กฤษฎา ประเสริฐสุโข GGC ชูยุทธศาสตร์เคมีรักษ์โลก - Forbes Thailand

กฤษฎา ประเสริฐสุโข GGC ชูยุทธศาสตร์เคมีรักษ์โลก

ความเชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมได้รับการตกผลึกเป็นอาวุธสำคัญในการรับภารกิจขับเคลื่อนองค์กรต้นแบบการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนสู่การเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วยกลยุทธ์ “The New Chapter of GGC to be the Sustainable Growth Business”


    ภาพขององค์กรแห่งความยั่งยืนสะท้อนชัดในการขับเคลื่อนภาคต่อการเป็นผู้นำธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม ด้วยความมุ่งมั่นสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืนบนเส้นทางสีเขียวควบคู่กับการสร้างคุณค่าและยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจให้ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ครอบคลุมมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้การนำของกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC

    “ช่วงที่อุตสาหกรรมกำลังพัฒนา เราเลือกเรียนด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเรื่องใหม่ในไทย แต่เรามองว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมอาจจะมีผลกระทบเรื่องความปลอดภัย และความรู้ด้านนี้น่าจะช่วยประเทศชาติได้ โดยหลังจากเรียนจบก็ได้เข้าทำงานโรงงานกระดาษที่สมุทรปราการ 1 ปี ก่อนจะร่วมทีมทำงานโรงงานปิโตรเคมีระยะที่ 1 ที่ระยอง ตั้งแต่ดูโรงงานช่วงก่อสร้างและเดินเครื่องจนเข้าที่ประมาณ 10 ปี กระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้เราต้องหารายได้เพิ่ม ด้วยการใช้ความสามารถที่มีจากเดิมที่หน่วยราชการมักจะเชิญเราเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญการเรื่องความปลอดภัย ทำให้เรามาตั้งยูนิตดูแลให้คำปรึกษาและฝึกอบรมด้านความปลอดภัย การจัดการเหตุฉุกเฉิน และการจัดการความเสี่ยงต่างๆ ให้กับ NPC หรือปิโตรเคมีแห่งชาติ และรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้บริษัทนี้ด้วย”

    กฤษฎาย้ำความมั่นใจในความรู้เฉพาะทางระดับปริญญาตรี คณะสาธารณสุขศาสตร์ สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มหาวิทยาลัยมหิดล และ MBA (International Program) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (ด้วยความร่วมมือทางวิชาการกับ Ohio University สหรัฐอเมริกา) และการทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายพาณิชยกิจและกลยุทธ์การตลาด บริษัท เอ็นพีซี เซฟตี้ แอนด์ เอ็นไวรอนเมนทอล เซอร์วิส จำกัด เมื่อปี 2552 ก่อนจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการในปี 2561ซึ่งระหว่างนั้นในปี 2559 ยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท รักษาความปลอดภัย เอ็นพีซีเอสแอนด์อี จำกัด จนถึงเดือนกันยายน ปี 2565

    ขณะเดียวกันยังดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สังกัดสายงาน Value Added Products (COV) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท จีจีซี ไบโอเคมิคอล จำกัด รวมทั้งนั่งเก้าอี้กรรมการหลายบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้แก่ บริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเทรียล จำกัด, บริษัท คุ้มเกล้า อินโนเวชั่น จำกัด, บริษัท คุ้มเกล้า คอนวีเนียนส์ จำกัด, บริษัท คุ้มเกล้า คอฟฟี่การ์เด้น จำกัด, บริษัท ควอนตัม เทคโนโลยี จำกัด, บริษัท โกลบอล เบสท์ อินเตอร์เทรด จำกัด

    “ประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาทำให้เรามีโอกาสทำงานกับหน่วยงานราชการเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมและดูแลโครงการสำคัญของประเทศ เช่น การลดสารทำลายชั้นโอโซนที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาที่เซ็นข้อตกลงไว้ และการเป็นที่ปรึกษาให้โรงงานหลายอุตสาหกรรมทั้งการเกษตร กลุ่มเครื่องสำอาง ยาทำให้เห็นเทรนด์โลกที่เน้น green มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการย้ายมาที่ GGC จะเป็นการเปลี่ยนจากการที่เราเคยทำงานในมุมของที่ปรึกษาให้ผู้บริหารเห็นความสำคัญเรื่อง
ความปลอดภัยของสังคมและสิ่งแวดล้อมตรงนี้เราดูแลหมด CSR การบริหารความเสี่ยง crisis management โดยประสบการณ์ที่ผ่านมาของเราสามารถนำมาใช้กับ GGC ได้ จาก technical สู่ practical จะช่วยให้เกิดประโยชน์”

    จากประสบการณ์บริหารบริษัทกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและการกลั่นปิโตรเลียมแบบครบวงจร รวมถึงความเชี่ยวชาญด้านการกำหนดกลยุทธ์องค์กรและการพัฒนาธุรกิจ ทั้งยังเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านพลังงาน ปิโตรเคมี ความปลอดภัยด้านชีวอนามัย การบริหารจัดการธุรกิจและการบริหารความเสี่ยง ความมั่นคง ความยั่งยืน และการกำกับดูแลกิจการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้กฤษฎาพร้อมรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ปี 2565

    “ธุรกิจ GGC มี 3 ผลิตภัณฑ์หลักคือ Methyl Ester หรือ B100 กำลังการผลิต 500,000 ตันต่อปี Glycerin ประมาณ 50,000 ตันต่อปี และบริษัทยังเป็นผู้ผลิต Fatty Alcohol รายเดียวในประเทศไทย กำลังการผลิต 100,000 ตันต่อปี รวมทั้งเรายังมีบริษัทลูกอีก 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท
ไทย อีทอกซีเลท จำกัด นำวัตถุดิบ Fatty Alcohol ที่เราผลิตได้เป็นสาร Ethoxylate ใช้เป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์ home and personal care รวมทั้ง บริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเทรียล จำกัด ถือหุ้นผ่านบริษัทลูกในนาม บริษัท จีจีซี ไบโอเคมิคอล จำกัด ผลิต Ethanol ปีละประมาณ 186 ล้านลิตรและเป็น service provider ด้านสาธารณูปโภคให้โรงงานไบโอพลาสติกของเนเจอร์เวิร์คและขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต”

    กฤษฎากล่าวถึงภาพรวมธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมของบริษัทในปัจจุบันที่มีผลิตภัณฑ์หลักประกอบด้วยเมทิลเอสเทอร์หรือ B100 ใช้ผสมในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และแฟตตี้แอลกอฮอล์สำหรับใช้เป็นส่วนผสมหลักในการผลิตเครื่องสำอาง สารลดแรงตึงผิวและเภสัชภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งกลีเซอรีนบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ใช้ในเครื่องสำอางและเภสัชภัณฑ์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์พลอยได้อีกหลายประเภท เช่น กลีเซอรีนดิบ กลีเซอรีนสีเหลือง โพแทสเซียมซัลเฟต กากเมทิลเอสเทอร์ และกากแฟตตี้แอลกอฮอล์

    นอกจากนั้น บริษัทยังก่อตั้ง บริษัท ไทย อีทอกซีเลท จำกัด โดยร่วมทุนกับ บริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตแฟตตี้ แอลกอฮอล์อีทอกซีเลทเพียงรายเดียวในประเทศไทย ซึ่งแฟตตี้แอลกอฮอล์อีทอกซีเลทเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตผลิตภัณฑ์ เพื่อสุขภาพและสุขอนามัยส่วนบุคคลผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือนและใช้เป็นวัตถุดิบในน้ำยาล้างเส้นใย ด้วยกำลังการผลิต 124,000 ตันต่อปี

    ขณะเดียวกันบริษัทยังเข้าถือหุ้นใน บริษัท จีจีซี ไบโอเคมิคอล จำกัด ดำเนินธุรกิจและลงทุนต่อเนื่องในธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม และร่วมทุนกับ บริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด ใน บริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเทรียล จำกัด เพื่อก่อสร้างและดำเนินงานโรงหีบอ้อย โรงงานเอทานอล โรงไฟฟ้าชีวมวล พร้อมทางเลือกการขายไฟฟ้าให้ผู้ประกอบการและสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นการในดำเนินธุรกิจ ซึ่ง บริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเทรียล จำกัด เป็นผู้ผลิตเอทานอลหรือ E100 สำหรับผสมในน้ำมันเบนซินพื้นฐาน กำลังผลิตติดตั้งรวม 600,000 ลิตรต่อวัน โรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำกำลังการติดตั้งไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์และไอน้ำ 475 ตันต่อชั่วโมง

    “กลุ่มลูกค้าหลักในธุรกิจพลังงานของเราเป็นตลาดในประเทศ ถ้า Glycerin และ Fatty
Alcohol เป็นตลาดโลก เช่น จีน อินเดีย เกาหลี แอฟริกา ยุโรป อเมริกา โดย Oleochemical และ Ethoxylate เราเป็นรายเดียวในประเทศไทย ด้วยวัตถุดิบปาล์มในประเทศที่เราใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกทำให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการและยังสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรของไทยได้ รวมถึงเราใช้เทคโนโลยีระดับโลกและคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ทำให้เรา
สามารถแข่งขันได้ทั้งในเอเชียและตลาดโลก”

    

    เดินเกมรุก GGC DNA

    

    ก้าวต่อไปของอาณาจักรเคมีภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมภายใต้การกุมบังเหียนของเอ็มดีคนใหม่วัย 57 ปี ยังคงยึดมั่นในการสานต่อภารกิจเสริมความแข็งแกร่งในธุรกิจปัจจุบัน และสร้างโอกาสทางธุรกิจสู่การเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน ด้วยแนวคิด “GGC DNA” พร้อมประกาศกลยุทธ์ The New Chapter of GGC to be the Sustainable Growth Business” เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจที่ชัดเจนทั้งภายในและภายนอกองค์กร

    “โจทย์ที่ได้รับมี 2 เรื่องหลัก โดยเรื่องแรกเป็นวิสัยทัศน์ของ GGC ซึ่งต้องการเป็น To be a Leading Green Chemical Company by Creating Sustainable Value ตรงนี้เป็นโจทย์แรกที่ต้องการให้เราทำเรื่อง green business หรือต่อยอดการเป็น green chemical company พร้อมกับ create value ที่ยั่งยืนให้เป็นจริงมากขึ้น

    ส่วนอีกเรื่องเป็นการทรานส์ฟอร์มธุรกิจปัจจุบันของ GGC ให้สอดคล้องกับ global trend และความหลากหลายในพอร์ตฟอลิโอมากขึ้น ซึ่งเรามองเป็นความท้าทายที่น่าสนใจ เพราะพอร์ตหลักเดิมของ GGC เน้นเรื่องพลังงานเป็นส่วนใหญ่ แต่โจทย์ใหญ่ให้เราทรานส์ฟอร์มพลังงานในรูปแบบอื่นให้มีความครอบคลุมหลากหลายมากขึ้น โดยเราจะสามารถทรานส์ฟอร์มเป็น green และไม่ถูก disrupt ได้อย่างไร”

    สำหรับ GGC DNA ประกอบด้วย Great in Green Business ดำเนินธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าวัตถุดิบทางการเกษตรของประเทศไทย เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมที่พร้อมคำนึงถึงประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียในทุกมิติ และ Growth in BCG มุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมระดับโลก ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้มีความหลากหลายและขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้ง Compliance in ESGs ให้ความสำคัญในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานที่เป็นไปตามกฏหมาย กฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นเสาหลักในการประกอบธุรกิจ

    “เราเริ่มจากการทำ framework และตั้งเป็น GGC DNA จากชื่อของเรา โดย G ตัวแรกคือ Green เป็นธุรกิจหลักของเรา ซึ่งเราต้องการเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตรของไทยให้สูงขึ้น G ถัดมา Growth in BCG เป็นทิศทางการเติบโตของ GGC ในธุรกิจเกี่ยวกับ B คือ Bio ส่วน C คือ Circular และ G คือ Green เพื่อสื่อสารถึงสิ่งที่เราจะเดินต่อไปต้องอยู่ในกรอบ BCG สุดท้าย C มาจาก Compliance in ESGs ทั้งสิ่งแวดล้อมที่เราประกาศชัดเจนว่าจะทำอะไร เรื่องสังคมที่เราพยายามสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรใน value chain ของเราให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น เช่น กลุ่มเกษตรกรน้ำมันปาล์ม เราเน้นให้เขาทำปาล์มยั่งยืน และส่งเสริมไปถึงชุมชนที่อยู่รอบๆ โรงงาน ด้วยการนำสินค้าในชุมชนออกมาจำหน่ายให้มีรายได้กลับมา โดยเน้นสอนให้เขาหาปลาเลี้ยงตัวเองได้มากกว่าการนำเงินไปให้รวมทั้งเรื่องการดูแลกิจการต้องโปร่งใส ถ้าเราทำถูกตั้งแต่เริ่มต้นจะไม่มีปัญหาตามมา”

    ขณะเดียวกันยังกำหนดยุทธศาสตร์หลัก 3 ด้าน ได้แก่ ยุทธศาสตร์การยกระดับความ
สามารถในการแข่งขัน และสร้างความยืดหยุ่นที่สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ
โดยสร้างผลกำไรที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการต้นทุนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่วัตถุดิบ ระบบโลจิสติกส์ ถังเก็บ คลังสินค้า และสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำและคุ้มค่า รวมถึงการสร้างความเป็นเลิศด้านการปฏิบัติการและการรักษาความมั่นคงด้านการผลิต การใช้พลังงาน และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมสร้างความแข็งแกร่งทางการตลาดและต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ยกระดับการผลิตน้ำมันปาล์มในประเทศสู่มาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (Roundtable on Sustainable Palm Oil: RSPO) และต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำที่มีมูลค่าสูงขึ้น (High Value Product: HVP)

    นอกจากนั้น กฤษฎายังวางยุทธศาสตร์การเติบโตในธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการลงทุนต่อยอดธุรกิจเดิมของบริษัท และลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพใน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel) ธุรกิจเคมีชีวภาพ (biochemical) ธุรกิจส่วนประกอบอาหารและโภชนเภสัช (food ingredient & nutraceutical) โดย-เฉพาะการพัฒนาพืชสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกจากประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์การดูแลสุขภาพทั่วโลก

    “ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และยังมีผลิตภัณฑ์การเกษตรอื่นๆ ที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้ เช่น เรามีสมุนไพรจำนวนมากที่สามารถสกัดเป็นอาหารเสริม กลุ่มที่เป็นยานวัตกรรมสมุนไพรที่จะสามารถขยายไป biochemical หลายตัว และจะทำให้เราเป็น Country of Origin (COO) ได้ ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ของเราต้องมีการขยายกำลังการผลิตและเพิ่มยูนิตขึ้น โดยเรามองในรูปแบบ greenfield project ซึ่งอาจจะเริ่มจากกลุ่มโอลีโอเคมีให้มีกำลังการผลิตรองรับผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่เราจะทำ และขยายเชน home and personal care ให้เพียงพอ รวมถึงเรายังสนใจการหาพาร์ตเนอร์เพื่อช่วยให้เราเข้าสู่ธุรกิจได้เร็วขึ้น ทั้งการต่อยอดร่วมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือสตาร์ทอัพที่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจสร้างแบรนด์ร่วมกัน และพาร์ตเนอร์ร่วมทุนกับกลุ่ม home and personal care ทางปลายน้ำทำให้เติบโตไปด้วยกัน”

    ส่วนยุทธศาสตร์สุดท้ายมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้กรอบการดำเนินงานตามแนวคิดการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมได้มีการจัดทำกลยุทธ์สภาพภูมิอากาศ (climate strategy) และการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมทั้ง 3 มิติ (BCG Integration) ส่วนด้านสังคมได้สร้างการมีส่วนร่วมและปรับโครงสร้างองค์กร รวมถึงการดำเนินการด้านทรัพยากรบุคคล (organization transformation) ขณะที่ด้านการกำกับดูแล (governance) ได้บูรณาการการกำกับดูแลกิจการ (governance) การบริหารความเสี่ยง (risk) และการกำกับการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบ (compliance) หรือ GRC และการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

    “กรอบการทำงานของเรามีทั้งแผนระยะสั้น 3 ปี ระยะกลาง 5 ปี และระยะยาว 7 ปี โดยช่วง 3 ปีแรกเราวางเป้าหมาย EBITDA เติบโตเท่าตัวอยู่ที่ 3 พันล้านบาทในปี 2569 และระยะยาว 5-6 พันล้านบาทในปี 2573 พร้อมเป้าหมายภาพลักษณ์ต้องการให้คนไทยมองเราเป็นพาร์ตเนอร์ที่จะช่วยสร้าง value ให้ผลิตภัณฑ์การเกษตรหรือพืชของไทยไปตลาดโลกได้เหมือนเพื่อนช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ นอกเหนือจากปาล์มและอ้อยเรายังมองพืชอื่นๆ อย่างสมุนไพรที่สามารถต่อยอดสร้างมาตรฐานและเทคโนโลยีสากลคุมคุณภาพผลิตและส่งออกได้”

    ภายใต้เป้าหมายที่วางไว้สามารถสำเร็จได้จากแรงขับเคลื่อนของบุคลากรในองค์กร ซึ่งยึดมั่นในวัฒนธรรมองค์กรและค่านิยม 4 Core Behaviors ได้แก่ กล้าคิด กล้าทำสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่า และมุ่งปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม รวมถึงการทำงานเป็นทีมและทำงานเชิงรุกสนองตอบความต้องการของลูกค้า พร้อมเพิ่มหลักการทำงาน CARE Principle ประกอบด้วย C-Collaboration
to Create Teamwork การสร้างความร่วมมือ และ A-Accountability to Result ความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่ถูกต้องและทันเวลา รวมทั้ง R-Resilience and Agility ความสามารถในการปรับตัวอย่างรวดเร็วและ E-Empowerment การให้อำนาจตัดสินใจ เพื่อเป็นกรอบการทำงานร่วมกันในการทรานส์ฟอร์มบริษัทให้สอดคล้องกับเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงและแผนธุรกิจที่วางไว้

    กฤษฎาปิดท้ายหลักบริหาร “เราสร้างวัฒนธรรมการทำงานของเราด้วย 4 Core Behaviors เช่นเดียวกับ GC ไม่ว่าจะเป็นการกล้าคิด กล้าทำ การสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่าพัฒนาตน ทำงานเป็นทีม โฟกัสเรื่องลูกค้าและเรื่องประโยชน์ส่วนรวม แต่เพื่อจะทรานส์ฟอร์มบริษัทเราจึงออก CARE Principle เป็นกรอบการทำงานร่วมกับ 4 Core Behaviors ซึ่ง care ยังหมายถึงการใส่ใจดูแลกัน ทำให้เรามองประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักเช่นเดียวกับ 4 Core Behaviors ที่เราพยายามสร้างมาหลายปี โดยเราต้องการเข้มแข็งจากภายใน เพื่อสร้างการเติบโตให้คน GGC สะท้อนภาพ enhance competitiveness growth portfolio and growth sustainability company ตอกย้ำ key strategy ของเราว่า เข้มแข็ง เติบโต และยั่งยืน”

    

    อ่านเพิ่มเติม : เจาะลึก LGBTQ+ อนาคตกาท่องเที่ยวสำหรับทุกคน

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine