านี่คือเทรนด์ของอนาคต” ขยลเล่าอย่างตื่นเต้น


    เขายังอธิบายเพิ่มเติมว่า ปัญหาของหลายองค์กรธุรกิจหรือแม้แต่รัฐวิสาหกิจคือการอยากได้เทคโนโลยีที่ดี แต่เทคโนโลยีที่ดีก็มาพร้อมกับการลงทุนสูง โมเดลของสกาย ไอซีที คือการทำเทคโนโลยีให้บริการลูกค้า โดยที่ลูกค้าจ่ายเงินแบบ Subscription Based ไม่ต้องลงทุนพัฒนาเอง และมีคน maintain ระบบให้ เป็นโมเดลธุรกิจที่ควรจะเกิดขึ้นในไทยนานแล้ว และสกาย ไอซีทีทำ นั่นทำให้เขามองว่าสกายฯ เป็นบริษัทที่มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล ทั้งยังมีทีมงานที่ดี จะต้องเป็นธุรกิจที่เติบโตแน่นอน

    แต่ที่ทำให้เขาสนใจทำงานกับสกายฯ มากขึ้น คือมุมมองของผู้บริหาร ที่อยากพัฒนาเทคโนโลยี เพราะอยากเห็นประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า

    “แต่ก่อนเราทำธุรกิจเพื่อธุรกิจ ในวันนั้นที่เราเป็นลูกจ้างตำแหน่งอะไรก็ตาม เราทำเพื่อเงินเดือน เพื่อตัวเอง เพื่อธุรกิจ แต่วันนึงที่คุยกับประธานของสกายฯ มันไม่ใช่ มันเป็นอีกขั้นหนึ่ง ธุรกิจดีมาทีหลัง ประเทศชาติต้องดีก่อน เพราะฉะนั้นธุรกิจที่เราต้องเข้าไปช่วย ประเทศชาติต้องดีขึ้นด้วย พอเป็นคำว่าเพื่อประเทศ เป้าหมายเราเปลี่ยนแล้ว นี่คืออีกขั้นของชีวิต”

    ขยลร่วมงานกับสกายฯ ในตำแหน่ง CTO ได้เข้ามาดูแลทีมเทคฯ ที่แต่ก่อนเขาไม่เคยมี ทีมเทคฯ ของเขาค่อยๆ พัฒนาขึ้น ภายใต้โจทย์ที่ว่าโปรดักต์หรืองานที่ทำจะต้องพัฒนาประเทศด้วย ต้องเป็นสิ่งที่ประเทศไทยไม่มี แต่เป็นที่ต้องการในอนาคตอย่างแน่นอน นำมาสู่การทำ Security Tech

    งานของเขาคือการรวมศูนย์กล้องวงจรปิดของ กทม. ฟังดูเหมือนง่ายแต่อันที่จริงคือกรุงเทพมหานครมีกล้องวงจนปิดอยู่ราว 50,000-60,000 ตัว และแต่ละเขตหรือแต่ละโซนมีรอบการประมูลจัดซื้อจัดจ้างไม่พร้อมกัน ทำให้ได้กล้องวงจรปิดต่างยี่ห้อกันมา เมื่อแบรนด์ต่างกัน ซอฟต์แวร์ก็ไม่คุยกันไปด้วย

    “สิ่งที่เราทำคือซอฟต์แวร์กลางในการบริหารกล้องวงจรปิด ให้ผู้ว่าฯ กทม.ดูได้ทุกโซนในโปรแกรมเดียวกัน ไม่ต้องแยกโปรแกรมตามโซน เป็นมัลติแบรนด์ซอฟต์แวร์ จากนั้นก็เริ่มทำ AI ให้เกิดขึ้นในกล้อง CCTV คือถ้ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ตรวจจับได้ ก็จะมีการแจ้งเตือนกลับมา โดยทำให้ลูกค้าภาครัฐเป็นจำนวนมาก เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยทั่วประเทศ เราเลยเห็นว่าสกายฯ ทำงานรัฐเยอะมาก คนอาจมองว่ารัฐ แต่มันคือเทคโนโลยีของภาครัฐที่จะช่วยพัฒนาให้ประเทศดีขึ้น และที่เราเน้นทำภาครัฐ เพราะมองว่าภาครัฐนั้นเป็นหน่วยที่ใหญ่พอที่จะให้เกิด impact จนสร้างการเปลี่ยนแปลง”

    ขยลบอกอีกว่า แต่ภาคเอกชนเล็กกว่าภาครัฐมาก ไม่สามารถสร้างซอฟต์แวร์หรือมีเม็ดเงินขนาดใหญ่ ทำให้ภาคเอกชนส่วนใหญ่ไม่อยากลงทุน เลยทำให้ไม่เกิดการพัฒนา แต่เมื่อสกายฯ อยากให้ภาคเอกชนก้าวไปข้างหน้าด้วยเทคโนโลยีได้เหมือนกัน โดยที่ไม่ต้องลงทุนสูงขนาดนั้น ทำให้เริ่มเข้าไปลุยภาคเอกชน และนั่นก็เป็นที่มาของ “เมทเธียร์”

    แม้จุดเริ่มต้นของเมทเธียร์เหมือนจะต้องการมุ่งเป้าไปที่ลูกค้าภาคเอกชน แต่ปัจจุบันสกายฯ และเมทเธียร์นั้นแตกต่างกันที่โปรดักต์มากกว่า โดยสกายฯ เน้นที่ Aviation Tech ส่วนเมทเธียร์นั้นมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีในด้านความปลอดภัย โดยตั้งเป้าว่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการ Security as a Service ให้ได้

    แต่มีเทคโนโลยีดีๆ เจ๋งๆ อย่างเดียวก็ใช่ว่าจะหาลูกค้าได้อย่างง่ายๆ ขยลบอกว่าความท้าทายหนึ่งคือภาครัฐหรือบริษัทต่างๆ ยังใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างบริษัทที่ให้บริการแม่บ้านและ รปภ. ด้วยการดูที่ “จำนวนพนักงาน” หรือพูดง่ายๆ คือถ้าไม่มีพนักงานแม่บ้านหรือ รปภ.ในมือ ก็ยากที่จะไปรับลูกค้าได้

    นั่นทำให้สกาย ไอซีที เข้าซื้อกิจการของบริษัท รักษาความปลอดภัยและบริหารธุรการ สยาม จำกัด (รักข์สยาม) หรือ SAMCO ผู้ให้บริการครอบคลุมทั้งด้านการรักษาความปลอดภัย งานธุรการ และงานดูแลความเรียบร้อยของอาคารและสถานที่ ซึ่งมีบุคลากรกว่า 6,000 คน และดูแลกลุ่มลูกค้าองค์กรภาคเอกชนชั้นนำมากกว่า 400 รายในหลากหลายกลุ่มธุรกิจ อาทิ สถาบันการเงิน ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ อาคารสำนักงาน โรงงาน ผู้ให้บริการพลังงาน เมื่อ ก.ค. ที่ผ่านมา และให้ SAMCO อยู่ภายใต้เมทเธียร์นั่นเอง

    “เมทเธียร์เราเข้าไปทำในอุตสาหกรรมที่เรียกว่า Facility Management แต่จริงๆ เป็นกลุ่มที่ไม่มีการนำเทคฯ มาใช้ หรืออาจมีบ้างแต่เป็นเทคฯ ที่ไม่แอดวานซ์ พอเราเห็นแล้วว่าเรามีเทคโนโลยีที่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมได้ เราเลยเลือกอุตสาหกรรมนี้

    “แต่ลูกค้าในอุตสาหกรรมนี้ยังไม่มีใครต้องการเทคโนโลยี แต่เรามีเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ลูกค้าหรือประเทศไทย กลุ่มธุรกิจต่างๆ ได้คนพร้อมเทคโนโลยี นั่นทำให้เราต้องมีคน เลยเป็นที่มาของการซื้อกิจการบริษัทที่มีคน และมีแนวโน้มที่เราจะเอาเทคโนโลยีเข้าไปเปลี่ยนแปลงได้ และเราก็เจอ SAMCO

    ปัจจุบันเมทเธียร์มุ่งขยายฐานลูกค้าภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของหรือผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ที่มีความต้องการด้านการบริหารจัดการอาคารและเทคโนโลยีความปลอดภัยระดับสูงใน 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.โครงการมิกซ์ยูส (Mixed-Use) โครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน 2.ศูนย์การค้า 3.อาคารสำนักงาน 4.โครงการบ้านและคอนโด และ 5.โรงงานอุตสาหกรรม

    โดยโปรดักต์นั้นแยกออกเป็น 3 แกน คือ

    1.Visitor Management System ระบบเข้าออกอาคารแบบอัจริยะ ใช้การสแกนใบหน้าผ่านเข้าประตูต่างๆ ซึ่งระบบเหล่านี้จะมีการเก็บดาต้าของอาคารด้วย

    2.Security as a Service การตรวจจับแล้วส่งสัญญาณเตือน ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีการบริหารคนด้วย เช่น เมื่อกล้องวงจรปิดจับภาพความผิดปกติได้ จะส่งสัญญาณเตือน และทำให้เราสามารถสั่งงานคนที่อยู่ใกล้ที่สุดกับเหตุการณ์ได้

    โดยที่สำนักงานของเมทเธียร์จะมีห้องปฏิบัติการ MIOC (Metthier Intelligent Operation Center) หรือศูนย์ควบคุมที่เชื่อมกับระบบต่างๆ ในอาคารของลูกค้าได้ เช่น ระบบกล้องวงจรปิด, ระบบแจ้งเตือนไฟไหม้ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของเมทเธียร์คอยโอเปอเรทต่อ SOP ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน

    3.Facility Management ในด้านการให้บริการด้านความสะอาด เช่น แม่บ้าน การเช็ดกระจกตึกสูง ซึ่งเป็นกลุ่มที่บริษัทนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทำความสะอาดเข้ามาใช้ ซึ่งหุ่นยนต์นี้ก็มีระบบเชื่อมต่อมาที่ศูนย์ MIOC ด้วย หากหุ่นยนต์เสีย เจ้าหน้าที่จะทราบได้ทันที

    “ทั้งหมดนี้คือ Smart City System ที่เราบอกว่าเรากำลังทำ Smart Facility Management ซึ่งจริงๆ แล้วมันคือการเริ่มสร้างประเทศให้กลายเป็นประเทศชั้นนำและประเทศพัฒนาแล้ว”



    เขายังยกตัวอย่างผลงานที่เมทเธียร์เข้าไปทำแล้ว เช่น ระบบเข้างานของพนักงานทำความสะอาดของตึก SET ที่การสแกนใบหน้าบนแอปพลิเคชั่น, เซ็นเซอร์ตรวจจับระดับแอมโมเนียในห้องน้ำของศูนย์การค้าเซ็นทรัล ที่ถ้ามีแอมโมเนียสูงเกินจะส่งสัญญาณไปที่แม่บ้านเพื่อให้แม่บ้านมาทำความสะอาด

    นอกจากนี้เมทเธียร์ยังเพิ่งได้ดีลการทำความสะอาดที่ศูนย์ราชการ ซึ่งบริษัทกำลังจะนำหุ่นยนต์เข้าไปใช้ทำงานร่วมกับแม่บ้าน

    รวมถึงยังมีดีลล่าสุดที่เมทเธียร์จะติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดอัจฉริยะสามารถตรวจจับการบุกรุกได้แบบเรียลไทม์ให้กับโครงการของ SC Asset 10 โครงการ พร้อมนำเทคโนโลยี AI ขั้นสูง วิเคราะห์และคาดการณ์เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นล่วงหน้าเพื่อวางแผนป้องกันได้ด้วย


เทคโนโลยีช่วยคน แก้ปัญหาสูงวัยไร้งาน

    ขยลบอกว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้นอกจากจะช่วยให้ตึกและอาคารต่างๆ ของไทยพัฒนาไปมากขึ้น อันที่จริงแล้วนี่ยังเป็นส่วนช่วยแก้ปัญหาแรงงานแม่บ้าน และ รปภ.ขาดแคลนอีกด้วย

    “อุปสรรคของเรา คือ ทีโออาร์ส่วนใหญ่ในประเทศไทยระบุหมดเลยว่าคนทำงานห้ามอายุเกิน 60 ปี บางที่ 55 ปี แล้วเขาจะไปทำงานอะไร นี่เป็นข้อคิดที่ต้องฝากกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน เขาไม่มีงานทำ แล้วใครดูแล เขาใช้ชีวิตยังไง สวัสดิการรัฐเป็นอย่างไร ไม่มีคำตอบที่ดีพอ”

    “สิ่งที่เราทำและเชื่อว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ดีขึ้น คือ การเอาเทคโนโลยีเข้ามาแล้วบอกว่าคุณป้าครับ คุณไม่สามารถที่จะถูได้อีกแล้ว เพราะคุณเหนื่อย แต่คุณมีความรู้ว่าต้องทำความสะอาดตรงไหน เพียงแค่คุณช่วยเฝ้าให้หน่อย คุณอาจจะเปลี่ยนใบปัดเมื่อมีอะไรติด ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำเพราะมันไปเปลี่ยนเองที่สถานีชาร์จได้ ดังนั้น คุณป้าไม่ต้องทำงานหนักแบบเดิมอีกต่อไป เพราะฉะนั้น นี่คืออาชีพที่คนอายุ 60 กว่าทำได้

    “ความแตกต่างของไทยและจีนหรือญี่ปุ่นคือเราห้ามให้สูงวัยทำงาน แต่เขาบังคับว่าสถานที่ราชการ หลายๆ ที่ต้องมีอัตราส่วนของคนสูงอายุกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะเขารู้ว่าประเทศเขาจะเข้าสู่สังคมสูงอายุ แล้วถ้าเขาไม่เปลี่ยน คนเหล่านี้จะอยู่ไม่ได้

    “นี่คือสิ่งที่เราจะเปลี่ยนแปลง แต่เราจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรถ้าไม่มีหลักฐานว่าเขาทำได้ เราก็เลยเริ่มต้นสร้างข้อพิสูจน์ว่าคนทำงานร่วมกับเทคเทคโนโลยีได้นั้นไม่ใช่แค่คนธรรมดาทั่วไป แต่คนสูงอายุก็ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้

    “รปภ.ก็เช่นเดียวกัน วันนี้ประสบปัญหาอยู่แล้ว อย่างที่เราทุกคนเห็นว่า ไม่ได้ได้ดูแข็งแรงกำยำเหมือนตำรวจ-ทหารที่จะจับผู้ร้ายได้ เพราะคนที่ทำอย่างนั้นได้เขาคงไปทำอาชีพอื่น ดังนั้นเราต้องเอาเทคโนโลยีไปช่วยคนเหล่านี้ไหม เพื่อทำให้เขาปฏิบัติงานได้ดีขึ้น”

    และนี่ก็คือความตั้งใจของขยลและเมทเธียร์ที่ไม่ได้มองแค่ในมุมธุรกิจ แต่ความฝันของเขาคือการทำให้ประเทศไทยกลายเป็นเมืองอัจฉริยะ เป้าหมายในปี 2567 ที่วางไว้คือต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง จะได้เห็นหุ่นยนต์ทำความสะอาดในตึกต่างๆ มากกว่าเดิม

    ภาพในอนาคตอันไกล เขาอยากเห็นประเทศไทยเป็นแบบต่างประเทศ ที่มีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการเสิร์ฟอาหาร, บริการลูกค้าในโรงแรม พาขึ้นลิฟต์ไปส่งที่ห้อง และมีหุ่นยนต์ทำความสะอาดในสถานที่ขนาดใหญ่ เช่น สถานีรถไฟฟ้า โดยมีคนวัยเกษียณควบคุมและใช้งานหุ่นยนต์ได้

    “นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยต้องไป” เขาย้ำ ก่อนจะระบุถึงเป้าหมายแรกที่คาดหวัง คือต้องการเป็น Smart Facility Management ที่นำเอา MIOC เข้าไปปรับใช้ให้ระบบของลูกค้า โดยดูแลทั้ง Security, Visitor Management, Environment และ Power save “นี่คือเป้าหมายในปีหน้า (ปี 2567) ที่อยากให้เกิด มาก่อนเรื่องยอดขายด้วยซ้ำไป เราไม่ต้องให้คุณมา invest เราพร้อมให้คุณมา integrate”

    ทั้งนี้ เมทเธียร์ตั้งเป้ารายได้ปี 2567 ไว้ที่ 1,500 ล้านบาท และตั้งเป้าเติบโตเท่าตัวภายใน 3 ปี โดยเตรียมนำเสนอบริการที่มีให้กับลูกค้าเดิม และขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มใหม่ๆ ด้วย

    ก่อนจากกัน Forbes Thailand ยังถามถึงคติในการดำรงชีวิตซึ่งเขาบอกว่า “ผมเป็นคนชอบเรียนรู้ และพยายามจะหา knowledge ใหม่ๆ เข้ามาตลอดเวลา ไม่ได้ยึดติดกับคติใดๆ คติเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในแต่ละช่วงเวลา

    “แต่ถ้าจะสรุปอันนึงว่าอะไรที่ยึดมั่นมาตลอด กับตัวเองคือเรื่องของการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในทางที่ดีขึ้นกับสิ่งที่เราทำในทุกๆ วัน ไม่ได้หมายความถึงแค่ธุรกิจที่เราทำอยู่ แต่รวมถึงการใช้ชีวิตด้วย การทำแล้วสร้างคุณค่าให้กับคนอื่นให้ดีขึ้นด้วย วันนี้เป็นสิ่งนั้น

    “ซึ่งคล้ายๆ กับวิชั่นองค์กรที่วางไว้ คือต้องสร้าง impact ขนาดใหญ่ให้กับสังคมไทย ถ้าขมวดมามันจะเป็นปรัชญาในการใช้ชีวิตว่าวันนี้เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเองแล้ว เราไม่ได้อยู่ในจุดที่เราทำงานหาเงินใช้ชีวิตแล้ว แต่อยู่ในจุดที่เราสร้างคุณค่าให้คนอื่นได้ด้วย คุณค่าของผมหรือขององค์กร มันมีค่ามากกว่าแค่รายได้ที่เข้าบริษัท”




เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : นนทกร จิตตมานนท์กุล ต่อยอด พี.อี. เทคนิค สร้างแบรนด์อะไหล่รองรับ “EV”

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine