สมพร ธีระโรจนพงษ์ PSI ปรับสัญญาณรีโมทธุรกิจโซลาร์ - Forbes Thailand

สมพร ธีระโรจนพงษ์ PSI ปรับสัญญาณรีโมทธุรกิจโซลาร์

รายงานข่าวสงครามอ่าวเปอร์เซียที่ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมเคลื่อนที่ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์สอนด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เจ้าของร้านซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าและจำหน่ายอะไหล่ชื่อ บริษัท โพลีเทคนิค เซลส์แอนด์เซอร์วิส จำกัด เริ่มต้นคิดค้นสมการคำนวณการสร้างจานดาวเทียมดัดแปลงจากสุ่มไก่


    วิธีการคือสานไม้ไผ่และใช้มุ้งลวดยึดติดโครงที่ขึ้นรูปโมเดลตามสูตรจนสามารถใช้งานรับสัญญาณได้จริง โดยใช้พื้นที่โรงรถเก่าบริเวณบ้านที่สุพรรณบุรีเปลี่ยนเป็นโรงงานขนาดเล็กลองผิดลองถูกผลิตจานดาวเทียมฝีมือคนไทยที่มีราคาถูกลงหลายเท่าตัว พร้อมเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการเป็นผู้นำการผลิตและจำหน่ายจานดาวเทียมรายใหญ่ของไทย และขยายตลาดการส่งออกในต่างประเทศ

    “พ่อแม่ผมเป็นเกษตรกรไร่อ้อยที่สุพรรณบุรีซึ่งผมเห็นทางที่จะไปต่อยาก ทำให้ย้ายเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้าที่โรงเรียนแสงทอง รวมถึงปริญญาตรีสาขาบริหารธุรกิจของ มสธ. หลังจากเรียนจบก็ไปทำงานเป็นฝ่ายดูแลช่างและงานซ่อมที่ศูนย์ National หาดใหญ่ประมาณ 3 ปีก็ไปเป็นครูที่โรงเรียนแสงทอง สาขาบางนาพร้อมกับขายอะไหล่และเปิดร้านโพลีเทคนิค จนช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียและผมเห็นจานดาวเทียมในข่าวก็คิดว่าน่าสนใจดี ซึ่งสุพรรณบุรีมีสุ่มไก่จำนวนมากอยู่แล้ว เราคิดว่าถ้าวางให้ดีก็รูปร่างเหมือนจานดาวเทียม เราจึงลองคิดสูตรสานสุ่มไก่ขึ้นมาจนรับสัญญาณได้ และออกรายการท้าพิสูจน์ทำให้คนเริ่มรู้จักเรา”

    สมพร ธีระโรจนพงษ์ ผู้ก่อตั้งและประธาน บริษัท พีเอสไอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวถึงจุดเริ่มต้นการพัฒนาจานดาวเทียมต้นแบบได้สำเร็จจากแรงบันดาลใจที่ได้รับในปี 2533 แต่กว่าจะสามารถสร้างยอดขายให้เติบโตได้ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในธุรกิจที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ครองตลาดเดิมอยู่ยิ่งแทบไม่มีช่องว่างให้ผู้เล่นหน้าใหม่ที่เป็นผู้ประกอบการไทยรายเล็กเข้าไปชิงส่วนแบ่งตลาดจานดาวเทียมในยุคอนาล็อกที่ประเทศไทยยังใช้เสาอากาศรับสัญญาณโทรทัศน์เป็นส่วนใหญ่


    “เราขับรถตระเวนขายทั่วประเทศ 40,000 กิโลเมตรก็ยังขายไม่ได้ เราคิดว่าคนที่จะทำธุรกิจด้วยตัวเอง ทุนน้อย การผ่านช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ยากที่สุดเหมือนเส้นบางๆ ที่วัดใจว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ จนกระทั่งเราเห็นโอกาสเจาะกลุ่มช่างซ่อมจากเดิมที่วิ่งขายแต่ร้านโทรทัศน์ใหญ่ๆ แต่ไม่เคยไปถึงช่างและเขาก็ไม่ซื้อ โดยในช่วงนั้นจานดาวเทียมเป็นของใหม่ที่เริ่มได้รับความสนใจ” สมพรเล่าย้อนอดีต

    “เราจึงเปิดสมุดหน้าเหลืองส่งใบปลิวเชิญช่างให้เข้ามาฟังสัมมนาที่ท้องฟ้าจำลอง ซึ่งรองรับได้ 250 ที่นั่ง แต่มีผู้สมัคร 500 คน ช่างที่เข้าฟังสัมมนาทั้งหมดก็มาเป็นตัวแทนเรา กว่าจะได้คนขนาดนี้เราใช้เวลาสั่งสม 20-30 ปี และเดินสายสัมมนาทั่วประเทศ รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจด้วย เพราะเราเชื่อว่าถ้าของดีแต่ใจไม่มาของก็อยู่อย่างนั้น เราต้องสร้างความสัมพันธ์ไม่ใช่พ่อค้ากับลูกค้า แต่เป็นศิษย์กับอาจารย์ โดยใช้ปรัชญาให้ความรู้คู่การทำธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้น”

    หลังจากใช้ความพยายามทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างหนักในการเดินสายอบรมช่างติดจานรับสัญญาณดาวเทียมให้มีความรู้และสามารถต่อยอดอาชีพได้ พร้อมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเครือข่ายช่างที่เข้ารับการอบรมของบริษัท ทำให้สมพรสามารถขยายฐานจำนวนช่างติดตั้งได้ควบคู่กับยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายจานดาวเทียมรายใหญ่ของประเทศ ทั้งยังสามารถส่งออกจานดาวเทียมไปขายต่างประเทศ เช่น เมียนมา ลาว ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย เมื่อปี 2545

    ขณะเดียวกันบริษัทยังสามารถพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีและต่อยอดธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเริ่มต้นลงทุนระบบ OTA (Over The Air) ซึ่งเป็นระบบจูนช่องรายการอัตโนมัติผ่านทางดาวเทียมเข้าเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม โดยไม่จำเป็นต้องเป็นช่างเทคนิคหรือมีความรู้เฉพาะ เพื่อช่วยให้ผู้ชมไม่ต้องปรับความถี่บ่อยและช่องสัญญาณโทรทัศน์หายในช่วงที่มีช่องรายการต่างๆ เพิ่มขึ้นจำนวนมากในปี 2547 พร้อมทั้งขยายโรงงานเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องให้รองรับความต้องการในช่วงเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ดิจิทัล


ค้นนวัตกรรมสร้างความต่าง

    แม้บริษัทจะสามารถสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่ง แต่ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและกระแสโลกทำให้สมพรต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาและขยายอาณาจักรให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ด้วยการต่อยอดธุรกิจจากความเชี่ยวชาญและช่างที่ได้รับการยกระดับมาตรฐานจากระบบ PSI ARM (Agent Relationship Management) ซึ่งมีการจัดสัมมนาเพื่อเติมความรู้ช่างใหม่อย่างต่อเนื่องจำนวนกว่า 10,000 คนทั่วประเทศ

    พร้อมทั้งพัฒนาแอปพลิเคชัน FixIT ให้บริการงานช่างประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นช่างแอร์ ช่างไฟฟ้า ช่างประปา ช่างติดตั้งจานดาวเทียม ช่างติดตั้งกล้องและอื่นๆ โดยมีราคากลางที่แน่นอนและช่างทุกคนผ่านการสอบช่างมาตรฐานจึงสามารถเชื่อมั่นในคุณภาพงานซ่อมได้

    “โครงสร้างของธุรกิจที่เราทำ เรามีฐานช่างจำนวนมากในแอป PSI FixIt สามารถดาวน์โหลดเรียกช่างที่อยู่ในพื้นที่ 40 กิโลเมตรได้ทั่วประเทศ ซึ่งการขยายธุรกิจของเราเกิดขึ้นเพราะต้องการให้ช่างมีงานทำและสามารถประคองไปกับธุรกิจเดิมของเราได้ โดยเรามีช่างอิสระ 3,000 กว่าคนที่เป็นตัวแทนของเรา” สมพรอธิบาย

    “เราต้องการหางานเสริมให้ด้วยการเพิ่มธุรกิจแอร์ให้เขานำไปเสนอขายกับลูกค้าเดิมที่อาจจะเคยติดจานดาวเทียม เพราะถ้ารู้จักกันและรู้ว่าบริการดี เขาอาจจะอาศัยความสัมพันธ์ใกล้ชิดนำเสนอแอร์ให้ลูกค้าซื้อได้ ซึ่งเราสนใจธุรกิจเครื่องปรับอากาศมากกว่าโทรทัศน์ เพราะความต้องการมากกว่าและเปรียบเทียบจำนวนแอร์ที่ติดตั้งใช้งานในบ้านปัจจุบันก็มีมากกว่าโทรทัศน์”


    ดังนั้น บริษัทจึงเริ่มต้นขยายธุรกิจกลุ่มสมาร์ทโฮม โดยเริ่มจากการพัฒนานวัตกรรมกล้องวงจรปิดและลงทุนสร้างห้องเซิร์ฟเวอร์ขึ้นในประเทศชื่อ OCS Server รวมถึงแอปพลิเคชัน OCS (Online Camera Security) ให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุมกล้องวงจรปิดผ่านมือถือ หรือแม้กระทั่งดูวิดีโอแบบเรียลไทม์เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งานกล้องวงจรปิดมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งขยายไลน์การผลิตเครื่องปรับอากาศ Air PSI และพัฒนาแอปพลิเคชันให้การบริการ รวมถึงสร้างสรรค์นวัตกรรมเครื่องแยกน้ำสะอาดจากสิ่งปนเปื้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    “ผมชอบนำธรรมชาติมาอิงกับการทำงาน ซึ่งเปรียบเทียบกับฤดูหนาวที่ต้นไม้ต้องทิ้งใบ เพราะหน้าแล้ง ต้นไม้ไม่มีน้ำ ถ้ายังมีใบอยู่มันจะเอาน้ำออกมาทางราก คายออกทางใบ และจะทำให้ตายหนักกว่าเดิม ดังนั้น ต้นไม้ต้องทิ้งใบก่อน เพื่อไม่ให้มีการคายน้ำและรักษาชีวิตของมัน เช่นเดียวกับธรรมชาติของทุกสรรพสิ่งที่ต้องมีกลางวัน กลางคืน และธุรกิจที่ต้องมีขึ้นและมีลง โดยเราผ่านช่วงเวลาแบบนี้มาหลายรอบแล้ว ช่วงไหนที่รายได้ดี เราก็เก็บสะสมเป็นพลังงานไว้ และช่วงจังหวะที่ลงก็นำเงินส่วนนั้นมาใช้ได้ พร้อมกับดูว่าอะไรเป็นค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นหรือไม่เกิดรายได้ เราก็ต้องจัดการ สักพักก็กลับมาใหม่ โดยตั้งแต่ทำงานมา 20 กว่าปีหลังเราไม่เคยขาดทุน”

    นอกจากนั้น สมพรยังเล็งเห็นโอกาสและความพร้อมของบริษัทในการนำเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์เข้ามาพัฒนาพลังงานสะอาดชื่อ PSI Energy ในปี 2564 ด้วยการผลิตและจำหน่ายสินค้าพร้อมติดตั้งใช้งานพลังงานแสงอาทิตย์ครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นแผงโซลาร์เซลล์ อินเวอร์เตอร์ โซลาร์ปั๊ม แบตเตอรี่ อุปกรณ์ยึดจับ สายไฟโซลาร์เซลล์ โดยมีทีมวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรงและการนำดิจิทัลชั้นสูงมาใช้ในการผลิตสินค้าทุกขั้นตอน ทำให้สินค้าของบริษัทมีมาตรฐานและได้รับการยอมรับทั้งในประเทศรวมถึงส่งออกต่างประเทศในแถบตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย แอฟริกา แอฟริกาใต้

    ขณะเดียวกันบริษัทยังได้ร่วมลงทุนตั้งฐานโรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ในประเทศจีน ภายใต้แบรนด์ PSI DANYANG อย่างเป็นทางการ พร้อมจับมือกันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมแผงโซลาร์เซลล์


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” เทคออฟการบินไทย ฝ่ามรสุมหนี้แสนล้าน “เร็ว-แรงเกินคาด”

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ในรูปแบบ e-magazine