สกล ตั้งก่อสกุล ปรับสปีด SCL ฝ่าความเร็วรถ EV - Forbes Thailand

สกล ตั้งก่อสกุล ปรับสปีด SCL ฝ่าความเร็วรถ EV

‘สกล ตั้งก่อสกุล’ ทายาทหนุ่มที่เข้ามากุมบังเหียนธุรกิจจัดจำหน่ายอะไหล่รถยนต์ตั้งแต่อายุ 27 ปี และนำระบบการจัดการสมัยใหม่เข้ามาใช้ทำให้บริษัท SCL เติบโตอย่างมั่นคง จากตึกแถวเล็กๆ ย่านวรจักรที่มียอดขายหลักร้อยล้านกระทั่งเป็นพันล้านในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ของประเทศไทย ทั้งยังเป็นรายแรกที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai


    ขณะกำลังเรียนปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา “สกล ตั้งก่อสกุล” ได้รับโทรศัพท์ทางไกลจากมารดาโทรถามว่า ตึกข้างๆ ร้านกำลังจะขาย เขาจะกลับมาช่วยทำธุรกิจของที่บ้านไหม หลังกลับจากสหรัฐฯ กลางปี 2536 เขาเริ่มงานทันทีในวันรุ่งขึ้น ทำงานได้ 6 เดือน “สันติ ตั้งก่อสกุล” บิดาวัย 50 ปีเศษเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกครั้งที่ 2 และติดเชื้อ ต้องไปรักษาตัวที่ต่างประเทศครั้งละนานๆ เขาจึงเข้ามารับผิดชอบเต็มตัว

    “จำได้ว่าตอนแรกนั่งอยู่นอกห้อง ผมถือแฟ้มแล้วย้ายของเข้าห้อง (ทำงาน) ของคุณพ่อ ลูกน้องถามว่า แน่ใจแล้วหรือว่าจะย้ายเข้าไปจริงๆ ผมบอกมันจำเป็น คุณพ่อทำไม่ไหวเพราะต้องบินไปรักษาในต่างประเทศหลายๆ เดือน ไปอเมริกา ออสเตรเลีย เราก็เลยเข้ามา” สกล ตั้งก่อสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอส.ซี.แอล. มอเตอร์ พาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SCL เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อ 30 ปีก่อน แม้ทำให้ผิดแผนไปบ้างเพราะเดิมเขาตั้งใจจะเรียนต่อ MBA ที่จุฬาฯ โดยเรียนและทำงานไปด้วย แต่เขาก็ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระแต่อย่างใด

    สกลให้สัมภาษณ์ทีมงาน Forbes Thailand ที่ห้องประชุม ชั้น 2 ของอาคารศูนย์กระจายสินค้ากาญจนาภิเษก บริเวณชั้นล่างเป็นพื้นที่จัดเก็บสินค้าขนาด 6,000 ตารางเมตร รองรับการจัดเก็บมากกว่า 45,000 รายการ ขณะนี้ใช้เกือบเต็มพื้นที่แล้ว และมีแผนจะสร้างคลังสินค้าแห่งใหม่พื้นที่ 2,000 ตารางเมตร เพื่อจัดเก็บสินค้าเพิ่มขึ้น 50% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568-2569 โดยใช้เงินลงทุน 55 ล้านบาทจากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai ซึ่งเริ่มเทรดตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา



    ประสาคนหนุ่มไฟแรง เมื่อเข้ามาเขาก็เร่งขยายกิจการ เมื่อโดนผู้ใหญ่ทักท้วงว่าไม่มีเงินแล้ว เขาก็บอกให้ทำ cash flow ซึ่งขณะนั้นทีมงานยังไม่คุ้นเคย เขาค่อยๆ เข้าไปช่วยจัดระบบด้านการเงิน และริเริ่มให้ค่าคอมมิชชั่นแก่พนักงาน ทำให้ยอดขายถล่มทลายในปีต่อมา จากรายได้ 180 ล้านในปี 2536 ซึ่งขณะนั้นยอดขายเริ่มนิ่งแล้ว ทะลุเป็น 240 ล้านบาทในปี 2537

    วิกฤตครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปี 2541 จากนโยบายลอยตัวค่าเงินบาทของไทย เพราะเป็นสินค้านำเข้าบริษัทจึงขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ผลประกอบการปีนั้นติดลบ หลังจากนั้นสถานการณ์บริษัทค่อยๆ ฟื้นตัวจากเทรนด์อุตสาหกรรมรถยนต์ที่จะให้ประเทศไทยเป็นดีทรอยต์ออฟเอเชีย ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นหลายแห่งย้ายฐานการผลิตมาไทย และบริษัทเริ่มขยายมาทำสินค้าแบรนด์ Nissan, Mazda, Ford รวมถึงผลิตภัณฑ์อะไหล่ทดแทน


    จากธุรกิจจำหน่ายอะไหล่รถยนต์ที่เริ่มจากตึกแถว 1 คูหา ปัจจุบันบริษัทจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อะไหล่มากกว่า 167,000 รายการ ครอบคลุมชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ภายใต้ตราสินค้าของค่ายรถยนต์ (genuine parts) ทั้งกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถบรรทุกหัวลากที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย

    เช่น Isuzu, Mitsubishi, Toyota, Nissan, Honda, Ford, FUSO และ Hino รวมถึงผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ทดแทน (replacement parts) ที่ได้มาตรฐานจากผู้ผลิตชั้นนำและได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เช่น อะไหล่เครื่องยนต์และเคมีภัณฑ์จาก AISIN, อะไหล่เครื่องยนต์และระบบปรับอากาศจาก DENSO, โช้กอัพ KAYABA และคลัตช์ Exedy เป็นต้น

    ปี 2562 รุกเข้าสู่ตลาดออนไลน์โดยขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น Lazada, Shopee, BIG Thailand และ EGG Mall ระหว่างปี 2563-2565 บริษัทมีรายได้จากการขาย 1,224.27 ล้านบาท 1,256.85 ล้านบาท และ 1,352.61 ล้านบาท ตามลำดับ และคาดว่าปี 2566 จะมีรายได้เกือบ 1,500 ล้านบาท เติบโต 10-11% จากปีก่อนหน้า ทั้งนี้รายได้ส่วนใหญ่มาจากการจำหน่ายอะไหล่รถยนต์ภายใต้ตราสินค้าของค่ายรถยนต์หรืออะไหล่แท้ คิดเป็นสัดส่วน 88%



เติบโตจากอะไหล่ Isuzu

    SCL เติบโตจากการเป็นผู้จัดจำหน่ายอะไหล่รถ Isuzu ซึ่งเป็นแบรนด์ที่แข็งแรงในไทยและมียอดขายทั่วโลกเกือบล้านคัน

    “ในไทยเป็นการผลิตรถพิกอัปด้วย พอเป็นรถเพื่อการพาณิชย์ เขาเน้นว่าอะไหล่ต้องหาง่าย ขณะที่แบรนด์อื่นยังไม่ให้ความสำคัญกับตลาดต่างจังหวัด เราขายตั้งแต่ 40 ปีที่แล้ว มีคำหนึ่งว่า ‘อะไหล่แท้ Isuzu หาได้แม้แต่ในร้านกาแฟทั่วไป’ เป็นคำเปรียบเปรย แต่หาได้จริงๆ เซลส์ที่วิ่งคนแรก เกือบ 50 ปี เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับร้านอะไหล่ต่างจังหวัด”

    ข้อมูลจากศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ระบุว่า จำนวนรถยนต์สะสมที่มีอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มที่ต้องเปลี่ยนอะไหล่และชิ้นส่วนทดแทนของเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชิ้นส่วนในกลุ่ม fast moving parts อาทิ ไส้กรองน้ำมัน ไส้กรองอากาศ โดยรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 5 ปีแต่ไม่เกิน 10 ปีมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 12,478 บาทต่อปี ส่วนรถที่มีอายุการใช้งาน 5-10 ปี มีค่าใช้จ่ายมากกว่ารถที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี 35%


    “คนไทยทำงานได้ 2-3 ปีก็ดาวน์รถ จุดนี้ทำให้อะไหล่รถยนต์เป็นเหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ขายได้ (ตลอด) เศรษฐกิจไม่ดีก็ดูว่าต้อง maintenance ยังไง เปลี่ยนอะไร เศรษฐกิจดีก็มีประชากรรถสะสม ประเทศไทยมีกำลังการผลิตรถกระบะและรถเก๋ง 1.8-2 ล้านคันต่อปี ไม่รวมรถไฟฟ้า (เป็นอย่างนี้) มา 20 ปีแล้ว ประมาณ 45-50% ขายในประเทศ ที่เหลือส่งออก ไทยส่งออกรถและชิ้นส่วนเป็นอันดับ 1 ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แสดงว่าธุรกิจนี้มีขนาดใหญ่พอสมควร ปี 2565 มูลค่า 392,733 ล้านบาท

    “พอดูตรงนี้จะเห็นว่า sizing ตลาดใหญ่มาก แม้ margin ต่ำแต่มีโอกาสโตได้อีก ที่ผ่านมาเราโตจากอะไหล่แท้กำไรขั้นต้นน้อย ตอนนี้เริ่มทำอะไหล่ทดแทนคิดเป็นสัดส่วน 12% เราจะดันให้เป็น 14-16% เพราะอะไหล่ทดแทนกำไรดีกว่า”

    นอกจากนี้ บริษัทยังขยายไปทำตลาดอะไหล่รถอื่นๆ เพื่อสร้าง new s-curve โดยเริ่มจัดจำหน่ายอะไหล่สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2566 แม้ราคาต่อหน่วยจะต่ำกว่ารถยนต์ แต่จำนวนประชากรรถมอเตอร์ไซค์สะสมใกล้เคียงกันคือ 20 ล้านคัน

    ส่วนผลิตภัณฑ์ใหม่ที่บริษัทเริ่มทำตลาดประกอบด้วย “อะไหล่เครื่องยนต์เรือ” ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งได้ออร์เดอร์ซื้ออะไหล่เครื่องยนต์เรือเฟอร์รี่จากผู้ประกอบการที่ให้บริการเรือเฟอร์รี่เส้นทางสุราษฎร์ธานี-เกาะสมุย สนนราคาเครื่องละ 7.5 ล้านบาท

    ส่วนยอดขายรถ EV ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ โดยปี 2564 มียอดขาย 1,900 คัน ปี 2565 ยอดขาย 9,700 คัน และ 8 เดือนแรกของปี 2566 มียอดขาย 43,472 และมีประชากรรถ EV สะสม 85,000 คัน เมื่อเทียบกับประชากรรถสะสม 20.5 ล้านคัน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.29% ขณะที่ตลาดอะไหล่ขึ้นอยู่กับประชากรรถยนต์สะสม

    “เราก็ plot กราฟตัวเลขตรงนี้ว่าจะส่งผลกระทบตอนไหน ก็พบว่าอีกประมาณ 10 ปีที่ประชากรรถ EV จะคิดเป็น 9% ของประชากรรถยนต์สะสม ถ้าไม่ปรับตัว แต่เราปรับตั้งแต่วันนี้ ทำหลายอย่างข้างต้น ขณะเดียวกันต่อให้เป็นรถ EV ก็มี consumption อะไหล่รถพอควร เราไปสัมมนาที่เยอรมนี ทางค่ายผู้ผลิตจากเยอรมนีเตรียมออกสินค้าและบริการสำหรับรถ EV เรามองว่าเราเข้าตลาดทุนเป็นเบอร์ต้นๆ มีโอกาสเลือกสินค้า...EV เข้ามาแน่ ทำอย่างไรจะทำให้เกิดประโยชน์กับเรามากกว่า”


ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์, SCL



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ชาร์ลส์ ปิณฑานนท์ ปั้น Element 72 ด้วยแพสชั่น

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ในรูปแบบ e-magazine