เทพจงจิต อาวเจนพงษ์ ลูกไม้ใต้ต้น “เจตนิน” สุขแห่งการให้กำเนิด - Forbes Thailand

เทพจงจิต อาวเจนพงษ์ ลูกไม้ใต้ต้น “เจตนิน” สุขแห่งการให้กำเนิด

ลูกไม้มักหล่นไม่ไกลต้นฉันใด สายเลือดคุณหมอสูตินรีแพทย์เจ้าของโรงพยาบาล เจตนิน ก็เช่นกัน พล.ต.อ.นพ. จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ เจ้าของและผู้บริหารโรงพยาบาลเจตนินที่ให้การรักษาผู้มีบุตรยากเขามีลูกสาวคนเดียว แต่เป็นหนึ่งเดียวที่ได้ดั่งใจ และพร้อมสานต่อกิจการครอบครัว

เจตนิน ปริญญาบัตรแพทยศาสตร์จากอังกฤษคือใบเบิกทางแรกของ หมอติ๋น หรือ พ.ต.ต.พญ.เทพจงจิต อาวเจนพงษ์ บุตรสาวเพียงคนเดียวของ พล.ต.อ.นพ. จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ ผู้ก่อตั้ง และเจ้าของ เจตนิน โรงพยาบาลรักษาผู้มีบุตรยากแบบครบวงจรแห่งเดียวในไทยที่เปิดบริการมายาวนานกว่า 27 ปี ด้วยบริการทำกิฟต์ ทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) และทำอิ๊กซี่ (ICSI) มีผลงานนับไม่ถ้วน เป็นที่รู้จักแพร่หลายในฐานะคุณหมอผู้สร้างฝันในครอบครัวผู้มีบุตรยากให้เป็นจริง “เลือกเรียนด้วยตัวเองค่ะ เพราะชอบ feel ที่บอกแต่แรก เป็นอาชีพหมอที่มีความสุขในผลการรักษา การทำให้คนสมหวังมีบุตรได้สำเร็จเราไม่รู้หรอกว่าซึมซับความคิดนี้มาตั้งแต่เมื่อไร อาจจะตั้งแต่เด็กๆ เลยก็เป็นได้” เป็นคำตอบที่เธออธิบายอย่างง่ายๆ แต่สะท้อนว่า หมอสูตินรีวัย 38 ทายาทเพียงหนึ่งเดียวของโรงพยาบาลเจตนินผู้นี้ มีความใฝ่ฝันและมุ่งมั่นมาตั้งแต่เด็กว่าโตขึ้นอยากเป็นคุณหมอเหมือนบิดา อยากได้ความรู้สึกยินดีกับผลการรักษาเหมือนที่บิดาเธอได้รับอย่างที่เคยเห็นมาตลอดในวัยเด็ก เพราะเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นเธอถูกส่งไปเรียนที่อังกฤษ ตั้งแต่ระดับไฮสกูลจนกระทั่งจบปริญญาตรีแพทยศาสตร์ที่นั่น (St. Bartholomew’s and the Royal London School of Medicine) และศึกษาต่อเฉพาะทางด้านสูตินรีแพทย์ จบมาทำงานใช้ทุนเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลในอังกฤษ ใช้ชีวิตโดยรวมอยู่อังกฤษมากกว่า 10 ปี ก่อนจะกลับมารับราชการในไทย หลังทำงานที่อังกฤษระยะหนึ่งคุณหมอติ๋นกลับมาเมืองไทยอย่างที่ตั้งใจไว้แต่ต้นและเข้ารับราชการที่โรงพยาบาลตำรวจ เช่นเดียวกับจุดเริ่มต้นของบิดาซึ่งเป็นนายแพทย์สูตินรีของโรงพยาบาลตำรวจก่อนจะออกมาทำคลินิก และเปิดโรงพยาบาลของตัวเอง การรับราชการของคุณหมอติ๋นก็เช่นกัน เธอเป็น พ.ต.ต.พญ. เทพจงจิต อาวเจนพงษ์ สูตินรีแพทย์ประจำโรงพยาบาลตำรวจอยู่นาน 5 ปี ก่อนจะตัดสินใจออกมาช่วยบิดาทำโรงพยาบาลเจตนิน โดยเข้ามารับผิดชอบล่าสุดในตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์โรงพยาบาลเจตนิน เมื่อกลางปี 2563 ที่ผ่านมา เจตนิน ตอบโจทย์สาวยุคใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการที่เริ่มเห็นว่ามีความนิยมมากขึ้นในบ้านเราคือ “การฝากไข่” ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก่อนหน้านี้คนไม่สนใจ เจตนินให้บริการรับฝากไข่มานานแล้วแต่การตอบรับยังไม่มากนักเพิ่งได้รับความสนใจเมื่อไม่นานมานี้ จากกลุ่มผู้หญิงที่ทุกวันนี้แต่งงานช้าลง ทำงานมากขึ้น แต่ก็อยากมีครอบครัวที่สมบูรณ์ อยากมีบุตรในวัยที่ตัวเองพร้อมที่สุด จึงหันมาใช้บริการฝากไข่ ซึ่งทำให้ได้ไข่ที่สมบูรณ์ที่สุดพร้อมสำหรับการปฏิสนธิได้เด็กที่แข็งแรงสมบูรณ์ “เทคโนโลยีทุกวันนี้ก้าวหน้า การฝากไข่เป็นเรื่องปกติ องค์กรใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกาอย่าง Google บริษัทออกค่าใช้จ่ายในการฝากไข่ให้พนักงานหญิงฟรี แต่ Google ไทยยังไม่มี” คุณหมอติ๋น อธิบายพร้อมยกตัวอย่างให้เห็นภาพความตื่นตัวของสาวยุคใหม่ที่มีการตระเตรียมเรื่องการมีบุตรมากกว่าคนยุคก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ผู้หญิงทำงานมากขึ้น รับผิดชอบสูง หรืออาจยังไม่พร้อมมีบุตร เพราะต้องการเรียนต่อหรืออื่นๆ ก็ยังสามารถเลือกฝากไข่ไว้เพื่อมีบุตรในช่วงวัยที่สมบูรณ์ที่สุดได้ค่าใช้จ่ายก็ไม่แพงอย่างที่คิด มีค่าบริการรักษาไข่รายปีอีกเล็กน้อย เทียบกับการได้ทารกจากไข่ที่สมบูรณ์ถือว่าคุ้มค่า “ที่เห็นส่วนใหญ่อายุ 35 ยังไม่มีแฟนมาฝากไข่ไว้ก่อน ส่วนคนอายุน้อยก็ยังไม่คิดไม่ฝาก เด็กอายุ 27 ยังไม่คิดเรื่องแต่งงานจึงเห็นลูกค้าส่วนใหญ่อายุ 35 ปีไปแล้ว” นี่คือพฤติกรรมลูกค้าที่คุณหมอติ๋นอ้างอิงจากข้อมูลจริงในบริการรับฝากไข่ ธุรกิจที่เพิ่งได้รับความนิยมไม่นาน “จริงๆ อันนี้ที่เราทำมาสักพักแต่เทรนด์เพิ่งมา เช่นเดียวกับการทำ IVF หรือเด็กหลอดแก้วมีมานานแล้ว สเต็ปเหมือนกัน IVF คือ การปฏิสนธิภายนอกร่างกาย กระบวนการเดียวกัน แต่ฝากไข่เพิ่งเป็นที่ยอมรับสากล ก่อนหน้านี้คนไม่รู้ทำไมต้องฝากไข่” คุณหมอติ๋นบอกว่า บริการฝากไข่เป็นอะไรที่เพิ่งตื่นตัว ต่างกับบริการหลักของเจตนิน ซึ่งร้อยละ 80-90 ลูกค้ามาทำเด็กหลอดแก้ว ส่วนการฝากไข่เพิ่งเริ่มต้นเข้าใจว่าตามเทรนด์เมืองนอกที่กำลังโต แต่เมืองไทยยังไม่ชัดและอยู่ในวงจำกัด แต่อนาคตอาจมีความต้องการมากขึ้น เพราะเรากำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งคนจะมีสุขภาพดีขึ้น อายุยาวขึ้นและดูเด็กลง “คนอายุ 40 สมัยนี้เหมือน 30 สมัยก่อน อีกหน่อยคนจะพร้อมมีลูกตอน 40 ตอนนี้ก็เริ่มแล้วอายุ 37-38 คนรักษามีลูกยากอาจจะมีอายุมากขึ้นสิ่งแวดล้อมทำให้คนมีบุตรยากขึ้น มลภาวะ ความเครียดฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย” ทั้งหมดนี้คือเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นแน่นอน บริการรักษาผู้มีบุตรยากอาจมีความจำเป็นมากขึ้น เน้นสื่อสารเข้าใจ-เข้าถึง อย่างไรก็ตาม ทายาทเจตนินบอกว่า ที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลไม่เคยมีการโฆษณาไม่เคยทำการตลาด เพราะด้วยความที่เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง ลูกค้าก็เป็นเฉพาะกลุ่ม จึงมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว และมีการรับรู้บอกต่อกันแบบปากต่อปาก จนทำให้ต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้ “ก่อนหน้านี้เราไม่เคยมี marketing เลย เพิ่งมาปีนี้ติ๋นเข้ามาเป็น communication มากกว่า ต้องการทำให้แบรนด์มีชื่อเสียงอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ Facebook ก็ไม่ทำ เว็บไซต์ไม่มีใครดูคุณพ่อก็ทำงานรักษาคนไข้เป็นหลัก ไม่ได้สนใจเรื่องการสื่อสารเท่าที่ควร” คุณหมอติ๋นแจกแจงภารกิจของบิดาวัย 65 ซึ่งยังคงทำหน้าที่เป็นคุณหมอหลักประจำโรงพยาบาลเช่นเดียวกับหมอท่านอื่นๆ รวม 9 คน ที่ทำหน้าที่รักษาผู้มีบุตรยาก นอกจากนี้ ยังมีทีมนักวิทยาศาสตร์อีกราว 20 คน ที่จะช่วยในการรักษาดูแลด้านต่างๆ เพื่อบริการที่ครบถ้วนเกี่ยวกับการรักษาการมีบุตรยาก เจตนินเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับการรับรองจากสถาบันรับรองคุณภาพระดับสากล 2 แห่ง โดยได้รับการรับรองจากทั้งสถาบัน JCI (Joint Commission International) องค์กรกำกับมาตรฐานด้านการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกจากสหรัฐอเมริกาและสถาบัน RTAC (Reproductive Technology Accreditation Committee) จากออสเตรเลีย นอกจากนี้ ยังได้การรับรองมาตรฐาน ISO 9001: 2015 สำหรับการให้บริการด้านการดูแลสุขภาพในภาวะผู้มีบุตรยากแบบครบวงจร บริการครบวงจรสำหรับผู้มีบุตรยากเริ่มต้นตั้งแต่การให้คำปรึกษาทุกเรื่องเกี่ยวกับการมีบุตร แม้บางรายยังไม่สมรสแต่ต้องการเตรียมพร้อมเพื่อการมีบุตรที่สมบูรณ์ก็สามารถใช้บริการได้ เช่น การฝากไข่ การฝากอสุจิ การตรวจวิเคราะห์อสุจิ การคัดเลือกอสุจิ และอีกหลายบริการ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า บริการครบวงจรสำหรับผู้มีบุตรยาก แต่บริการที่โดดเด่นและประสบความสำเร็จสูง ได้แก่ การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) และการทำอิ๊กซี่ (ICSI) เทคโนโลยีการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก คุณหมอติ๋นบอกว่า ต่างประเทศไปไกลแค่ไหนบ้านเราก็ทัดเทียมกัน ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปรักษาถึงต่างประเทศ เพราะการรักษาผู้มีบุตรยากไม่ใช่เรื่องใหม่เจตนินให้บริการมา 27 ปี มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาทุกปี “ระยะเวลาในการทำเหมือนเดิม แต่เทคโนโลยีก้าวหน้า และยาปลอดภัยขึ้น” ที่สำคัญด้วยหลักการของผู้ก่อตั้งเจตนินที่ยึดถือเรื่องความถูกต้องแม่นยำเป็นที่หนึ่ง การรักษาดูแลเคสต่างๆ จึงใช้แพทย์และนักวิทย์คอนเฟิร์มแบบ 2 คน เพื่อความถูกต้องแม่นยำจนได้การยอมรับและแนะนำจากลูกค้าแบบปากต่อปาก “คุณพ่อย้ำเสมอเรื่องความขยัน ทุ่มเท ถูกต้อง ถูกกฎหมาย ถูกหลักวิชาชีพ ถูกจรรยาบรรณ แต่ถ้าในองค์กรคุณพ่อสอนว่าต้องถูกต้อง ถูกใจ โปร่งใส และปลอดภัย” คุณหมอติ๋นกล่าวทิ้งท้าย ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine