ไกรภพ แพ่งสภา
ไกรภพ แพ่งสภา ตัวแทน COTTON USA™ ในกลุ่มประเทศอาเซียน กล่าวว่า “คอตตอน ยูเอสเอ” (COTTON USA™) เป็นหน่วยงานไม่แสวงผลกำไร มีภารกิจส่งเสริมการใช้ใยฝ้าย และผลิตภัณฑ์จากฝ้ายสหรัฐอเมริกาในต่างประเทศ โดยทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานปั่นด้าย ผู้ผลิตสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่มแบรนด์ต่างๆ ผู้ค้าปลีก และสมาคมสิ่งทอครอบคลุมกว่า 50 ประเทศทั่วโลก
“ทั่วโลก และทุกอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่อุตสาหกรรมฝ้ายยังขยายตัว โดยในปี เพาะปลูก 2562/2563 สหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 3 ด้วยปริมาณการผลิตกว่า 4.3 ล้านตัน รองจากจีนที่ 5.9 ล้านตัน และอินเดียที่ 6.4 ล้านตัน ซึ่งสหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้ส่งออกฝ้ายอันดับ 1 ที่ 3.3 ล้านตัน เติบโต 4.67% โดยไทยนำเข้าฝ้ายสหรัฐฯ 80,000 ตัน หรือ 60% ของการนำเข้าฝ้ายทั้งหมด 133,000 ตัน และใน 4 เดือนแรกปี 2564 ไทยนำเข้าฝ้ายสหรัฐฯ 45,000 ตันจากทั้งหมด 117,000 ตัน”
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมฝ้ายสหรัฐฯ ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานด้านความยั่งยืน เพราะช่วยสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2523 โดยผู้ปลูกฝ้ายสหรัฐฯ ที่มีอยู่กว่า 16,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นกิจการครอบครัว ต่างให้คำมั่นที่จะร่วมพัฒนาการปลูกฝ้ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมรุ่นต่อไป
ตลอด 35 ปี การผลิตฝ้ายสหรัฐฯสามารถลดอัตราการใช้น้ำลง 79% ต่อเบลล์ (หน่วยของเส้นใยฝ้ายดิบที่ถูกอัดเป็นก้อน) ลดการใช้พลังงานลง 54% ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ลดอัตราการใช้ที่ดินลง 42% ต่อเบลล์ ลดการกร่อนของดินลงได้ 37% ต่อเอเคอร์ และเพิ่มระดับคาร์บอนสะสมในดิน โดยเป้าหมายในปี 2568 จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ 13% ลดอัตราการสูญเสียดิน 50% ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 39% ลดการใช้พลังงานลง 15% เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ 18% และเพิ่มระดับคาร์บอนสะสมในดินให้สูงขึ้น 30%

แนวทางของ U.S. Cotton Trust Protocol
Ⓡ สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของ UN เราตั้งเป้าผลิตฝ้ายอย่างยั่งยืนที่วัดค่า และพิสูจน์ยืนยันผลได้ พร้อมให้หลักเกณฑ์ในการตรวจวัด และขับเคลื่อนพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยจะทำงานผ่านระบบเครดิตที่จะเก็บข้อมูลที่สามารถตรวจสอบได้ของกระบวนการผลิตฝ้ายทั้งซัพพลายเชนตั้งแต่ไร่ฝ้ายจนถึงโรงงาน เครดิตนี้จะส่งผ่านจากโรงหีบฝ้ายไปถึงแบรนด์ และยังได้รับการตรวจสอบและยืนยันโดยผู้ตรวจสอบภายนอกที่เป็นอิสระอีกด้วย ปัจจุบันมีไลเซนซีเป็นสมาชิกจำนวน 443 โรงงานทั่วโลก โดยในไทยมีโรงงานเข้าร่วมแล้ว 14 แห่ง (ข้อมูลอัพเดท ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2564)
COTTON USA™ ยังมี CCI Technical Team ทีมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้กับ ไลเซนซี โดยจะให้บริการคำแนะนำแก่ไลเซนซีด้วย COTTON USA SOLUTIONS™ ได้แก่ Mill Studies การวิจัยข้อมูลเชิงลึกทั้งทางเทคนิคและการเงิน Mill Exchange Program พื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายระหว่างโรงงาน Techinical Seminar ที่มีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ Mill Mastery Course หลักสูตรพัฒนาการปั่นด้าย และ 1:1 Mill Consult การให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว
“Jiangsu Yueda Cotton Textile ไลเซนซีในจีนพบปัญหาคุณภาพเส้นด้าย ได้รับคำแนะนำผ่าน Virtual Mill Doctor จาก CCI Technical Team ซึ่งพบของเสียในโรงงานที่มีอัตราสูงมาก หลังจากแนะนำให้แก้ไขขั้นตอนการสางใย ปรับตั้งค่าเครื่องใหม่ ช่วยลดการสางเอาฝ้ายที่ดีติดไปกับขยะ ทำให้ผลิตด้ายคุณภาพดีขึ้นจากการลดของเสียและผลิตได้มากขึ้นอีกด้วย สามารถประหยัดเงินได้ถึง 1.6 ล้านเหรียญต่อปี” ไกรภพกล่าว
กำจร ชื่นชูจิตต์
กำจร ชื่นชูจิตต์ กรรมการบริหาร บริษัท โรงงานผ้าไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TTI ซึ่งก่อตั้งในปี 2513 ดำเนินธุรกิจสิ่งทอครบวงจร ทั้งปั่นด้าย ย้อมด้าย ทอผ้า พิมพ์ผ้า ย้อมผ้าและผลิตเครื่องนุ่งห่ม กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งทอในปีที่ผ่านมาว่าสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีการล็อกดาวน์ทั่วโลก และเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค เช่น การ Work from home ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เนมหรือตลาดแมส
โดยในครึ่งปีแรกของปีนี้ ภาพรวมอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น ยอดคำสั่งซื้อกลับมาสูงขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งแนวโน้มในครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรกจากแผนการฉีดวัคซีน บริษัทคาดว่า ผลการดำเนินงานจะเติบโต 10-15% จากปี 2563 ที่ลดลง 20-30% จากปี 2562 โดยสัดส่วนรายได้ 40% มาจากการส่งออก ซึ่งมีตลาดหลัก คือ สหรัฐฯ ยุโรป ตะวันออกกลางและเอเชีย และ 60% จากตลาดในประเทศ โดยครึ่งหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก
"ปี 2563 เรานำเข้าฝ้ายสหรัฐฯ กว่า 1 หมื่นตัน ใช้เป็นวัตถุดิบมากกว่า 70% เพราะต้องการเลือกเส้นใยธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากแหล่งผลิตที่มีความน่าเชื่อถือในการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ทั้งวิธีการปลูกที่รักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย ใช้น้ำน้อย ใช้พื้นที่ทำการเกษตรน้อย การเก็บเกี่ยวเป็นระบบด้วยเครื่องจักร มีความสะอาด บริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งเจือปน ทำให้รักษาคุณภาพฝ้ายและความสม่ำเสมอของไฟเบอร์ได้ดี ซึ่งวัตถุดิบที่ดีทำให้การสูญเสียจากการผลิตเกิดขึ้นได้น้อยมาก"

การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนของ TTI ให้ความสำคัญในสามด้าน คือ โลก คน และผลกำไรที่ต้องดำเนินไปอย่างควบคู่กัน โดยนอกจากการเลือกวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว บริษัทมีการบำบัดน้ำเสียที่มาจากสารเคมีที่ใช้ย้อมผ้า ควบคู่กับการลดการใช้น้ำ โดยเลือกใช้สีเคมีที่ใช้น้ำน้อย อีกทั้งการจัดอบรมพนักงานให้ความรู้ทั้งเชิงลึกและหลากหลาย เพื่อเพิ่มศักยภาพและส่งเสริมให้ทำงานได้หลากหลาย สร้างการมีส่วนรวมของพนักงาน บริษัทยังได้ปลูกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม โดยให้ความรู้เรื่องการเลือกใช้สีเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้น้ำน้อย ใช้อุณหภูมิต่ำ สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด และในส่วนของผลกำไร บริษัทนำกำไรมาลงทุนเครื่องจักรใหม่ๆ เพื่อลดปริมาณการสูญเสียในกระบวนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพและประหยัดพลังงานมากขึ้น ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยได้ลงทุนติดตั้งแผง โซลาร์เซลล์เป็นแหล่งพลังงานทดแทนภายในโรงงานอีกด้วย ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตกว่า 70,000 แกนต่อเดือน
ในฐานะไลเซนซี บริษัทได้เป็นเจ้าภาพโรงปั่นด้ายประเทศไทยในโครงการ Mill Exchange Program ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตและโรงปั่นในต่างประเทศเยี่ยมชมและศึกษาภายในโรงงานของบริษัท ขณะเดียวกันบริษัทได้มีโอกาสชมโรงงานในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ตุรกี อินเดีย บังคลาเทศ และปากีสถาน
"เรามีโอกาสได้พบลูกค้าต่างประเทศใหม่ๆ จากการออกบูธ Sourcing Fair และได้พบผู้ส่งออกฝ้ายและสร้างเครือข่ายกับผู้ประกอบการในแวดวงเดียวกันในงาน Sourcing Summit ซึ่ง COTTON USA™ ยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่ช่วยสนับสนุนไลเซนซีทั่วโลก นอกเหนือจากเรื่องคุณภาพฝ้ายที่เป็นอันดับหนึ่ง"
อัมรินทร์ สัจจเทพ
อัมรินทร์ สัจจเทพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอตแลนติก มิลส์
(ประเทศไทย
) จำกัด กล่าวถึงความเป็นมาของบริษัทว่า บริษัทดำเนินกิจการผลิตและส่งออกผ้ายีนส์มากว่า 20 ปี โดยขยายกิจการจากการนำเข้าผ้ายีนส์จากญี่ปุ่นและอิตาลีมาขายในไทยสมัยผู้ก่อตั้งรุ่นแรก ก่อนต่อยอดโดยทายาทรุ่น 3 สู่การทอผ้ายีนส์ในประเทศ โดยการซื้อโรงงานแอตแลนติก มิลส์ในปี 2542 และเริ่มเปิดดำเนินการผลิตในปี 2545 ที่จังหวัดสมุทรสาคร
“ในปี 2557 เราได้ซื้อโรงงานอีกแห่งในจังหวัดสมุทรปราการและเปลี่ยนชื่อเป็นเอเอ็มซี สปินนิ่ง เน้นการผลิตเส้นด้ายทุกขนาด โดยนำเข้าฝ้ายจากสหรัฐฯราว 60% ของการนำเข้าฝ้ายทั้งหมด ซึ่งในปี 2563 ได้นำเข้าฝ้ายสหรัฐฯกว่า 3,500 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 30% โดยการผลิตเส้นด้ายเพื่อทำยีนส์ เราจะเน้นฝ้ายคุณภาพดี เพราะยีนส์ต้องการเส้นใยฝ้ายที่ยาวและนุ่ม”

ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตที่ 45,000 แกนหมุนปั่นด้ายต่อเดือน ส่วนใหญ่ผลิตด้ายเบอร์ใหญ่มีน้ำหนักรวม 3 ล้านปอนด์ ซึ่งขนาด 45,000 แกนสำหรับโรงงานด้ายเบอร์เล็กทั่วไปจะได้น้ำหนัก 1 ล้านปอนด์ คาดว่าปีนี้กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 85-90% จาก 70% ในปีที่แล้ว
“จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผลการดำเนินงานในปี 2563 ลดลง 10% อย่างไรก็ตามธุรกิจกลับมาฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 จากแรงซื้อของสหรัฐฯ ที่กลับมาสูงและต่อเนื่องถึงปี 2564 ทำให้ผลการดำเนินงานในปีนี้ น่าจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับที่เคยทำไว้สูงสุดใน 4-5 ปีก่อน โดยบริษัทคาดว่าจะเติบโต 30% โดยตลาดส่งออกมีสัดส่วน 80% ซึ่งครึ่งหนึ่งมาจากสหรัฐฯ” อัมรินทร์ในฐานะเจเนอเรชั่นที่ 3 ของบริษัท กล่าว
สำหรับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน บริษัทให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง โดยยึดเป้าหมายตามองค์การสหประชาชาติ ซึ่งในด้านคน บริษัทได้นำ 10% จากผลกำไรกลับมาให้พนักงาน ซึ่งหลายคนอยู่กับบริษัทมานานกว่า 20-30 ปี
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมกับ Fibertrace ทำบล็อกเชนที่จะทำให้สามารถสแกนเสื้อผ้าที่ซื้อมา เพื่อดูข้อมูลเส้นทางของวัตถุดิบได้ เรียกว่า Traceability หรือการตรวจสอบย้อนหลังกลับไปถึงต้นตอของวัตถุดิบและแหล่งที่มา ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ
เรื่องความยั่งยืนด้านโลก บริษัทได้ลดการใช้น้ำ นำน้ำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ บำบัดน้ำให้สะอาด ใช้วัตถุดิบที่ยั่งยืน ใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยคาร์บอน ใช้วัสดุที่รีไซเคิลได้ และผลักดันการผลิตสินค้ารีไซเคิลจากวัสดุที่ผ่านการบริโภค รวมทั้งเลือกใช้เส้นใยธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งฝ้ายสหรัฐฯ มีแนวทางด้านความยั่งยืน ทั้งการลดใช้น้ำ ลดการใช้ยาฆ่าแมลง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ส่วนความยั่งยืนด้านผลกำไร บริษัทนำกำไรมาช่วยเหลือผู้ยากไร้ ซึ่งเห็นผลชัดเจนในช่วงโควิด-19 เนื่องจากมีหลายคนที่ต้องตกงาน นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนสร้างโรงเรียนในเพื่อชุมชนใน 5-10 ปีข้างหน้าหรือนำเงินไปสนับสนุนโรงเรียนที่ลูกหลานของพนักงานและคนในชุมชนเรียนอยู่
"การเข้าร่วมเป็นไลเซนซี COTTON USA™ ตั้งแต่ปี 2557 ทำให้บริษัทได้ร่วมกิจกรรมมากมาย เช่น Sourcing Fair ที่ฮ่องกง Mill Exchange Program ที่ได้ชมโรงงานปั่นเส้นด้ายในไทย เวียดนามและอินโดนีเซีย Bespoke Sourcing ที่เปิดให้แบรนด์ชมโรงงาน เป็นการสร้างความสัมพันธ์และเปิดโอกาสทางธุรกิจ โดยบริษัทยังได้ใช้ Engineered Fiber Selection
Ⓡ หรือ EFS
Ⓡ ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ระบบจัดการฝ้ายในโรงงานที่พัฒนาโดย Cotton Incorporated อีกด้วย"
ธนัท ศิริเกียรติสูง
ธนัท ศิริเกียรติสูง ผู้ช่วยผู้จัดการโรงงาน บริษัท โรงงานส่งเสริมไทยอุตสาหกรรม จำกัด หรือ TID ผู้ผลิตสิ่งทอ เส้นด้ายและผ้าผืน ซึ่งดำเนินธุรกิจมาแล้วกว่า 60 ปี โดยเน้นผลิตด้ายทั้งแบบฝ้าย 100% และด้ายผสม ผ้าทอดิบแบบฝ้าย 100% ผ้าทอดิบฝ้ายผสมโพลีเอสเตอร์ ผ้าทอดิบฝ้ายผสมเรยอน และโพลีเอสเตอร์ 100% กล่าวว่า บริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในปีที่ผ่านมาจากยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงในช่วงล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้กำลังการผลิตลดเหลือ 50% จาก 80% ของกำลังการผลิตแกนหมุนปั่นด้ายทั้งหมด 80,000 แกนต่อเดือน
“ตลาดในประเทศที่มีสัดส่วน 65% ชะลอตัวทั้งในช่วงการระบาดระลอกแรกและระลอกล่าสุด ส่วนตลาด ส่งออกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นจนถึงระดับปกติ คาดว่าในปีนี้บริษัทจะมีอัตราเติบโต 15-20% จากปี 2563 ที่หดตัวไป 30% จากปี 2562 ซึ่งต้องจับตาดูสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลังอย่างใกล้ชิด”
สถานการณ์โควิด-19 ทำให้บริษัทปรับเปลี่ยนแผนงานอย่างฉับไวในทุกสัปดาห์ ทั้งการสื่อสารภายใน การปรับลดกำลังการผลิต ซึ่งต่อมาทำให้พบปัญหาขาดแคลนแรงงานหลังจากตลาดส่งออกฟื้นตัวและบริษัทไม่สามารถรับแรงงานใหม่เข้ามาได้ทันทีเนื่องจากมีความเสี่ยงในช่วงการแพร่ระบาด ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานจำนวน 600 คน จาก 680 คน

TID เป็นไลเซนซีของ COTTON USA™ มากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งสร้างความมั่นใจให้กับบริษัทที่ได้ซื้อวัตถุดิบคุณภาพที่ผ่านการตรวจสอบ ได้ตามคุณภาพที่คาดไว้ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าว่าได้ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพในกระบวนการผลิต ที่สำคัญการเป็นไลเซนซียังมีกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้และสร้างเครือข่ายทางธุรกิจกับผู้ประกอบการในวงการปั่นด้ายและสิ่งทอ
"เมื่อปี 2562 ผมได้มีโอกาสร่วมกิจกรรม Orientation Tour ที่สหรัฐอเมริกา ได้เห็นต้นตอการผลิตฝ้าย กระบวนการผลิต การควบคุมการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพ ทำให้มีความมั่นใจในฝ้ายสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น และยังได้มีโอกาสพบกับผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันจากหลายประเทศ ได้เห็นมุมมองและปัญหาที่แต่ละประเทศหรือแต่ละโรงงานแตกต่างกันไป ถือเป็นโอกาสได้เรียนรู้มากขึ้น"
นอกจากนี้ COTTON USA™ ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนทั้งในเรื่องแรงงานและทรัพยากร โดยในช่วงต้นปีบริษัทได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก U.S. Cotton Trust Protocol
Ⓡ เนื่องจากสามารถตรวจสอบและมั่นใจได้ว่าฝ้ายจากสหรัฐฯ นั้นมาจากแหล่งเพาะปลูก และกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน
"เรื่องความยั่งยืน บริษัทได้ให้ความสำคัญกับคนเป็นอันดับแรก เราพัฒนาบุคลากรโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพของพนักงาน ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรที่ทันสมัยมากขึ้น ใช้ซอฟต์แวร์ดึงข้อมูลและรวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และช่วยการตัดสินใจและพัฒนาสินค้า"
ด้านความยั่งยืนของโลก บริษัทเริ่มนำโซลาร์ พาวเวอร์ขนาด 1 เมกะวัตต์มาใช้ที่โรงงานตั้งแต่ปี 2562 และยังได้พัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น สินค้าที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติที่มาจากการปลูกแบบออร์แกนิค เส้นใยสังเคราะห์จากพลาสติกรีไซเคิล และยังเลือกใช้เส้นใยธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างฝ้ายสหรัฐฯ โดยในปี 2563 ได้นำเข้าฝ้ายสหรัฐฯ กว่า 1,200 ตัน
"การเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพเป็นส่วนสำคัญในการผลิตสินค้าที่ดีให้กับลูกค้า และส่งผลตอบแทนเป็นกำไรที่ดีขึ้นกลับมา ซึ่งบริการจาก CCI Technical Team ยังช่วยให้คำแนะนำในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้น เป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับผลกำไร"