ธีระชัย พงศ์พนางาม SAV เปิดน่านฟ้ากัมพูชา - Forbes Thailand

ธีระชัย พงศ์พนางาม SAV เปิดน่านฟ้ากัมพูชา

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Sep 2023 | 11:00 AM
READ 1232

หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายทำให้คนกลับมาใช้บริการเครื่องบินโดยสารอย่างคึกคัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางไปต่างประเทศ ส่งผลให้บริษัทไทยที่ลงทุนในธุรกิจบริหารจัดการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชากลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว


    กลุ่มบริษัทสามารถเข้าไปทำธุรกิจในกัมพูชาตั้งแต่ 30 กว่าปีก่อน โดยจัดตั้ง บริษัท แคมโบเดีย สามารถ คอม-มิวนิเคชั่น จำกัด ในปี 2535 เพื่อวางระบบเครือข่ายโทรศัพท์ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม และให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ NMT 900 ต่อมาเห็นโอกาสการจัดการจราจรทางอากาศให้กับสนามบินในกัมพูชา 

    ปี 2542 ประเทศกัมพูชาเริ่มมีนโยบายการเปิดน่านฟ้าระหว่างกัมพูชากับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคมากขึ้น แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านทรัพยากรจึงบริหารเฉพาะส่วนที่มีเครื่องบินขึ้นลงในประเทศ กรณีเครื่องบินบินผ่านเขตน่านฟ้า (overflight) ให้หน่วยงานของไทยและเวียดนามดำเนินการแทนต่อมารัฐบาลกัมพูชาต้องการอัปเกรดระบบอุปกรณ์แต่ติดขัดด้านงบประมาณ เมื่อผู้บริหารกลุ่มบริษัทสามารถทราบข่าวจึงเสนอตัวว่าจะลงทุนให้ทั้งหมด หลังใช้เวลาเจรจาเกือบ 1 ปีจึงได้ข้อตกลงร่วมกันสัมปทาน 49 ปี

    ปี 2544 จัดตั้ง บริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จํากัด (Cambodia Air Traffic Services: CATS) ขึ้นในกัมพูชา เพื่อประกอบธุรกิจจัดตั้งระบบและให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศในสนามบินทุกแห่งของกัมพูชา โดยเริ่มนับอายุสัมปทานครั้งแรกปี 2545 และแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐบาลกัมพูชาในระบบแชร์ริ่ง กรณีเที่ยวบินขึ้นลงทั้งในประเทศและต่างประเทศแบ่งให้กัมพูชา 50% หากบินผ่านน่านฟ้า 30% การเซ็นสัญญาครั้งแรกได้สัมปทาน 15 ปี และสามารถขอขยายอายุสัมปทานหากมีการลงทุนเพิ่ม ที่ผ่านมาขยายอายุสัญญา 4 ครั้ง ครั้งล่าสุดปี 2565 รวมระยะสัมปทานทั้งหมด 49 ปี (ตั้งแต่ปี 2545-2594)

    “สนามบินใหม่ 2 แห่งที่เสียมเรียบและพนมเปญ เราลงทุนเพิ่ม ฉะนั้นเราต้อง proof ให้เขาเห็นว่าทำไมควรได้ 10 ปี แต่ในสัญญาสัมปทานบอกไว้อยู่แล้ว ถ้าเราลงทุนเพิ่มมีสิทธิ์เจรจา แต่ต้องเจรจาเป็นครั้งๆ ไป…พอเราได้สัญญาใช้เวลา 1 ปี 9 เดือน set up ระบบ สร้างตึกใหม่เป็น air traffic control center ตรงข้ามสนามบินที่พนมเปญ ตุลาคม ปี 2565 ระบบพร้อม ตรวจรับระบบกับกรมการบินและ launch full operation 1 พฤศจิกายน ปี 2565” ส่วนที่ว่าสถานการณ์การเมืองในประเทศกัมพูชาจะมีผลต่อธุรกิจหรือไม่ ธีระชัยตอบว่า ไม่ว่าใครจะเป็นผู้นำรัฐบาลไม่ส่งผลกระทบ  

    “เรา base on สัญญาสัมปทาน เขมรยังไม่เคยมี record การฉีกสัญญาใดๆ กับต่างชาติเลย ตราบใดที่เขมรยังคิดคบค้ากับ international เราอยู่มา  20 กว่าปี เราอยู่ตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่มี 2 นายกฯ คือ ท่านรณฤทธิ์ พรรคฟุนซินเปก ท่านฮุน เซน พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) เราเข้าพบทั้งคู่” ธีระชัย พงศ์พนางาม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAV และประธานสายธุรกิจ Utilities and Transportations บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เล่าถึงความเป็นมาของการลงทุนในธุรกิจนี้และว่า “เราเข้าไปทำธุรกิจในเขมร ได้รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ที่เห็นเราทำธุรกิจมานานจึงเกิดความไว้ใจ เราเข้าไปเขมรตั้งแต่่ปี 2534 - 2535 ทำโทรศัพท์มือถือ สมัยนั้นเขายังให้ความสำคัญกับนักลงทุนไทย ตอนนี้โปรเจกต์ใหญ่ๆ เน้นนักลงทุนจีน เกาหลี...

    “CATS เกิดปี 2544 ตอนนั้นการให้บริการกลุ่มจราจรทางอากาศมีความไม่พร้อมอยู่เยอะ คือส่วนที่บินลงแอร์พอร์ตในประเทศกัมพูชาทำเองแต่ไม่เต็มรูปแบบ ส่วนที่บินผ่านน่านฟ้าให้เวียดนามและไทยทำ เราเห็นโอกาสเลยเสนอตัวเพื่อ set up ระบบต่างๆ ส่วนน่านฟ้าที่ delegate ให้เวียดนามและไทยก็ดึงกลับมาให้กัมพูชา”

    ธีระชัยได้รับมอบหมายให้เซ็ตอัพ CATS ที่กัมพูชา เนื่องจากเคยทำธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่นี้จึงมีความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม เขาทำงานและอยู่ในกัมพูชา 11 ปี กระทั่งปี 2555 จึงกลับมาทำงานที่ประเทศไทย ดูแลงานสายธุรกิจบริการสาธารณูปโภค (Utilities & Transportations) ซึ่งมีหลายบริษัทย่อย ครอบคลุมธุรกิจเทคโนโลยีด้านสาธารณูปโภค อาทิ พลังงาน สิ่งแวดล้อม การเดินทาง และบริการสาธารณะอื่นๆ อาทิ ศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศ, โรงงานผลิตไฟฟ้ากัมปอต ประเทศกัมพูชา, ธุรกิจรับบริหารจัดการขยะแบบบูรณาการครบวงจร รวมถึงการให้บริการด้านการออกแบบ ก่อสร้าง และติดตั้งงานระบบส่งไฟฟ้าครบวงจร

    เมื่อมองย้อนกลับไปธีระชัยบอกว่า เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก โดยบริษัทลงทุนประมาณ 20 กว่าล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 500-600 ล้านบาท เขาบอกว่า ตอนคาดการณ์การเติบโตก็ไม่คิดว่าจะโตขนาดนี้ คิดว่า 7-8 ปีจึงคืนทุน แต่ในความเป็นจริง 5-6 ปีก็คืนทุนแล้ว ทั้งยังกำไรตั้งแต่ปีแรก 

    “ตอนเข้าไปทำใหม่ๆ รายได้ปีละ 12 ล้านเหรียญ ก่อนโควิดเกือบ 65 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 2 พันกว่าล้านบาท พอเกิดโควิดก็ร่วงลงมา ปี 2566 คาดว่าจะกลับไปเกือบๆ 50 ล้านเหรียญ และปี 2567 จะทะลุเท่ากับปี 2562 ส่วน operation ถ้ามีรายได้ประมาณ 20 กว่าล้านเหรียญต่อปีก็ break-even point ปี 2563 ได้ 22 ล้านเหรียญ ไม่ขาดทุน มาขาดทุนปี 2564 พอปี 2565 ก็กลับมามีกำไรแล้ว”

    

    เริ่มต้นนับหนึ่ง

    

    CATS เป็นบริษัทในกลุ่มสามารถซึ่งจดทะเบียนบริษัทในประเทศกัมพูชา ดำเนินธุรกิจด้านศูนย์ให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศ ครอบคลุมทั่วน่านฟ้าประเทศกัมพูชา ขอบข่ายงานคือ บริหารจราจรทางอากาศ บริการระบบสื่อสาร ระบบช่วยการเดินอากาศ และระบบติดตามอากาศยาน ออกแบบแบบแผนการบินและด้านแผนที่การเดินอากาศ โดยลักษณะธุรกิจเทียบเคียงได้กับ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานให้บริการการเดินอากาศของประเทศไทย

    ปี 2560 จัดตั้ง บริษัท สามารถ เอวิเอชั่นโซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAV เป็นบริษัทโฮลดิ้ง เพื่อลงทุนใน CATS 100% และนำ SAV เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในหมวดขนส่งและโลจิสติกส์ช่วงไตรมาส 3 ของปี 2566 โดยเสนอขายหุ้นสามัญจำนวนไม่เกิน 224,000,000 หุ้น หรือไม่เกิน 35% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัท ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัทในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน รวมถึงรองรับโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ หลังประสบความสำเร็จในกัมพูชา บริษัทพยายามนำโมเดลนี้ไปดำเนินการธุรกิจใน สปป.ลาว และเมียนมา แต่ธีระชัยบอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้สัมปทานแบบนี้ อย่างไรก็ดีทางบริษัทสามารถนำองค์ความรู้จาก CATS ไปต่อยอดทำธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น วิทยุการบินฯ มีการอัปเกรดระบบการจราจรทางอากาศทั่วประเทศ กลุ่มสามารถก็ประมูลรับงานมา และร่วมกับบริษัทต่างประเทศอีกแห่งรับทำโครงการที่เมียนมา ซึ่งโดยรวมมีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท

    ย้อนหลังไป 20 ปีก่อนแม้ว่าจะได้สัมปทานมาแล้ว แต่กลุ่มสามารถไม่มีพื้นฐานธุรกิจมาก่อนจึงขอความช่วยเหลือจาก บจ. วิทยุการบินแห่งประเทศไทย  ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยจัดคอร์สเทรนนิ่งให้พนักงานและผู้บริหาร ซึ่งธีระชัยพูดยิ้มๆ ว่า “ผมก็ไปนั่งเรียนเป็น intensive course เรียนเดี่ยวๆ เลย”

    ส่วนทีมงานต้องสร้างใหม่เช่นกัน โดย-เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานควบคุมการจราจรทางอากาศ (air traffic controller) ซึ่งต้องอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติอย่างเข้มข้น และผ่านการทดสอบเพื่อได้รับใบอนุญาตก่อนปฏิบัติงานจริง พนักงานแต่ละคนใช้เวลาเทรนประมาณ 1-1 ปีครึ่ง ปัจจุบันมีพนักงานประมาณ 340 คน เป็นคนไทย 14 คน 

    “วิทยุการบินไทยก็อยากให้ทางเขมร set up และมี operation ที่ดี สมัยก่อนมีปัญหาว่าพอ traffic เข้ามา เขาพร้อมแต่ (การจราจร) เป็นคอขวดที่ลาว เขมร ก็อยากให้ประเทศเหล่านี้พัฒนา เพื่อจัดการคอขวด การที่เราทำตรงนี้ทำให้เขาบริหารจัดการฝั่งเขาได้ง่ายขึ้น เราก็เข้าไปคุย เขา assign คน ส่งคนมาช่วยวางระบบ และอื่นๆ ใช้เวลา 2 ปี จึงวางระบบเสร็จ ปัจจุบันทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง เราบริหารจัดการเองได้หมดแล้ว

    “สิ่งที่เราทำเรียกอย่างเป็นทางการว่า ANSP (Air Navigation Service Provider) แต่ละน่านฟ้ามี ANSP ให้บริการดูแลจราจรทางอากาศ อย่างประเทศไทยคือ วิทยุการบินแห่งประเทศไทย เราเหมือนเป็นวิทยุการบินแห่งกัมพูชา...จุดประสงค์เพื่อความปลอดภัย มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย รวดเร็วคล่องตัวของการจราจร เนื่องจากใช้น่านฟ้าร่วมกันทั้งพลเรือนและทหาร”

    ทั้งนี้บริษัทมีรายได้จากสายการบินโดยการบริการ 3 ประเภทคือ 1. เที่ยวบินที่บินขึ้นลงในประเทศ (landing & take-off: domestic) 2. เที่ยวบินที่บินขึ้นลงระหว่างประเทศ (landing & take-off: international) 3. ค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินผ่านเขตน่านฟ้ากัมพูชา (overflight) โดยเรียกเก็บจากสายการบินที่นำเครื่องบินบินผ่านเขตน่านฟ้ากัมพูชา จากสนามบินนอกประเทศไม่ได้นำเครื่องบินขึ้นหรือลงจอดในสนามบินกัมพูชาสัดส่วนรายได้หลักมาจากการบินผ่านเขตน่านฟ้ากัมพูชา โดยปี 2563-2565 มีรายได้จากการดำเนินงานทั้งหมดคิดเป็น 63.95%, 76.98% และ 73.31% ตามลำดับ

    “ก่อนโควิด ปี 2562 จำนวนไฟลต์ทั้ง 3 ประเภทมียอดถึง 130,000 ไฟลต์ ช่วงโควิดปี 2564 เหลือ 30,000 ไฟลต์ ปี 2565 เริ่มกลับมาแล้ว และคาดว่าปี 2566 จะกลับมาเข้าใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด...ตอนนี้ overflight กลับมา 80% landing & take-off 50-60% โดยภาพรวม 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ ปี 2567 น่าจะกลับไปเท่ากับช่วงก่อนโควิด และเราจะมี growth ต่อไป”

    ปี 2565 บริษัทเติบโตมากกว่า 100% เมื่อเทียบกับปี 2564 และคาดว่าปี 2566 จะเติบโตประมาณ 40-50% เมื่อเทียบกับปี 2565 และยังคงเติบโตในอัตราที่สูงต่อเนื่องอีก 2-3 ปี หลังจากนั้นจะอยู่ที่10-12% และระยะยาวจะอยู่ที่ประมาณ 7-8% ซึ่งยังสูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของอุตสาหกรรมการบินโลก

    ปัจจุบันบริษัทบริหารจัดการสนามบิน 6 แห่ง ประกอบด้วยสนามบินนานาชาติพนมเปญ (Phnom Penh International Airport), สนามบินนานาชาติเสียมเรียบ (Siem Reap International Airport) และสนามบินนานาชาติสีหนุ (Sihanouk International Airport) เป็นสนามบินที่ให้บริการการบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ส่วนสนามบินในประเทศประกอบด้วยสนามบินพระตะบอง (Battambang Airport), สนามบินเกาะกง (Koh Kong Airport) และสนามบินสตึงเตรง (Stung Treng Airport) 3 แห่งหลังเป็นสนามบินที่มีขนาดเล็ก มักจะใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางราชการ การทหาร การฝึกซ้อมการบินเป็นหลัก รวมถึงทำการบินแบบเช่าเหมาลำ 3 สนามบินใหม่

    นอกจากสนามบินข้างต้นแล้ว รัฐบาลกัมพูชากำลังก่อสร้างสนามบินนานาชาติอีก 3 แห่ง ประกอบด้วย 1. สนามบินนานาชาติดาราสาคร (Dara Sakor International Airport) ตั้งอยู่ที่เกาะกง คาดว่าจะเปิดให้บริการช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 มูลค่าโครงการ 200 ล้านเหรียญ 2. สนามบินนานาชาติเสียมเรียบแห่งใหม่ (New Siem Reap-Angkor International Airport) งบประมาณก่อสร้าง 880 ล้านเหรียญ สร้างขึ้นเพื่อใช้งานแทนสนามบินปัจจุบัน อยู่ห่างจากตัวเมืองเสียมเรียบไปทางทิศตะวันออกประมาณ 40 กิโลเมตร คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในไตรมาส 4 ปี 2566 สนามบินแห่งนี้รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 7 ล้านคนต่อปี ในเฟสแรกและ 10 ล้านคน ปี 2573 3. สนามบินนานาชาติพนมเปญ (Techo Takhmao International Airport) มูลค่าโครงการ 1.5 พันล้านเหรียญ ตั้งอยู่ที่จังหวัดกันดาล (Kandal) ห่างจากตัวเมืองพนมเปญไปทางทิศใต้ประมาณ 25 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 2,600 เฮกตาร์ นับเป็นพื้นที่สนามบินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก คาดว่าจะเปิดดำเนินการช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 รองรับผู้โดยสาร 10 ล้านคน และ 27 ล้านคน ปี 2573

    โครงการก่อสร้างสนามบินนานาชาติทั้งสามแห่งข้างต้นบ่งบอกถึงการที่รัฐบาลกัมพูชาให้ความสำคัญกับการเดินทางโดยเครื่องบินโดยสาร ธีระชัยกล่าวถึงรายได้ของ SAV (อ้างอิงจากรายได้ของ CATS ซึ่ง SAV ถือหุ้น 100%) แสดงถึงการฟื้นตัวและแนวโน้มที่ดีของบริษัทว่า “ในปี 2565 SAV มีรายได้รวมเท่ากับ 1,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากรายได้รวม 724 ล้านบาทในปีก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 199.5 ล้านบาท หลังจากผ่านพ้นวิกฤตสถานการณ์โควิด-19 มีการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวทั้งในประเทศกัมพูชาและประเทศในภูมิภาคอาเซียนกลับมาเติบโต SAV มีผลการดำเนินงานที่กลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

    ผู้บริหาร SAV คาดการณ์ว่า ปี 2566 บริษัทจะมีรายได้เกือบ 50 ล้านเหรียญ และปี 2567 จะมีรายได้ประมาณ 2 พันล้านบาท เป็นตัวเลขเดียวกับก่อนการระบาดของโควิด เหตุผลคือ กัมพูชาตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นยุทธศาสตร์ในการท่องเที่ยว มีการขยายสนามบินเพื่อรองรับการเติบโตของนักท่อง-เที่ยว จึงส่งผลดีต่อ CATS ในฐานะผู้ได้รับสัมปทาน โดยบริษัทจะเป็นผู้ให้บริการบริหารจัดการจราจรทางอากาศรายที่ 2 ของโลก และเป็นรายแรกในภูมิภาคเอเชียที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ The Strategic Airport Planning Group (SAP) คาดว่าจำนวนเที่ยวบินไป-กลับ และบินผ่านประเทศกัมพูชาจะมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอีก 30 ปีข้างหน้า จากการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 

    ดังจะเห็นได้จากรายงานปริมาณนักท่องเที่ยวประเทศกัมพูชาที่ระบุว่า ระหว่างปี 2556 - 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2562 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 6.61 ล้านคน และลดลงช่วงเกิดโควิด-19 ขณะที่ ปี 2565 มีนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 2.27 ล้านคน การเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวส่งผลต่อการเติบโตของจำนวนเที่ยวบินประเภทที่บินขึ้นลงระหว่างประเทศ

    ทั้งนี้ปี 2551-2560 จำนวนเที่ยวบินเติบโตเฉลี่ย 6.7% โดยเที่ยวบินประเภท บินขึ้นลงในประเทศ, บินขึ้นลงระหว่างประเทศ และบินผ่านเขตน่านฟ้ามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีคิดเป็น 6.6%, 6.9% และ 6.5% ตามลำดับ

    นอกจากนั้น ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศกัมพูชา (National Strategic Development Plan) ปี 2562-2566 ซึ่งจัดทำโดยรัฐบาลกัมพูชาระบุว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจัดเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และตั้งเป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าประเทศ อย่างน้อย 4 ล้านคนต่อปี ก่อให้เกิดการใช้จ่ายประมาณ 4 พันล้านเหรียญทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยหนุนเสริมให้จำนวนครั้งในการเดินทางเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงรายได้ของ SAV  ในตอนท้ายธีระชัยกล่าวถึงเป้าหมายของบริษัทว่า “เราวาง vision ว่าจะเป็น Leading Air Navigation Service Provider ของ region นี้ ในเชิงความเป็นมืออาชีพและเทคโนโลยีใหม่ๆ”

    

    อ่านเพิ่มเติม : สำนักงานในกรุงเทพฯ ฟื้นตัว-เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine