สุวัฒน์ เหลืองวิริยะ สร้าง BWG เดินหน้าขยายธุรกิจเผาขยะให้เป็นไฟฟ้า - Forbes Thailand

สุวัฒน์ เหลืองวิริยะ สร้าง BWG เดินหน้าขยายธุรกิจเผาขยะให้เป็นไฟฟ้า

สุวัฒน์ เหลืองวิริยะ มองเห็นโอกาสจากขยะที่ทุกคนหลีกหนี ขยะที่เกิดจากกระบวนการผลิตภายในโรงงานอุตสาหกรรมที่วันๆ หนึ่ง มีจำนวนมหาศาล ทว่ากลับเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับเขาถึง 1,905 ล้านบาทในปี 2562

20 กว่าปีก่อน สุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG ตั้งบริษัทเพื่อบริหารจัดการขยะ และแตกแขนงออกมาอีกหลายแห่ง ล่าสุดสร้างโรงงานไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม 3 แห่ง นายใหญ่ BWG เล่าถึงที่มาในการทำธุรกิจว่า ช่วงนั้นการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ขึ้นกับภาครัฐ ไม่ค่อยมีเอกชนดำเนินการในเรื่องนี้ เมื่อเขาได้ยินเพื่อนฝูงที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมปรารภว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมบังคับให้นำขยะไปกำจัดให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในประเทศมีเพียงรายเดียว เขาจึงคิดว่าน่าจะมีโอกาสทางธุรกิจ หลังจากนั้นจึงได้ศึกษาและพบว่า ขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมมีปริมาณใกล้เคียงกัน แต่ขยะชุมชนมีเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลบริหารจัดการแล้ว ประกอบกับประเมินว่า การจะทำให้ธุรกิจเติบโตต้องเน้นไปที่กลุ่มมีกำลังซื้อ แต่การจัดการขยะอุตสาหกรรมซึ่งถูกกำหนดโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ยังไม่มีเจ้าภาพ เขาจึงมุ่งมาที่กลุ่มเป้าหมายนี้ ช่วงแรกเน้นขยะไม่เป็นอันตราย และกำจัดด้วยวิธีฝังกลบ “การเอาขยะออกจากโรงงานมีหลักเกณฑ์ ต้องได้รับการอนุญาตจากกรมโรงงาน ผู้รับกำจัดหรือให้บริการด้านนี้ต้องมีใบประกอบกิจการ เราเริ่มต้นที่ขยะไม่อันตราย และขยายเป็นขยะอุตสาหกรรมอันตราย...แต่ การทำตรงนี้มีความสัมพันธ์กับด้านอื่นเยอะ มักเจอปัญหามวลชน สิ่งที่เราต้องต่อสู้คือเรื่องนี้ วิธีการคือให้มาพิสูจน์ได้ ที่นี่ไม่ใช่แดนสนธยา มาศึกษาหรือทำแล็บเทสต์ เราทำตามมาตรฐานของภาครัฐและมาตรฐานโลก เป้าหมายเราไม่ได้ทำแค่หลุมขยะ แต่ช่วงบุกเบิกเดินแบบนี้ และต่อยอดธุรกิจออกมา”  
  • แปลงขยะเป็นเชื้อเพลิง
สุวัฒน์เปิดเผยถึงแนวคิดในการทำธุรกิจ โดยพิจารณาจากรายชื่อโรงงานว่า ผลิตของเสียประเภทใดมากที่สุด มีจำนวนเท่าไร แล้วจึงเปิดบริษัทเพื่อรองรับ พูดง่ายๆ คือ หาตลาดก่อน ผู้ก่อตั้ง BWG ไม่ยืนยันคำถามที่ว่า เป็นรายใหญ่สุดของประเทศไทยหรือไม่ บอกเพียงว่าให้บริการครบวงจรที่สุด และว่าลำพังแค่ขยะอย่างเดียวทำธุรกิจได้มูลค่ามหาศาล “ขยะที่เรารับมาทุกวัน landfill เต็ม ต้องหาทางเอาขยะออก ประเด็นคือ จะเอาไปทำอะไรที่ถูกกฎหมายและได้ตังค์ด้วย เรื่องนี้คิดมาตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน นั่นเป็นที่มาของการสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ซึ่งแตกต่างจากโรงไฟฟ้าทั่วไปที่ใช้ถ่านหินหรือน้ำมัน”
การคัดแยกและแปรรูปขยะอุตสาหกรรมเป็น RDF ใช้เป็นเชื้อเพลิงป้อนหม้อไอน้ำ
แต่ก่อนจะลงทุนตั้งโรงงานไฟฟ้า บริษัทได้มีการค้นคว้าวิจัยทำผลิตภัณฑ์ทดแทน เชื้อเพลิงจากขยะ (refuse derived fuel: RDF) โดยรวบรวมข้อมูลลูกค้าโรงงานและจำแนกว่าแต่ละแห่งเป็นขยะประเภทไหน มีคุณสมบัติอย่างไร จำนวนเท่าไร หลังจากนั้นจะนำขยะประเภทต่างๆ มาผสมเข้าด้วยกันเพื่อหาสูตรค่าความร้อนที่เหมาะสมสำหรับเตาเผาขยะของโรงไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าของบริษัทต้องการพลังงานที่มีความร้อน 3,000-4,000 กิโลแคลอรี่ต่อ 1 กิโลแคลอรี่ ช่วงแรกบริษัทผลิต RDF และส่งไปจำหน่ายที่โรงงานปูนซิเมนต์ภายในจังหวัดสระบุรี เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหินหรือน้ำมัน โดยจำหน่ายไปในราคาตันละ 1,500-2,000 บาทต่อแท่งขนาด 1 ตัน ขณะที่ถ่านหิน ราคาตันละ 3,000-4,000 บาท ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงกว่า อีก 2-3 ปีถัดมาจึงเปิดบริษัทโรงไฟฟ้า และนำ RDF มาใช้เป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าแทน โดยเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้กับ กฟภ. ตั้งแต่ปลายปี 2562 BWG ซึ่งเป็นบริษัทแม่ได้ให้ ETC ยื่นคำขอจำหน่ายไฟฟ้าและแบบคำขอรับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (adder) ต่อ กฟภ. เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมขนาดกำลังการผลิต 9.4 เมกะวัตต์ ธันวาคม 2557 กฟภ. เห็นชอบการรับซื้อไฟฟ้าและการขอรับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (adder) ในโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ และต่อมาเปลี่ยนค่าตอบแทนใหม่เป็นรูปแบบ feed-in tariff (FiT) ระยะเวลาสัมปทาน 20 ปี  
  • โรงไฟฟ้าขยะสะอาด
คู่คิดคนสำคัญของผู้ก่อตั้ง BWG คือ เอกรินทร์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ (ETC) ซึ่งเป็นพี่ชาย และเป็นผู้นำความคิด การนำขยะมาทำ RDF เนื่องจากเคยศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าวระหว่างเข้าอบรมหลักสูตรที่สถาบันพระปกเกล้า และเข้ามาร่วมงานกับ BWG ตั้งแต่ปี 2544
เอกรินทร์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ (ETC)
“ผมกล้าพูดว่าเป็นคนแรกของประเทศที่เอาขยะมาเป็นเชื้อเพลิง RDF ผมศึกษาเรื่องนี้ ไปดูงานต่างประเทศว่ามีกระบวนการทำอย่างไร ต่างประเทศไม่มีการแบ่งว่าเป็นขยะอุตสาหกรรมอันตราย เพราะมีการแยกขยะก่อนทิ้ง ทำให้เปลี่ยนรูปเป็นพลังงานง่าย” ปัจจุบัน ETC ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากขยะ หรือ RDF ซึ่งซื้อจาก BWG ซึ่งเป็นบริษัทแม่ โดยมีโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ให้กับ กฟภ. แล้ว 3 แห่ง กำลังการผลิตรวม 20.4 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้า ETC กำลังการผลิตไฟฟ้า 9.4 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขาย ไฟฟ้า 8 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้า RH กำลังการผลิต 7 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขาย 5.5 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้า AVA กำลังการผลิต 4 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขาย 3 เมกะวัตต์ ทั้ง 3 แห่งขายไฟฟ้าให้กับ กฟภ. ระยะเวลา 20 ปี โดยมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT หน่วยละ 6.83 บาท/หน่วย มีบริษัท เอิร์ธ เอ็นจิเนีย แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (ECC) เป็นผู้รับเหมาสร้างโรงไฟฟ้าแบบเบ็ดเสร็จกล่าวคือ ออกแบบวิศวกรรมโรงไฟฟ้า จัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ก่อสร้างโรงไฟฟ้าแบบครบวงจร รวมทั้งบริหารและดูแล ซ่อม บำรุงโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง
โรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม (ETC)
เอกรินทร์บอกว่า ช่วงแรกที่ทำโรงไฟฟ้าโดนชาวบ้านในพื้นที่ต่อต้านมาก มีการเดินขบวนไปยังศาลากลางจังหวัด ทว่าในที่สุด ก็สร้างการยอมรับจากชาวบ้านได้ เล่ามาถึงตอนนี้เอกรินทร์ชี้ให้ดูปล่องด้านบนสุดของตัวโรงงานและถามว่า มองเห็นควันบ้างไหม “เราเดินเครื่องปกติ แต่เหมือนกับเครื่องไม่ทำงาน ปล่องไม่มีควันเพราะการเผาไหม้สมบูรณ์ มีระบบตรวจวัดที่ปากปล่อง และรายงานผลไปด้านหน้าโรงงานคนผ่านไปมาเห็น..ออนไลน์แบบเรียลไทม์ไปที่นิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย และการนิคมฯ แห่งประเทศไทย ถ้าเกินปั๊บเครื่องจะ aloud เลย ทำมา 3 ปีไม่เคยมีปัญหา” ส่วนโรงไฟฟ้าอีก 2 แห่งขั้นตอนทำประชาคมง่ายขึ้น เพราะนำชุมชนมาดูงานที่โรงไฟฟ้าสระบุรี โดยใช้เวลาก่อสร้างแห่งละ 1 ปีเศษ และขายไฟเชิงพาณิชย์ให้การไฟฟ้าภูมิภาคแล้วเช่นกัน เราเพิ่งทำโรงไฟฟ้าจริงจังปี 2560 รับรู้รายได้ ปี 2562 สูงกว่า 2561 รายได้ 300 กว่าล้านบาท เราขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคยูนิตละ 6.83 บาท นั่นแปลว่ามีกำลังการผลิตเท่าไรคูณตามจำนวนเงินที่ได้” ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าขยะสะอาด ETC ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับและดูแลหลักทรัพย์ (กลต.) และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ MAI วันที่ 18 สิงหาคม 2563 โดยบริษัทมีแผนเข้าจดทะเบียนภายในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ ด้วยทุนจดทะเบียนกว่า 1,120 ล้านบาท มีจำนวนหุ้นทั้งหมดกว่า 2,240 ล้านหุ้น ด้วยมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น  
คลิกอ่านฉบับเต็ม “สุวัฒน์ เหลืองวิริยะ เผาขยะให้เป็นไฟ” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine