ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานทดแทนเปิดตัวผู้บริหารคนใหม่ พร้อมประกาศวิสัยทัศน์ว่าจะนำบริษัทเป็นพาร์ตเนอร์ด้านพลังงานสีเขียวและโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคเอเชีย ด้วยกลยุทธ์ต่อยอด 3 ธุรกิจหลัก สร้างฐานธุรกิจใหม่ สร้างรายได้ต่อเนื่อง 3 ปี มากกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท พร้อมงบลงทุนกว่า 5 หมื่นล้านบาท
เดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดตัว ทายาทเจน 2 นฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ของบริษัท
"คุณพ่อจะไม่สอนให้ลูกกินปลา แต่จะสอนให้เรารู้จักจับปลาตั้งแต่เด็ก ถ้าเราจับปลาเป็นก็จะมีกินทั้งชีวิต อยากได้อะไรก็ทำงานหามาและตัดสินใจเอง ทำให้เรารู้สึกว่าต้องลงมือทำ ...เวลาไปไหนให้เราไปด้วย แต่ไม่ใช่คนเล่าเรื่องเก่ง อาศัยว่าเราถามจะเล่าให้ฟัง สิ่งที่ได้จากคุณพ่อคือการกล้าที่จะฟังสัญชาตญาณของตนเอง กล้าตัดสินใจ ลงมือทำอะไรใหม่ๆ และเซนส์ในธุรกิจ อ่านสถานการณ์ให้ออก”

นฤชลเป็นบุตรสาวของ ดร.กัลกุล ดำรงปิยวุฒิ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทอีก 2 ใบ ด้านบริหารธุรกิจ จาก Harvard University และ Boston University ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มชีวิตการทำงานด้วยการเป็นวาณิชธนากร 2 ปี ก่อนจะกลับมาที่ GUNKUL ในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวางแผน กลยุทธ์และการลงทุน ซึ่งมีหน้าที่ขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตและมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
ต่อมารับตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจพลังงานและกลยุทธ์ การลงทุน เธอเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจโซลาร์ฟาร์มในต่างประเทศ รวมถึงผลักดันโครงการโซลาร์ฟาร์มและวินด์ฟาร์มในประเทศ ส่งผลให้พอร์ตโฟลิโอด้านพลังงานสะอาดของบริษัทเติบโตขึ้นกว่า 100% หรือกว่า 1,000 เมกะวัตต์ภายใน 2 ปี

ซีอีโอ GUNKUL เล่าถึงประสบการณ์ทำงาน 15 ปีที่ผ่านมาก่อนรับตำแหน่งผู้นำองค์กรว่า ตอนกลับมาตั้งหน่วยงานกลยุทธ์การลงทุน มา set up สร้างทีมใหม่ เพราะเรามองแล้วว่าช่วงนั้นบริษัทเพิ่ง IPO ใหม่ๆ ต้องสร้างการเติบโต ต้องหารายได้ และโปรเจกต์ใหม่ๆ เราใช้ประสบการณ์ที่มีมาต่อยอด เปิดแผนกใหม่ recruit คนใหม่ เป็นทีมงานของเราและเอามาช่วยขับเคลื่อน ตอนนั้น market cap น่าจะ 2 พันล้าน เป้าของเราคือ ทำอย่างไรให้ขึ้นมาเป็น leader เรื่องพลังงานสะอาดให้ได้ ตอนที่เข้ามาพลังงานทดแทนยังเป็นตลาดเล็กๆ ไม่บูมขนาดทุกวันนี้ เป็นตลาดของคนกล้าบุกเบิกที่จะทำ
“เรา acquire โครงการลมที่ operate อยู่ นอกจากนั้นไปต่างประเทศ ตอนนั้นพลังงานสะอาดยังมีต้นทุนแพงอยู่ แปลว่า รัฐต้องให้การสนับสนุนและเปิดเป็นรอบๆ การที่เราจะสร้างการเติบโตได้ ถ้าไม่รอรอบเปิดใหม่ก็ต้องโตที่ต่างประเทศ เราก็ไปตลาดญี่ปุ่น เป็นโครงการแรกของ GUNKUL ที่ปักธงไทยในต่างแดน ไม่มีใครรู้จักเราเลย knock the door คุยกันเอง และใช้ relationship แบงก์ไทยช่วยสนับสนุน ติดต่อโครงการจาก connection ที่มี เชื่อมต่อไปหาโครงการต่างๆ และคุยกับพาร์ตเนอร์ หลังจากนั้นขยายไปมาเลย์ฯ เวียดนาม ประเทศต่างๆ”
เสริมแกร่ง 3 กลุ่มธุรกิจหลัก
บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจใน 3 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย
1. ธุรกิจผลิตไฟฟ้าและพลังงานสะอาด เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม, private PPA, residential solar rooftop
2. ก่อสร้างโรงไฟฟ้าและระบบอินฟราสตรัคเจอร์
3. ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง โดยผลิตจัดหาและจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า
ปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้ 9.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากปี 2566 กำไรสุทธิ 1,661 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% โดยธุรกิจผลิตไฟฟ้าและพลังงานสะอาดบรรลุสัญญาโครงการพลัง งานใหญ่และเติบโตในกลุ่มโซลาร์รูฟท็อป ทำให้ปัจจุบันมีกำลังผลิตสะสมเป็น 1,479 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตพลังงานสะอาดเป็นอับดับที่ 2 ของประเทศ, ธุรกิจก่อสร้างโรง ไฟฟ้าและระบบ อินฟราสตรัคเจอร์ รายได้เติบโตกว่า 80% ส่วนธุรกิจผลิตอุปกรณ์สำหรับไฟฟ้า ยอดขายเติบโต 28%

บริษัทตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานสีเขียวสะสม 2,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2570 และพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับ direct PPA และการเปิดประมูลรอบใหม่ ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังงานสีเขียวทั้งหมด 1,479 เมกะวัตต์ โดยมี 832 เมกะวัตต์อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการรอรับรู้รายได้ นอกจากนี้ ยังมีมูลค่างานรอรับรู้รายได้ (backlog) กว่า 3.8 พันล้านบาท และตั้งเป้ารายได้เติบโต 10-15% ในปีนี้
ในวันเปิดตัวซีอีโอสาวได้ประกาศวิสัยทัศน์ ซึ่งเธอใช้คำว่า “วันนี้ไม่รู้ว่าแข่งโอลิมปิกหรือเอเชียนเกม แต่รู้ว่าเป็นนักกีฬาๆ ต้องทำอย่างไร ต้อง lean มีกล้ามเนื้อแข็งแรง” นั่นจึงเป็นที่มาของกลยุทธ์ 3 ข้อ
1. Build Business Muscles สร้างกล้ามเนื้อทางธุรกิจให้แข็งแรงทั้งธุรกิจเดิมและธุรกิจในอุตสาหกรรมใหม่ที่บริษัทสามารถสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน จากประสบการณ์ด้านพลังงานกว่า 40 ปี เน้นการเติบโตของ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก และต่อยอดสู่ธุรกิจในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง
2. Trim Operational Fat ปรับธุรกิจให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยปรับกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนและต้นทุนการดำเนินงานที่ไม่จำเป็น โฟกัสเรื่องของการนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการโรงไฟฟ้าแบบ 100% เพื่อให้เกิดการจัดสรรคนและเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงศึกษาเรื่องของโอกาสจากการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้ามาช่วยพยากรณ์ว่า อุปกรณ์ตัวไหนกำลังเสียและบริษัทต้องซ่อมก่อน เป็นการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ โดยปี 2568 ตั้งเป้าลดค่าใช้จ่าย 40 ล้านบาท
3. Create Stakeholder Impact ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนองค์กรอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการดูแลทุกภาคส่วนอย่างเหมาะสม
ในส่วนของกลุ่มธุรกิจหลัก บริษัทจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงปลายปี 2567 บริษัทได้ผ่านคุณสมบัติและได้รับการคัดเลือกเพิ่มขึ้นอีกกว่า 319 เมกะวัตต์ ทั้งโครงการพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา เพิ่มเติม โดยจะเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดในพอร์ตโฟลิโอทั้งในไทยและต่างประเทศรวมทั้งหมดเป็น 2,000 เมกะวัตต์ ภายใน 3 ปี
ต่อยอดธุรกิจแบตเตอรี่ทั้งในระดับเชิงพาณิชย์และโครงข่าย ซึ่งจะลงทุนและจ่ายไฟจากแบตเตอรี่ให้สำเร็จภายในปีนี้ ไม่ว่าระดับบ้านเรือนหรือโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งศึกษาโอกาสในการทำธุรกิจพลังงานสีเขียวใหม่ๆ เช่น green hydrogen, โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก

ปี 2569 บุกตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ภาครัฐจริงจังกับการลงทุนและเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนพลังงานสะอาด
“ประเทศที่อยู่ในโฟกัสคือฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เวียดนาม ญี่ปุ่น ตอนนี้ที่โฟกัสหลักคือฟิลิปปินส์ ซึ่งเปิดประเทศรับนักลงทุน มีการปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ เยอะมาก มีเป้าที่ aggressive โดยตั้งเป้าว่า ปี 2040 จะเติบโตด้านพลังงานแดดและพลังงานลม 80,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ 2 ปีที่แล้วประเทศไทยประมูลพลังงานสะอาด 5,000 เมกะวัตต์"
“ฟิลิปปินส์เริ่มต้นแผนใหญ่มาก ราคาขายไฟที่ดี ที่นี่เราไปกับ local partner ส่วนไต้หวันโครงการไม่ใหญ่เลยก็เล็กเลย ญี่ปุ่น เวียดนาม เรามีออฟฟิศและโครงการที่นั่น ก็ให้คนในพื้นที่ช่วยหา deal คนชอบถามว่า ประเทศไทยก็โตทำไมไปต่างประเทศ...เราไปแต่ไม่ได้ weight ต่างประเทศเยอะ อาจให้มีพอร์ต 10-15%”
สำหรับธุรกิจอีก 2 กลุ่ม บริษัทวางแผนขยายบริการรับเหมาวิศวกรรมไฟฟ้าและอินฟราสตรัคเจอร์สู่ตลาดสายส่งแรงดันสูง 115 kV- 500 kV ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญ และความรู้เฉพาะทางสูง ผู้เล่นในตลาดยังมีจำนวนไม่มากนัก และต่อยอดด้านสายส่งระบบสื่อสาร จากเดิมที่ทำธุรกิจสายส่งพลังงานไฟฟ้า
กลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า เตรียมความพร้อมที่จะเปิดตลาดใหม่สำหรับกลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้าในระดับแรงดันกลางจนถึงแรงดันสูงเพิ่มเติม และเข้าร่วมประมูลโครงการทั้งภาครัฐและเอกชนในปี 2568 ที่เติบโตสอดคล้องกับความต้องการโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาด และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (แผน PDP) ฉบับล่าสุด ซึ่งมีเป้าหมายให้แหล่งพลังงานหมุนเวียนคิดเป็นสัดส่วน 51% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2580 หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดกว่า 1 ล้านล้านบาท

เพิ่มตลาด New S-Curve
สำหรับธุรกิจใหม่ๆ หรือ New S-curve ที่บริษัทจะเข้าไปลงทุนนฤชลอฺธิบายว่า เป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในเทรนด์ความสนใจของประเทศ โดยมีพลังงานสะอาดเป็นหนึ่งในกุญแจขับเคลื่อนความสำเร็จที่สำคัญ เช่น green data center การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ทางธุรกิจใหม่ ที่ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ ลงทุนร่วมกับพันธมิตรบริษัทไทยและบริษัทต่างชาติ
“เราเห็นการเติบโต ต่างประเทศเข้ามา request แต่พลังงานสีเขียว เราจะไปตรงนั้นยังไงปัจจุบันได้รับการติดต่อจากนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย เริ่มจากอยากได้พลังงานสีเขียว สิ่งที่เราต่อยอดได้คือ เวลาต่างชาติมาลงทุนต้องการคนช่วยเรื่อง local content การก่อสร้าง เราทำโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสารได้ เรามีพาร์ตเนอร์ด้านอาคาร...มาหาที่เดียวเราดูแลคุณได้ครบวงจร ถ้าต้องการ local partner ที่มี commitment เราลงทุนกับคุณได้ด้วย...ตลาดตรงนี้ใหญ่มาก มีทั้งในนิคมและนอกนิคมอุตสาหกรรม”

จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ณ วันที่ 27 มีนาคม ปี 2568 พบว่า มูลค่าการลงทุนสะสมของโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการรวมทั้งสิ้น 10 ล้านล้านบาท เป็นการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม 2.8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 28.4% และการลงทุนนอกนิคมอุตสาหกรรม 7.2 ล้านล้านบาท หรือ 71.6%
เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 พบว่า การลงทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 2 แสนล้านบาท หรือ 7.7% ขณะที่การลงทุนนอกนิคมอุตสาหกรรมขยายตัวถึง 8 แสนล้านบาท หรือ 12.5%
จากแนวโน้มดังกล่าวจะเห็นว่าตลาดโรงงานนอกนิคมอุตสาหกรรมยังคงมีการเติบโตในอัตราสูง บริษัทมองว่าเป็นโอกาสสำคัญที่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมและขยายโอกาสทางธุรกิจได้ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การให้บริการพลังงานที่สามารถ customized ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการที่ต้องการพื้นที่ลงทุนทางเลือกนอกนิคมอุตสาหกรรม
หากพาร์ตเนอร์ยังไม่มีพื้นที่ บริษัทสามารถจัดหาหรือมีทำเลหลากหลายพร้อมให้เลือก

“เราอยากเป็นพาร์ตเนอร์ที่คนนึกถึง ยอมรับในด้านที่เราเก่ง ในภูมิภาคเอเชียเราอยากให้วันหนึ่งที่เขาจะก้าวเข้ามาประเทศไทยเขาคิดถึงเราๆ เป็น top of mind และการที่เราจะสามารถขยายปีกของเราไปได้มันสำคัญกว่า ไม่ใช่เรื่องของความสูงแต่เป็นเรื่องของความกว้าง เหมือนวันนี้ได้ก้าวมาเป็นเบอร์ 1 บางคนภูมิใจแล้ว แต่เราไม่ได้อยู่ตรงนั้น เราให้คุณค่าการเราดูแลคนมากกว่า แน่นอนว่าต้องผลักดันธุรกิจด้วย มิฉะนั้นจะไม่มีศักยภาพดูแลคนอื่น” นฤชลกล่าวในตอนท้าย
ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์ และ GUNKUL
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : พิชชา ธนาลงกรณ์ แต่งลุคดีไซน์แบรนด์ Sabina
